Categories
FEATURED NEWS

สกสว. ร่วมมือ สมาชิกวุฒิสภา ขับเคลื่อน งานวิจัยท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา

 

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) นำโดย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ พร้อมด้วย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว.และผู้แทนผู้อำนวยการ บพข. ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะนักวิจัยมหาลัยเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) ณ ห้องพระยาศรีวิสารวาจา อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

        พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ รองประธานกรรมการฯ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า แพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) เกิดจากความร่วมมือของคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมด้วยวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้คิดค้นจัดทำแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยวุฒิสภาเล็งเห็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการใช้ Soft Power จาก “อัตลักษณ์ประจำถิ่น” ที่โดดเด่น เช่น การท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น เทศกาลและประเพณีของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน และน่าน โดยเลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่นำร่องและจะขยายผลต่อยอดการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวให้ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนผ่านการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างโอกาสและรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 
         นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อน Soft Power โดยใช้พลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมไทย นำภูมิปัญญาเดิมที่มีอยู่มาทำให้เกิดความสร้างสรรค์และทันสมัย เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนได้ ซึ่งวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี (CAMP) ที่สร้างแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) ออกแบบแผนที่ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ผ่านการเล่นเกม หรือมูเตลูก็ตาม ได้แสดงถึงอัตลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น และการสร้างระบบ “PLAY EARN TRAVEL and E-commerce” ให้กับสินค้าและการท่องเที่ยวชุมชนล้านนาสามารถสร้างรายได้ให้กับ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาล้านนาไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

    

        ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว.และผู้แทนผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ในภาคของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ กองทุนส่งเสริม ววน. และสกสว. ได้มอบหมายภารกิจให้ บพข. บริหารจัดการแผนงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งออกเป็นแผนงานย่อย 2 แผนงาน 

(1) การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ หรือแผนงานการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ซึ่งมีกรอบการดำเนินการภายใต้แผนงานย่อย
จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ (1.1) การท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและ
การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (1.2) การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (1.3) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และ (2) การพัฒนาการและยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ หรือแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีกรอบการดำเนินการเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นการทำงานแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยว มุ่งตอบเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า ความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

        สกสว. บพข. และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้บูรณาการการทำงานและขับเคลื่อนงานวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการวิจัย “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา” ประยุกต์แนวคิดของ PLAY TRAVEL and EARN เพื่อสร้างโอกาสในการใช้เทคโนโลยีและะนวัตกรรม หนุนเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่เชื่อมโยง ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ครอบคลุมการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวออนไลน์ในรูปแบบเกม ประกอบการท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานได้ความรู้ และสามารถนำเอาคะแนนที่ได้จากการเล่มเกมมาเปลี่ยนเป็นคะแนนเพื่อแลกส่วนลดในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

         

        ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแผนพัฒนาการดำเนินงานล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna) มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4  นำเอาภูมิปัญญาและต้นทุนที่มีอยู่ภายใต้ 5F ของ Soft Power มาต่อยอดในเชิงคุณค่าและเชิงมูลค่า
ซึ่งแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยมีวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี (CAMT) เป็นแรงขับเคลื่อนและผลักดันที่สำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับกระบวนการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมล้านนาในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงการของ CAMT ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านำไปสู่การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนาได้

                ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) กล่าวว่า CAMT ในฐานะผู้ดูแลจะใช้ “Leisure Lanna Super App”ภายใต้ตัวแบบธุรกิจ “PLAY TRAVEL EARN” สนับสนุนการท่องเที่ยว การเดินทาง การแนะนำสถานที่ ร้านค้า ที่พัก หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลเชิงการท่องเที่ยว การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพื้นที่ตลาด (Market Place) ให้กับสินค้ากับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จะยกระดับสู่การเป็นพื้นที่กลางเพื่อเป็นช่องทางสำหรับ “การท่องเที่ยวชุมชน” โดยเปิดพื้นที่กลางให้กับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสามารถสร้างข้อมูลและเส้นทางการท่องเที่ยว อัตลักษณ์และสินค้าชุมชนเข้าสู่แพลตฟอร์ม “Super App” กระบวนการนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ท่องเที่ยวชุมชน” ต้องเรียนรู้วิธีการสร้างเรื่องราวท่องเที่ยว และพัฒนาสินค้าชุมชนเพื่อนำเสนอผ่านแพลตฟอร์ม “Leisure Lanna Super App” ในการนี้วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีจึงได้วางแนวทางต่อยอดในอนาคต โดยออกแบบ พัฒนาหลักสูตร และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) ทั่วประเทศไทย 4 ภูมิภาค ให้กับ SMEs และท่องเที่ยวชุมชนจำนวน 120 ราย เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ Generative AI มาใช้กับการสร้างคอนเทนท์และ Character สินค้าชุมชน เป็นรูปแบบการต่อยอดการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่มาใช้ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวและนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
             ทั้งนี้งานวิจัยแผนงาน “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา” โดยมี ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ และคณะ สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนทุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นด้วยแนวคิด PLAY TRAVEL and EARN ออกเป็นสามแอพพลิเคชั่น ได้แก่
 

        1) แอพพลิเคชั่น “โลกเสมือนสามมิติสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบประสบการณ์เชิงประวัติศาสตร์ เขตเมืองเก่าเชียงใหม่” ซึ่งจัดเก็บข้อมูลกับนักท่องเที่ยว เพื่อระบุกิจกรรมเชิงพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ นำมาพัฒนาและทดสอบระบบความจริงเสมือนและดิจิทัลเกมอย่างง่าย เก็บข้อมูลกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมล้านนา ในพื้นที่คูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ วิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยว พฤติกรรมนักท่องเที่ยว และเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนา ออกแบบรูปแบบการใช้งานแอปพลิชันเกมอย่าง่ายและระบบตัวตนเสมือนจริง วิเคราะห์และออกแบบโลกเสมือนสำหรับการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมล้านนา และสร้างกราฟิกสามมิติของโลกเสมือน และสร้างระบบของโลกเสมือน

        2) แอพพลิเคชั่น “สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงความศรัทธาด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง” ภายใต้แนวความคิดที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีเทคโนโลยี AR เป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างความแตกต่างและมอบประสบการณ์แปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจเชิงความเชื่อและความศรัทธา เช่น เส้นทางแห่งความรัก และเส้นทางเสริมบารมี เมื่อผู้ใช้งานอยู่บริเวณโบราณสถานและมองผ่านกล้องดิจิทัล ระบบจะทำการแสดงฟังก์ชันแสดงผลโลกเสมือนจริงให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการท่องเที่ยว และกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางมายังสถานที่จริง

        3) แอพพลิเคชั่น “เส้นทางเดินชมเมือง (Chiang Mai Old Town Trail) ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ผ่านเทคโนโลยี AR ผ่านมุมมอง 360 องศา รองรับกิจกรรมท่องเที่ยวกายภาพ” ภายใต้ชื่อ Lanna Passport มุ่งหวังให้ใช้เป็นเครื่องมือเสริมประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ใช้แนวคิด Gamification การล่าเหรียญสมบัติในเมืองเก่า ใช้เทคโนโลยี AR ร่วมกับ AI Image recognition นำเสนอเรื่องราวได้ 3 ภาษา (ไทย จีน อังกฤษ) ก่อให้เกิดกิจกรรมทางกาย (Wellness) ผ่านการ เดิน วิ่ง ปั่น เพื่อคำนวณเป็นเหรียญรางวัลสำหรับกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้ระบบที่ใช้เทคโนโลยี AR ได้นำเสนอเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวในมุมมอง 360 องศาผ่านสายตาผู้ใช้งานในช่วงเวลาต่าง ๆ พร้อมกับการนำเสนอภูมิทัศน์เสียง หรือดนตรีที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา จากสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

        สำหรับแอพพลิเคชั่น “Leisure Lanna Super App” นอกเหนือจากเป็นแอพฯ หลักสำหรับเป็น Platform กลางสำหรับแอพพลิเคชั่นทั้งสามที่พัฒนาขึ้น ร่วมกับการเป็นพื้นที่นำเสนอข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวร้านค้าที่เข้าร่วมแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่สำหรับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เพื่อต่อยอดสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมสมทบงบประมาณในการพัฒนา “Super App” มอบส่วนลดให้กับผู้เล่นได้รับเหรียญรางวัลสะสมจากการพิชิตกิจกรรมที่กำหนดในแต่ละแอพพลิเคชั่น สามารถนำมาใช้เพื่อแลกเป็นส่วนลดเพื่อใช้บริการได้ เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับรองรับแอพพลิเคชั่นอื่นที่อยู่ในรูปแบบสนับสนุนการเรียนรู้ และการท่องเที่ยวชุมชน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME