Categories
NEWS UPDATE

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ บอกคนไทย อายุ 15-49 ปี กำลัง “โสด” ถึง 40.5%

 
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงเรื่องภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 โดยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) พ.ศ.2566 พบว่าคนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 23.9 หรือ 1 ใน 5 ของคนไทย และหากพิจารณาเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่อายุ 15-49 ปีจะมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 40.5 สูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว และเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.2560 (ร้อยละ 35.7) 
 
โดย ร้อยละ 50.9 อยู่ในช่วงอายุ 15 – 25 ปี สัดส่วนการแต่งงานในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ปี 2560 -2566 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ ร้อยละ 52.6 ลดลงจากปี 2565 ที่อยู่ที่ร้อยละ 53.2 และลดลงจากปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 57.9 ขณะเดียวกันการหย่าร้างในอัตราที่สูงขึ้น โดยในปี 2566 มีประมาณ 400,000 คู่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 22
 
 

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นคนโสดแบ่งได้เป็น 4 ด้าน คือ

1) ค่านิยมทางสังคมของการเป็นโสดยุคใหม่ อาทิ “SINK (Single Income,No Kids)” หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก” เน้นใช้จ่ายเพื่อตนเอง จากข้อมูล SES ในปี 2566 พบว่า สัดส่วนคนโสด SINK สูงขึ้นตามระดับรายได้ “PANK (Professional Aunt, No Kids)” หรือกลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ อาชีพการงานดีและไม่มีลูก” ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลหลาน เด็กในครอบครัวรอบตัว

 

โดยคนโสด PANK มีจำนวน 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ดีและจบการศึกษาสูง และ “Waithood” กลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยความรักเนื่องจากความไม่พร้อม ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคนโสดร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 37.7 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากถึงร้อยละ 62.6 มีระดับการศึกษาที่ไม่สูงนัก ทำให้ความสามารถในการหารายได้จำกัด

2) ปัญหาความต้องการ ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นผลจากความคาดหวังทางสังคมและทัศนคติต่อการมองหาคู่ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยบริษัท มีทแอนด์ลันช์ สาขาประเทศไทย (2021) พบว่าผู้หญิงกว่าร้อยละ 76.0 จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า และร้อยละ 83.0 ไม่คบกับผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า ขณะเดียวกัน ผู้ชายร้อยละ 59.0 จะไม่คบกับผู้หญิงตัวสูงกว่า และอีกว่าร้อยละ 60.0 ไม่เดทกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง

3) โอกาสในการพบปะผู้คน โดยใน พ.ศ.2566 คนโสดมีชั่วโมงการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ โดยข้อมูลจาก LFS สำนักงานสถิติแห่งชาติ เฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ สูงกว่าภาพรวมประเทศ (42.3 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์)

อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ทำให้คนโสดไม่มีโอกาสในการมองหาคู่

4) นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการของคนโสด โดยนโยบายส่งเสริมการมีคู่ของไทยในช่วงที่ผ่านมายังมีไม่มากนัก โดยเน้นไปที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม ขณะที่ ในต่างประเทศมีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่

 

 

ทั้งนี้ มีแนวทางสนับสนุนให้คนมีคู่ ดังนี้

1) การสนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสด โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้คนโสดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

2) การส่งเสริมการมี Work-life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น และเพิ่มโอกาสให้คนโสดมีเวลาทำกิจกรรมที่ชอบและพบเจอคนที่น่าสนใจมากขึ้น

3) การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานและรายได้ซึ่งคนโสดยังมีโอกาสพบรักจากสถานศึกษาได้อีกด้วย

4) การส่งเสริมกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนโสดมีโอกาสพบปะและสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆได้

 

 

สำหรับปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียด จะพบประเด็นที่มีความน่ากังวล ดังนี้

1.แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก

2.ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน โดยระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2566 – 22 เม.ย.2567 พบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.48 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 17.20 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.63 ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา

3) ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

4) เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแลและเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด

5) สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น ในงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่น ๆ รวมกัน

6) การฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน)

7) ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตภายใน จากการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเนื่องจากกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

นอกจากนี้ หากพิจารณาตามช่วงวัย พบว่าวัยเด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิตที่น่ากังวลหลายเรื่องโดยเฉพาะความเครียด ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัว นอกจากนี้การกลั่นแกล้ง (Bully) ในโรงเรียน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

วัยทำงานความรับผิดชอบสูง และหลายปัญหารุมเร้า บริษัท Kisi พบว่า ในปี 2565 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 หมดไฟในการทำงาน อีกทั้ง ข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปี 2566 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย

สำหรับ ผู้สูงวัยต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยว สูญเสียคุณค่าในตนเอง ในปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 84.93 มีความสุขในระดับที่ดีแต่จะลดน้อยลงตามวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม อีกทั้ง ยังพบผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น และมีผู้สูงอายุอีก 8 แสนคน มีภาวะความจำเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นร่วมด้วย

สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งการป้องกันต้องสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว เน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

การรักษา เร่งเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอรวมทั้งขยายบริการการรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด อีกทั้งต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการ

รวมถึงการติดตามและฟื้นฟูเยียวยา ต้องจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุม เร่งติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนและสังคม ในการส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพจิตใจและขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก :  สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

วันสุขภาพจิตโลกพร้อม ! “Better Mind Better Bangkok” 8 ต.ค.นี้ ที่สามย่านมิตรทาวน์

 

จากหลายๆ สถานการณ์สะเทือนขวัญและบางกรณีมีการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาดังที่เป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น ได้บั่นทอนการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขของคนในสังคม  ความจริงที่ต้องยอมรับ ก็คือ ประเทศไทยวันนี้มีความท้าทายด้านสุขภาพจิตอย่างยิ่ง องค์การอนามัยโลกคาดในแต่ละปีจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน หรือทุก 40 วินาที มีคนฆ่าตัวตาย 1 คน

 

ข้อมูลจากผลการวิจัย “อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ฯ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) ระบุว่า ตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2564 และ 1 ใน 14 ของเด็กอายุ 5-9 ปี /1 ใน 7 ของวัยรุ่นอายุ 10 – 19 ปี มีความผิดปกติด้านจิตประสาทและอารมณ์  ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายเป็นเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย โดยทุกๆ 10 นาที จะมีคน 1 คนพยายามฆ่าตัวตาย และ ทุกๆ 2 ชั่วโมงประเทศไทยจะสูญเสียประชากร 1 คน จากการจบชีวิตตัวเอง ขณะที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจิต-ซึมเศร้า เพิ่มขึ้น 1-2 % พบการฆ่าตัวตายสำเร็จต่อปีกว่า 4,625 คน (ปี พ.ศ. 2564-2565)

 

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “สุขภาพจิต” ส่งผลอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของทุกคนในแต่ละวัน ทั้งระดับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม หรือแม้แต่ส่งผลต่อสังคม  และเนื่องด้วยในวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันสุขภาพจิตโลก”  (World Mental Health Day) มูลนิธิสติแอพ (SATI) ร่วมกับสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อ“คนไทย” และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายสร้างความตระหนักและการสร้างพลังใจ เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตที่กำลังเพิ่มขึ้นของคนเมือง จึงได้ร่วมกันจัดงาน “วันสุขภาพจิตโลก” ชื่อ “Better Mind Better Bangkok” ขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ณ ลานกิจกรรมชั้น 3 สามย่านมิตรทาวน์ เพื่อนำเสนอข้อมูล องค์ความรู้ และประสบการณ์ตรงของภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาด้านจิตเวชในประเทศไทย ได้ร่วมกันแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ต่อสาธารณชน พร้อมกับการระดมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และหวังให้เกิดการผลักดันในเชิงนโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ตลอดจนเพื่อระดมความร่วมมือในการรับสมัครอาสาสมัครนักฟังเชิงลึกช่วยผู้เผชิญภาวะความเครียดผ่านแอพพลิเคชัน  “SATI”

 

ทั้งนี้ รูปแบบการจัดงานประกอบด้วย 4 เวทีเสวนา โดยวิทยากรผู้อุทิศตนให้กับแวดวงสุขภาพจิต รวมทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ เช่น คุณภัทรดนัย เสตสุวรรณ คุณอแมนด้า ออบดัม คุณเจมส์ รัศมีแข ฟอเกอร์ลุนด์ฟ คุณนที เอกวิจิตร์ คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ คุณพลวัชร ภู่พิพัฒน์  ดร.ทวิดา กมลเวชช คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ ดร.ชาติวุฒิ วังวล ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ คุณอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ คุณชนิดา คล้ายพันธ์ คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ คุณณาตยา แวววีรคุปต์ ฯลฯ ดำเนินรายการโดย คุณเกรซ นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ

 

เนื้อหาของเวทีเสวนาปีนี้ จะมีการนำเสนอ 4 ประเด็นภายใต้แนวคิด SEAS” ประกอบด้วย

เวที 1 SSECURITY : Safe Environment  ร่วมสำรวจกลยุทธ์ต่างๆ เรียนรู้เครื่องมือและเทคนิคสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ส่งเสริมให้มีความมั่นคงอารมณ์   เวที 2 E EQUITY : Better Access การเข้าถึงสุขภาพจิตที่มากขึ้นและลดช่องว่างของปัญหา ส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมและมากขึ้นในการเข้าถึงสุขภาพจิตอย่างเพียงพอของทุกคน  เวที 3 A ADAPTABILITY : Building Resilience  สร้างพลังฟื้นฟูจิตใจจากภายในตนเอง และบุคคลรอบข้าง สามารถปรับตัวในเวลาที่ยากลำบากและชีวิตผันผวน เวที 4 S SERENITY : Nonviolent Communication   การสื่อสารที่ปราศจากการคุกคาม ที่นำไปสู่ความสงบของจิตใจ และเสริมสร้างความสงบสุขให้ตนเองและผู้คนรอบข้าง

 

นอกจากนั้น ยังมี กิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมสามารถมีส่วนร่วมอีกมากมาย เช่น กิจกรรม Mind Journal จาก Understand : ห้องนั่งเล่นของหัวใจ – จัดการกับความคิด อารมณ์ ด้วยเครื่องมือดูแลสุขภาพจิตในแบบฉบับที่จับต้องได้ กิจกรรมศิลปะ Emotional Wheel และ  VR for Mental Health จาก ME HUG – An Innovative Mental Health Wellness Center – สำรวจความรู้สึก และ ความหวังของตัวเองผ่านการใช้สี oil pastel ในการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกตนเอง ผ่านมุมมอง อารมณ์หลักๆ ทั้งหมด 4 อารมณ์ และความหวังของตนเอง  กิจกรรม Check Up My Mind จากกทม. มีประเมินสุขภาพจิต และคัดกรองความเครียดเบื้องต้น ตรวจวัดความเครียดด้วยเครื่อง HRV ให้คำปรึกษาสุขภาพจิต และ Dots Coffee กาแฟดีที่สกัดและชงอย่างพิถีพิถันโดยผู้พิการทางสายตา และปิดท้ายด้วยมินิคอนเสิร์ตจาก IndyCamp

 

สามารถลงทะเบียนร่วมงานที่ https://book.soldoutt.com/bettermindbetterbangkok/register ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ https://www.facebook.com/satiapp

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : งานร้อยพลังสื่อ มูลนิธิเพื่อคนไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News