Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“กรมชลประทาน” ถอดบทเรียนน้ำท่วม ให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ

 

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากวิกฤตน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความรุนแรงมากขึ้น และยังส่งผลกระทบออกเป็นวงกว้าง เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาอุทกภัยและหาแนวทางในการรับมือ กรมชลประทานได้ออกมาให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงภัยธรรมชาติ

ครั้งนี้ “นายเดช เล็กวิชัย” รองอธิบดีกรมชลประทาน แสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายและเสนอแนวทางแก้ปัญหา “เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายถือว่าหนักสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ คือต้องฟื้นฟูระบบคลองต่างๆ ที่ใช้เป็นเหมือนเส้นเลือดย่อยๆ ในการช่วยระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ จัดการให้หมด โดยเฉพาะน้ำท่วมในเขตเมืองเพราะผังเมืองบางทีไม่ได้รองรับฝนที่ตกเกินกว่ากำหนด น้ำควรจะมีทางไป หรือฟลัดเวย์สำหรับการจัดการมวลน้ำในภาคเหนือ มองว่าตอนนี้โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดเชียงรายหรือจังหวัดเชียงใหม่เอง ตัวของอาคารบังคับน้ำ โครงสร้างพื้นฐานยังมีไม่มากนัก เรื่องอนาคตเป็นเรื่องของการศึกษาโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ในการที่จะปรับปรุงลำน้ำ หรือทางผันน้ำจากแม่น้ำกกลงอ้อมเมืองลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด”
 
“เนื่องจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะหมดสิ้นฤดูฝนของภาคเหนือ ภาคกลาง หลังสิ้นเดือนตุลาคม เรามีระยะเวลาการดำเนินงานที่ต้องติดตามพื้นที่เสี่ยงอีกประมาณหนึ่งเดือน ฉะนั้นการจัดการจะมีภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน ตรงนี้ต้องจัดการในเรื่องของเขื่อน เพื่อให้กักเก็บน้ำได้มากที่สุด แล้วไม่ระบายน้ำมากระทบกับชาวบ้าน ในเรื่องของการระบายน้ำเรามีพร่องน้ำรอในระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคลอง ลำน้ำธรรมชาติ 
 
เพื่อรองรับฝนที่จะตกในพื้นที่ ส่วนการบริหารจัดการทุ่งต่างๆ กรมชลประทานดำเนินการในเรื่องของการจัดระบบการเพาะปลูก ซึ่งจะเก็บเกี่ยวภายในเดือนนี้แล้วเสร็จทั้งหมดในพื้นที่ประมาณหนึ่งล้านไร่ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ลุ่มต่ำไม่เกิดความเสียหาย”
 
นอกจากนี้สภาพดินฟ้าอากาศของเพื่อนบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตาม “ต้องมีการแชร์ข้อมูลกันว่าสภาพอากาศในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร มีการบริหารจัดการน้ำเขื่อนในประเทศอย่างไร ต้องรู้ว่าเค้าจัดการยังไง เพื่อที่เราเองจะได้รู้ว่าต้องจัดการบ้านเรายังไง”
 
ทั้งนี้ “รองฯ เดช” ยังกล่าวปิดท้ายอีกว่า ทุกๆ บทเรียนของอุทกภัยที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ถอดบทเรียน เพื่อนำมาสู่ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำ “จากกระบวนการที่ผ่านมา เราเอาเคสวิกฤตมาถอดบทเรียน มองว่าประสิทธิภาพในการจัดการน้ำของกรมชลประทานดีขึ้นเรื่อยๆ เราต้องจัดการน้ำให้น้ำมีที่อยู่และมีที่ไป ถ้าน้ำไม่มีที่อยู่ไม่มีที่ไป มันก็อั้น พออั้นปุ๊บก็กลายเป็นไปไหนไม่ได้ ระเบิดเป็นโดมิโน่ เราต้องทยอยให้น้ำมีที่อยู่ มีที่ไปที่เหมาะสม ผลกระทบมันก็จะน้อย”
 
สุดท้ายนี้คนไทยทุกคนต้องปรับตัวและอยู่คู่กับน้ำให้ได้ “เราต้องให้คนเรียนรู้อยู่กับน้ำได้ เพราะเมืองไทยฝนเยอะ เราสามารถกักเก็บน้ำตอนฝนตกได้แค่หนึ่งในสามจากฝนที่ตกทั้งประเทศ ฉะนั้นส่วนที่เหลือ น้ำก็ต้องมีที่ไป แต่จะไปไหนได้สุดท้ายก็ไหลมาหาพวกเรา ฉะนั้นทุกประเทศเหมือนกัน ต้องปรับตัวให้อยู่กับน้ำ จะต้องมีการกำหนดพื้นที่ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่เก็บน้ำ ทางน้ำผ่าน ต้องระบุชัดเจน ทุกประเทศเป็นเหมือนกัน 
 
ตอนสุดท้ายต้องมาดูเรื่องความเสียหาย มาตรการช่วยเหลือเยียวยามีความจำเป็น อย่างเรื่องน้ำท่วมเชียงราย คงต้องมีการศึกษาเรื่องการผันน้ำ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ส่วนเรื่องระบบชลประทาน จะบริหารจัดการ ระบาย และกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดในฤดูฝน เรามีทีมควบคุมการระบายน้ำ การทดน้ำ ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ โดยใช้ผลคาดการณ์ที่มีการยืนยันในเรื่องของการจัดการภายใต้สภาวะของระบบที่มีอยู่”
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมชลประทาน

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ลงพื้นที่แม่สายติดตามน้ำท่วม พร้อมเร่งฟื้นฟูพื้นที่

 

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย โดยได้เดินทางไปยังโรงเรียนชุมชนไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัย เพื่อมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมให้กำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านว่ารัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะเร่งฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาเป็นปกติในเร็ววัน

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายในช่วงที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ยางิ” ที่ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำหลายสายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนในหลายอำเภอ รวมถึงพื้นที่อำเภอแม่สายที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์น้ำได้คลี่คลายลงแล้ว ระดับน้ำในลำน้ำต่าง ๆ ลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

ในระหว่างการลงพื้นที่ นายอัครา พรหมเผ่า ได้ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด และได้สั่งการให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อวางแผนฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเร่งแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด โดยได้เน้นย้ำให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สำคัญในระยะสั้นก่อน เช่น การระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังมีน้ำท่วมขัง การฟื้นฟูถนนเส้นทางคมนาคมที่ถูกน้ำท่วม รวมถึงการจัดหาน้ำสะอาดให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ระบบน้ำประปาได้รับความเสียหาย

ด้านกรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 2 และสำนักเครื่องจักรกล ได้จัดส่งเครื่องจักรกลหนัก เช่น รถแบคโฮ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ลงพื้นที่ทันทีหลังน้ำลด เพื่อเร่งดำเนินการขุดลอกลำคลอง และบ่อดักตะกอนที่ถูกตะกอนดินทรายอุดตันจากกระแสน้ำหลาก พร้อมกันนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมที่ยังไม่สามารถระบายน้ำออกได้เต็มที่ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดล้างทำความสะอาดถนนเส้นทางหลักและถนนในชุมชนที่ถูกโคลนและเศษดินจากน้ำท่วมพัดมากองทับถม เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด

นอกจากนี้ นายอัครา พรหมเผ่า ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการขุดลอกคลองสาย RMC1 (เหมืองแดง) และบ่อดักตะกอนในพื้นที่แม่สายที่มีการสะสมของตะกอนสูง เพื่อคืนประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองสายนี้ให้สามารถรองรับน้ำได้มากขึ้นและลดความเสี่ยงของน้ำท่วมในอนาคต ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยประสานงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายอัคราได้กล่าวกับประชาชนผู้ประสบภัยว่า รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการฟื้นฟูทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นจะเร่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่ในระยะยาว จะมีการวางแผนป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำซ้อน เช่น การขุดลอกคลองและการสร้างระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เสริมว่า กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการตามคำสั่งการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการขุดลอกคลองและการบำรุงรักษาระบบระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานในทุกสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำในพื้นที่เสี่ยง และจะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายให้เกษตรกรสามารถกลับมาปลูกพืชผลได้โดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งจะติดตามและรายงานความคืบหน้าให้กับผู้บริหารและประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การดำเนินการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการติดตามประเมินผลทุกระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเน้นย้ำว่า การทำงานในครั้งนี้จะต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของทุกหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในเร็ววัน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมชลประทาน

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมชลฯ ดันก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ที่ห้องประชุมชลประทานเชียงราย ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมปัจฉิมทเทศ งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำ จังหวัดเชียงราย โดยมีนายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย เป็นผู้กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์โครงการ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายธนพล สงวนตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 2 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่เข้าร่วมประชุม จำนวน 140 คน

เนื่องจากลุ่มน้ำแม่คำและลุ่มน้ำแม่จัน ในฤดูแล้งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนในฤดูฝนประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัย สร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชนการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งก่อนหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กกระจายอยู่พื้นที่รอบๆ ไม่ประสบความสำเร็จ และแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน จึงดำเนินการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่คำและลุ่มน้ำแม่จัน โดยวางแผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของลุ่มน้ำ 

ด้านอ่างเก็บน้ำแม่คำ มีที่ตั้งหัวงานอยู่ในเขต ม.13 บ.สามัคคีใหม่ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีความยาวสันเขื่อน 352 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 64 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 51.73 ล้าน ลบ.ม. โดยคาดว่าเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จตามแผนงาน จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ประมาณ 67,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ช่วยรักษาสมดุลนิเวศรอบอ่าง/ตลอดลำน้ำ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำด้านอื่นๆ ของประชาชนในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นเพียงการสรุปผลการดำเนินงานของโครงการให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่อาศัยในบริเวณโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวฯ อยู่ในช่วงการสำรวจพัฒนาโครงการ โดยกรมชลประทานมอบหมายให้บริษัท วิศวชลกร จำกัด และ บริษัท ศุภฤกษ์ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานจ้างสำรวจ ออกแบบโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ ซึ่งมีแผนจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 และคาดว่าจะทำการก่อสร้างประมาณปี 2570 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ ปี 2570 แก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซาก

 

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน กล่าวว่า “โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ” จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ในลุ่มน้ำคำ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ จะสามารถช่วยพื้นที่การเกษตรกว่า 75,000 ไร่ ที่มีทั้งปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมหลากซ้ำซากในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การเกษตรในอำเภอแม่จัน โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ ตั้งอยู่บ้านสามัคคีใหม่ ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

 

“ขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนของการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ และจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567 อ่างเก็บน้ำแม่คำมีความจุประมาณ 51.73 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะได้รับงบประมาณก่อสร้างประมาณปลายปี 2569 หรือ 2570 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง”

 

       เมื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำแล้วเสร็จ จะช่วยให้การทำการเกษตรมีแหล่งน้ำถาวรเพิ่มขึ้น ทำการเพาะปลูกในฤดูฝนได้เต็มประสิทธิภาพประมาณ 67,000 ไร่ ลดปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่วนฤดูแล้งจะสามารถทำการเกษตรเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 48,900 ไร่ สามารถส่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคได้ประมาณ 1.8 ล้าน ลบ.ม./ปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มริมน้ำแม่คำ ประมาณ 1,200 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ รักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ โดยระบายน้ำในฤดูแล้งลงลำน้ำเดิม

 

      ทางด้าน นายธนพล สงวนตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง ชลประทานขนาดกลางที่ 2 กล่าวว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ จะกระทบพื้นที่ทำกินของราษฎร จำนวน 175 ราย รวม 267 แปลง ประมาณ 1,207 ไร่ และกระทบที่อยู่อาศัยจำนวน 16 หลัง ซึ่งจะได้การชดเชยที่ดินและทรัพย์สินทั้งกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 รวมทั้งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ จะทำให้ระดับน้ำสูงสุดท่วมถนนในบางช่วงจากบ้านสามัคคีใหม่ไปบ้านห้วยหม้อ และจากบ้านห้วยหม้อไปบ้านห้วยมุ ก็จะสร้างถนนทดแทนให้ การก่อสร้างจะใช้วัสดุก่อสร้างเขื่อนจากภายในอ่างให้มากที่สุด เพื่อลดการขนส่งวัสดุจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะมีผลกระทบด้านเสียง ฝุ่น และการสัญจร รวมทั้งมีการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนใกล้เคียง โดยปฏิบัติตามรายงานแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ที่กรมชลประทานได้จัดทำรายงานและผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว “ผลกระทบในแง่ชีวิตและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานมีแผนปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข และติดตาม โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้าง เป็นระยะเวลา 15 ปี อย่างเช่น ป่าไม้ที่ถูกน้ำท่วมก็จะปลูกป่าชดเชยให้ 2 เท่า”

 

      ดร.สมชาย ประยงค์พันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำแม่คำตั้งอยู่ห่างจากรอยเลื่อนแม่จัน 13 กิโลเมตร จึงต้องออกแบบเขื่อนให้สามารถต้านแรงแผ่นดินไหวได้ที่ขนาด 6.8 โดยออกเเบบตามมาตรฐานต้านแผ่นดินไหวทั้งของกรมชลประทานเเละมาตรฐานระดับโลก

 

       นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย มักมีปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนัก น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเขตอำเภอพาน, อำเภอแม่จัน, อำเภอแม่ลาว ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม-พฤษภาคม จะเป็นช่วงที่ขาดฝนทำให้แม่น้ำและลำห้วยต่างๆ มีปริมาณน้ำลดลง บางแห่งน้ำขอด อย่างเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร โดยพื้นที่ที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก คือ อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่สรวย

 

       เมื่อมีการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้สม่ำเสมอตลอดปี ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำคำ สามารถดูแลผลผลิตจากการปลูกพืชให้มีผลผลิตมากขึ้น และจะบริการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำใน รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอแม่จัน และอำเภอเชียงแสนได้อีกด้วย

 

    ขณะที่นายผาย วงศ์ฝั่น ประธานฝายผาม้าและประธานเครือข่ายลุ่มน้ำคำ บอกว่า ในพื้นที่มักจะประสบปัญหาแล้งและท่วมสาหัส อยู่เสมอ อย่างเช่น ในขณะนี้เกิดภาวะภัยแล้งรุนแรงจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ ไร่นาเสียหาย โดยเฉพาะปีนี้ไร่นาในอำเภอเชียงแสนเสียหายหนักมาก จึงรอความหวังให้กรมชลประทานเร่งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำให้ได้โดยเร็ว

 

        ด้านนายเขียว วิยาพร้าว กรรมการลุ่มน้ำคำ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย บอกว่ารอคอยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำมานานกว่า 30 ปี ปีนี้ ในตำบลศรีดอนมูล นาข้าวยืนต้นตายจากปัญหาภัยแล้งกว่า 2,000 ไร่ เพราะน้ำในคลองส่งน้ำแห้งขอด อ่างเก็บน้ำแม่คำจึงเป็นความหวังของชาวบ้านที่จะสามารถเพิ่มรายได้จากการทำการเกษตรและน้ำกินน้ำใช้ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย 

 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

กรมชลประทาน ยืนยันแผ่นดินไหว เชียงใหม่ล่าสุด ไม่กระทบเขื่อนเชียงใหม่-เชียงราย

 
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 รายงานข่าวจากกรมชลประทาน ระบุว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริเวณตำบลเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลา 05.31 น. ของวันนี้ (1 เมษายน 2567) มีขนาด 3.0 ที่ความลึก 6 กิโลเมตร นั้น
 
 
กรมชลประทาน โดยส่วนวิศวกรรมธรณี และส่วนความปลอดภัยเขื่อน ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบค่าความเร่งสูงสุดจากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวของสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าความเร่งสูงสุดที่ตรวจวัดได้มีค่าเท่ากับ 0.0000532g ซึ่งต่ำกว่าค่าความเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหวที่ใช้ในการออกแบบอย่างมาก (ค่าที่ใช้ในการออกแบบจะไม่น้อยกว่า 0.2g) ดังนั้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงแต่อย่างใด
 
 
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ออกแบบเขื่อนทุกแห่ง ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบ และติดตามข้อมูลทางสถิติของค่าความเร่งสูงสุดที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวตลอดเวลา เพื่อนำมาประเมินสถานการณ์ รวมทั้งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน มีความมั่นใจ และเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อน
 
 
ซึ่งเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำ ปิดกั้นลำน้ำแม่กวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เขื่อนหลัก เขื่อนฝั่งขวา และเขื่อนฝั่งซ้าย ระดับสันเขื่อนสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 390 เมตร มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บ 15 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 204 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 148,400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านธิ และอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
 
 
สร้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 โดยกรมชลประทาน เริ่มสำรวจออกแบบ และก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2520 พร้อมทั้งขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพื่อขอใช้เงินกู้จากต่างประเทศ โดยขอกู้เงินจากญี่ปุ่น ในระหวาง พ.ศ. 2525 ถึงปี พ.ศ. 2530 รวมเป็นเงิน 7,000.5 ล้านเยน 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ในปี พ.ศ. 2558 กรมชลประทาน ได้เริ่มต้นดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ด้วยงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อผันน้ำจากลำน้ำแม่แตง และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มายังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
 
ส่วนแผ่นดินไหวที่เชียงรายใหม่ทีมข่าวได้มีการตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงเช้ามือดพบว่ามีแผ่นดินไหวที่เชียงใหม่ ติดเนื่องในวันที่ 1 เม.ย. 2567
 
เวลา 03:25 น.แผ่นดินไหว ต.ป่าไผ่ อ.สันทรา จ.เชียงใหม่(18.92°N,99.07°E) ขนาด 2.8 ลึก 4 กม. 
 
เวลา 05:31 น. แผ่นดินไหว ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่(19.37°N,99.23°E) ขนาด 3.0 ลึก 6 กม. 

เวลา 05:40 น.แผ่นดินไหว ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่(19.38°N,99.19°E) ขนาด 1.7 ลึก 5 กม. 
 
เวลา 06:01 น. แผ่นดินไหว ต. ป่าตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่(19.36°N,99.29°E) ขนาด 1.5 ลึก 3 กม. วันที่ 1 เม.ย. 2567  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข้าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

กรมชลประทาน ขุดลอกเวียงหนองหล่มเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและพื้นที่สีเขียว

 
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้เข้าไปฟื้นฟู “เวียงหนองหล่ม” ในด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและพื้นที่สีเขียว ภายใต้แผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟู และอนุรักษ์เวียงหนองหล่ม โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งหนึ่งในแผนงานที่สำคัญ คือ
 

โครงการขุดลอกเวียงหนองหล่ม เป็นการขุดลอกตะกอนดินประมาณ 2,500 ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักน้ำให้มากขึ้น สนับสนุนความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ทั้งด้านการอุปโภคบริโภการเกษตร และการปศุสัตว์ ได้อย่างเพียงพอ ปัจจุบันแก้มลิงแห่งนี้เก็บกักน้ำได้เพียง 8 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เก็บน้ำได้เพิ่มเป็น 20 ล้าน ลบ.ม. โครงการดังกล่าวมีแผนดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565-2568 ซึ่งกรมชลประทานได้เข้าไปดำเนินการขุดลอกตามรูปแบบรายการที่เทศบาลตำบลจันจว้าได้ทำการประชาคมร่วมกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในพื้นที่ด้วย

การขุดลอกตะกอนดินได้ดำเนินการขุดไปแล้วประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. จากแผน 12 ล้าน ลบ.ม. และกำลังดำเนินการในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้

 
 นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้วางแผนช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ โดยได้ทำการปรับพื้นที่แหล่งน้ำให้มีความลาดเอียง (SLOPE) เพื่อให้ควายสามารถเดินขึ้น–ลงแหล่งน้ำได้ พร้อมทั้งนํารถเกรดเดอร์เปิดทางเดินเข้าสู่แหล่งอาหารในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้วางแผนปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างโครงการชลประทานเชียงราย ปศุสัตว์จังหวัด และเทศบาลจันจว้า ที่ได้วางแผนการปลูกพืชอาหารสัตว์ออกเป็น

2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การปรับพื้นที่บริเวณจุดทิ้งดินให้เป็นแปลงเพาะพันธุ์หญ้าประมาณ 50 ไร่ โดยมีนายอำเภอแม่จัน เป็นประธานการดำเนินกิจกรรม พร้อมจัดทำ MOU ร่วมกับสมาชิกปางควายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานดังกล่าว

ส่วนระยะที่ 2 จะทำการเพาะปลูกหญ้าอีกประมาณ 400 ไร่ เพื่อนําไปขยายผลให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในระยะยาวต่อไป จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแหล่งอาหารเลี้ยงควาย นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เชียงราย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ปศุสัตว์อำเภอแม่จัน และเทศบาลตำบลจันจว้า ได้ร่วมกันมอบหญ้าแห้งสำรองให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายบริเวณเวียงหนองหล่ม จำนวน 8,000 กิโลกรัม เพื่อเป็นคลังเสบียงอาหารสัตว์ในการดูแลสัตว์เลี้ยงต่อไป

 

ซึ่ง “เวียงหนองหล่ม” แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 14,091 ไร่ ในเขต อ.แม่จัน และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งในอดีตเวียงหนองหล่มเป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่ใช้ประโยชน์ตามวิถีวัฒนธรรม มีการประกอบอาชีพประมงพื้นถิ่นและการเลี้ยงควายเป็นหลัก แต่ในระยะเวลาต่อมาแหล่งน้ำดังกล่าวกลับมีสภาพตื้นเขิน เนื่องจากการสะสมของตะกอนดินและปัญหาวัชพืชอย่าง ไมยราบยักษ์ ที่แผ่อาณาเขตปกคลุมทั่วหนองน้ำ จนไม่สามารถเก็บกักน้ำได้และเกิดความแห้งแล้งในพื้นที่

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมชลประทาน

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

รัฐมนตรีเกษตร’ เปิดงาน 121 ปีกรมชลประทาน ก้าวสู่อนาคตสู่ทศวรรษใหม่

 

 ดร.เฉลิมชัยศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “121 ปี  กรมชลประทานสู่อนาคตสู่ทศวรรษใหม่” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทานครบรอบปีที่ 121 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 โดยมีนายนราพัฒน์ แก้วทองผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายธนาชีรวินิจเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายสมเกียรติกอไพศาลประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายสำเริงแสงภู่วงศ์คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรแบะสหกรณ์นายประยูรอินสกุลปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายประพิศจันทร์มาอธิบดีกรมชลประทานผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเข้าร่วมณอาคาร 99 ปีหม่อมหลวงชูชาติกำภูกรมชลประทานถนนสามเสนกรุงเทพฯ 

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่ากรมชลประทานเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรมีภารกิจด้านการจัดหาแหล่งน้ำการพัฒนาแหล่งน้ำตลอดจนการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอในทุกภาคส่วนจึงได้เน้นย้ำเรื่องการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องร่วมมือกันดำเนินการรวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนใช้น้ำให้เกิดคุณค่ามากที่สุดพี่น้องเกษตรกรและประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ประเทศนอกจากนี้ยังมีโครงการที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อเพิ่มต้นทุนน้ำในอนาคตเป็นการเตรียมความพร้อมลดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วงและขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

          “จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่ผ่านมาซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้วขอยืนยันว่ากรมชลประทานได้เตรียมแผนจัดสรรน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศน์ไว้เพียงพอส่วนน้ำภาคการเกษตรขอฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรให้ช่วยกันรักษาและใช้น้ำอย่างมีคุณค่ามากที่สุดทั้งนี้ขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่กรมชลประทานทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ปัญหาเพื่อประชาชนและประเทศชาติและก้าวสู่ปีที่ 122 อย่างมั่นคง” รมว.เกษตรฯกล่าว 

          โอกาสนี้รมว.เกษตรฯเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลข้าราชการพลเรือนและลูกจ้างประจำดีเด่นประจำปีพ.. 2565 รางวัลการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา/โครงการชลประทานและฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาประจำปีพ.. 2566 และรางวัลนวัตกรรมดีเด่นพร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์

          ด้านนายประพิศจันทร์มาอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่ากรมชลประทานก้าวสู่ทศวรรษที่ 13 ยังคงยืนหยัดและยึดมั่นในการดําเนินงานตามภารกิจสร้างความมั่นคงด้านน้ําเพื่อความมั่งคั่งของผลผลิตทางการเกษตรและเพื่อความยั่งยืนของพี่น้องเกษตรและประชาชนตามภารกิจหลักภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (..2561-2580) โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้กว่า 49.5 ล้านไร่เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 93,655 ล้านลูกบาศก์เมตรเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจากน้ำรวมไปถึงมุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ Water Security เพิ่มคุณค่าการบริการก้าวสู่องค์กรอัจฉริยะภายในปี 2580 ตาม Road Map การดำเนินงานทั้ง 4 เฟสเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้แก่

          เฟส 1 (2561-2565) “เสริมพลังใหม่สู่การปรับเปลี่ยน” มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ขนาดกลางขนาดเล็กและโครงการพระราชดำริที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายโครงการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้รวม 1,292.50 ล้านลูกบาศก์เมตรและเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.94 ล้านไร่

          เฟส 2 (2566-2570) “สร้างภาคีเครือข่ายและความร่วมมือ” มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการควบคุมและบริหารน้ำระบบอัจฉริยะก่อสร้างระบบชลประทานด้วยนวัตกรรมชั้นสูงสร้างระบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง

          เฟส 3 (2571-2575) “ปฏิรูปรูปแบบกระบวนงาน” Smart Water Operation Center

          และเฟส 4 (2576-2580) “มุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะ” พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานครอบคลุมทุกลุ่มน้ำระบบชลประทานครบสมบูรณ์        

          สำหรับในปีนี้กรมชลประทานได้จัดนิทรรศการ 2 รูปแบบได้แก่ 1. นิทรรศการออนไลน์ “สู่อนาคตสู่ทศวรรษใหม่ 121 ปีกรมชลประทาน” เป็นนิทรรศการเสมือนจริงแบบ 3 มิติแสดงประวัติความเป็นมางานด้านชลประทานผลงานตามภารกิจของกรมชลประทานตลอดจนทิศทางการขับเคลื่อนงานสู่เฟส 2 สามารถรับชมผ่านทางเว็บไซต์กรมชลประทาน www.121exhibition.rid.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปและ 2. นิทรรศการ On ground “กรมชลประทาน 6 รัชกาลงานของแผ่นดิน” พร้อมกิจกรรมที่น่าสนใจอาทิการเสวนาพิเศษโดยดร.อั๋นภูวนาทคุนผลินกับหัวข้อ “ปลุกพลัง RID TEAM สร้างความสำเร็จสู่อนาคตใหม่” ตลอดจนกิจกรรม “มอบทุนต้นกล้าเกษตรคืนถิ่นเพื่อความยั่งยืน” ให้แก่บุตรเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกให้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีณวิทยาลัยการชลประทานกิจกรรมร่วมบริจาคโลหิตให้สภากาชาดไทยและกิจกรรมแจกกล้าไม้อาทิสักทองพะยูงยางนาตะเคียนทองรวม 520 กล้ารวมไปถึงการจัดจำหน่ายผลผลิตทางเกษตรจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภายใต้แผนพัฒนาอาชีพและแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณด้านหลังอาคาร 99 ปีหม่อมหลวงชูชาติกำภูกรมชลประทานถนนามเสนกรุงเทพฯ 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News