Categories
NEWS UPDATE

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินน้ำท่วม ปี 2567 สูง 30,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมปี 2567 สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดเผยการประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมในปี 2567 ว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.16% ของ GDP ของประเทศไทย หากสถานการณ์น้ำท่วมลากยาวหรือขยายพื้นที่ ผลกระทบอาจเพิ่มขึ้นถึง 50,000 ล้านบาท หรือ 0.27% ของ GDP

การประเมินผลกระทบจากน้ำท่วม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินว่าผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2567 จะเกิดขึ้นอย่างหนักในภาคเกษตรและรายได้ของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคและเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ภัยพิบัติจากน้ำท่วมมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคเกษตร

น้ำท่วมปีนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เช่น เชียงรายและเชียงใหม่ ที่น้ำท่วมซ้ำหลายรอบ นอกจากนี้ รายได้ของครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้การบริโภคลดลงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

การขยายพื้นที่น้ำท่วมและความเสียหายที่เพิ่มขึ้น

หากสถานการณ์น้ำท่วมขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองของภาคกลางและภาคใต้ ผลกระทบจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 50,000 ล้านบาท หรือ 0.27% ของ GDP การขยายพื้นที่น้ำท่วมยังส่งผลต่อโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนทรุด สะพานขาด และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจในพื้นที่

การเตรียมรับมือกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้ภัยพิบัติจากน้ำท่วมมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น การวางแผนรับมือเช่น การมีระบบเตือนภัยที่เข้าใจง่าย แผนปฏิบัติการฉุกเฉิน การทำประกันภัย และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากน้ำท่วมในอนาคต

การประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและการเคลื่อนย้ายพื้นที่เสี่ยง

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำได้ประเมินว่าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันจะเคลื่อนจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางในเดือนกันยายนและตุลาคม มาเป็นภาคกลางและภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม การเคลื่อนย้ายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมนี้ทำให้ต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ใหม่

ผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจ

น้ำท่วมปี 2567 ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก ถนนทรุด สะพานขาด และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ซึ่งทำให้การดำเนินธุรกิจและการเดินทางของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ ภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้การผลิตหยุดชะงักและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

การฟื้นฟูหลังน้ำท่วมและบทบาทของภาครัฐและเอกชน

หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย การฟื้นฟูพื้นที่จะต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐและการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมการก่อสร้างและการตกแต่งบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนก็อาจจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ส่งผลให้มีการกดดันการใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ของครัวเรือน

บทสรุป

น้ำท่วมปี 2567 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะในภาคเกษตรและรายได้ของครัวเรือน การวางแผนรับมือและการฟื้นฟูพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมในอนาคต การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีก

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS UPDATE

วิจัยกสิกรฯ เผยว่า ปี 2029 ผู้สูงอายุไทยพุ่ง 18 ล้านคน

 

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปี 2029 คาดการณ์ว่ามูลค่าการใช้จ่ายของผู้สูงอายุไทยจะอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท โตเฉลี่ย 5.3% ต่อปี (CAGR 2024-2029) ตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น (ปี 2024 อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท) โดยในปี 2029 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged Society) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สูงวัยในไทยราว 18 ล้านคน จากปัจจุบันที่อยู่ราว 14 ล้านคน ทั้งนี้ ธุรกิจที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการขยายตัวของสังคมสูงวัย อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

 

    1) ธุรกิจที่เน้นด้านสุขภาพ ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจการดูแลสุขภาพ โดยการใช้จ่ายใน 2 หมวดนี้มีสัดส่วนรวมกันกว่า 37% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของผู้สูงอายุ ซึ่งสูงกว่าการใช้จ่ายในหมวดเดียวกันของช่วงวัยหรือ Generation อื่นๆ ราว 3% สอดคล้องไปกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่าผู้สูงอายุไทยมีความสนใจซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของผู้สูงอายุที่ตอบแบบสำรวจทั้งหมด

 

    ขณะที่สินค้าและบริการที่น่าจะเป็นโอกาสในกลุ่มนี้ ได้แก่ ศูนย์โรคเฉพาะทาง ยาและเวชภัณฑ์ บริการดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home และ Care Giver) ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น โดยมีปัจจัยหนุนจากเทรนด์รักสุขภาพ ความเสี่ยงเจ็บป่วยต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อไม่เรื้อรังของผู้สูงอายุ สำหรับในหมวดอาหาร ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุและอาหารทางการแพทย์ แต่ทั้งนี้รูปแบบของอาหารควรเคี้ยวง่าย ย่อยง่าย มีขนาดที่พอเหมาะ และมีโภชนาการครบถ้วน

 

    2) ธุรกิจอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุ คิดเป็นสัดส่วนราว 63% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของผู้สูงอายุ ซึ่งการใช้จ่ายต่อครั้งจะมีมูลค่าสูง แต่มีความถี่ในการใช้จ่ายน้อยกว่าการบริโภคสินค้าในกลุ่มแรก (อาหารและสุขภาพ) อาทิ

        – ธุรกิจนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Smart Home Devices เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียง อุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุในบ้าน กล้องติดตามการเคลื่อนไหว ไม้เท้าอัจฉริยะ เครื่องช่วยฟัง เป็นต้น

        – ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง จากปัจจุบันผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงความนิยมเลี้ยงสัตว์ของผู้สูงอายุเพื่อช่วยในการบำบัดรักษา (Pet Healing) ส่งผลให้สินค้าและบริการที่น่าจะได้ประโยชน์ เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และบริการดูแลสัตว์เลี้ยง

        – ธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ในปี 2023 ยังมีอยู่น้อยเพียง 728 แห่งทั่วประเทศ รองรับผู้สูงอายุที่ได้เพียงราว 19,490 คนเท่านั้น คาดว่าต่อไปจะเพิ่มมากขึ้น จากมาตรการหนุนให้ชาวต่างชาติมีอาศัยที่ไทย รวมถึงธุรกิจการปรับปรุงที่อยู่อาศัยน่าจะช่วยรองรับความต้องการของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยได้

        – ธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น บริการทางการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ และ Reverse Mortgage สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แต่ไม่มีลูกหลานดูแล รวมถึงบริการ Entertainment ต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ อาทิ เกมช่วยบริหารสมองและช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม (Dementia) และเกมช่วยฝึกความไวของสายตา เป็นต้น 

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ตลาดผู้สูงอายุมีแนวโน้มน่าสนใจมากขึ้น แต่ธุรกิจอาจมีความเสี่ยงจาก 2 เรื่องหลัก ได้แก่

    1. ตลาดแข่งขันรุนแรง เพื่อแย่งชิงลูกค้าที่มีศักยภาพ แม้ตลาดผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น แต่ในช่วง 2-3 ปีแรกของการเจาะตลาดผู้สูงอายุ ขนาดตลาดจะยังไม่ใหญ่มากตามจำนวนผู้สูงอายุไทยที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 23% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ส่งผลต่อกำลังซื้อที่จำกัด

    ขณะที่ ผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่ พบว่ามักกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง ทำให้ธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้อาจต้องเผชิญการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่เข้มข้นจากคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน และญี่ปุ่น

    นอกจากการปรับตัวของธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ การทำกลยุทธ์การตลาด (Marketing) ไปที่ลูก-หลาน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผู้ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการแทนผู้สูงอายุ โดยเน้นที่คุณภาพ/มาตรฐานของสินค้าและบริการ รวมถึงความคุ้มค่าด้านราคาเป็นหลัก

 

    2. ธุรกิจมีต้นทุนในการปรับตัวรองรับสังคมสูงวัย ทั้งต้นทุนหลักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน ธุรกิจจะมีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการปรับไลน์การผลิต/พัฒนารูปแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เช่น สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มก็อาจต้องเพิ่มสารอาหารที่เหมาะสมกับวัยและโรคของผู้สูงอายุ ปรับบรรจุภัณฑ์ให้ใช้เปิด-ปิดง่าย เป็นต้น รวมถึงบางธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) ในภาคเกษตร การผลิต และการค้า ที่อาจต้องมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะรุนแรงในระยะข้างหน้า

    การปรับตัวเหล่านี้อาจกระทบผู้ประกอบการ SMEs ที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมดราว 3.18 ล้านราย โดยธุรกิจที่มีสัดส่วน SMEs สูง ได้แก่ ค้าส่ง/ค้าปลีก การผลิต ก่อสร้าง และธุรกิจการเกษตร คิดเป็นสัดส่วนรวมกันราว 63% ของจำนวน SMEs ทั้งหมด (รูปที่ 6) ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจเหล่านี้มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น

    แต่ในระยะข้างหน้า การปรับตัวรองรับสังคมสูงวัย โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่แม้จะใช้เงินลงทุนสูงในช่วงแรก แต่คาดว่าจะสร้างความคุ้มค่าในระยะกลาง-ยาวจากราคาเริ่มถูกลง เช่น ราคาหุ่นยนต์ (Robot Price) ที่ใช้ในอุตสาหกรรม (Robot Arms, Industrial Robots) จะลดลงเฉลี่ยปีละ 11% (CAGR 2017-2025) และการใช้ AI ในธุรกิจจะมีต้นทุนลดลงจากการแข่งขันกันพัฒนาโมเดล/ความสามารถใหม่ๆ โดยเฉพาะ Gen AI (ChatGPT, Gemini, Claude-3 ฯลฯ) ซึ่งคงจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

วิจัยพบคนไทยใช้ Food Delivery น้อยลง เพราะราคาแพง อาหารไม่ตรงปก

 
ศูนย์วิจัยกสิกรคาดตลาดเดลิเวอรี่ Food Delivery หดตัวปีนี้ คนเปลี่ยนพฤติกรรม ซ้ำปัญหาแก้ไม่ตก ราคาแพง อาหารไม่ตรงปก แนะแพลตฟอร์มมัดใจ Gen Z รักษาลูกค้าด้วยการเพิ่มคุณภาพและใช้เทคโนโลยีมาช่วย
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยบทวิเคราะห์ตลาด Food Delivery มองว่า ในปี 2566 มูลค่าตลาด Food Delivery น่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 0.6% จากปี 2565 ขณะที่ปริมาณการสั่งอาหารน่าจะหดตัวลง 11.3% จากปี 2565 โดยกลุ่มตัวอย่าง 44% ยังมีการสั่งอาหาร แต่ความถี่ในการสั่งลดลง เนื่องจากปรับเปลี่ยนมานั่งทานนอกบ้าน ซื้ออาหารกลับไปทานหรือทำเองที่บ้านมากขึ้น รวมถึงไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการสั่งอาหาร แต่กลุ่มตัวอย่างในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันก็มองว่าน่าจะใช้เท่าเดิม (42%) ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มองว่าไม่ใช้บริการเลย คิดเป็น 8% และใช้งานมากขึ้นคิดเป็น 6%
 
 

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการสั่งอาหารมีผลทำให้กลุ่มตัวอย่างสั่งลดลงหรือหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารในระยะข้างหน้า อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาอาหารและค่าขนส่ง รวมไปถึงประเด็นเฉพาะที่เกิดจากการสั่งอาหาร เช่น ปัญหาอาหารที่สั่งแล้วไม่ตรงปกจากร้านอาหาร ปริมาณอาหารที่ได้รับรู้สึกไม่คุ้มกับค่าเงินที่เสียไป ปัญหาความล่าช้าในการส่งอาหาร ปัญหาความผิดพลาดและอาหารเสียหาย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ส่ง

 

 

นอกจากนี้หากค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารไม่ว่าจะเป็นราคาอาหาร หรือค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นก็มีผลต่อการใช้บริการสั่งอาหารจัดส่งยังที่พักเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดข้ึนสะสมมานาน ผู้ให้บริการแพลตฟอรม์ออนไลน์คงต้องทำงานร่วมกับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ใช้บริการ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรยังเผยว่าผู้ใช้งานแอป Food Delivery ส่วนใหญ่เป็น กลุ่ม Gen Y (58%) รองลงมาเป็นกลุ่ม Gen X (28%) ซึ่งเป็นกลุ่มในวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ และส่วนใหญ่ใช้งานมากกว่า 1 แอปขึ้นไป เพื่อเปรียบเทียบราคา ตามโปรโมชั่นหรือสิทธิพิเศษ 

 

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภค New generation หรือ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาและวัยเริ่มทำงาน แม้จากผลสำรวจสะท้อนว่ามีสัดส่วนผู้ใช้งานน้อยกว่าแต่กลับพบว่ามีค่าเฉลี่ยความถี่ในการใช้งานสูงกว่ากลุ่มอื่น สะท้อนถึงพฤติกรรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ น่าจะให้ความสำคัญในการกระตุ้นตลาดในกลุ่มนี้มากขึ้น

 

โดยกลุ่มตัวอย่างต้องการให้แพลตฟอร์มฯ นำเสนอบริการที่ครอบคลุมความต้องการ ในชีวิตประจำวัน และสามารถตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายได้ในแอปพลิเคชั้่นเดียว ควรมีร้านอาหารที่มีคุณภาพและทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีระบบการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน และสามารถนำเสนอร้านอาหาร/โปรโมชั่นได้ตรงความต้องการมากที่สุด

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น และพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลาย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้มีความเฉพาะมากข้ึน เช่น การใช้ฐานข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ ร่วมกับพันธมิตรร้านอาหาร ทำการตลาดเจาะกลุ่มตามไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่แตกต่างกัน

 

แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารคงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการและตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มที่ย่อยลงไปอีก (Sub- Segment)  เช่น ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอ Customized loyalty program หรือโปรโมชั่นที่ดึงดูด เพื่อรักษายอดการใช้บริการของกลุ่ม Gen Y-X และเพิ่มรายได้จากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่าง Gen Z ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News