เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังมีปัญหาเพิ่มขึ้นใน 3 จังหวัด คือ เชียงราย น่าน และแพร่ แต่มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินที่ต้องเฝ้าระวัง 2 จังหวัด คือ เชียงรายและพะเยา
ทั้งนี้ มีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบจำนวน 13 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 แห่ง ได้แก่ รพ. 2 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 2 แห่ง และ รพ.สต. 9 แห่ง จำนวนนี้ยังเปิดให้บริการตามปกติ 5 แห่ง ปิดบริการ 8 แห่ง คือ แพร่ มี รพ.สต.บุญเกิด และ รพ.สต.สบบง , เชียงราย มี รพ.สต.ตับเต่า และ สสอ.เทิง , แแพร่ มี รพ.สต.น้ำโค้ง รพ.สต.วังธง ร.สต.สบสาย และ สสอ.เมือง
นพ.สุรโชคกล่าวว่า การดูแลสุขภาพประชาชนขณะนี้มีประมาณ 9 พันครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ได้มีการจัดหน่วยแพทย์เข้าไปดูแลตามปกติ ส่วนกลางได้สนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 1 พันชุด ส่วนใหญ่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ยารักษาน้ำกัดเท้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากรายงานจนถึงขณะนี้พบผู้เสียชีวิตสะสมจากเหตุน้ำท่วม 8 ราย บาดเจ็บ 10 ราย รายละเอียดยังต้องรอสรุปอีกครั้ง
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้เฝ้าระวังใกล้ชิดและคอยสนับสนุนยาไปให้แก่ผู้ประสบภัย ซึ่งเราก็ส่งไปแล้วประมาณ 1 พันชุด ส่วนใหญ่จะลงไปที่ รพ.สต.เป็นหลัก ส่วน รพ.ใหญ่ยังคงดูแลได้” นพ.สุรโชคกล่าวและว่า สำหรับการประเมินสถานการณ์ใน 6 จังหวัดที่ยังมีปัญหาน้ำท่วม คิดว่าปัญหาอยู่ในระดับเริ่มคงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้น
เมื่อถามถึงการประเมินความเสี่ยงในจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นเส้นทางของมวลน้ำที่จะไหลผ่าน จะมีมาตรการรองรับอย่างไร นพ.สุรโชค กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีการจัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ดินโคลนถล่มไว้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเดิมๆ ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้ว ยกเว้นบางจังหวัดที่ไม่ค่อยได้ประสบปัญหา ส่วนจังหวัดที่อยู่ด้านล่างลงมาและเป็นเส้นทางน้ำผ่านก็มีแผนรับมือแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา แต่มาตรการที่วางไว้สามารถรองรับได้ เพราะก่อนหน้านี้มีการพยากรณ์เอาไว้ว่ามวลน้ำจะเยอะกว่าปีที่ผ่านมา เราจึงมีการทบทวนและซ้อมแผนในพื้นที่ต่างๆ อยู่แล้ว
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข