Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

แล้วใครทำ! หลังชาว ‘ปกาเกอะญอ’ อ.เวียงป่าเป้า ถูกทำลายไร่หมุนเวียน

 

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 นายจรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ,นายศรุต ศรีจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.),นายนิราภร จะพอ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดใน และ นายถนัด จะสุ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดนอก ซึ่งเป็นตัวแทนจากชุมชนห้วยหินลาดใน ห้วยหินลาดนอก และบ้านผาเยือง ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ประมาณ 20 คน เดินทางมารวมตัวที่บริเวณสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 จ.เชียงราย เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีมีชายแต่งชุดดำพร้อมอาวุธปืนเข้าไปบุกรุกและทำลายทรัพย์สินในพื้นที่ชุมชนและไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อ 4 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา โดยมี นายธนชัย จิตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า มาพบตัวแทนและรับหนังสือ

 

นายธนชัย ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ชี้แจงว่า กรณีได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจตราในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นคำสั่งจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้ตรวจสอบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าตามโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าปี 2566 ทางสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ สังกัดกรมป่าไม้ จึงได้ทำความร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงจากดาวเทียม หากเดิมเป็นพื้นที่ป่า ดาวเทียมจะจับจุดสัญญาณได้เป็นสีเขียว หากมีการแผ้วถาง จุดสัญญาณจะเป็นสีขาว ซึ่งข้อมูลดาวเทียมจังหวัดเชียงราย พบจุดพิกัดสีขาวถึง 1,800 จุด จึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบในระดับพื้นที่ ซึ่งในการเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นไปตามการอนุญาตภายใต้มาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรณีชุมชนห้วยหินลาดใน ทางหน่วยงานมีความเช้าใจในวิถีเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชุมชนเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข้อขัดแย้งในการทำงานแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดเข้าไปกระทำพฤติกรรมดังกล่าวในชุมชน ทางส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าได้รับรายงานข้อมูลมาจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดเช่นเดียวกัน แต่จากการซักถามเบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ จึงเห็นว่าทางชุมชนอาจต้องไปแจ้งความเพื่อให้เกิดการสอบสวนจนได้ข้อยุติว่าใครคือผู้กระทำผิดจริง

 

โดยทาง ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดในและใกล้เคียง ต้องการเรียกร้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่โดยไม่แจ้งทางผู้ใหญ่บ้านและชุมชน ทำลายข้าวของในพื้นที่ทำกินของชุมชน และต้องการให้มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน ซึ่งต้องเป็นการตรวจสอบที่มีสัดส่วนชองชุมชน ท้องที่ท้องถิ่น และหน่วยงานอย่างเท่า ๆ กัน ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบกันเองภายในหน่วยงาน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในพื้นที่ทำกินเช่นนี้ และยังไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงอาจทำให้ชาวบ้านสงสัยและกังวลใจว่า หลังจากนี้หากชาวบ้านจะเข้าไปในไร่หรือพื้นที่ทำกินได้เช่นเดิมหรือไม่ ถ้ายังทำกินอยู่จะเกิดการบุกรุกและคุกคามเช่นนี้หรือไม่ จึงอยากให้ทางหน่วยงานชี้แจงและยืนยันว่าจะยังคงสามารถทำกินในพื้นที่ได้ดังเดิมที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนต่างยินดีให้ความร่วมมือกับทางหน่วยงาน เมื่อทางหน่วยงานต้องการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ทางชุมชนก็อำนวยความสะดวกโดยตลอด แต่กลับพบการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับชุมชนอื่น ๆ อีก เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบและให้เกิดมาตรการป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนภายใน 7 วัน โดยให้มีสัดส่วนของชุมชนห้วยหินลาดในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในสัดส่วนที่เท่ากัน และต้องหามาตรการเยียวยาผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ถูกทำลายทรัพย์สิน รวมถึงเยียวยาผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน และยืนยันว่าชาวบ้านจะยังสามารถทำกินอยู่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนทุกแปลงได้โดยเร่งด่วน

 

 

ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อเกตว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโดยปกติจะมีการแจ้งทางผู้ใหญ่บ้านให้ทราบวัตถุประสงค์ในการเข้ามาในพื้นที่ เจ้าของแปลงทำกินก็จะสามารถพาไปลงพื้นที่แปลงทำกินของตนเพื่อยืนยันลักษณะการทำกินได้ แต่ครั้งนี้กลับไม่มีการแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด ทางชุมชนจึงไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีการกระทำเช่นนี้ในพื้นที่

 

 

ทางทีมข่าวนครเชียงนิวส์ ได้ทำการสัมภาษณ์และค้นหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทางแหล่งข่าวได้แจ้งกับทีมข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่จำนวน 3 คน ที่แจ้งเตือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ป่า จึงเข้าไปตรวจสอบว่าพื้นที่ตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากที่ดินทํากินเดิม หรือเป็นที่บุกเบิกใหม่ เพื่อจะมาปิดในระบบ และเพื่อเช็คว่ามีการบุกรุกจริงหรือไม่

 

ช่วงประมาณ 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ได้ไปถึงในพื้นที่ และมีการตรวจสอบถ่ายภาพตามจุดพิกัด โดยได้มีไปเจอชาวบ้าน และได้เข้าไปสอบถามชาวบ้านว่าทํากินในพื้นที่นี้นานหรือยัง พอใช้เวลาตรวจสอบสักพัก หลังจากนั้นก็มีการถอนกําลัง ระหว่างนั้นได้เกิดฝนตกเจ้าหน้าที่จึงได้มีการไปแวะพักที่ศาลาที่มีแทงค์น้ำตั้งอยู่ และ ระหว่างรอฝนหยุดตก ขากลับยางล้อรถของเจ้าหน้าที่รั่วจึงค่อยๆ ขับรถกลับกันมาจนถึงชุมชนในหมู่บ้าน และในเวลาประมาณเกือบ 17.00 น. ชาวบ้านจึงขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยใบหน้าเนื่องจากตอนที่เจ้าหน้าที่ไปลงพื้นที่ได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไป จึงมีการปิดบังใบหน้าบางส่วนด้วยหน้ากากไว้เพื่อกันแดดและฝนตามปกติ หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาปะยางรถประมาณ 30 นาที ช่วงระยะเวลานั้นชาวบ้านก็เข้ามาสอบถามว่ามาทําอะไร ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการชี้แจงว่ามาตรวจสอบพื้นที่และปรึกษาเรื่องการขออนุญาตไฟฟ้า จากนั้นหลังเวลา 17.40 น. ได้ขี่รถออกมาจากหมู่บ้าน

 

และในวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ปรากฏว่ามีกระแสข่าวในโลกโซเชียลออกมาต่อว่ามีชายชุดดำบุกทำลายไร่หมุนเวียน ซึ่งก็มีแต่เจ้าหน้าที่ ที่เข้าไปก็เลยอาจจะเข้าใจได้ว่า เป็นคนเข้าไปทําลายสิ่งของ และเข้าไปหารื้อถอนทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการสอบถามเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แล้วทุกคน ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีการเข้าไปทำลายทรัพย์สินอะไรทั้งสิ้น อย่างเช่น รอยฟันถังน้ำที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าตอนนที่ขึ้นไปมีแค่ปืนกระบอกเดียวที่เป็นอาวุธประจํากายที่ใช้ไปออกลาดตระเวน และเข้าไปทํางานตามปกติไม่ได้มีการไปข่มขู่หรือทําลายข้าวของ ส่วนจุดพิกัดที่ถูกถ่ายภาพมาว่ามีการไปทำลายทรัพย์สิน ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ทราบว่าอยู่จุดนี้คือจุดไหน แต่รู้จุดเดียวคือที่มีการขับผ่านศาลาที่มีกรวยห้อยตามศาลา แต่ไม่ได้มีการเข้าไปในพื้นที่ของชุมชนแต่อย่างใด

 

และจากการสอบถามทางผู้นําชุมชน เพื่อขอหลักฐานภาพถ่าย หรือพยานบุคคลเพื่อยืนยันว่ามีใครเห็นเจ้าหน้าที่ไปทำลายข้าวของหรือไม่ ซึ่งเพราะถ้ามีการกระทำดังนั้นจริง จะต้องมีเรื่องวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทางผู้นําชุมชนก็บอกว่าเห็นเจ้าหน้าป่าไม้เข้ามา และพอเจ้าหน้าที่ออกไปก็เห็นข้าวของเสียหาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งมาว่า ถ้ามีใครไปแอบอ้างทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ไม่ทํา จะพิสูจน์ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีใครเห็นเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำ ตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว ตลอดเส้นทางที่เข้าไปก็มีการสอบถามทางกับทางชุมชน โดยได้เจอพระรูปหนึ่งจึงได้เข้าไปคุยว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบพื้นที่นะ ตอนเจอคนในชุมชนก็มีการแจ้งชื่อ ตอนเข้าไปในชุมชนก็มีชาวบ้านประมาณ 10 กว่าคนมาถามชื่อ ชาวบ้านบางคนก็ยังมาช่วยปะยางรถด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเป็นการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ทำกินเดิม และหน่วยงานก็มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะมีการดำเนินการอะไรทึ่ไม่สมควรอย่างที่กล่าวอ้าง

 

แต่ยอมรับว่าไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือเข้าไป เพราะเป็นการเข้าไปในพื้นที่เดิม ตรวจสอบและไปปิดในระบบ ซึ่งเป็นการเข้าไปลาดตระเวน เผื่อเจอคนบุกรุก แต่ด้วยความที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงคิดว่า พื้นที่เป็นพื้นที่เดิมและไม่น่าจะมีปัญหาในการเข้าไปตรวจสอบ และได้ยืนยันแล้วว่าไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว แต่หากชาวบ้านท่านใดมีข้อมูล พยาน หรือหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปทําลายทรัพย์สินสามารถส่งหลักฐานมาให้ทางหน่วยงานตรวจสอบได้เลย

 

สำหรับเหตุการณ์ชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค.67 ที่ผ่านมา มีชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่จำนวน 3 นาย มีผ้าปิดคลุมใบหน้า พร้อมอาวุธปืนยาว 1 กระบอก ได้ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเข้ามาในบริเวณชุมชน ซึ่งทางชุมชนเข้าใจว่าเป็นการเข้ามาลาดตระเวนที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวเข้าออกเป็นปกติ จนกระทั่งชาวบ้านได้เข้าไปยังบริเวณไร่หมุนเวียนแปลงดังกล่าวแล้วพบว่า ทรัพย์สินในกระท่อมในไร่หมุนเวียนถูกรื้อทำลาย รวมทั้งถังเก็บน้ำสำรองที่ใช้ดับไฟป่าก็ถูกกรีดและถูกปล่อยน้ำออกจนหมด รวมไปถึงอุปกรณ์พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในไร่หมุนเวียนตามความเชื่อของชุมชนกะเหรี่ยง “จื่อ ลอ มวา ข่อ” ที่ใช้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่จะขอให้ฟ้าฝนช่วยให้การเพาะปลูกราบรื่นนั้นถูกรื้อทำลายกระจัดกระจาย

 

 

ทั้งนี้หมู่บ้านห้วยหินลาดในถือเป็นหมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์ป่าไม้และวิถีชีวิตวัฒนธรรมปกาเกอะญออย่างเข้มแข็ง และหน่วยงานราชการหลายหน่วยได้มีการเข้ามาดูผลงานในหมู่บ้านดังกล่าว และชุมชน ผู้นำชุมชนหลายคนก็เคยได้รับรางวัลหลากหลายรางวัลที่การันตีถึงความยั่งยืนในพื้นที่ อาทิ

 

1.รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 1 ปี 2542 ประเภทชุมชน

2.“รางวัล 5 ปีแห่งความยั่งยืน” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน”) ในปี 2548

3.กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 7 ในปี 2548

4.พะตีปรีชา ศิริ (อายุ 59 ปี) ได้รับรางวัล “วีรบุรุษ รักษาป่า” Forest Hero จากการประชุมของ องค์การสหประชาชาติ เรื่องป่าไม้ ที่กรุงอิสตันบูล ในปี 2556

5.ได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบ และศึกษาแลกเปลี่ยนชุมชนต้นแบบที่ประเทศมาเลเซีย ในปี 2566

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ลำปาง สะท้อนข้อจำกัด กฎหมายป่าไม้ มาตรการห้ามเผา-การจัดการไฟ

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 67 เวลา 09.00 – 16.00 น. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดโครงการ “การสร้างองค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าให้กับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และข้อจำกัดทางกฎหมาย นโยบายของรัฐ” ณ ชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการดูแลรักษาและจัดการไฟป่าระหว่างชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า รวมถึงปัญหาและข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อนำข้อมูลการจัดการไฟในพื้นที่สู่การพัฒนาแผนการจัดการไฟป่าได้อย่างสอดคล้องกับพื้นที่

 

การแลกเปลี่ยนอภิปรายเรื่อง การสร้างองค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าให้กับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และข้อจำกัดทางกฎหมาย นโยบายของรัฐ มีตัวแทนแต่ละภาคส่วนร่วมเป็นวิทยากร ได้แก่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร, ชลธี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง, พนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง, ศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง, สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง, พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยมีมานพ คีรีภูวดล กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ภาคประชาชนสะท้อน ‘กฎหมายป่าไม้-มาตรการห้ามเผา’ ทับวิถีคนอยู่กับป่า สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กล่าวถึงบริบทชุมชนบ้านกลางว่า เป็นหนึ่งในชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอไม่กี่ชุมชนในอำเภอแม่เมาะ และมีหลักฐานการตั้งอยู่ของชุมชนมานานนับร้อยปี อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนตั้งอยู่มาก่อนการมีพ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับแรกที่ประกาศใช้ รวมถึงพ.ร.บ.อุทยานฯ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนมาเป็นเวลากว่าสามสิบปี นับตั้งแต่การเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในปีพ.ศ.2532 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปัจจุบัน พื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ใช้สอยประโยชน์ทั้งหมดของชุมชน ยังอยู่ในเขตพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท นำมาสู่ความกังวลใจในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่า ทำให้วิถีชีวิตของคนอยู่กับป่าจำต้องปรับเปลี่ยนไปตั้งแต่มีการเตรียมประกาศอุทยานฯ ถ้ำผาไท

 

“ชุมชนชาติพันธุ์อยู่กับป่าไม่ได้ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม เราอยู่ เราดูแล เรารักษา ไม่ได้มองว่าป่าเป็นของเราคนเดียว แต่ป่าเป็นของทุกคนทั้งประเทศ แต่พอกฎหมายป่าไม้ออกมากดทับชุมชนเช่นนี้ ทำให้วิถีการอยู่กับป่า และดูแลป่าของเรามันถูกจำกัดไปจากเดิม เพราะการดำรงชีวิตของเราทุก ๆ อย่างมันเกิดขึ้นในป่า เมื่อมีกฎหมายมาทับเรา เราก็กังวลใจ” สมชาติกล่าว

 

นอกจากกฎหมายป่าไม้และพ.ร.บ.อุทยานฯ แล้ว ในระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา ได้มีปัจจัยสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อชุมชน คือ ‘มาตรการห้ามเผา’ คำสั่งจากจังหวัดที่ประกาศบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 แต่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่อยู่ในเขตป่า และทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวไว้ใช้บริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี โดยกระบวนการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนจำเป็นต้องใช้ไฟในการเผาเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งจะตรงกับช่วงที่มาตรการห้ามเผาประกาศบังคับใช้ ทางชุมชนจึงทำแผนการจัดการไฟที่ระบุชัดเจนว่า จะมีแปลงไร่หมุนเวียนที่จะเผาอยู่ในพิกัดใด รวมถึงระบุวันเวลาในการเผาที่ชัดเจน ซึ่งแผนการใช้ไฟจะส่งไปแจ้งให้ทางอำเภอทราบ แต่ก็ยังต้องมีการเลื่อนเวลาเผาไร่หมุนเวียนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจุดความร้อนในพื้นที่ป่า

 

“นโยบายที่รัฐประกาศออกมา ไม่ได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วม ทั้งยังใช้แบบเหมารวมทั่วประเทศ ซึ่งกระทบกับคนที่อยู่กับป่า ทั้ง ๆ ที่เรารักษาด้วยจิตวิญญาณ ทำให้เรากลายเป็นจำเลย ขยับตัวก็ไม่ได้ อยากให้หน่วยงานแยกแยะการใช้ไฟ ไฟแบบไหนเป็นไฟจำเป็นก็ต้องแยก” สมชาติกล่าว

 

 ‘ท้องที่ท้องถิ่น’ พร้อมเดินหน้าพัฒนา หากกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กล่าวว่า การใช้ไฟในช่วงมาตรการห้ามเผาสามารถดำเนินการได้ หากมีแผนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ที่ควบคุมได้และมีขอบเขตระยะเวลาชัดเจนแจ้งมาทางอำเภอ ซึ่งอาจจะต้องเลี่ยงช่วงระยะเวลาที่มีการตรวจจับจุดความร้อนผ่านทางดาวเทียม เนื่องจากช่วงวิกฤตฝุ่นควัน PM2.5 จุดความร้อนจะถูกนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้จุดกำเนิดฝุ่นควัน เช่น พื้นที่ที่มีจุดความร้อนจำนวนมาก จะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพื้นที่ที่มีการกระทำให้เกิดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งที่ฝุ่นควันเหล่านี้ไม่มีพรมแดนกั้น ดังนั้น ฝุ่นควันที่กำเนินที่จุดหนึ่งจึงสามารถพัดพามายังอีกจุดหนึ่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง

 

ที่ผ่านมาทางอำเภอแม่เมาะถูกเพ่งเล็งเรื่องปริมาณฝุ่นควัน เนื่องจากตรวจพบจุดความร้อนสูงที่จัดในจังหวัดลำปาง ในความเป็นจริงแล้วทั่วทั้งจังหวัดลำปางมีเครื่องตรวจจับความร้อนเพียง 4 เครื่อง ถูกติดตั้งที่อำเภอแม่เมาะ 3 เครื่อง จึงทำให้ข้อมูลจุดความร้อนของจังหวัดลำปางถูกตรวจพบที่อำเภอแม่เมาะสูงมาก

 

ด้านข้อจำกัดการพัฒนาในพื้นที่ป่าที่ทางท้องที่ท้องถิ่นสะท้อนคือ ความยุ่งยากซับซ้อนของขั้นตอน เพราะท้องที่ท้องถิ่นต้องส่งเรื่องไปยังกรมป่าไม้ให้อธิบดีกรมพิจารณาอนุญาตในการพัฒนา ซึ่งน้อยครั้งมากที่จะได้รับอนุญาต แม้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เรื่อง ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่า โดยให้หน่วยงานท้องที่ท้องถิ่นบันทึกข้อมูลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโดยระบุพิกัดให้ชัดเจน แล้วส่งข้อมูลไปให้กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติ พิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ แต่ไม่ได้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะจนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ.2567) ยังไม่มีหน่วยงานลงมาตรวจสอบในพื้นที่แต่อย่างใด ทั้งที่ในเมื่อมีการผ่อนผันแล้วก็ควรจะอนุมัติให้ดำเนินการในพื้นที่ได้

 

“ส่วนตัวมองว่าจึงมีความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการขออนุญาตดำเนินการในพื้นที่ป่า อาจจะถ่ายโอนอำนาจการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน มาให้ระดับจังหวัดตัดสินใจมากกว่าให้ตัดสินใจที่ระดับกรม แม้กระทั่งการทำแนวกันไฟในบางจุดก็ยังไม่สามารถเข้าไปทำได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ต้องระมัดระวังกฎหมายป่าไม้เรื่องการเข้าไปแผ้วถางในพื้นที่ป่าทั้ง ๆ ที่เป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่เป็นผลดีต่อการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ” พนมพรกล่าว

 

ศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง กล่าวว่า ข้อจำกัดสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนที่อยู่ในเขตป่า คือ ความทับซ้อนในขอบเขตอำนาจของหน่วยงาน แม้ว่าแต่ละหน่วยงานมีขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจนก็จริง แต่เมื่อไปทับซ้อนกับขอบเขตอำนาจของหน่วยงานอื่นก็ทำให้การพัฒนาในพื้นที่ติดขัดได้ อย่างกรณีการทำถนนเข้าชุมชนที่อยู่ในเขตป่า จะมีลำดับขั้นตอนของกระบวนการที่ต้องส่งเรื่องให้กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติที่มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินการในพื้นที่ป่าเสียก่อน หากพิจารณาเห็นชอบแล้วอนุมัติจึงจะดำเนินการได้

“อบต.บ้านดงสนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภคในเขตพื้นที่ป่า อย่างกรณีถนนทางเข้าชุมชนบ้านกลาง ก็มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA แล้ว ส่วนการขอใช้งบประมาณตามขั้นตอน ต้องมีการจับพิกัดในพื้นที่ก่อนจะใช้งบประมาณ ทำให้การดำเนินการเกิดความล่าช้า จนบางทีต้องคืนงบประมาณไปแทนที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาในพื้นที่ หลังจากนี้ทางอบต.จะรับพิจารณาจัดทำแผนการดำเนินการให้เป็นข้อบัญญัติของตำบลต่อไป” ศุกร์กล่าว

 

ภาคประชาสังคม ตอก ‘กฎหมายป่าไม้’ กรงขังที่ครอบชุมชนในเขตป่า

พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่สื่อสารรณรงค์ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า หากมองอย่างผิวเผินจะเห็นว่าชุมชนชาติพันธุ์เหมือนชุมชนทั่วไปในพื้นที่ป่า แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายชุมชน หลายพื้นที่ถูกรัฐไทยประกาศกฎหมายทับครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างกรณีชุมชนบ้านกลางที่ถูกกฎหมายนโยบายป่าไม้ไทยบังคับใช้ถึงสามครั้ง เริ่มจากการประกาศใช้พ.ร.บ.ป่าไม้ ปีพ.ศ. 2484 เป็นการประกาศทับพื้นที่ชุมชนครั้งแรกว่า ตรงที่ชุมชนดำรงอยู่จะกลายเป็นพื้นที่ป่าไม้ของไทย ครั้งที่สองคือ การประกาศใช้พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2507 และตอกย้ำความชัดเจนอีกครั้งว่า พื้นที่ชุมชนอยู่ในเขตพื้นที่เตรียมการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งผลของการบังคับใช้กฎหมายและคำสั่งเหล่านี้ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

นอกจากกฎหมายนโยบายป่าไม้ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าแล้ว ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นับแต่การเริ่มมีปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 สิ่งที่ชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าต้องเผชิญเพิ่มคือ การถูกเบียดขับจากสังคมเมือง ถูกป้ายสีให้เป็นแพะรับบาปในปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการถูกกล่าวโทษว่าไร่หมุนเวียนที่ต้องใช้ไฟในการทำเกษตรกรรม เป็นสาเหตุของฝุ่นควัน PM2.5 นำมาสู่การบรรจุปัญหาฝุ่นควันอยุ่ในวาระแห่งชาติว่าด้วยการจัดการฝุ่นโดยกรมควบคุมมลพิษ ในยุครัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2563 ซึ่งในแผนวาระแห่งชาตินี้

 

 

 

มี ‘มาตรการห้ามเผาโดยเด็ดขาด’ บรรจุอยู่ โดยมีกระทรวงมหาดไทยที่มีอำนาจในการมอบหมายมายังผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ให้มีอำนาจในการตัดสินใจและออกคำสั่งควบคุมการเผาในจังหวัดได้โดยชอบ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ออกลาดตระเวนการใช้ไฟในพื้นที่ป่าถี่ขึ้น หลังปี 2563 พบว่ามีคดีที่เกี่ยวข้องกับไฟป่ามากถึง 600 กว่าคดีที่ถูกจับกุมดำเนินคดีประชาชนในพื้นที่

 

 

ในปี 2567 มีการพัฒนาระบบแอพลิเคชัน Fire D เพื่อเป็นช่องทางลงทะเบียนการขออนุญาตเผาล่วงหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาการห้ามเผาอย่างเหมารวม แต่ด้วยระบบ single command ของระบบราชการไทย ที่ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการระงับแผนการใช้ไฟที่เคยขออนุญาตไว้ในระบบ Fire D ได้ หากช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างรุนแรง

 

 

 

สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐราชการรวมศูนย์ของไทย ที่ทำให้ความพยายามในการดำเนินการแก้ไขปัญหาติดขัดและไม่เป็นไปดังที่ควรจะเป็น

 

 

“หลังฝนแรกโปรยลงมา ฝุ่นควันหายไป ทุกคนอยากมาเที่ยวภาคเหนือ ชื่นชมธรรมชาติที่เขียวขจี โดยลืมซากปรักหักพังที่เกิดกับชุมชนจากมาตรการห้ามเผาในช่วงฝุ่น PM2.5 ข้อเสนอของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือคือ มาตรการห้ามเผาต้องยกเลิก โดยต้องแยกไร่หมุนเวียนออกจากมาตรการห้ามเผาให้ชัดเจน รวมถึงผลักดันให้การกระจายอำนาจการจัดการพื้นที่ให้ถึงชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การมอบหมายอำนาจให้ผู้ว่าราชการแบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่เป็นอยู่” พชรกล่าว

 

 

 

กมธ.ในนาม ‘ผู้แทนราษฎร’ เห็นพ้อง พร้อมร่วมผลักดันในสภา

พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า จากการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน ท้องที่ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ล้วนเห็นด้วยและมีข้อเสนอ 6 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

 

 

 

– การประกาศพื้นที่ป่าทับพื้นที่ทำกินที่กระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่และทำกินมาเป็นระยะเวลานาน ทางพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอให้ จัดตั้งกองทุนในการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินที่มีข้อพิพาททั้งหมด และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ประมวลกฎหมายที่ดิน และปรับปรุงปัญหาทับซ้อนของแผนที่ให้แล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน

 

– ส่งเสริมพื้นที่นิเวศน์วัฒนธรรม เป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันระหว่างชุมชนในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องรักษาระบบนิเวศน์และคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น การแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในการบริหารจัดการ โดยกลไกคณะกรรมการที่มาร่วมออกแบบกติกาในการบริหารจัดการพื้นที่ต้องมีสัดส่วนของคนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อช่วยให้การบริหารในพื้นที่เป็นไปอย่างแม่นยำและสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ได้ ซึ่ช่องทางที่จะทำให้เกิดแนวทางนี้คือ การผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์

 

– ลดอคติทางชาติพันธุ์ หากปรับมุมมองว่า นโยบายทางวัฒนธรรมมีส่วนเอื้อต่อการดำรงรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีศึกษาจากประเทศแถบละติน-อเมริกา ที่มีการกำหนดเป้าหมายลดอัตราการตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่า พบว่าในพื้นที่ที่ให้ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการ จะมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าจะลดลง

 

– กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องที่ท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ขณะนี้มีร่างกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดบริการสาธารณะอย่างมีอิสรภาพมากขึ้น และต้องเพิ่มบุคลากรในระดับท้องถิ่น เพิ่มงบประมาณที่เหมาะสมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

– สวัสดิการโดยรัฐ ในปัจจุบันทางพรรคก้าวไกลพยายามยกระดับอัตราสวัสดิการให้เป็นแบบถ้วนหน้า เพื่อทุกคนเข้าถึงได้ และให้ระดับสวัสดิการสอดล้องกับค่าครองชีพมากขึ้น

– เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง สามาถทำได้ในหลายช่องทาง เช่น การเพิ่มสัดส่วนผู้แทนราษฎรชาติพันธุ์ การออกแบบกฎกติการอื่น ๆ ที่จะทำให้เสียงสะท้อนของชาติพันธุ์ในประเทศไทยดังขึ้น

 

“หากมองสูงกว่าระดับกฎหมายทั่วไป ให้ไปถึงวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำอย่างไรให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีสัดส่วนของชาติพันธุ์มากขึ้น เสนอว่า ให้ออกแบบระบบเลือกตั้งสสร. เป็นแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เพิ่มสัดส่วนของประชาชนแต่ละกลุ่มได้หลากหลายมากขึ้น มีกรณีศึกษาประเทศชิลี สำหรับการเลือกตั้งสสร. ที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าจะเลือกตัวแทนจากพื้นที่ หรือตัวแทนจากกลุ่ม ส่วนประชาชนทั่วไปจะมีบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบ” พริษฐ์กล่าว

 

หลังกิจกรรมการแลกเปลี่ยนอภิปราย ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ได้ยื่นหนังสือสองฉบับถึงประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอเพื่อโปรดเร่งดำเนินการปกป้องวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จากมาตรการห้ามเผาอย่างเร่งด่วน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News