Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

อบจ.เชียงราย เร่งฟื้นฟูพื้นที่ ประสบอุทกภัย ต.หงาว อ.เทิง

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (อบจ.เชียงราย) พร้อมด้วยนายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และ ส.อ.วิมล รู้ทำนอง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบจ.เชียงราย ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลหงาว อำเภอเทิง หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา

เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้พื้นที่ตำบลหงาวได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่สัญจร ประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญกับสภาพที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมและดินโคลนที่สะสมอยู่ในบริเวณพื้นที่ต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการสัญจรไปมาของชาวบ้าน

นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย ได้สั่งการให้กองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักช่าง และบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยโดยด่วน โดยได้จัดส่งรถน้ำแรงดันสูงเข้ามาช่วยเหลือในการทำความสะอาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งบริเวณพื้นผิวสัญจรและพื้นที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนที่มีดินโคลนสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก

ในระหว่างการลงพื้นที่ นางอทิตาธรได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชน เพื่อให้การฟื้นฟูและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงความพร้อมในการสนับสนุนทรัพยากรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การช่วยเหลือสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

นางอทิตาธรยังได้พบปะและพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ โดยให้กำลังใจและให้ความมั่นใจว่าทาง อบจ.เชียงราย จะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ เธอยังได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทุกคนที่ได้เข้ามาช่วยเหลือและทำงานอย่างไม่หยุดยั้งตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ อบจ.เชียงรายยังได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อจัดหาเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูและซ่อมแซมพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เช่น การจัดหาวัสดุก่อสร้างสำหรับซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย และการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ยังได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันและการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดำเนินงานในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ อบจ.เชียงราย ในการให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนในยามวิกฤต ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI

ครม.ตั้งศูนย์อำนวยการอุทกภัย ใช้งบฯ ทดลองจ่าย 20 ล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมองว่าน้ำท่วมเป็นปัญหาซ้ำซากเรื้อรังมานานจากหลายปัจจัย ทั้งการบริหารจัดการน้ำ การกักเก็บน้ำ การไม่มีที่รองรับน้ำในภาคเหนือ ทำให้มีปัญหาน้ำท่วมหนักทุกปี ต้องช่วยเหลือผู้ที่ลำบากทุกปี

โดยเฉพาะในปีนี้ (2567) มีมวลน้ำปริมาณมาก สถานการณ์ฝนตกมีความแตกต่างจากที่ผ่านมา มีภาวะฝนตกเป็นจุดๆ จากปัญหาโลกร้อน ซึ่งปัญหานี้นับวันจะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงมีการวางแนวทางการบริหารจัดการ คือ

1.ต้องมีการบริหารจัดการไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปมากกว่านี้

2.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนหลังน้ำลด

3.การแก้ปัญหาระยะยาว โดยบรรจุเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ เมื่อมีคณะรัฐมนตรีมาบริหารประเทศก็จะบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้รองรับสถานการณ์ได้ทัน

รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้คาดการณ์สถานการณ์บางพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว แต่บางพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมยังหนักอยู่ เช่น จังหวัดสุโขทัย ซึ่งยอมรับว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำก่อนระบายสู่จังหวัดต่างๆ ถือว่าค่อนข้างหนัก คันกั้นน้ำไม่สามารถรับได้ จึงเกิดกรพังทลาย คันกั้นน้ำยังมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน รักษาการนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว 

และนำมาสู่การตั้งศูนย์แก้ปัญหาให้มีเอกภาพ จึงตั้งเป็นศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย มีอำนาจหน้าที่และการใช้งบประมาณที่ชัดเจน โดยมีนายภูมิธรรม เวชชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน

ส่วนองค์ประกอบที่เหลือคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสั่งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยแบ่งภารกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 

1.การบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ การแจ้งเตือน ให้ทราบข่าวว่าน้ำจะมาประมาณ ไหน ไม่ให้เกิดความตระหนก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนวณและยืนยันว่าจะไม่ถึงสถานการณ์ปี 2554 โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ จะเป็นผู้ดูแล 

2.การดูแลช่วยเหลือประชาชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นหลักในการบูรณาการความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน

สำหรับงบประมาณที่ใช้จะใช้จากงบประมาณกลาง อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งบางจังหวัดมีการประกาศพื้นภัยพิบัติจะใช้งบทดลองจ่าย จำนวน 20 ล้านบาท หากไม่เพียงพอต้นสังกัดจะขอมาที่งบกลาง แต่เมื่อมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแล้วการดำเนินการทุกอย่างจะต้องรวดเร็วตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“หน้าที่มีทั้งการป้องกัน แก้ไข เยียวยา และฟื้นฟู ซึ่งต้องดูสถานการณ์ในรายจังหวัด เช่น จังหวัดน่านสถานการณ์น้ำท่วมผ่านไปแล้วจะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟู ส่วนจังหวัดที่น้ำยังมาไม่ถึงจะป้องกันอย่างไร เช่น จังหวัดนครสวรรค์ หรือต่ำกว่านั้น ก็ต้องหามาตรการป้องกัน แก้ไขไม่ใช่ทำงานเชิงรับ” รองเลขาธิการนายกฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

“กรุงไทย” ห่วงใยประชาชน ส่งมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานเขตเชียงราย และ สำนักงานภาคเชียงใหม่ เร่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ใน อ. เวียงแก่น อ.ขุนตาล และ อ.เทิง จ.เชียงราย และขอเป็นกำลังใจ ให้ผู้ประสบภัยทุกๆ ท่าน ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี

 

ซึ่งนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ได้เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และการดำรงชีพของลูกค้าประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้าง โดยภาคธนาคารมีความห่วงใยและพร้อมเคียงข้างผู้ประสบภัยน้ำท่วม จึงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่น้ำท่วม ครอบคลุมการลดภาระในการผ่อนชำระหนี้สิน และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทย ได้ประสานธนาคารสมาชิกในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเร่งด่วน ซึ่งบางธนาคารได้มีมาตรการรองรับอยู่แล้ว ขณะที่ธนาคารอื่นๆ พร้อมพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเหมาะสม โดยแต่ละธนาคารจะพิจารณาความช่วยเหลือให้สอดคล้องสถานการณ์ของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและดำรงชีพต่อไปได้อย่างปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาลูกค้าแต่ละรายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละธนาคารกำหนด

 

สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่ธนาคารที่เป็นลูกค้า ผ่านทางสาขา เจ้าหน้าที่หรือฝ่ายงานที่ดูแลสินเชื่อ หรือ Call Center ของแต่ละธนาคารได้ทันที

 

นอกจากนี้ทางธนาคารกรุงไทยขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกท่าน เคียงข้างคนไทยเพื่อผ่านพ้นวิกฤติการณ์ครั้งนี้ โดยเปิดให้ร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม บริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เลขที่ 000-0-60128-4 ธนาคารกรุงไทย สาขานานาเหนือ สำหรับผู้ที่ประสงค์ขอใบเสร็จ กรุณาส่งหลักฐานการบริจาค พร้อมชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์โทรติดต่อ เพื่อรับใบเสร็จรับเงินได้ที่ แฟกซ์ 0-2054-6544 หรือ E-mail : donation@friendsofpa.or.th เบอร์โทร 0-2054-6546

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานเขตเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

‘ทักษิณ’ ลงพื้นที่ ‘เชียงราย’ เผยไทย มีปัญหาซ้ำซาก ทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่จ.เชียงราย นาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ถึงท่าอากาศยานเเม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ทันทีที่เดินทางมาถึง ประชาชนที่มาเฝ้ารอ พร้อมกับบอกเหตุผลที่มาช้า ซึ่งจากเดิมมีกำหนดการณ์มาถึงในเวลา 10.00 น. เเต่ล่าช้าไปกว่า 2 ชั่วโมง เพราะเครื่องบินเสีย จึงต้องเปลี่ยนมานั่งเครื่องบินอีกลำเเทน 

จากนั้นนายทักษิณพร้อมคณะ ได้เดินทางต่อไปยัง สถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอเทิง (บขส.) จังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งเป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม เพื่อมอบถุงยังชีพและยาเวชภัณฑ์ พร้อมพบประประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม  จากนั้นได้เดินทางต่อเพื่อเยี่ยมประชาชนผู้ประสบอุทกภัยที่บ้านปางค่า ตำบลตับเต่า ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันเกิดความเสียหายอย่างหนัก พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชม ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix it จิตอาสา จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย ที่ไปจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนในการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ ต่อจากนั้นได้เดินทางไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัย บริเวณหลังที่ว่าการอำเภอเทิง โดยการนั่งเรือเข้าไปมอบถุงยังชีพและยาเวชภัณฑ์ ให้ผู้ประสบภัย ได้มอบถุงยังชีพจำนวน 500 ชุด เเก่ผู้ประสบภัย 

โดยนายทักษิณ กล่าวทักทายประชาชนเป็นภาษาเหนือว่า “ตลอดระยะเวลา 17 ปี ที่ตนเองต้องไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ รู้สึกทราบซึ้งใจที่พี่น้องไม่เคยลืมผม ดังนั้นผมก็จะไม่ทิ้งพี่น้องเช่นกัน วันนี้จึงต้องมาเเอ่วหาพี่น้อง ขอบคุณทุกคนที่มาต้อนรับ เเละขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยทุกคน ส่วนเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา รัฐบาลกำลังตั้งใจอย่างเต็มที่ หากใครได้รับผลกระทบอย่างหนักหรือบ้านพัง ให้ประสาน สส.ในพื้นที่ ซึ่งเป็น สส.ของพรรคเพื่อไทย” 


นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำว่า ประเทศไทยมีปัญหาซ้ำซาก ทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง การแก้ไขปัญหาจะต้องดำเนินการทั้งระบบ อย่างน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ต้องมีอ่างเก็บน้ำ ต้องมีแก้มลิง หรือฝายชะลอน้ำ ซึ่งจะช่วยให้น้ำไม่ท่วมหนัก นอกจากจะต้องจัดการภายในประเทศแล้ว กับประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องมีการคุยกันเพื่อจัดการน้ำทั้งระบบ แม่น้ำโขงก็ต้องคุยกับทางจีนว่าควรจะมีมาตรการร่วมกันอย่างไร เพื่อไม่ให้การปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาซ้ำเติมปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่าง การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบแม้จะต้องใช้วงเงินงบประมาณสูงแต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อให้ปัญหาเรื่องน้ำได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง 


ส่วนปัญหาที่มีการมองกันว่าน้ำท่วมปีนี้อาจจะกลายเป็นน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 นั้น นายทักษิณ บอกว่า นายกอิ๊งค์ (แพทองธาร ชินวัตร) เล่าให้ฟังว่า คณะรัฐมนตรีที่รักษาการอยู่ ได้พูดคุยกับกรมชลประทานแล้วในเรื่องของการพร่องน้ำในเขื่อนต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับน้ำจากทางเหนือ ซึ่งการพร่องน้ำเตรียมไว้ก่อนเช่นนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพเหมือนปี 2554 ที่ไม่ได้พร่องน้ำไว้ก่อน ปีนี้คนกรุงเทพจึงสบายใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

คาดการณ์ บ้านป่าข่า อ.ขุนตาล จมน้ำอยู่อีกประมาณ 1 เดือน

 

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ เดินทางจากท่าอากาศยานฝูงบิน 466 กองทัพอากาศ จ.น่าน ไปที่สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถยนต์ไปตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่บ้านหนองบัว ม.5 ต.สันทรายงาม อ.เทิง จ.เชียงราย และบ้านหล่ายงาว ม.1 ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย 


        โดยก่อนที่จะเดินทางลงพื้นที่ประสบภัย คณะของนายภูมิธรรม ได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนจาก นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ณ ห้องรับรองท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง หลังจากรับฟังรายงานแล้ว รองนายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางด้วยรถยนต์ไปที่บ้านหนองบัว ม.5 ต.สันทรายงาม อ.เทิง และเดินทางต่อไปที่บ้านหล่ายงาว ม.1 ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น เพื่อพบปะให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย


สำหรับสถานการณ์น้ำที่จังหวัดเชียงราย ตอนนี้พื้นที่ทีมีปัญหาน้ำท่วมจะเป็นที่อำเภอขุนตาล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รับมวลน้ำต่อจากอำเภอเทิง บวกกับมวลน้ำที่มาจากจังหวัดพะเยาไหลมาสมทบ จนทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำอิงล้นฝั่ง เอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 ตำบลคือตำบลต้าและตำบลป่าตาล ขณะทื่การให้ความช่วยเหลือนั้น จังหวัดเชียงรายระดมกำลังทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่  

โดยพื้นที่ บ้านป่าข่า ม.8 ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ประสบอุทกภัยจากน้ำอิงที่เอ่อท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร มีชาวบ้านเดือดร้อนกว่าครึ่งหมู่บ้าน วันนี้กองทัพบกได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน โดยนำเรือท้องแบนมาบรรทุกถุงยังชีพไปแจกจ่ายผู้ประสบอุทกภัย และตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อน

นายสอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าข่า ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล กล่าวว่า ขณะนี้มวลน้ำก็ได้เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ประสานขอหน่วยงานจากทหาร หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 35 สำนักงานพัฒนาภาค3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นพค.35) นำเรือท้องแบนมาช่วยเหลือชาวบ้าน เพื่อส่งสิงของให้ชาวบ้านที่ยังจมน้ำ บางรายก็ออกมาได้ บ่งรายก็ออกมาไม่ได้ ตอนนี้ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐบาล ขอให้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้ทางหมู่บ้านได้รับความลำบากมาที่สุด มีบ้านเรือนที่จมน้ำ และออกบ้านได้ประมาณ 70 หลังคาเรือน ซึ่งบ้านป่าข่าเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำอิงที่มีต้นน้ำมาจาก กว๊านพะเยา ซึ่งคาดว่าหมู่บ้านจะจมน้ำอยู่แบบนี้ไปอีกประมาณ 1 เดือน ทางชาวบ้านก็ขอขอบคุณหน่วยงานต่าง งภาคเอกชนและราชการที่มาช่วยเหลือชาวบ้าน

พันตรี วัลลภ เสือโฮก หัวหน้าศูนย์บรรเทาสาธารณภัย พัฒนาสำนักงานพัฒนาภาค 3 กล่าวว่า ทางทหารหน่วยพัฒนา ได้มีการนำชุดเคลื่อนที่เร็วจำนวน 2 ชุด เรือท้องแบน และรถครัวสนามเข้ามาช่วยเหลือประชาชน โดยตั้งครัวพระราชทานอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอเทิง เพื่อสนับสนุนอาหารให้กับผู้ประสบภัย โดยได้ประสานงานกับผู้ใหญ้บานในการช่วยเหลือ นำอาหารไปส่งให้กับชาวบ้านและรับผู้ที่จะออกจากหมู่บ้านออกมา ในการเคลื่อนย้าย ปัจจุบันมีการ้องขอ 2 พื้นที่คือ บ้านป่าข่า และบ้านต้า อ.ขุนตาล ซึ่งเป็นจุดที่มีประชาชนได้รับการเดือดร้อน และยังมีเรือท้องแบบอีก 2 ลำที่จะเข้ามาสนับสนุนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย / Poom Pakpoom Wilai

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

13 โรงพยาบาล รับผลกระทบน้ำท่วม สธ. เปิดศูนย์ฉุกเฉิน “เชียงราย-พะเยา”

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567  นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังมีปัญหาเพิ่มขึ้นใน 3 จังหวัด คือ เชียงราย น่าน และแพร่ แต่มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินที่ต้องเฝ้าระวัง 2 จังหวัด คือ เชียงรายและพะเยา 

ทั้งนี้ มีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบจำนวน 13 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 แห่ง ได้แก่ รพ. 2 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 2 แห่ง และ รพ.สต. 9 แห่ง จำนวนนี้ยังเปิดให้บริการตามปกติ 5 แห่ง ปิดบริการ 8 แห่ง คือ แพร่ มี รพ.สต.บุญเกิด และ รพ.สต.สบบง , เชียงราย มี รพ.สต.ตับเต่า และ สสอ.เทิง , แแพร่ มี รพ.สต.น้ำโค้ง รพ.สต.วังธง ร.สต.สบสาย และ สสอ.เมือง

นพ.สุรโชคกล่าวว่า การดูแลสุขภาพประชาชนขณะนี้มีประมาณ 9 พันครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ได้มีการจัดหน่วยแพทย์เข้าไปดูแลตามปกติ ส่วนกลางได้สนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 1 พันชุด ส่วนใหญ่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ยารักษาน้ำกัดเท้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากรายงานจนถึงขณะนี้พบผู้เสียชีวิตสะสมจากเหตุน้ำท่วม 8 ราย บาดเจ็บ 10 ราย รายละเอียดยังต้องรอสรุปอีกครั้ง 

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้เฝ้าระวังใกล้ชิดและคอยสนับสนุนยาไปให้แก่ผู้ประสบภัย ซึ่งเราก็ส่งไปแล้วประมาณ 1 พันชุด ส่วนใหญ่จะลงไปที่ รพ.สต.เป็นหลัก ส่วน รพ.ใหญ่ยังคงดูแลได้” นพ.สุรโชคกล่าวและว่า สำหรับการประเมินสถานการณ์ใน 6 จังหวัดที่ยังมีปัญหาน้ำท่วม คิดว่าปัญหาอยู่ในระดับเริ่มคงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้น 

เมื่อถามถึงการประเมินความเสี่ยงในจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นเส้นทางของมวลน้ำที่จะไหลผ่าน จะมีมาตรการรองรับอย่างไร  นพ.สุรโชค กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีการจัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ดินโคลนถล่มไว้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเดิมๆ ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้ว ยกเว้นบางจังหวัดที่ไม่ค่อยได้ประสบปัญหา ส่วนจังหวัดที่อยู่ด้านล่างลงมาและเป็นเส้นทางน้ำผ่านก็มีแผนรับมือแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา แต่มาตรการที่วางไว้สามารถรองรับได้ เพราะก่อนหน้านี้มีการพยากรณ์เอาไว้ว่ามวลน้ำจะเยอะกว่าปีที่ผ่านมา เราจึงมีการทบทวนและซ้อมแผนในพื้นที่ต่างๆ อยู่แล้ว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ปิดไร่รื่นรมย์เชียงราย ไม่มีกำหนด หลังน้ำท่วมแปลงผัก ที่พัก และคอกสัตว์

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ ผู้ก่อตั้งไร่รื่นรมย์ เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยว ออร์แกนิก ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ได้โพสต์คลิปวิดีโอผ่านเพจเฟซบุ๊กของไร่รื่นรมย์ เพื่อประกาศปิดไร่อย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อไร่และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

ศิริวิมลได้กล่าวในคลิปว่า “ตอนนี้เนื่องจากมีน้ำท่วมฉับพลัน แม้ตอนแรกจะคิดว่าเป็นฝนตามฤดูกาล แต่เมื่อได้เห็นความรุนแรงของเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้เราตระหนักว่าเรื่อง Global Warming ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป แต่มันเป็นเรื่องที่ซีเรียสจริงๆ เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายหลายส่วน ทั้งแปลงผัก ที่พัก และสัตว์เลี้ยงในฟาร์มที่ไม่ได้ตั้งตัว เพราะน้ำมาเร็วมาก ไวมาก และแรงมาก ทำให้ทางไร่ต้องตัดสินใจปิดไร่ชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดเปิด”

นอกจากนี้ เธอยังได้โพสต์ประกาศเพิ่มเติมว่า “ทางไร่ขอปิดชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากเหตุอุทกภัยในเชียงราย ทำให้ไร่รื่นรมย์ได้รับผลกระทบในหลายส่วน ทั้งแปลงผัก ที่พัก และคอกสัตว์ ซึ่งทีมงานทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เราขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมส่งแรงใจให้กับไร่รื่นรมย์”

ศิริวิมลยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่ต้องการสนับสนุนไร่รื่นรมย์ ยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูป สินค้าพร้อมทาน ผักสดจากเครือข่ายออร์แกนิก รวมถึงเยี่ยมเยียนและใช้บริการร้านอาหาร Roasty By Rai Ruen Rom ที่สาขาโฮมโปร เชียงราย และบ้านก้ามปู อโศก ในกรุงเทพฯ ได้ตามปกติ

เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในจังหวัดเชียงรายในปี 2567 ซึ่งเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ รวมถึงอำเภอเทิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของไร่รื่นรมย์ ส่งผลให้การคมนาคมในพื้นที่ถูกตัดขาด และชาวบ้านหลายครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง น้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่แปลงผักและคอกสัตว์ของไร่รื่นรมย์ ส่งผลให้พืชผลที่กำลังเติบโตได้รับความเสียหายอย่างหนัก และสัตว์เลี้ยงหลายตัวต้องเร่งอพยพเพื่อความปลอดภัย ทีมงานของไร่รื่นรมย์ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือและป้องกันความเสียหาย แต่ด้วยความรุนแรงของน้ำที่มาอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้การรับมือเป็นไปด้วยความยากลำบาก

วิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทำให้สภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในหลายพื้นที่ ทำให้ชุมชนเกษตรกรต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสียหายที่ยากจะคาดการณ์

ไร่รื่นรมย์เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความท้าทายที่ชุมชนเกษตรกรต้องเผชิญในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศิริวิมลได้กล่าวปิดท้ายในประกาศของเธอว่า “เราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน และหวังว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ไร่รื่นรมย์จะได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ขอบคุณทุกกำลังใจที่มอบให้กับเรา”

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับและความเคลื่อนไหวของไร่รื่นรมย์ สามารถติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊กของไร่รื่นรมย์อย่างต่อเนื่อง.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ไร่รื่นรมย์ เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยว ออแกนิค Rai Ruen Rom Organic Farm

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

เชียงราย เกิดฝนตกหนักสะสมต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม กระทบ 10 อำเภอ

 

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจังหวัดเชียงราย เกิดฝนตกหนักสะสมต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. 67 เป็นต้นมา เกิดอุกภัยและดินถล่ม ส่งผลกระทบ 10 อำเภอ 29 ตำบล 192 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 7,591 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ 12,828 ไร่ บ่อปลา/บ่อกุ้ง 68 บ่อ ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งได้เตรียมการมาเป็นอย่างดีทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกล ยุทโธปกรณ์ พร้อมกำลังพลในการเข้าไปช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน แต่เนื่องจากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง หลายวัน ทำให้วันนี้ (21 สิงหาคม 2567) ได้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่อำเภอเวียงแก่น  อำเภอเทิง และอำเภอขุนตาล  เกิดน้ำท่วมหนักในรอบหลายปี  อย่างไรก็ตาม นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจ และเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน หากประชาชนต้องการขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเหตุ แจ้งได้ตลอด 24 ช่วยโมง ที่สายด่วน 1784

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย รายงานสถานที่เกิดเหตุ/ความเสียหาย/การให้ความช่วยเหลือ (เหตุต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 67 และสถานการณ์ในวันนี้ ( 21 ส.ค.67)

อ.เวียงชัย ต.เมืองชุม ม.2,3,9,10 น้ำท่วมขังทางเข้าออกบ้านเรือนราษฎรบางส่วน ส่วนใหญ่ท่วมขังพื้นที่ทางการเกษตร (นาข้าว 1,230 ไร่ พืชไร่ 10 ไร่) เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากหนองหลวงจึงมีมวลน้ำไหลมาท่วมต่อเนื่อง  ต.ผางาม ม.9 น้ำท่วมบ้านขังบ้านเรือนราษฏร 10 ครัวเรือน 38 คน  ต.เวียงชัย ม.1,6,10,16,19 น้ำท่วมบริเวณบ้านเรือนราษฏร 32 ครัวเรือน 123 คน
 
อ.เชียงแสน  ต.ป่าสัก ม.3,4,5,6,7,8,9,10,12,13 น้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฏร ได้รับผลกระทบ 406 ครัวเรือน 1,154 คน ยังมีท่วมขัง  ระดับน้ำลดลงเล็กน้อย/ทรงตัว  ต.ศรีดอนมูล ม.1,2,4,5,6,7,8,11,12 น้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฏร ได้รับผลกระทบ 80 คน 44 ครัวเรือน และพื้นที่เกษตรบางส่วน ระดับน้ำลดลง/ คลี่คลาย เฝ้าระวังน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำลงมาเติม  ต.โยนก ม.3,4,6,9 น้ำท่วมบ้านเรือนราษฏร และพื้นที่ทางการเกษตร ยังมีท่วมขัง น้ำระบายได้ช้า ระดับน้ำทรงตัว

อ.ป่าแดด น้ำแม่พุงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรับน้ำจากอ.พาน ประกอบกับน้ำอิงหนุนสูงและน้ำหลากจากภูเขา ทำให้น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่เกษตร และบ้านเรือนบางส่วนที่อยู่ติดริมน้ำ/ ปัจจุบันระดับน้ำแม่พงลดลงเล็กน้อย ยังคงมีมวลน้ำขังอยู่ พื้นที่ได้รับผลกระทบดังนี้  ต.ป่าแงะ ม.6, 9 ต.สันมะค่า ม.1,3,8  ต.ศรีโพธิ์เงิน ม.8  ต.ป่าแดด ม.2,3,7,9,10,11  ต.โรงช้าง ม.2,3,7,9,10,11

อ.แม่สาย  ต.ศรีเมืองชุม ม.5,6,7 น้ำท่วมทางเข้าออกและบริเวณบ้าน ราษฏรได้รับผลกระทบ 25 ครัวเรือน 71 คน/ ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีมวลน้ำขังอยู่

อ.แม่จัน  ต.แม่คำ ม.4,9 น้ำท่วมทางเข้าออกและตัวบ้าน(พื้นที่ลุ่มต่ำท้ายหมู่บ้าน) ได้รับผลกระทบ 28 ครัวเรือน 91 คน ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีมวลน้ำขังอยู่
 
อ.เทิง น้ำป่าไหลหลาก ต.เวียง (12 หมู่บ้าน)/ต.ปล้อง 5 หมู่บ้าน/ ต.สันทรายงาม 7 หมู่บ้าน/ ต.ตับเต่า 11 หมู่บ้าน/ ต.หงาว 20 หมู่บ้าน /ต.หนองแรด 7 หมู่บ้าน
 
อ.เวียงแก่น น้ำป่าไหลหลาก  4 ตำบล  31 หมู่บ้าน

อ.ขุนตาล น้ำป่าไหลหลาก  3 ตำบล  34 หมู่บ้าน

อ.เชียงของ น้ำป่าไหลหลาก  1 ตำบล  11 หมู่บ้าน

อ.พญาเม็งราย น้ำป่าไหลหลาก  2 ตำบล  3 หมู่บ้าน

แนวโน้มสถานการณ์  อยู่ในระดับเฝ้าระวังต่อเนื่องทุกพื้นที่

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

สร้างฝายดินซีเมนต์ ช่วย อ.เวียงป่าเป้า ป้องกันปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม

 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2567 เวลา 15.00 น. นายก นก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย พร้อมด้วย นายวิญญู ทองทัน เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นางรัชนีกร วงษา ส.อบจ.เชียงราย อ.เวียงป่าเป้า เขต 1 ลงพื้นที่พบปะ และให้กำลังใจ นายมงคล ศรีธิ หัวหน้าฝ่ายสำรวจ บุคลากรสำนักช่าง อบจ.เชียงราย ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ ที่อาสามาร่วมทำกิจกรรม สร้างฝายดินซีเมนต์ (ฝายแกนดินซีเมนต์) ณ ฝ่ายต้นน้ำดินซีเมนต์ บ้านลังกา ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า
 
 
โดยฝายดินซีเมนต์ (ฝายแกนดินซีเมนต์) เป็นฝายชะลอน้ำชั่วคราว แต่มีความแข็งแรง กักเก็บน้ำได้ดี ที่สำคัญใช้ต้นทุนต่ำ ก่อสร้างได้เร็ว จึงเป็นนวัตกรรมสำคัญที่ป้องกันปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี ทางสำนักช่าง อบจ.เชียงราย จึงได้ร่วมมือกับ ชมรมช่างจังหวัดเชียงราย ได้จัดสร้างฝายดินซีเมนต์ (ฝายแกนดินซีเมนต์)เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ตามโครงการจิตอาสา พัฒนาชุมชน ของสำนักช่าง อบจ.เชียงราย ในวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2567 ณ บ้านลังกา ต. บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า และวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ณ พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย
 
 
ตำบลบ้านโป่งเป็นตำบลหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้าทางทิศใต้  ห่างจากที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้า 4 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่เขตพื้นที่ราบ ตามแนวทางหลวงสายเชียงราย-เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรมีจำนวน 2 หมู่บ้าน และลึกเข้าไปทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของทางหลวงสาย เชียงราย-เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร มีจำนวน 4 หมู่บ้านและตั้งบ้านเรือนอยู่บนพื้นที่สูงห่างจากที่ตั้งของตำบลไปทางทิศตะวันตกตามทางหลวงสายอำเภอเวียงป่าเป้า-อำเภอพร้าวประมาณ 25 กิโลเมตรจำนวน1 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านชาวเผ่ากะเหรี่ยงและลีซอ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ปลัดฯ ณัฐพล นำทีม MIND แพค “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน ช่วยผู้ประสบภัย

 

วันนี้ (21 ตุลาคม 2566) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ชามาตย์  นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นำทีม MIND มาร่วมกันแพค “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” จำนวน 2,000 ถุง เตรียมนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 

หลังจากนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รับมอบสิ่งของอุปโภค บริโภค และของใช้ที่จำเป็น เพื่อเตรียมแพคเป็น “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” ซึ่งเป็นถุงยังชีพจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่รวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบาก ภายใต้โครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สถาบันพลาสติก  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตราด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสงคราม เข้าร่วมมอบสิ่งของ เพื่อนำไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้กับผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมโดยเร่งด่วนต่อไป ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News