Categories
ECONOMY

‘สุริยะ’ ขานรับนโยบายเตรียมทำแผน รองรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้

 

เมื่อ10 มิ.ย. 2567  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปจัดทำแผนรองรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ปลายปี 2567 หรือไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ สอดรับกับมาตรการลดภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ที่คาดว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

 

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปดำเนินการจัดเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งในส่วนของแผนเพิ่มจำนวนเครื่องบิน และเที่ยวบินให้เพียงพอต่อผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการ ครอบคลุมผู้โดยสารระหว่างประเทศและในประเทศที่เดินทางผ่านเข้า-ออกท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่

 

“จากการรายงานของ ทอท. พบว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวนผู้โดยสารเข้า-ออก 6 ท่าอากาศยานรวม 9,503,475 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.08% และมีจำนวนเที่ยวบิน 61,435 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 13.90% ขณะเดียวกัน ทอท. ยังได้คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในช่วงเดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2567 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมจำนวน 60.3 ล้านคน และมีจำนวนเที่ยวบิน 380,000 เที่ยวบิน ดังนั้น เชื่อว่า ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นด้านการท่องเที่ยว จึงมีแนวโน้มสูงว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”นายสุริยะกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ทอท. จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการบริหารจัดการการให้บริการในท่าอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้โดยสารทุกคน ได้สัมผัสกับการบริการที่สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว สร้างความความประทับใจ และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการการให้บริการผู้โดยสารในขั้นตอนต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ให้เกิดความคล่องตัว ไม่ให้เกิดภาพความหนาแน่นในแต่ละจุดบริการ โดยเฉพาะในขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง และบริเวณสายพานรับกระเป๋า รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมด้วย

 

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สั่งการให้จัดเตรียมเพิ่มขบวนรถไฟ ทั้งเส้นปกติและขบวนพิเศษ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมแผนฯ โดยในเบื้องต้น จะเพิ่มขบวนนำเที่ยวเส้นทางสายวัฒนธรรมของไทย รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย จากก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการในหลายเส้นทาง ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในรูปแบบไปเช้า-เย็นกลับ (วันเดย์ทริป) เช่น ขบวนรถไฟนำเที่ยวน้ำตกไทรโยค, ขบวนรถไฟนำเที่ยวสวนสนประดิพัทธ์, ขบวนรถไฟนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น

 

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมขบวนรถไฟฟ้าและสถานีของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร ทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, สายสีม่วง, สายสีชมพู และสายสีเหลือง เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ในช่วงไฮซีซั่นไตรมาส 4/2567 เบื้องต้นได้เตรียมขบวนรถเสริมให้บริการในกรณีมีผู้โดยสารหนาแน่น พร้อมทั้ง จัดเตรียมช่องทางพิเศษสำหรับจำหน่ายเหรียญโดยสาร เตรียมไว้ในสถานีที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

 

ขณะเดียวกัน จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่ผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง โดยการประกาศทางเสียง ป้ายประชาสัมพันธ์ และจอแสดงผล ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อีกทั้ง ยังมุ่งเน้นด้านความปลอดภัยโดยจัดให้มีพนักงานสถานีเพิ่มเติม เพื่อให้มีเพียงพอและพร้อมปฏิบัติงานในสถานีที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการหนาแน่น รวมถึง มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดภายในสถานี และภายในขบวนรถไฟฟ้า ครอบคลุมทุกพื้นที่การให้บริการ และยังจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลความปลอดภัยบนสถานี และตรวจสัมภาระผู้โดยสาร ดังนั้น รฟม. มั่นใจว่าประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวก ปลอดภัย ตลอดเส้นทาง

 

“ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การกำกับดูแล พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในทุก ๆ ด้าน และทุกการคมนาคมต้องมีความปลอดภัยในระดับสูงสุด เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยหากทุกหน่วยงานฯ มีความคืบหน้าของแผนรองรับการท่องเที่ยวสำหรับมาตรการลดภาษีท่องเที่ยว สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว จะดำเนินการรายงานต่อประชาชนให้ ทราบโดนทันที“ นายสุริยะ กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงคมนาคม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

คืบหน้า 85% ถนนโครงการหลวงห้วยโป่ง คาดเดือน ก.ค. 67 นี้ เชียงรายได้ใช้

 

 

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567กรมทางหลวงชนบท สร้างถนนสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง จ.เชียงราย กว่า 19 กิโลเมตร คืบหน้า 85% เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจ สนับสนุนการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่และการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

 

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 1) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย นับเป็นความภาคภูมิใจของ ทช. ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ในการสร้างเส้นทางสนับสนุนพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ สามารถขนส่งผลิตผลทางการเกษตรให้ออกสู่ตลาดได้ทันเวลา
 
 
โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 1) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นเส้นทางเชื่อมจาก ทล.118 (ถนนสายเชียงใหม่ – เชียงราย) จากบริเวณ กม.ที่ 76+100 ด้านซ้ายทาง เข้าสู่อุทยานแห่งชาติขุนแจ โดยผ่านอ่างเก็บน้ำดอยงู บ้านทุ่งยาว บ้านห้วยทราย บ้านปางมะกาด บ้านป่าเมี่ยงม่อนวัด บ้านห้วยคุณพระ และบ้านขุนลาว ประชาชนในพื้นที่ยังใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตร ทช. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนใหม่ผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก และผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 2 – 2.5 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก
 
 
3 แห่ง ติดตั้งระบบระบายน้ำ เครื่องหมายจราจร และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ตั้งแต่บริเวณช่วง กม.ที่ 2+750 ถึง กม.ที่ 37+702 เป็นช่วง ๆ รวมระยะทาง 19.800 กิโลเมตร ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 85 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบระบายน้ำ งานชั้นโครงสร้างทาง โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยส่งเสริมการขนส่งระบบโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์ตามยุทธศาสตร์ด้านคมนาคม ให้กับประชาชนในพื้นที่ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัยในทุกฤดู และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนแจได้อีกทางหนึ่ง

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

“ดร.มนพร” ตรวจโครงข่ายทางถนน เพิ่มประสิทธิภาพ เชียงราย-พะเยา

 
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมพร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายทางถนน จ.เชียงราย-พะเยา พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชน
 
 
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ติดตามโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1020 เชียงราย – อ.เชียงของ ตอน อ.เทิง – บ.ต้า เพื่อเพิ่มความจุของถนน รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น ระยะทาง 16 กม. ค่าก่อสร้าง 998.9 ล้านบาท กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567 จากนั้น ดร.มนพร ได้ลงพื้นที่ด่านชายแดนบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ร่วมกับนายกรัฐมนตรี รับฟังข้อเสนอจากทางจังหวัดที่ขอให้กรมทางหลวง เร่งรัดดำเนินการสำรวจและออกแบบถนนให้เป็นเส้นทาง 4 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วขึ้น และเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยพะเยา ติดตามโครงการก่อสร้างทางลอดหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ที่อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณก่อสร้างในปีงบประมาณ 2568 
 
 
 
เนื่องจากปัจจุบันทางเข้ามหาวิทยาลัยพะเยา มีการจราจรหนาที่หนาแน่น และมีแนวโน้มการสัญจรที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าประกอบกับมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กรมทางหลวงจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ระหว่างจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 กับทางเข้ามหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมุ่งเน้นการทำให้การจราจรมีความคล่องตัว มีความปลอดภัยลดผลกระทบต่อชุมชน โดยการศึกษาที่เหมาะสมคือออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับแบบวงเวียน โดยก่อสร้างทางลอด บนทางหลวงหมายเลข 1 ทำให้การเดินทางเป็นอิสระ (free flow) และการจัดการจราจรบริเวณจุดตัดเป็นวงเวียน (Roundabout) มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 1.7 กม.
 
 
 
ดร.มนพร กล่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาโครงข่ายทางถนน จ. เชียงราย – พะเยา เพื่อติดตามความก้าวหน้า และรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาเส้นทางคมนาคมดังกล่าวทำให้เพิ่มประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาด้านการจราจร สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคต ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและลดการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่งโดยรวม 
 
 
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ได้เน้นย้ำในเรื่องการก่อสร้างให้เคร่งครัดในมาตรการความปลอดภัย และการเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนมีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยวของประเทศให้ดีขึ้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

“สุริยะ” ตรวจสนามบินเชียงราย สนับสนุนการขนส่งเชื่อมโยงท่องเที่ยว

 
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ณ ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จังหวัดเชียงราย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ จังหวัดพะเยา โดยมีหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ และผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม
 
 
นายสุริยะ กล่าวว่า การประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ติดตามประเด็นการเตรียมความพร้อมและการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ตามนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงฯ มีโครงการที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยาน ได้แก่ 1) งานก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือและปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B 2) งานจ้างก่อสร้างพื้นที่หัวทางวิ่งด้าน 03 และ 21 3) โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน Maintenance ,Repair and overhaul (MRO) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 4) งานจ้างก่อสร้างขยายถนนทางเข้า – ออก ท่าอากาศยานฯ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนมิถุนายน 2567 นอกจากนี้ มีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานฯ ระยะที่ 1 (ปี 2568 – 2571) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร เป็น 6 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 2 (ปี 2576 – 2578) เป็น 8 ล้านคนต่อปี โดยมีแผนงานสำคัญ ได้แก่ งานก่อสร้างเพิ่มลานจอดอากาศยาน งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และงานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น
 
 
สำหรับโครงการสนับสนุนท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อบรรเทาการจราจรบริเวณหน้าท่าอากาศยานและสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย
1. การก่อสร้างทางลอดและปรับปรุงถนนบริเวณแยกศูนย์ราชการบนถนนสาย ชร.1023 อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 1.635 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 850 ล้านบาท มีแผนก่อสร้างระหว่างปี 2567 – 2569
2. ถนนสายแยก ทล.1 – สาย ชร.5023 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 3.014 กม. วงเงินก่อสร้าง 200 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบประมาณค่าเวนคืนปี 2567 – 2568
3. ถนนสาย ค2, จ7, ง4 ผังเมืองรวมเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 3.735 กม. วงเงินก่อสร้าง 250 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบประมาณค่าเวนคืนปี 2567 – 2568
4. ถนนสายเชื่อม ทล.1207 – ถนนเลี่ยงเมืองกรมทางหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 2.356 กม. วงเงิน 84 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบประมาณค่าเวนคืนปี 2567 – 2568
5. ทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัด ชร.1023 กับ ทล.1 อ.เมือง จ.เชียงราย วงเงินก่อสร้าง409.560 ล้านบาท มีแผนเสนอขอรับงบประมาณค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2569
 
 
นอกจากนี้ ในการประชุมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 1020 ตอนบ้านหัวดอย – บ้านใหม่ดอยลาน จ.เชียงราย กม. 7+420 – 30+000 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว และสามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวก ปลอดภัยยิ่งขึ้น และยังเป็นการสนับสนับการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อด่านพรมแดนอีกด้วย รวมทั้งกระทรวงคมนาคมมีการดำเนินโครงการปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว
 
 
ทั้งนี้ ในการประชุมได้รับทราบข้อมูลความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในส่วนของการก่อสร้างจุดกลับรถบริเวณหน้าโรงพยาบาลแม่จัน และสะพานลอยคนข้าม เพื่อความสะดวกปลอดภัยของประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาขอใช้งบกลางในการก่อสร้างอย่างเหมาะสม รวมทั้งได้มอบนโยบายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท บูรณาการร่วมกัน เพื่อรวบรวมข้อมูลโครงข่ายถนนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยาที่ต้องปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง และตรวจสอบจุดตัดทางร่วม ทางแยกเพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน
 
 
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม และพร้อมรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชน โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจากการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยวของประเทศให้ดีขึ้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

กรมการขนส่งทางราง เผยช่วงวันหยุดสะสม 3 วัน 3.01 ล้านคน-เที่ยว

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา 3 วันคือ วันที่ 28 – 30 กรกฎาคม 2566 มีประชาชนใช้บริการระบบรางรวม 3,005,848 คน-เที่ยว ประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีผู้ใช้บริการรวม 261,625 คน-เที่ยว แบ่งเป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 104,502 คน-เที่ยว และผู้โดยสารเชิงสังคม 157,123 คน-เที่ยว 

 

โดยมีผู้โดยสารขาออกสะสม 134,645 คน-เที่ยว และขาเข้า 126,980 คน-เที่ยว ซึ่งพบว่า 

 – สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 87,610 คน-เที่ยว (ขาออก 45,357 คน-เที่ยว และขาเข้า 42,253 คน-เที่ยว) 

 – รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือ 66,501 คน-เที่ยว (ขาออก 35,022 คน-เที่ยว และขาเข้า 31,479 คน-เที่ยว) 

 – สายเหนือ 54,009 คน-เที่ยว (ขาออก 26,597 คน-เที่ยว ขาเข้า 27,412 คน-เที่ยว) 

 – สายตะวันออก 32,763 คน-เที่ยว (ขาออก 17,077 คน-เที่ยว ขาเข้า 15,686 คน-เที่ยว) 

 – และสายมหาชัย/แม่กลอง 20,742 คน-เที่ยว (ขาออก 10,592 คน-เที่ยว ขาเข้า 10,150 คน-เที่ยว) 

 

และระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมือง(สายสีแดง)) สะสม 3 วัน มีผู้ใช้บริการแล้ว 2,744,223 คน-เที่ยว ประกอบด้วย Airport Rail Link 144,397 คน-เที่ยว สายสีแดง 44,770 คน-เที่ยว สายฉลองรัชธรรม(สีม่วง) 97,759 คน-เที่ยว สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 701,465 คน-เที่ยว สายสีเหลือง 110,108 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) 1,645,724 คน-เที่ยว ทั้งนี้ พบว่า เมื่อวาน (วันที่ 30 กรกฎาคม 2566) ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของวันหยุดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2566 มีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 933,794 คน-เที่ยว (ไม่รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 12 คน) แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 80,348 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและรถไฟชานเมือง (รวมสายสีแดง) จำนวน 853,446 คน-เที่ยว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

 

1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการรวม 228 ขบวน มีผู้ใช้บริการจำนวน 80,348 คน-เที่ยว แบ่งเป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 32,769 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 47,579 คน-เที่ยว โดยมีผู้โดยสารขาออกจำนวน 38,195 คน-เที่ยว และผู้โดยสารขาเข้า 42,153 คน-เที่ยว โดยพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 27,238 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 13,067 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 14,171 คน-เที่ยว) รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ใช้บริการ 20,032 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 9,640 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 10,392 คน-เที่ยว) สายเหนือ 16,001 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 7,277 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 8,724 คน-เที่ยว) สายตะวันออก 10,440 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 4,857 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 5,583 คน-เที่ยว) และสายแม่กลองและมหาชัย 6,637 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 3,354 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 3,283 คน-เที่ยว) 

2. ระบบรถไฟฟ้า ให้บริการเดินรถไฟฟ้ารวม 2,433 เที่ยว มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 853,446 คน-เที่ยว ประกอบด้วย รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 174 เที่ยว จำนวน 44,119 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 230 เที่ยว จำนวน 13,179 คน-เที่ยว (ไม่รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 12 คน) รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) 216 เที่ยว จำนวน 29,448 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 278 เที่ยว จำนวน 238,873 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 216 เที่ยว จำนวน 25,788 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) ให้บริการรวม 1,319 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 502,039 คน- เที่ยว (สายสีเขียว 493,740 คน-เที่ยว และสายสีทอง 8,299 คน-เที่ยว) สำหรับด้านความปลอดภัย มีเหตุอันตรายต่อการเดินรถไฟ 2 ครั้ง 

 

โดยเมื่อเวลา 06.38 น. ผู้โดยสารหญิง บนขบวนรถด่วนที่ 51 (กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่) ถูกประตูห้องน้ำหนีบบริเวณมือ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขอลงรักษาตัวที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ และเมื่อเวลา 07.17 น. ขบวนรถด่วนที่ 86 รถนั่งชั้น 3 เลขที่ 1193 เพลาล้อที่ 1 ด้านซ้ายมีอาการร้อนจนไม่สามารถพ่วงต่อไปปลายทางได้ เจ้าหน้าที่ได้ตัดรถไว้ที่สถานีศาลายาเพื่อทำการซ่อมแซม โดยไม่มีผู้โดยสารได้รับอันตรายจากเหตุการณ์นี้ และสำหรับระบบรถไฟฟ้า ไม่มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ประสานผู้ให้บริการระบบราง พิจารณาดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยฯ มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ปฏิบัติงานในการให้บริการเดินรถไฟ รวมทั้งประสานฝ่ายความมั่นคงมาช่วยดูแลในพื้นที่ระบบรางมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2566นี้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางราง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

บขส. สั่งคุมเข้มความปลอดภัยรถโดยสาร สถานีขนส่งฯ ช่วงวันหยุด 3 – 5 มิถุนายน 2566

บขส. สั่งคุมเข้มความปลอดภัยรถโดยสาร สถานีขนส่งฯ ช่วงวันหยุด 3 – 5 มิถุนายน 2566

Facebook
Twitter
Email
Print

 นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ มีวันหยุดติดต่อกัน 3 วัน (ระหว่างวันที่ 3 – 5 มิถุนายน 2566) บขส. คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนเดินทางเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติที่มีผู้โดยสารใช้บริการวันละกว่า 25,000 – 30,000 คน จึงได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งในส่วนของรถโดยสาร พนักงานขับรถ และสถานีขนส่งผู้โดยสาร ในส่วนของความปลอดภัย เนื่องจากช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ได้กำชับให้พนักงานขับรถ เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่และให้ตรวจสภาพความพร้อมของรถโดยสารและพนักงานประจำรถก่อนให้บริการ สำหรับเส้นทางที่มีระยะทางเกินกว่า 400 กิโลเมตร จัดให้มีพนักงานขับรถ 2 คน มีระบบ GPS ควบคุมความเร็วในการขับขี่ ไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง นอกจากนี้ บขส. มีประกันภัยทุกที่นั่ง ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองตลอดการเดินทาง รวมทั้งเพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บขส. ยังคงขอความร่วมมือผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าขณะใช้บริการบนรถโดยสารและภายในสถานีขนส่งด้วย

         กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวด้วยว่า ในวันหยุดยาวนี้ บขส. ได้มอบส่วนลดค่าโดยสาร 5% (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) และคะแนนสะสมคูณ 2 ให้กับผู้โดยสารที่เป็นสมาชิก บขส. Card และจองตั๋วโดยสารผ่านช่องทางออนไลน์บน Application : E-ticket Website บขส. : https://tcl99web.transport.co.th และเดินทางในช่วงวันที่ 3 – 9 มิถุนายน 2566 ส่วนลูกค้าสมาชิก บขส. Card ที่จองตั๋วโดยสารหน้าช่องขายตั๋ว สามารถใช้สิทธิ์ส่วนลดค่าโดยสารได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิก บขส. Card โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านทาง Application : E-ticket หรือ Website บขส. สอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ บขส. Call Center 1490

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กระทรวงคมนาคม

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIAL & LIFESTYLE TRAVEL

ทริปสุดคุ้มท่องเที่ยวแนวใหม่ Green Tourism “นั่งรถไฟ KIHA183 ปลูกโกงกาง ที่บางปะกง”

ทริปสุดคุ้มท่องเที่ยวแนวใหม่ Green Tourism “นั่งรถไฟ KIHA183 ปลูกโกงกาง ที่บางปะกง”

Facebook
Twitter
Email
Print

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขอเชิญชวนร่วมเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวทางรถไฟแนวใหม่ “นั่งรถไฟ KIHA183 ปลูกโกงกาง ที่บางปะกง” แบบวันเดย์ทริป เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ วันที่ 4 มิถุนายน นี้ โดยพาอินเทรนด์ไปกับการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Tourism)  นำผู้โดยสารเดินทาง ด้วยรถไฟไทยสไตล์ญี่ปุ่น KIHA 183  ร่วมกิจกรรมปลูกป่าโกงกาง ปล่อยปู สร้างบ้านปลาคอนโดปู เที่ยวบ้านสวนเมล่อน เรียนรู้การปลูก รับต้นกล้าเมล่อนกลับไปปลูกต่อที่บ้าน พร้อมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดกลางน้ำ ณ วัดหงส์ทอง และดื่มด่ำ ชมชิมช้อป ตลาดโบราณคลองสวน 100 ปี ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในอดีตที่ยังมีลมหายใจถึงปัจจุบัน  
 
สนใจรีบสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้ เพียง 1,499 บาท จำนวนจำกัด 200 ที่นั่งเท่านั้น  โดยราคาดังกล่าวรวมรถบัสปรับอากาศ พร้อมอาหาร 2 มื้อ มื้อเช้าสไตล์ญี่ปุ่น เบนโตะอาหารไทย และมื้ออาหารกลางวันแบบจัดเต็ม จองตั๋วได้ที่สถานีรถไฟและช่องทางจำหน่ายตั๋วในระบบออนไลน์ D-Ticket ของ รฟท. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
สำหรับรายละเอียดการเดินทาง เริ่มลงทะเบียน สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 07.00 น. จากนั้น 07.40 น.ออกเดินทางสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา  ด้วยขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 993/994  ระหว่างทางเสิร์ฟอาหารเช้า เบนโตะอาหารไทย พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมระหว่างการเดินทางบนขบวนรถ KIHA 183 นอกจากนี้ผู้โดยสารจะได้พบกับจุด Unseen ซึ่งขบวนรถไฟจะจอดให้ผู้โดยสารชมวิวทิวทัศน์บริเวณกลางสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง มีลักษณะคล้ายรถไฟลอยน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถึงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา เวลา 10.00 น. เดินทางต่อโดยรถบัสปรับอากาศ สู่ตำบลท่าพลับ อำเภอบ้านโพธิ์ เที่ยวบ้านสวนเมล่อน เรียนรู้การปลูกต้นกล้าเมล่อนที่ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร และเดินทางต่อไปตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง เยี่ยมชนแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าซายเลน โรงเรียนพระพิมลเสนี (พร้อม หงสกุล) นำทุกท่านร่วมกิจกรรม “รักษ์สิ่งแวดล้อมลดโลกร้อน ร่วมปลูกป่าชายเลน ปล่อยปู สร้างบ้านปลาคอนโดปู” ร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนของไทย

เวลา 12.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน ออกเดินทางต่อไปที่วัดหงษ์ทอง หรือ วัดกลางน้ำ ริมฝั่งอ่าวไทยบริเวณบ่าชายเลน เยี่ยมชมความงาม เจดีย์สีทองอร่าม 3 ชั้น ชั้นล่างประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธรจำลองและพระพุทธรูปอื่น ๆ ไว้ให้กราบไหว้ขอพร ส่วนชั้น 2 มี หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่สด หรือ พระมงคลเทพมุนี (สด จนทุสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ องค์พระแก้วมรกตจำลองประดิษฐานอยู่ รวมถึงจัดแสดงภาพวาดพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ส่วนชั้นบนสุดเป็น จุดชมวิวสามารถมองเห็นวิวทะเล พอเวลาน้ำขึ้นทำให้ดูเหมือนอาคารนี้ลอยอยู่กลางน้ำ และยังมีพระธาตุคงคามหาเจดีย์ เจดีย์สีเหลืองทองที่บรรจุพระธาตุพระอรหันต์อยู่ภายใน ตลอดจนมีพระอุโบสถของ วัดหงษ์ทอง ที่ตั้งอยู่กลางทะเลเช่นเดียวกัน
 
เวลา 15.00 น. ออกเดินทางไป ตลาดคลองสวน 100 ปี ตลาดที่อยู่ในสองจังหวัด มีเพียงสะพานไม้สูง ๆ ข้ามแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขต โดยมีความรุ่งเรืองตั้งแต่อดีตซึ่งเป็นทางผ่านของเรือขนส่งทั้งคนและสินค้าระหว่างบางกอกกับฉะเชิงเทรา ซึ่งสามารถเลือกชม ชิม  ช้อป สินค้าของฝาก อาหารคาวหวาน และของที่ระลึก ได้ตามอัธยาศัย จากนั้น 16.30 น.ออกเดินทางไปสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ถ่ายภาพที่ระลึกกับขบวนรถ KIHA 183 และเดินทางกลับสู่สถานีหัวลำโพง โดยระหว่างทางจอดรับส่งผู้โดยสาร ป้ายหยุดรถพระจอมเกล้า สถานีลาดกระบัง สถานีหัวหมาก สถานีคลองตัน สถานีมักกะสัน  ถึงสถานีหัวลำโพง โดยสวัสดิภาพ เวลา 18.30 น.  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การรถไฟแห่งประเทศไทย

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE