Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

ต้อนรับฤดูฝน Green season ครั้งแรกของเชียงราย ดอกไม้ในสายฝน

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่สวนสาธารณะหาดนครเชียงราย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดงานดอกไม้ในสายฝน Chiangrai Floral & Fog Fest ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย โดยมีนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย มีสวนสาธารณะหลายแห่ง เช่น สวนสาธารณะเกาะลอย สวนสาธารณะนครเชียงรายริมน้ำกก สวนสาธารณะหาด รด. เชียงราย ซึ่งมีการพัฒนาเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ริมแม่น้ำกกและสามารถเชื่อมโยงมาถึงสวนสาธารณะหาดนครเชียงรายแห่งนี้ เทศบาลฯ จึงอยากพัฒนาหาดนครเชียงรายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝน Green season ที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างกระแสความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวช่วงฤดูฝน  ซึ่งจะทำให้ เชียงราย เที่ยวได้ทั้งปี ดังนั้นเทศบาลนครเชียงรายจึงได้ร่วมกับ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงราย เครือข่ายด้านการท่องเที่ยว จากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จัดงานดอกไม้ในสายฝนขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น  กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน สร้างงานสร้างรายได้ ให้กับประชาชน และส่งเสริมสนับสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดเชียงราย ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ด้านนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงฤดูฝน Green season ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมเยือน ผลักดันให้เกิดกระแส Soft power ซึ่งปีนี้การจัดงานดอกไม้ในสายฝนเป็นครั้งแรก นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาจังหวัดเชียงรายที่มุ่งเน้นการทำงานแบบ บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เชียงรายเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ สะอาด ปลอดภัย น่ายล”

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขอชื่นชมจังหวัดเชียงราย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจ สนับสนุนการจัดงานดอกไม้ในสายฝนในครั้งนี้  ซึ่งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อยอด เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน“สุขทันที ที่เที่ยวไทย”เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวออกไปท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องอาศัยทำงานแบบบูรณาการความ ร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ชมรม หอการค้า สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ชุมชน ฯลฯ ที่จะสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ ในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวให้เกิดประทับใจของผู้ที่มาเยี่ยม ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ผ่านการเดินทางและประสบการณ์ จากการได้ลิ้มลองรสชาติของอาหารพื้นเมือง เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว งานศิลปะ งานหัตถกรรมฝีมือ ผ้าทอ การแต่งกายพื้นเมืองเชียงราย ที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่นสวยงาม และสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าชาติพันธุ์หลากหลาย ในจังหวัดเชียงราย สิ่งเหล่านี้นับเป็น ซอฟเพาเวอร์ ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในแต่ละจังหวัด และในชุมชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ภายในงานมีขบวนพาเหรดจากหลากหลายกลุ่มของจังหวัดเชียงราย เช่น กลุ่มน้องนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล 6 โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา สถาบันสอนเต้นจาก MY Dance Academy Step it Up กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย กลุ่มรุ้งสร้างสรรค์เชียงราย และอีกมากมาย ทั้งนี้งานดอกไม้ในสายฝน Chiangrai Floral & Fog Fest จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 28 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 21.00 น. ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การแสดงของน้องๆ เยาวชน การประกวดแข่งขันขับร้องเพลง รำวงย้อนยุคจากชุมชนในเขตเทศบาลฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การแสดงของศิลปินชื่อดัง การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นเมือง การออกร้านจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงโซนหน่วยราชการ อปท. และโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย ตลอดทั้ง 10 วัน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TRAVEL

เตรียมนั่งรถไฟกรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ เปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ 19 ก.ค.นี้

 

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เตรียมเปิดเดินขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ที่มีกำหนดเปิดให้บริการเป็นทางการในวันที่  19 ก.ค.นี้ นำโดย “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีพร้อมร่วมเดินทางออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเวลา 20.30 น. 

 

โดย ขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ จะเดินทางด้วยขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 11  ชั่วโมง ในการเดินทางและผ่านกระบวนการพิธีศุลกากรผ่านแดน (ขาออก) ณ สถานีหนองคาย ก่อนจะถึงสถานีปลายทางเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) และผ่านกระบวนการพิธีศุลกากร (ขาเข้า) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

สำหรับแนวเส้นทางให้บริการรถไฟ สายกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ จะใช้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแยกออกจากทางรถไฟสายเหนือที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี ผ่านจังหวัดสระบุรี เข้าสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ก่อนจะข้ามสะพานมิตรไทย-ลาวแห่งที่ 1 เข้าสถานีรถไฟท่านาแล้ง และสิ้นสุดที่สถานีเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้การรถไฟฯ ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยมีประเด็นหารือ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1.แผนการเปิดเดินรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี –หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รวมถึงแผนการทดลองเดินรถเสมือนจริง ซึ่งกำหนดไว้ในระหว่างวันที่ 13 -14 ก.ค. 2567 

2.แผนพัฒนาตลาดด้านการท่องเที่ยว 

3.แผนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 

4. การเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าระหว่าง ไทย – ลาว- จีน 

 

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ยังได้ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ทำการทดลองและทดสอบการเดินขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี-สถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง-สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอุปสรรคในการเดินรถใดๆ  

 

ทั้งนี้ การเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่สามารถเปิดเดินรถถึงสถานีท่านาแล้ง (สปป. ลาว) และเมื่อสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบจนถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) จะก่อให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวอย่างมหาศาล 

 

โดยสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่น ซึ่งเป็นการยกระดับระบบโลจิสติกส์ของทั้งสองประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และโลจิสติสก์ของภูมิภาค

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

เตรียมพร้อมเปิดแลนด์มาร์คใหม่ ‘อุทยานเมืองโยนกนาคพันธุ์’

 

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย ร่วมเป็นเกียรติและกล่าวรายงานการจัดงานพิธีเททองหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช ประกาศอิสรภาพ ณ อุทยานเมืองโยนกนาคพันธุ์ ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมี ท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมรับมอบเกียรติบัตร ผู้อุปถัมป์อุทยานฯ

 

’อุทยานเมืองโยนกนาคพันธุ์’ ริเริ่มจากมูลนิธิวัดเงิน (Silver Temple Foundation Chiangmai Thailand หรือ STF) แหล่งเรียนรู้วัดศรีสุพรรณ และเครือข่ายภาคเอกชน ประชาชนในจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันพัฒนา “อุทยานเมืองโยนกนาคพันธุ์” เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรม ต้นกำเนิดภูมิปัญญาล้านนาและการท่องเที่ยวใหม่ในลุ่มแม่น้ำโขง อุทยานเมืองโยนกนาคพันธุ์ จังหวัดเชียงราย โดยมีกิจกรรมอนุรักษ์ ฟื้นฟู เสริมสร้างความตระหนักรู้ เห็นคุณค่าวิถีชุมชน
 
 
การจัดพิธีเททองหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราชในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม ทรงเจริญพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 อีกทั้งเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและแรงบันดาลใจในด้านการทำประโยชน์เพื่อบ้านเมืองและปวงชนชาวไทย และเป็นที่สักการบูชา เพื่อความสุข ความเจริญ ความดีงาม เป็นมงคลแก่ผู้ปฏิบัติงานในอุทยาน เมืองโยนกนาคพันธุ์ รวมทั้งเป็นที่สักการบูชาของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบและประชาชนใน จังหวัดเชียงราย และผู้คนจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย
 
 
โดยอุทยานโยนกนาคพันธุ์ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับเวียงหนองหล่ม อยู่ในแนวรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาศจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ให้เป็นพื้นที่ อุทยานธรณีเชียงราย Chiangrai Geopark ในการนี้ นายธีรภัทร์ ทองใบ ผู้อำนวยการอุทยานเมืองโยนกนาคพันธุ์ จึงเชิญ อบจ.เชียงราย โดยมี นายก อบจ.เชียงราย เป็นผู้อำนวยการอุทยานธรณีเชียงราย โดยตำแหน่ง มาจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับอุทยานธรณีเชียงราย Chiangrai Geopark ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FOOD

เปิดตัวคาเฟ่ Department of Tea by Singha Park x MFU เรียนรู้ชา

 

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  ผศ.ดร.ภาณุพงษ์  ใจวุฒิ รองอธิการบดี นายชัยภัฏ จาตุรงคกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด นายชวาล คงทรัพย์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด นายภุชคฤน ตั้งตรงเจตนา นายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกัน เปิดตัวคาเฟ่ “Department of Tea by Singha Park x MFU” ภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย

 

โดยนายชัยภัฏ จาตุรงคกุล  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด กล่าวว่า ทางสิงห์ปาร์ค เชียงราย ได้เดินหน้ารีโนเวทร้านใหม่ เปิดตัวคาเฟ่สุดพิเศษ “Department of Tea by Singha Park x MFU” ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ไม่เพียงแต่เป็นคาเฟ่สำหรับนั่งชิลและเพลิดเพลินกับเครื่องดื่มอันหลากหลาย แต่ยังเป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับชา ที่จะเป็นแรงผลักดันให้คุณภาพชาไทยก้าวไกลสู่ระดับสากล

 

ซึ่งคาเฟ่แห่งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนการดื่มชาแบบ specialty tea โดยในร้านมีมุมสวยงามที่ออกแบบมาเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งมีโซน slow bar ที่ให้บริการชาพรีเมียมและมัทฉะที่ตอบโจทย์วัยรุ่น การตกแต่งภายในร้านเน้นความโมเดิร์นและอบอุ่น สร้างบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการนั่งพักผ่อน การชวนเพื่อนมาอ่านหนังสือและการเรียนรู้

 

สำหรับการร่วมมือระหว่างสิงห์ปาร์คและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถมีส่วนร่วมในการเข้ามาฝึกทดลองทำงานจริง หารายได้เสริมระหว่างเรียน อีกทั้งยังมี Zone ที่สามารถมาทำ Workshop เกี่ยวกับชาได้อีกด้วยทั้งนี้ เพื่อผลักดันวงการชาไทยไปสู่ความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

 

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเยี่ยมชมคาเฟ่ “Department of Tea by Singha Park x MFU” ได้แล้ววันนี้ที่ตึก M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 9.00 – 17.00 น. ติดต่อได้ที่เบอร์ 065-924-0486 พบกับประสบการณ์ใหม่ของการดื่มชาและการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใคร

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : MFU TODAY

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

อพท.เชียงราย เส้นทางท่องเที่ยว อุทยานธรณี Chiang Rai Geopark

 
เมื่อวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2567 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. มอบหมายให้ อพท. เชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดเชียงราย “3 พี่น้องท้องถิ่นรวมใจ สู่เชียงรายเที่ยวได้ ทั้งปีมีดีทุกเดือน” โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เส้นทางที่ 2 เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีเชียงราย Chiang Rai Geopark โดยนายประเสริฐ ชุ่มเมืองเย็น รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรม โดยมีผู้นำท้องถิ่น มัคคุเทศก์ ผู้แทนจากบริษัททัวร์ในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ และผู้แทนหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย จำนวนกว่า 20 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เสริมสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และกระจายรายได้สู่ชุมชน
 
 
เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีเชียงราย Chiang Rai Geopark เริ่มจากวัดป่าหมากหน่อ ซี่งตามตำนานพื้นถิ่นเล่าสืบต่อกันมาว่า พื้นที่บริเวณรอบวัดเดิมคือเมืองโยนกนาคพันธุ์ แต่ชาวเมืองไปจับปลาไหลเผือกตัวใหญ่มารับประทาน เนื่องจากปลาไหลเผือกตัวดังกล่าวเป็นลูกของพญานาคราช ส่งผลให้เกิดพายุใหญ่และแผ่นดินล่มสลายเมืองทั้งเมืองจมอยู่ใต้น้ำ เหลือเพียงบ้านของหญิงหม้ายที่ไม่ได้รับประทานปลาไหลเผือกเช่นคนอื่นๆ กลายมาเป็นเกาะแม่หม้ายหรือพื้นที่บริเวณวัดป่าหมากหน่อซึ่งตั้งอยู่บริเวณเวียงหนองหล่มในปัจจุบัน ดังปรากฏอยู่ในตำนานสิงหนวัติ โดยนายธีรภัทร ทองใบ ผู้อำนวยการอุทยานเมืองโยนกนาคพันธุ์ จังหวัดเชียงราย ให้เกียรติเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองโยนกนาคพันธุ์ 
 
 
จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทางไปยังจุดชมวิวเวียงหนองหล่ม ซึ่งมีหอชมวิวสามารถมองเห็นแนวรอยเลื่อนแม่จัน และเวียงหนองหล่มโดยรอบ รวมถึงจุดที่พบน้ำพุร้อน ภาคบ่ายคณะผู้ร่วมกิจกรรมลงพื้นที่สำรวจถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน เรียนรู้เหตุการณ์การช่วยเหลือ 13 ชีวิตหมูป่า ที่เคยติดถ้ำเมื่อปี พ.ศ. 2561 และเรียนรู้ภูมิศาสตร์ของถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน
สำหรับกิจกรรมในวันที่สอง เป็นการเรียนรู้กระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรบ้านสันธาตุ อ.เชียงแสน จากนั้นเดินทางไปยังเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย หรือทะเลสาบเชียงแสน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar site) ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ แต่ละปีจะมีนักดูนกจากทั่วโลกเดินทางเพื่อมาดูนกอพยพที่บริเวณนี้ โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะมีนก อพยพจากรัสเซียและไซบีเรีย มาอาศัยอยู่ในบริเวณทะเลสาบเชียงแสนเป็นจำนวนมาก
 
 
ในโอกาศนี้ ผู้ปฏิบัติงาน อพท.เชียงราย และผู้ร่วมกิจกรรม ร่วมกันถอดบทเรียนและให้ข้อเสนอแนะแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นข้อมูลนำไปพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวแก่ชุมชนต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อพท.เชียงราย DASTA Chiang Rai

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย EP.05 : เคยโดนว่า “เต้นกินรำกิน” ตอนนี้มันเป็นอาชีพไปแล้ว

 

คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.05 : เคยโดนว่า “เต้นกินรำกิน” ตอนนี้มันเป็นอาชีพไปแล้ว

ฅนเจียงฮาย : ครูกร้อ ครูสอนเต้น

เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : ชื่อ “ครูก้อ” ครับ หรือว่าตะกร้อครับ เคยเรียนที่ ท.6 (โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย) มาก่อน แล้วก็ย้ายไปที่ มฟล. หรือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็จบเป็นนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศครับ เกี่ยวกับไอที ไม่ได้เกี่ยวกับสายเต้นเลย เราเรียนไม่ได้เป็นความชอบส่วนตัว แต่เป็นความชอบของพี่สาวครับ แบบครอบครัวเมื่อก่อนก็คือเรารู้สึกว่า พี่เรียนสายอาชีพทางบ้านก็คิดว่าน่าจะทำงานได้ดีในสายนี้เราก็เลยเรียนแต่พอเราเข้ามหาวิทยาลัยเราก็รู้สึกว่าตัวเองชอบสิ่งอื่นที่น่าสนใจมากกว่านั้น ซึ่งมันก็คือ ‘การเต้น’ ที่เรารู้สึกว่าเราหลงรักเสียงเพลง ก็เลยผันตัวเองมาลองเต้นดูครับ

 

ที่บ้านก็มีไม่เข้าบ้างครับ เราเต้นเพื่ออะไรหรือว่าจุดมุ่งหมายเราที่เราจริงจังเนี่ยเพื่ออะไร? แบบนี้ครับ มันก็เหมือนมีคนบอกว่าเป็นการ ‘เต้นกินรำกิน’ ยังมีคำนี้อยู่นะครับมันมีมาตั้งแต่เมื่อก่อนแล้ว เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วมันก็เป็นอาชีพได้นะในวันนึง แต่เมื่อก่อนคุณพ่อคุณแม่อาจจะยังไม่เข้าใจครับ

เราก็พิสูจน์ตัวเองแล้วก็เต้นมาเรื่อย ๆ จนเราได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง Hip Hop International ครับ ปี 2014 ได้รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 ครับ ได้ร่วมเป็นตัวแทนประเทศในทีมใหญ่ที่เป็นการรวมตัวกันของหลาย ๆ ทีม แข่งที่ Las Vegas ปี 2015 ได้รางวัล อันดับที่ 4 ครับ ได้เป็นตัวแทนไปแข่งที่ San Diego

พอได้รางวัลมาพ่อแม่ก็เข้าใจ ก็ปล่อยให้ทำเต็มที่เลยครับ เราได้แชมป์เราก็จะไปแข่งที่อเมริกามาอีกสองปี กับครูยุ้ย ครูเมฆ เจ้าของสถาบัน MY DANCE นี่แหละ แต่ก็ไม่ได้รางวัลครับ เพราะที่อเมริกา การแข่งขันมันสูงมากครับ ตอนนี้เราเริ่มผันตัวเองมาเป็นโค้ชด้วย ลงแข่งบ้างบางครั้งบางคราวครับ


คือผมเป็นคนเชียงรายมาดั้งเดิม แต่ว่ามันมีช่วงที่เราไปทำงาน คิดจะไปเต้นที่กรุงเทพฯ เป็นแบบผู้ช่วยพวกในบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ อย่างแกรมมี่ครับ เป็นผู้ช่วยของพี่ที่ทำงานสายเต้นด้วยกันนี่แหละ แต่เราก็อยู่ได้ ประมาณเดือนนึงแล้วก็กลับ ด้วยความรู้สึกว่าพอเราไปอยู่เบื้องหลังอะมันยังไม่ใช่ตัวตนเราครับ เพราะเราอาจจะชอบเต้นมาก ๆ ด้วยแหละ ชอบสอนด้วย เลยรู้สึกว่ามาทำสิ่งที่เราชอบตั้งแต่ต้นดีกว่า แล้วสอนเต้นนี่ประมาณเกือบจะสองปีแล้วครับ มีทั้งวัยเด็กน้อยสุดก็ประมาณ 3 ขวบ มากสุดอยู่ที่ 47 ปี เกือบ 50 ปี ก็คิดว่าจะทำไปเรื่อย ๆ เพราะชีวิตเราอยู่กับการเต้นและเราก็ชอบมากครับ
 

ปกติตอนแรกเรารู้สึกว่าเราไม่ชอบการสอนตั้งแต่แรก แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าการสอนผู้คนมันเปลี่ยนผู้คนได้ เราเห็นเขายิ้ม ได้เห็นเขามีความสุขกับการเต้น เราพอใจละ เราไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องเก่งก็ได้แต่ให้เขาได้เปลี่ยนไปทำในสิ่งที่เขาชอบ เพลงที่เขาชอบ เหมือนเดี๋ยวนี้คนชอบที่จะได้ฟังเสียงเพลงหรือว่าอยากให้การเต้นมาช่วยบําบัดเพื่อให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เออ เขามีความสุขขึ้นจริง ๆ กับเสียงเพลงและการที่ได้มาเต้นกับเรา มันทำให้คนดีขึ้นได้ ผมก็โอเคแล้ว มันมีความสุข รู้สึกถูกเติมเต็มมาก ๆ เลยครับ
 

อย่างเช่นเคสนึง มีนักเรียนเขามาเรียนกับเรา คือเขาอกหัก แล้วเขาบอกว่าอยู่คนเดียวไม่ไหว รู้สึกว่าเหมือนจะมีอาการซึมเศร้า เขาก็เลยออกมาเรียนเต้น ออกมาแสดงตัวตน สุดท้ายเขาก็มีความสุขขึ้น รู้สึกหลุดพ้นไม่ต้องคิดอะไร ดังนั้นตรงนี้มันโอเคที่สุดแล้วสําหรับเราครับ
 

สิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : ถ้าถามว่าอยากจะเปลี่ยนอะไร อยากเปลี่ยนให้ทุกคนยอมรับในการเต้นมากขึ้นครับ เพราะว่ามันยุคใหม่แล้วมันต่างจากเมื่อก่อนเยอะ ไม่มีใครมาดูถูกแล้วว่าการเต้นมันไม่มีคุณค่า ทุกอย่างทุกอาชีพมันมีคุณค่าของมันอยู่แล้ว การเต้นก็เหมือนกันครับ


ฅนเดินเรื่องโดย : ครูกร้อ ครูสอนเต้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : MY Dance Academy

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

วธ.เปิดตัวเที่ยวชุมชน ยลวิถี เชียงแสน ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ)

 
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดตัว      สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) และลานวัฒนธรรมสร้างสุข โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงวัฒนธรรม (ค.ต.ป.วธ.) นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย รวมถึงหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายสภาวัฒนธรรม และชาวชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) เข้าร่วม ณ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในโอกาสนี้ ได้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม เพื่อต้อนรับ ชุด “ตีกลองหลวง” โดยกลุ่มตีกลองหลวงวัดพระธาตุผาเงา การแสดงในพิธีเปิด ชุด “ฮอมขวัญตราบนิรันดร์ สถิตมั่นแขกแก้วมาเยือน”  จากโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชุดการเต้นบาสโลบ และการแสดงของกลุ่มแม่บ้านสบคำ ที่มีความสวยงาม สนุกสนาน สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตของชาวชุมชนวัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) ได้เป็นอย่างดี
 
 
จากนั้น ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะได้เดินเยี่ยมชมตลาดวัฒนธรรม “อิ่มบุญ ยลวิถีผาเงา”ชมการแสดงขับทุ้มหลวงพระบาง โดยคณะขับทุ้มบ้านสบคำ ชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ กลุ่มทอผ้าล้านนาลายอัตลักษณ์เชียงแสน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา ชมฐานการเรียนรู้ของโรงเรียนคนสามวัยวัดพระธาตุผาเงา เช่น การตัดตุง การทำตุงข้าวเปลือก การทำผางประทีป รวมถึงชมฐานแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชน อาทิ พิธีเรียกขวัญ (ซ้อนขวัญ) ตามความเชื่อชาวไท-ลาว ฐานการเรียนรู้ “การประดิษฐ์เรือไฟเล็ก (สะเปา)” ในงานประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชุมชนบ้านสบคำ หนึ่งเดียวในจังหวัดเชียงราย อีกด้วย นอกจากนี้ ภายในงานมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT และผลิตภัณฑ์ สินค้า ของดีชุมชนฯ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตโดยหน่วยงานในพื้นที่
 
 
นางยุพาฯ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับจังหวัดเชียงราย และชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) ที่ได้รับรางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี พ.ศ. 2566 ที่คัดอย่างเข้มข้นจาก 76 ชุมชน ทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จัดโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีชุมชนได้รับการคัดเลือกมาแล้วกว่า 30 ชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อน Soft Power ของไทยสู่นานาชาติ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน มาพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์สินค้าและบริการ ทั้งนี้ ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา หรือชุมชนบ้านสบคำ นับเป็นชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้นำ “พลังบวร” และเครือข่ายที่เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข มีความรักสามัคคี มีการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งยืนยันได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกประเภทอย่างยั่งยืนสืบไป โดยการต่อยอดต่อจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมาเยือน และศึกษาเรียนรู้อัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชนมากยิ่งขึ้น
 
 
“ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ)” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันตก ชื่อของวัดนี้มาจาก พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดหินก้อนใหญ่มีลักษณะคล้ายรูปทรงเจดีย์ คำว่า “ผาเงา” คือ เงาของก้อนหิน จึงตั้งชื่อว่า “พระธาตุผาเงา” ตั้งอยู่ในเขตประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนน้อย หรือเวียงปรึกษา มีการขุดค้นพบ “พระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2519 คาดว่ามีอายุเก่าแก่มากถึง 1,300 ปี ภายในวัดพระธาตุผาเงา มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนสามารถมาสักการะและท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้  ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ อาทิ หอพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติฯ หอพระบรมฉายามหาราชพุทธิรังสรรค์ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ และพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน
 
 
เชิญมาสัมผัสวิถีวัฒนธรรม  อันดีงามของชาวบ้านสบคำเป็นชาวไทยเชื้อสาย ไท-ลาว ไท-ยวน ไท-ลื้อ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และยังมีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากวัดพระธาตุผาเงาอีกหลายแห่ง ได้แก่ สกายวอร์คผาเงาสามแผ่นดิน พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน จุดชมวิวสองฝั่งโขงบ้านสบคำ และวัดสบคำ เป็นต้น เมื่อเดินทางไปเที่ยวในชุมชนแห่งนี้ พลาดไม่ได้คืออาหาร คือ ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม และลาบปลาแม่น้ำโขง รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ให้ซื้อกัน     เป็นที่ระลึก คือ ผ้าทอล้านนาลายเชียงแสน และสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา ด้านเทศกาลประเพณีที่จะดึงดูด ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุผาเงา ในช่วง 12-20 เมษายนของทุกปี ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี และประเพณีไหลเรือไฟ 12 ราศี เป็นต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
HEALTH

กรมการแพทย์แผนไทยฯ คัดเลือก “สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด”

 
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 มีรายงานจาก คณะอนุกรรมการด้านวิชาการกำหนดชนิดสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ได้พิจารณาผ่านแล้ว 57 จังหวัด อยู่ระหว่างการพิจารณา 19 จังหวัด

โดย น.ส.กมลทิพย์ สุวรรณเดช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการพิจารณาเลือกสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด กำหนดให้แต่ละจังหวัดที่รู้ข้อมูลพื้นที่ตัวเองดี คัดเลือกสมุนไพรที่มีค่า มีการพบมาก เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือหายาก มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ อนุกรรมการฯก็จะมาพิจารณาเลือกแล้วให้ข้อมูลทางด้านสารสำคัญ งานวิจัยเข้าไป

อย่างเช่น หัวร้อยรูเป็นสมุนไพรหายากของตรังและใช้ทางยารักษาโรคมะเร็ง มีเฉพาะในธรรมชาติเท่านั้น มีการปลูกที่ยากมาก จึงให้หัวร้อยรูเป็นสมุนไพรอัตลักษณ์ของตรัง ก็มีแผนว่าจะทำอย่างไรให้ลดการเก็บจากธรรมชาติแล้วหันมาส่งเสริมการปลูกทดแทนในธรรมชาติ

 

สมุนไพอัตลักษณ์จังหวัดภาคเหนือ

  • เชียงใหม่   กัญชง
  • แม่ฮ่องสอน  บุกไข่
  • เชียงราย  ส้มป่อย
  • ลำพูน  เปล้าใหญ่
  •  ลำปาง  กวาวเครือ
  • พะเยา  เพชรสังฆาต
  •  แพร่  กลอย
  • น่าน  มะแข่น/มะแขว่น
  • ตาก  ขมิ้นชัน
  •  สุโขทัย  เพกา
  • พิษณุโลก  ส้มซ่า
  • กำแพงเพชร  สมอพิเภก
  • เพชรบูรณ์  ขิง
  • พิจิตร  ฟ้าทะลายโจร

สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดภาคกลาง

  • ชัยนาท  มะตูม
  • นครปฐม กระชาย
  •  นนทบุรี หน่อกะลา
  • ปทุมธานี  บัวหลวง
  • พระนครศรีอยุธยา  ผักเสี้ยนผี
  • ลพบุรี  ฟ้าทะลายโจร
  • สมุทรปราการ  เหงือกปลาหมอดอกม่วง
  • สมุทรสาคร  เหงือกปลาหมอดอกขาว
  •  สมุทรสงคราม  เกลือสมุทร
  • สุพรรณบุรี  ว่านพระฉิม
  • อุทัยธานี  คนฑา
  • อ่างทอง  ข่าตาแดง

สมุนไพรอัตลักษณ์ภาคใต้

  • กระบี่  กระท่อม
  • ชุมพร  มะเดื่ออุทุมพร
  • ตรัง หัวร้อยรู และพริกไทย
  • นครศรีธรรมราช  จันทน์เทศ
  • นราธิวาส คนที
  • ปัตตานี  ปลาไหลเผือก
  •  พัทลุง  ไพล
  • ภูเก็ต  ส้มควาย
  • สงขลา  กระท่อม
  • สุราษฎร์ธานี  ขมิ้นชัน

สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดภาคตะวันตก

  • กาญจนบุรี  มะขามป้อม
  • ประจวบคีรีขันธ์  ว่านหางจระเข้
  •  ราชบุรี  ขมิ้นอ้อย
  • เพชรบุรี  หัวเข่าคลอน

สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดภาคตะวันออก

  • จันทบุรี  กระวาน และพริกไทย
  • ปราจีนบุรี  ฟ้าทะลายโจร

 

น.ส.กมลทิพย์ กล่าวด้วยว่า สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดอาจจะมีซ้ำกันได้ เช่น ขมิ้นชัน มีสุราษฎร์ธานีกับตาก ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยที่สุราษฎร์ธานีจะมีสารเคอร์คูมินอยด์สูง แต่ตากจะมีส่วนของน้ำมันหอมระเหยที่สูง  บางจังหวัดก็มี 2 ชนิด เช่น ตรังมีหัวร้อยรูและพริกไทย ซึ่งพริกไทยของตรังมีคุณภาพดีมาก พอๆ กับของจันทบุรี แหล่งพริกไทยสำคัญและใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอก็ให้พริกไทยทั้งที่ตรังและจันทบุรี

การส่งเสริมต่อยอดสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด  น.ส.กมลทิพย์ กล่าวว่า เมื่อได้ครบแล้ว แต่ละจังหวัดจะกำหนดแผนในการผลิตสมุนไพรชนิดนั้นๆ ให้ได้ตามมาตรฐานของการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ สามารถส่งเสริมในการผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ที่จะใช้ใน รพ.หรือจำหน่ายให้แก่ประชาชน

โดยการใช้วัตถุดิบสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดนั้น เช่น ขิง เพชรบูรณ์ประกาศว่าคุณภาพดีที่สุด ผู้ประกอบการก็ไปที่เพชรบูรณ์ก็จะได้ขิงที่มีคุณภาพดีที่สุด เป็นต้น  นอกจากนี้ จะเข้าไปช่วยส่งเสริมในเรื่องของผลิตภัณฑ์หรือสินค้า OTOP ของดีประจำจังหวัดด้วย

 

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 กำหนดค่าเป้าหมาย ขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย

  • ปี 2567 จำนวน 63,045 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 %  
  • ปี 2568 จำนวน 72,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15 %
  • ปี 2569 จำนวน 87,003.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 %  
  • ปี 2570 จำนวน 104,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 % 

และร้อยละความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)อุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ในปี 2570เพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 20 จากปี 2565

ซึ่งผลจากการพัฒนา 15 เมืองสมุนไพรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2566 เกิดรายได้สะสมจากการขายผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร รวม 11,783 ล้านบาท แยกเป็น 3 คลัสเตอร์

1.ด้านเกษตรและวัตถุดิบสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ สุรินทร์มหาสารคาม อุทัยธานี สกลนคร และ สระแก้ว  สร้างรายได้ระดับพื้นที่สะสม 1,837 ล้านบาท

 2.ด้านอุตสาหกรรมสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สระบุรี ปราจีนบุรี และจันทบุรี สร้างรายได้ระดับพื้นที่สะสม 3,720 ล้านบาท

3.ด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและการแพทย์แผนไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และ สงขลา สร้างรายได้ระดับพื้นที่สะสม 6,226  ล้านบาท

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมการแพทย์แผนไทยฯ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
HEALTH NEWS

กรมอนามัย เตือนกิน จิ้งจก-ตุ๊กแก ระวังเสี่ยงติดเชื้อในทางเดินอาหาร

 

 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนจากข้อมูลที่แชร์บนโลกออนไลน์ กินจิ้งจก ตุ๊กแก หวังเสริมสมรรถนะทางเพศ ไม่เป็นความจริง ชี้ประชาชน ไม่ควรกิน เพราะยังไม่มีงานวิจัยรองรับถึงประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง พร้อมแนะประชาชนดูแลตนเองอย่างเหมาะสม เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอ ลดการดื่มแอลกอฮอล์และเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อสุขอนามัยที่ดี

 

        นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข้อมูลที่แชร์บนโลกออนไลน์ หนุ่มใหญ่อายุ 59 ปี จับจิ้งจกมากินโชว์ อ้างว่าจิ้งจกมีสรรพคุณเป็นยาโด๊ป กินเป็นประจำจะทำให้สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง โดยเฉพาะสุภาพบุรุษ จะเพิ่มสมรรถภาพทางเพศภายในสามชั่วโมงหลังจากกินรวมทั้งสื่อต่างประเทศรายงานข่าว หนุ่มใหญ่ชาวไทยอีกเช่นเคย กินตุ๊กแกเป็นอาหารเพื่อปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศ โดยใช้วิธีกินดิบไม่ปรุงสุกเพราะเชื่อว่าจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงนั้น การกินจิ้งจก และตุ๊กแกอาจมีโอกาสได้รับเชื้อโปรโตรซัวที่อยู่ในสัตว์เลื้อยคลาน เพราะจิ้งจกและตุ๊กแกดำรงชีวิตด้วยการกินอาหารสด จำพวกแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือปวดท้องบิดได้ โดยเฉพาะในมูลของจิ้งจก ตุ๊กแก อาจมีเชื้อราปนเปื้อน และเชื้อซาลโมเนลลาที่เป็นพาหะโรคอุจจาระร่วง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ รวมทั้งตุ๊กแกดิบ ๆ อาจได้รับอันตรายเพราะตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่มีฟันที่แหลมคมกัด รวมทั้งการได้ตามจับตุ๊กแกก็เสี่ยงต่อสัตว์มีพิษชนิดอื่นๆ ได้ เนื่องจากตุ๊กแกไม่ใช่สัตว์ที่เพาะเลี้ยงเพื่อใช้บริโภค จึงต้องหาจากป่า สวน หรือบริเวณบ้านเรือน อีกทั้ง หากไม่มีกระบวนการชำแหละ จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อก่อโรคได้

 

        ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้ว่า จิ้งจก หรือตุ๊กแกสามารถเสริมสมรรถภาพทางเพศหรือรักษาโรคได้จริงหรือไม่ สำหรับชายหนุ่มที่ต้องการมีสมรรถนะทางเพศที่แข็งแรง ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ไข่ ถั่ว เนื้อหมู เนื้อวัว หอยนางรม เหล่านี้เป็นอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน วิตามินอีและสังกะสี ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงและบำรุงระบบสืบพันธุ์ ลดการดื่มแอลกอฮอล์และเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็สามารถมีสุขอนามัยที่ดี ลดความเสี่ยงในการบริโภคจิ้งจก หรือตุ๊กแกที่จะได้รับเชื้อก่อโรคได้

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
HEALTH NEWS

ครม.อนุมัติงบ 208 ล้าน โรงพยาบาล ม.พะเยา เพิ่มบุคลากร 731 อัตรา

 
เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (แผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 731 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 208.08 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ทั้งนี้ แผนอัตรากำลังฯ จะส่งผลต่อการเพิ่มอัตรากำลังและบุคลากร และภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต จึงเห็นควรที่มหาวิทยาลัยพะเยาจะพิจารณาดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามภารกิจหลัก อย่างประหยัด และคุ้มค่า และคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่าย โดยเฉพาะรายได้หรือเงินนอกงบประมาณอื่นใดที่มหาวิทยาลัยมีอยู่หรือสามารถนำมาใช้จ่ายเป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐอย่างยั่งยืน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
 
 
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) ขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ระดับ M1 ขนาด 200 เตียง ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 เพื่อรองรับการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและการขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ S
 
(2) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของเขตสุขภาพที่ 1 ในเขตพื้นที่ล้านนาตะวันออก (จังหวัดเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา) เป็นหน่วยให้บริการที่เป็นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่อระดับสูง รวมทั้งพัฒนาเรื่องต่าง ๆ เช่น ระบบบริการสุขภาพด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน การดูแลผู้สูงอายุในเขตบริการ ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการส่งต่อเพื่อลดความแออัดในเขตสุขภาพที่ 1
 
(3) พัฒนาศูนย์การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อรองรับการเป็นสถานฝึกปฏิบัติการในชั้นคลินิกสำหรับนิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยาให้มีศักยภาพ สามารถใช้เป็นแหล่งฝึกบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนทั้งก่อนปริญญาและหลังปริญญา
 
และ (4) พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เช่น ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง
 

“สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ แล้ว เห็นว่า แผนความต้องการอัตรากำลังฯ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น
 
(1) ควรทบทวนภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้องกับภาระงาน เช่น การขยายสถานที่บริการ ควรฝึกวิชาชีพเฉพาะทางหลักสูตรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
 
(2) ควรวิเคราะห์ปริมาณงานเฉลี่ย
 
(3) การของบประมาณตามแผนความต้องการอัตรากำลังฯ ควรคำนึงถึงภาระผูกพันในการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
 
 
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยาได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเพื่อรองรับการขอเพิ่มอัตรากำลังดังกล่าวไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการขอรับจัดสรรงบประมาณในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพะเยาจึงได้ปรับระยะเวลาของแผนอัตรากำลังฯ จากเดิมปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2569 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571” นายคารม กล่าว
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News