Categories
WORLD PULSE

‘มาเลเซีย’ ประกาศแล้ว มกราคม 68 แพลตฟอร์มโซเชียลต้องขอใบอนุญาต

 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการประกาศกรอบการกำกับดูแลใหม่สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตทั้งหมดที่มีผู้ใช้ลงทะเบียนอย่างน้อย 8 ล้านคนในประเทศให้ปฏิบัติตามในวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม โดยกรอบการกำกับดูแลใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า

คณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (MCMC) ได้ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าการบังคับใช้ใบอนุญาตประเภทใหม่จะส่งผลกระทบต่อแพลตฟอร์มยอดนิยมเช่น Facebook, Instagram, WhatsApp, YouTube, TikTok และ Telegram โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นและประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและครอบครัว

การประกาศกรอบการกำกับดูแลใหม่นี้ได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงในมาเลเซีย องค์กรภาคประชาสังคมบางแห่งได้กล่าวว่ามาตรการนี้เป็นการกระทำที่มากเกินไปและเสี่ยงต่อการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ขณะที่ผู้สังเกตการณ์อินเทอร์เน็ตรายอื่นๆ กลับมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ทันท่วงทีเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยออนไลน์ในช่วงเวลาที่อาชญากรรมทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น

การเคลื่อนไหวของมาเลเซียในการเปิดตัวกรอบกฎระเบียบใหม่นี้ดูเหมือนจะสะท้อนถึงความพยายามของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ที่มุ่งหวังจะปกป้องประชาชนจากการรับรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทางออนไลน์

ในบริบทของประเทศไทย การกำกับดูแลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง เนื่องจากมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเว็บการพนันและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ การแพร่กระจายของข่าวปลอมบนทางออนไลน์ยังเป็นปัญหาที่สำคัญ การกำกับดูแลที่เข้มงวดจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคมออนไลน์ของไทย

กรอบการกำกับดูแลใหม่ที่มาเลเซียประกาศใช้นั้นสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบในประเทศไทยให้ทันสมัยและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การปรับปรุงกฎระเบียบนี้จะไม่เพียงแต่ช่วยลดอาชญากรรมทางไซเบอร์และป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่ยังส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีความรับผิดชอบในหมู่เยาวชนและประชาชนทั่วไปอีกด้วย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

สั่งขยายผล ‘คนไทย’ ลักลอบเดินทาง ทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ ‘ฟินแลนด์’

 

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 กรมการจัดหางาน ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ประสงค์ไม่ออกนามว่ามีการลักลอบเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่สาธารณรัฐฟินแลนด์ เดินทางโดยสายการบินกาตาร์แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ QR837 จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย จุดหมายปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ จึงมอบหมายกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน และด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิดำเนินการตรวจสอบ ปรากฏว่าพบผู้ที่จะลักลอบไปทำงานที่สาธารณรัฐฟินแลนด์ จำนวน 43 คน เป็นชาย 37 คน และหญิง 7 คน ทั้งหมดให้การยอมรับว่าจะเดินทางไปทำงานเกษตรกรเก็บผลไม้ป่าที่สาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยไม่ได้ขออนุญาตกับกรมการจัดหางานตามกฎหมาย จึงได้ระงับการเดินทางพร้อมกับชี้แจงให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด พร้อมสั่งการไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดที่คนหางานซึ่งถูกระงับการเดินทางมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อสอบข้อเท็จจริงและขยายผลถึงขบวนการชักชวนหรือนำพาคนหางานไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่สาธารณรัฐฟินแลนด์อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยขอย้ำเตือนคนไทยที่จะเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าสาธารณรัฐฟินแลนด์ว่าประเทศไทยยังชะลอการจัดส่งแรงงานไปเก็บผลไม้ป่า เพื่อประโยชน์ของตัวแรงงาน ในระหว่างนี้ขอความร่วมมือแรงงานไทยไม่ลักลอบไปทำงาน

 

“สำหรับการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในสาธารณรัฐฟินแลนด์ขณะนี้ยังชะลอการจัดส่ง โดยอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสาธารณรัฐฟินแลนด์เพื่อปรับระเบียบกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับแรงงานไทยที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า รวมถึงนายจ้างต้องยอมรับเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์การคุ้มครองและการรักษาสิทธิของแรงงานไทย ตลอดจนความโปร่งใสและความเป็นธรรมให้แก่แรงงานไทย” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

 

 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e – Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทย ไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 .

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI WORLD PULSE

จับมือเมียนมา พัฒนาการค้ายั่งยืน ร่วมมือแก้ไขมลภาวะทางอากาศ

 

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และคณะผู้บริหารจากส่วนกลาง ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนไทย ด้านการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมก่อนเข้าหารือกับฝ่ายเมียนมา ในภาคบ่ายของวันเดียวกัน โดยมีนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ และนำหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก อาทิ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ผู้แทนด่านศุลกากรแม่สาย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ผู้แทนคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น และหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือ และรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ในเมียนมา สถานการณ์การค้าชายแดนไทย-เมียนมา สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จังหวัดเชียงราย กรอบแนวทางการหารือกับฝ่ายเมียนมา แนวทางความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือฝ่ายเมียนมา ตลอดจนแนวทางเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน

 

จากนั้นในเวลา 13.30 น. ณ โรงแรม 1G1 Hotel ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะจากฝ่ายไทย เข้าร่วมประชุมหารือกับผู้แทนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นำโดยนายอู คุน เทียน หม่อง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์รัฐฉาน พลจัตวา จ่อว์ เท็ด ผบ.ภาคสามเหลี่ยม นายอู ไซ เลต รัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติของคณะผู้บริหารรัฐฉาน และคณะ โดยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้มาติดตามสถานการณ์การค้าเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างไทย – เมียนมา โดยเริ่มต้นที่รัฐฉานซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบสินค้าที่สำคัญเข้าสู่ไทย โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ข้ามพรมแดน  และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการค้าชายแดนระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ ยินดีที่จะร่วมมือกับเมียนมา ช่วยกันแก้ไขหรือลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

 

ในการหารือครั้งนี้ ทั้งไทยและเมียนมา ต่างได้แสดงออกถึงความจริงใจและความตั้งใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ซึ่งไทยได้เสนอแนวทางการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานรัฐ โดยมีกรมการค้าต่างประเทศ  สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ที่พร้อมจะทำงานร่วมกัน และพร้อมอำนวยความสะดวกในการประสานงานแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว  และจะสนับสนุนข้อมูลให้ความร่วมมือทางนวัตกรรม และองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูกข้าวโพด 75 วัน ซึ่งสามารถเก็บทั้งต้นและสามารถปรับเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนการนำไปทำปุ๋ย ผลิตสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการหารือในวันนี้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกัน และรัฐฉานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยทางไทยจะได้มีการติดตามผลในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กล่าวขอบคุณฝ่ายเมียนมา ที่มีความจริงใจและมีความตั้งใจในการร่วมกันแก้ไขปัญหาทางการค้า ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จากประเด็นการสร้างผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Carbon Footprint และอื่น ๆ  ซึ่งการประชุมวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จได้รับความร่วมมือและร่วมแก้ปัญหาไปได้ในระยะยาว
โดยพื้นที่ทำการเกษตรของเมียนมา มีทั้งหมดประมาณ 80 ล้านไร่ อยู่ในรัฐฉาน ประมาณ 7.6 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 9 ของพื้นที่ทำการเกษตรของเมียนมา ทั้งนี้เป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 ล้านไร่ หรือคิดเป็น ร้อยละ 40 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของรัฐฉาน สำหรับสถานการณ์การค้าชายแดนไทย- เมียนมา นั้น ในปี 2567 (ม.ค. – พ.ค.) ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมปริมาณ 1.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 (นำเข้า 0.77 ล้านตัน) โดยนำเข้าจากเมียนมา เป็นอันดับหนึ่ง ปริมาณ 0.91 ล้านตัน (ร้อยละ 82.80) รองลงมาได้แก่ สปป. ลาว 0.18 ล้านตัน (ร้อยละ 16.84) และกัมพูชา 0.004 ล้านตัน (ร้อยละ 0.37) ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่จะส่งออกทางบกผ่านด่านเมียวดี-แม่สอด จังหวัดตาก

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

Bank of China เด้งรับธุรกิจไทย เข้าตลาดจีน กระตุ้นลงทุน 2 ประเทศ

 

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 67 เวลา 13:30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเร็วกว่าเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย 1 ชั่วโมง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับนายเก๋อ ไห่เจียว ประธานธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) ณ สำนักงานใหญ่ธนาคารแห่งประเทศจีน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในห้วงการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ

 

นายเก๋อ กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีและคณะ พร้อมทั้งขอบคุณรัฐบาลไทยและกระทรวง ที่เชื่อมั่นและสนับสนุนกันมา คนจีนจำนวนมากมีความทรงจำและความคำนึงถึงประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และส่วนตัวมีประสบการณ์ทำงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทยมาหลายปี ความสัมพันธ์ทวิภาคีคืบหน้าเป็นอย่างมาก
นายเก๋อ กล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศจีนว่า เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในจีน และดำเนินการรอบโลกมากที่สุด เราเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และดำเนินการใน 64 ประเทศทั่วโลก ซึ่งธนาคารต้องการสร้างความเข้มแข็ง เสริมความร่วมมือให้บริษัทจีนลงทุนในไทย และบริษัทไทยดำเนินการในจีนและประเทศที่สามได้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างยานยนต์พลังงานสะอาด
 
 
นอกจากนี้ นายเก๋อ ยังกล่าวถึงการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น และอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ใช้จ่ายในจีนได้ เพื่อยกระดับความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐานในจีน ตลอดจนช่วยบรรษัทข้ามชาติ สามารถเข้าถึงตลาดทุนจีนได้ เพราะจีนมีทรัพยากร และยินดีให้ไทยเข้าถึงตลาดทุนจีน
 
 
ด้านนายมาริษ กล่าวตอบรับว่า ครั้งนี้ถือเป็นการมาเยือนครั้งแรกในจีน และมีโอกาสหารือบุคคลสำคัญ 3 คนของจีน สอดคล้องกับความร่วมมือในประเทศด้วย ซึ่งภายหลังจากการพบหารือนั้น นายมาริษ ยังโพสต์ข้อความผ่านบัญชีผู้ใช้เอ็กซ์ @AmpPoohMaris ว่า อีกเป้าหมายหนึ่งที่วางไว้คือการช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจกับธุรกิจ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ จึงได้พบหารือกับ นายเก๋อ ไห่เจียว ประธานธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) ซึ่งเป็นธนาคารจีนแห่งแรกที่มาเปิดสำนักงานใหญ่ในไทย จึงขอให้ทาง Bank of China แนะนำนักลงทุนจีนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่ เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนหลักของรถไฟฟ้า EV เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงานหมุนเวียน ที่สนใจลงทุนในไทย เข้ามาร่วมรับฟังมาตรการดึงดูดการลงทุนใหม่ของ BOI ที่งานโรดโชว์ที่จะจัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง ช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งธนาคารฯ ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยพร้อมที่จะช่วยธุรกิจไทยในการเข้าตลาดทุนจีน พร้อมแนะนำธุรกิจจีนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารฯ อยู่แล้วให้ลงทุนในเศรษฐกิจไทยได้
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

ไทย-จีน-ลาว-พม่า-กัมพูชา-เวียดนาม 6 ประเทศ แม่น้ำโขง ปราบยาเสพติด

 

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือปราบปรามยาเสพติดในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ซึ่งได้เชิญทางป.ป.ส.ประเทศไทย เข้าร่วม พร้อมกับผู้แทน ประเทศจีน เมียนมา เวียดนาม และ ประเทศกัมพูชา

 

พลตรี คำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดประชุม
โดยการจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อแสดงความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติดสากล 26 มิถุนายน 2567 และเป็นการกระชับมิตรภาพ ความสามัคคี และความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ
 
 
พลตรี คำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง กล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 ที่นครเวียงจันทน์ สปป. ลาว และ มีคณะผู้แทนของเราเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหายาเสพติดถือเป็นอันตรายร้ายแรงและได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางจากเมืองสู่ชนบทในระดับต่างๆ
 
 
จนเป็นสาเหตุของเกิดปัญหาความยากจนและอาชญากรรมประเภทต่างๆ ในสังคม จำนวนคดียาเสพติด นักโทษ ผู้ติดยา รวมทั้งจำนวนยาเสพติดแต่ละประเภทมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้าย ขนส่ง ค้าขาย และผลิตยามีลักษณะเป็นเครือข่ายมีวิธีการหลายรูปแบบที่ซับซ้อน
 
 
“สปป.ลาวและประเทศที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำของเราได้รับผลกระทบโดยตรงและเผชิญกับปัญหายาเสพติด ปัจจุบันยาเสพติดมีผลกระทบร้ายแรงต่อทุกเพศทุกวัยและทุกชนชั้นทั่วทั้งสังคม ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา ผู้ค้า คนงาน คนว่างงาน ไปจนถึงข้าราชการจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์ที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมถดถอย ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสังคม” พลตรี คำกิ่ง กล่าว
 
 
หลังจากนั้นที่ประชุมได้ให้ผู้แทนทั้ง 6 ประเทศ ได้กล่าวถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพคิดของตนเอง และจะได้รวบรวมข้อมูลของแต่ล่ะประเทศเพื่อนำไปสู่การร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

มกอช.เจรจาญี่ปุ่นขอยกเลิก การจำกัดสาย พันธุ์ส้มโอ-มะม่วงไทย

 

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.67 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานฝ่ายไทย ในการเจรจาด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมการข้าว และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนระดับสูงของญี่ปุ่นจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (MHLW) สำนักงานกิจการผู้บริโภค (CAA) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ในการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ครั้งที่ 14

 

นายพิศาล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเจรจาขอให้ญี่ปุ่นยกเลิกการจำกัดสายพันธุ์ส้มโอของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2562 โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้แจ้งยอมรับข้อมูลทางวิชาการและผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และได้แจ้งยืนยันกรอบเวลาการดำเนินงานเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นตกลงที่จะเร่งจัดทำเงื่อนไขการนำเข้าส้มโอทุกสายพันธุ์ของไทยไปยังญี่ปุ่นด้วยวิธีการอบไอน้ำเพื่อเสนอให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณา พร้อมแจ้งว่าจะเร่งกระบวนการในลำดับถัดไปในการหาข้อสรุปร่วมกันต่อเงื่อนไขการส่งออกและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของฝ่ายญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การประกาศอนุญาตนำเข้าส้มโอทุกสายพันธุ์จากประเทศไทยต่อไป
 
 
ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยยังใช้แนวทางเดียวกันในการเจรจาเพื่อขอส่งออกมะม่วงไปยังญี่ปุ่นโดยไม่จำกัดสายพันธุ์ จากเงื่อนไขเดิมที่ส่งออกได้เพียง 7 สายพันธุ์ ได้แก่ เขียวเสวย โชคอนันต์ หนังกลางวัน น้ำดอกไม้ พิมเสนแดง แรด และมหาชนการ โดยฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันว่าจะเริ่มพิจารณาข้อมูลมะม่วงของไทยทันทีหลังจากที่พิจารณาเงื่อนไขของส้มโอเสร็จสิ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือหารือกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของทั้งสองประเทศ และผลักดันการเปิดตลาดร่วมกัน อาทิ มะม่วงของไทย ส้มของญี่ปุ่น โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงความขอบคุณฝ่ายไทยเช่นเดียวกันที่จะเร่งพิจารณาเงื่อนไขอนุญาตนำเข้าส้มสายพันธุ์ยูสุและคัมควอทของญี่ปุ่นเพิ่มเติมไปพร้อมกัน
 
 
ทั้งนี้ การประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบ JTEPA ยังครอบคลุมการหารือโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ซึ่งครั้งนี้ MAFF และ MHLW ได้ตกลงที่จะดำเนินความร่วมมือและประสานงานกับฝ่ายไทยต่อไปในทั้ง 5 โครงการที่ฝ่ายไทยเสนอ ได้แก่ มาตรการควบคุมการนำเข้าและการเรียกคืนสินค้าเกษตรและอาหาร การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์นม การวิจัยและควบคุมคุณภาพวัคซีนสำหรับสัตว์ และการควบคุมกำกับเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร โดยจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของไทยและและผูกความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
 
 
ผลสัมฤทธิ์ของการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า ที่จะนำไปสู่การขยายการส่งออกส้มโอไทยไปสู่ญี่ปุ่น และสร้างโอกาสทางการค้าของผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนส้มโอของไทย โดย มกอช. และกรมวิชาการเกษตรพร้อมจะผนึกกำลัง ผลักดันและดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับญี่ปุ่นในเรื่องนี้ ให้ประเทศไทยสามารถส่งออกส้มโอทุกสายพันธุ์ไปยังญี่ปุ่นได้โดยเร็วที่สุด
“มกอช. มีความพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของไทยทุกภาคส่วน เพื่อเป็นทีมไทยในการเจรจาผลักดันให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยสามารถขยายการส่งออก มีความสามารถในการแข่งขัน และได้รับการยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI WORLD PULSE

ไทย – เมียนมา หารือการติดตั้ง เครื่องเตือนภัยน้ำท่วมจากลำน้ำสาย

 
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 67 พันเอก ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก / ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ไทย–เมียนมา หรือ TBC ฝ่ายไทย พร้อมคณะเดินทางไปพบปะ กับพันโท อ่องลินอู ผู้บังคับกองพันเคลื่อนที่เร็วที่ 133 / ประธาน TBC ฝ่ายเมียนมา และคณะบริเวณกลางสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย จากนั้นประธาน TBC ของทั้ง 2 ชาติ ได้ร่วมกันเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น เมียนมา-ไทย ครั้งที่ 99 (TBC – 99) โดยฝ่ายเมียนมาเป็นเจ้าภาพ ณ โรงแรมวันจีวัน (1G1) จ.ท่าขี้เหล็ก
 
โดยการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการ TBC ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ประสานความร่วมมือและสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อขจัดเงื่อนไขและปัญหาต่างๆ อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย โดยในวันนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือทั้งการแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน และการขอความร่วมมือต่างๆ เช่น การช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในเมียนมา การติดตั้งเครื่องเตือนภัยน้ำท่วมเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ การแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณด่านพรมแดน รวมถึงงานด้านความมั่นคงและด้านอื่นๆ 
 
สำหรับในส่วนของบางปัญหาที่อยู่เหนือกว่าอำนาจที่ TBC จะตัดสินใจได้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้นำเรียนหน่วยเหนือเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
 
แม่น้ำสายซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย และเป็นเส้นแบ่งแดนระหว่างไทย-พม่า แม่น้ำสาย เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีชื่อเดิมว่าแม่น้ำใส ต่อมาก็กลายมาเป็นแม่น้ำสายในปัจจุบัน แม่น้ำสายแห่งนี้เป็นแม่น้ำที่เป็นพรมแดนทางธรรมชาติที่กั้นระหว่างไทยกับพม่า ต้นน้ำของแม่น้ำสายอยู่ที่ประเทศพม่าหลังจากนั้นก็ใหลผ่านประเทศไทยแถวท่าขี้เหล็กแล้วก็ไปรวมกับแม่น้ำรวกภายในอำเภอ แม่น้ำหลังจากนั้นก็ใหลผ่านแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE WORLD PULSE

การค้นพบโบราณวัตถุสำคัญ จากดอนเผิ้งคำ เมืองต้นผึ้ง ส.ป.ป.ลาว

 
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเพจภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โพสต์ข้อมมูลเกี่ยวกับการค้นพบกลุ่มโบราณวัตถุจากดอนเผิ้งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาว ได้รับความสนใจจากผู้ที่สนใจทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขนาดใหญ่ที่สร้างกระแสในหมู่ผู้สนใจจำนวนมาก โดยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความเห็นจากการพิจารณาหลักฐานดังกล่าวผ่านข้อมูลสื่อโซเชียลว่า เบื้องต้นในภาพรวมของกลุ่มพระพุทธรูปเป็นศิลปะล้านนาสกุลช่างเชียงแสน แบ่งเป็น 2 กลุ่มอย่างกว้างๆ คือ:
  1. กลุ่มที่มีพระพักตร์กลม พระวรกายอวบอ้วน กำหนดอายุได้ในต้นพุทธศตวรรษที่ 21
  2. กลุ่มที่พระพักตร์ออกเสี้ยมยาว พระวรกายเริ่มแข็งกระด้าง มีอายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งกลุ่มหลังนี้อาจมีอิทธิพลต่อศิลปะล้านช้างต่อไปด้วย

พระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสนพบแพร่หลายในเขตเชียงแสน เชียงของ และชุมชนในลุ่มแม่น้ำอิง สำหรับพระพุทธรูปที่ค้นพบเมื่อเดือนมีนาคม 2567 นั้น จากรูปแบบและบริบทร่วมแล้วเป็นหลักฐานชั้นต้น ซึ่งอาจเกิดจากการพังทลายของวัดด้วยการกัดเซาะของแม่น้ำโขงและถูกทับถมในชั้นทรายไว้

 

พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่พบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 นั้น พุทธศิลป์ดูเป็นพระพุทธรูปล้านนาในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ส่วนฐานมีรูปแบบที่น่าสงสัยเพราะเป็นการประดับเสาอิงเรียงเป็นแถว ไม่เคยพบในระเบียบของพระพุทธรูปล้านนาหรือล้านช้างมาก่อน อาจเป็นไปได้ว่าถูกเคลื่อนย้ายมาจากแห่งอื่น รัศมีที่หล่อแยกชิ้นกับองค์พระดูเป็นโลหะที่ต่างสีกันชัดเจน

 

แหล่งที่พบนี้อาจเป็นวัดที่มีการใช้งานในพุทธศตวรรษที่ 21 เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 22-23 เนื่องจากพบหลักฐานที่มีรูปแบบศิลปกรรมหลายสมัย เช่น เสาวิหารที่มีปูนปั้นประดับลวดลายมีเค้าของศิลปะพม่า และจารึกที่พบล่าสุดซึ่งมีผู้ปริวรรตอ่านได้ศักราชตรงกับช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 แสดงว่าแม้เมืองเชียงแสนตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าหรือทิ้งร้างไปแล้ว ชุมชนทางฝั่งดินแดนประเทศลาวยังมีการอยู่อาศัยกันสืบมา โดยความสัมพันธ์นี้น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเมืองเชียงแสนและเมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมล้านนาที่ปัจจุบันอยู่ริมแม่น้ำโขงฝั่ง ส.ป.ป.ลาว ห่างลงไปราว 10 กิโลเมตร

 

น่าสังเกตว่าการค้นพบกลุ่มพระพุทธรูปสำคัญนี้ เป็นการดำเนินการขุดหาโดยไม่มีกระบวนการทางโบราณคดีมารองรับ ทำให้ขาดบริบทในการวิเคราะห์ตีความไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ / Art and culture of Laos / ขัตติยะบารมี ขัตติยะบารมี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY WORLD PULSE

ไทยเสียอันดับตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ ของอาเซียนให้ประเทศมาเลเซีย

 
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2024 นิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า มาเลเซียแซงหน้าไทยขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิภาคซึ่งได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในทวีปเอเชียใช้ห้ำหั่นกัน 

 

นิกเคอิเอเชียรวบรวมข้อมูลยอดขายที่เผยแพร่โดยกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่ายอดขายรถยนต์ในมาเลเซียซึ่งก่อนหน้านี้ครองอันดับ 3 ของอาเซียนมายาวนาน ได้แซงหน้ายอดขายในประเทศไทยแล้ว 3 ไตรมาสติดต่อกัน นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 

 

จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย (Malaysian Automotive Association) ยอดขายรถยนต์ในมาเลเซียในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 202,245 คัน เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) หลังจากที่มีทำยอดขายรวมในปี 2023 ได้ 799,731 คัน เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้าการยกเว้นภาษีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเลเซีย เป็นแรงหนุนยอดขายรถยนต์ของแบรนด์ระดับชาติของมาเลเซีย อย่าง เปโรดัว (Perodua) และโปรตอน (Proton) ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันอยู่ประมาณ 60%

 

การยกเว้นภาษีรถยนต์ของมาเลเซียเริ่มต้นในปี 2020 และแม้ว่ามาตรการนี้จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางปี ​​2022 แต่ยอดจองรถยนต์ในช่วงปลอดภาษียังคงเพิ่มตัวเลขยอดขายในปี 2023 

 

“การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่น รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่เปิดตัวในราคาที่แข่งขันได้สูง ช่วยกระตุ้นยอดขาย” สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซียระบุในแถลงการณ์ 

 

ในทางตรงกันข้ามยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยซึ่งครองอันดับ 2 ของภูมิภาคมาอย่างยาวนานกลับตกต่ำลง ถึงขั้นที่ยอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง 25% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า 

 

ยอดขายรถยนต์รายเดือนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 เนื่องจากปัญหาสินเชื่อรถยนต์ที่ไม่ก่อรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์เข้มงวดขึ้น บวกกับการบริโภคที่ซบเซาลงโดยท่ัวไปอย่างไรก็ตาม สัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน อีวีจีน 

 

ส่วนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนยังขาดแรงผลักดัน ยอดขายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง 24% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคลังเลในการซื้อรถ

 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Nikkei Asia

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

‘ไทย’ เจรจา ‘จีน’ สร้างเส้นทางรถไฟ“เมืองโม่หาน” ขนส่งสินค้าเชื่อม อ.เชียงของ

 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เข้าพบนายหลี่ เสี่ยวเผง รมว.คมนาคมของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้หารือถึงภาพรวมด้านการคมนาคม ประกอบด้วย การขนส่งทางอากาศ ทางราง ทางน้ำ และทางบก พร้อมกล่าวถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เพื่อพัฒนาระบบให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยการขนส่งทางอากาศนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) ระหว่างไทย และจีน เพื่อความสะดวกต่อประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ จึงได้ขอให้รัฐบาลจีนพิจารณาถึงแนวทางการเพิ่มเวลาการบิน (slots) ระหว่างไทย-จีน ให้กับสายการบินของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวก และมีราคาที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ และคุณภาพจากประเทศจีน เข้าร่วมประมูลงานจากแผนการขยายท่าอากาศยาน ทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต เพื่อร่วมพัฒนาโครงการในประเทศไทย พร้อมกันนี้ได้หารือถึงการพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ จากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ขึ้นไปเชื่อมกับสถานีขนถ่ายสินค้าที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ริมชายแดนระหว่างไทย กับ สปป.ลาว โดยเส้นทางดังกล่าวปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยรถไฟสายนี้ จะเป็นประโยชน์กับการขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ออกสู่มหาสมุทรอินเดียได้ หากประเทศจีนพิจารณาก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากชายแดนของจีนที่เมืองโม่หาน เชื่อมต่อมาที่เชียงของ ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร (กม.) ก็จะทำให้การขนส่งสินค้าสามารถขนส่งจากจีนตอนใต้ มาที่ท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดระนองได้

 

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยมีความชื่นชมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจีน โดยเฉพาะการก่อสร้างถนนและทางด่วนของจีน ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมาก และมีมาตรฐานที่ดี โดยเฉพาะเทคนิคในการขุดเจาะอุโมงค์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนที่จังหวัดภูเก็ต จึงต้องการให้บริษัทจีนที่มีความเชี่ยวชาญในงานอุโมงค์เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว และขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีระหว่างกันในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งฝ่ายจีนยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทย ทั้งการจัดตั้งคณะทำงาน และการประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าว

 

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ในโอกาสนี้นายหลี่ เสี่ยวเผง ได้เชิญตน และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมงาน Global Sustainable Transport Forum 2024 ที่กระทรวงคมนาคมของจีนเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. 67 ด้วย ซึ่งการประชุมดังกล่าว จะมีการหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องความยั่งยืนด้านการขนส่ง ประเด็นการขนส่งสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยฝ่ายจีนจะมีหนังสือเชิญเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการต่อไป.

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News