Categories
TOP STORIES

จับเลานจ์เถื่อน อ.แม่สาย พบเจ้าของร้านเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

วันนี้ (6 ก.ค. 66) นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า ศูนย์ดำรงธรรม กรมการปกครอง (วังไชยา) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากองค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ ว่ามีสถานประกอบการชื่อ “ร้านโอโซน และร้านสละโสด” ตั้งอยู่พื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้เปิดให้บริการในลักษณะเป็นสถานบริการ และมีการรับพนักงานหญิงซึ่งเป็นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งสัญชาติไทยรวมถึงต่างด้าว เข้าทำงานภายในร้าน และอาจมีพฤติการณ์เข้าข่ายการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ทั้งมีการจำหน่ายยาเสพติดภายในร้าน และมีพนักงานเด็กสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีพฤติกรรมเสพยาเสพติดและชักชวนลูกค้าเสพยาเสพติด

 

ตนจึงได้บูรณาการร่วมกับนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ได้สนธิกำลังร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงราย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ภาค 5 และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย เข้าตรวจสอบสถานประกอบการ ชื่อร้านโอโซน และร้านสละโสด อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และวางแผนตรวจสอบจับกุม โดยพบว่า สถานประกอบการ “ร้านโอโซน” และ “ร้านสละโสด” ทั้งสองร้านลักลอบให้บริการในรูปแบบสถานบริการ โดยไม่มีใบอนุญาต เปิดให้บริการจนถึงเวลาเช้าของทุกวัน มีการจำหน่ายสุราเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด มีพฤติการณ์จ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งสัญชาติไทยและต่างด้าว มาปรนเปรอปรนนิบัติลูกค้าในลักษณะที่อาจเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่นจากเด็ก และยังพบร่องรอยการเสพยาเสพติดภายในร้าน” นายแมนรัตน์ฯ กล่าาว

 

นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวต่ออีกว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจปัสสาวะของนักเที่ยวและพนักงานร้าน พบสารเสพติด ทั้งหมด 9 ราย เป็นนักเที่ยว 5 ราย เป็นพนักงานร้าน 4 ราย นอกจากนี้ ยังพบนักเที่ยวอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 2 คน คือ เด็กอายุ 17 ปี และ 18 ปี ตามลำดับ รวมทั้งได้ทำการช่วยเหลือบุคคลซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นพนักงานหญิงของทางร้าน ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 6 คน โดยพบคนที่มีอายุต่ำสุดเพียง 15 ปี จึงได้นำเข้าสู่กระบวนการตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ National Referral Mechanism (NRM) สัมภาษณ์เพื่อคัดกรอง และคัดแยก โดยสหวิชาชีพ และเตรียมนำตัวส่งเข้าบ้านพักเด็กฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ จากการตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ต่อไป

 

“ต่อมา นายเอกชัย ปันแปง อายุ 42 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย ได้มาแสดงตัวเป็นเจ้าของร้านทั้งสองแห่ง และได้ขอมอบตัว ต่อเจ้าพนักงานชุดจับกุม ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย โดยชุดจับกุมได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้จัดการร้านฐานความผิด 1) ตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต 2) จำหน่ายสุราเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด 3) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร 4) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็ก แสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร 5) จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานระหว่างเวลา 22.00 น. – 06.00 น. และ 6) เป็นนายจ้างที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นลูกจ้างโดยไม่แจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงาน นอกจากนี้ หากผลการคัดแยกของสหวิชาชีพพบว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีเพิ่มเติมต่อไป และพนักงานฝ่ายปกครองชุดจับกุม จะได้ประสานที่ทำการปกครองอำเภอแม่สายเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีคำสั่งปิด ร้านโอโซน และร้านสละโสด มีกำหนด 5 ปี ตามคำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 ต่อไป” นายแมนรัตน์ฯ กล่าว

 

นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติการในครั้งนี้นับว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างยิ่ง และที่สำคัญ คือ ผู้ที่แสดงตัวเป็นผู้จัดการร้านมีตำแหน่งหน้าที่เป็นถึง “ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน” ซึ่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านในการตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน รวมทั้งป้องกันการกระทำความผิดหรือเหตุร้ายในพื้นที่ แต่กลับมาเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ซึ่งการกระทำความผิดในครั้งนี้ นอกจากเป็นความผิดทางอาญาแล้ว กรมการปกครองจะได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเป็นความผิดทางวินัยและเข้าข่ายการขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ช่วยใหญ่บ้าน ก็จะสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป นอกจากนี้ยังกำชับให้นายอำเภอทุกอำเภอทั่วประเทศได้เข้มงวดกวดขันและตรวจสอบพฤติกรรมของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนกลไกของกรมการปกครองทุกส่วน หากพบเข้าข่ายการกระทำความผิด ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ไม่มีละเว้น

 

ด้าน นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย จะได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงรายร่วมกับที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงรายและที่ทำการปกครองอำเภอทุกอำเภอ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาต ตลอดจนตรวจตราการเปิดให้บริการของสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการทุกแห่ง หากพบการกระทำความผิด จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และหากพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายพบเห็นการกระทำผิดลักษณะนี้ สามารถแจ้งผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อธิบดีกรมการปกครอง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย เปิด 4 ข้อ “วันนอร์” นั่งประธานสภา

 
 
วันที่ 3 ก.ค. 2566 หลังการรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เสร็จสิ้น พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวร่วมกันเวลา 19.00 น. ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ ล่าสุดทั้งสองพรรรได้มีข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เรื่อง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบเสนอชื่อ วันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ
 
ข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เรื่อง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามที่พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ได้ประชุมหารือร่วมกันกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมอบหมายให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไปเจรจาตกลงร่วมกันนั้น บัดนี้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้ 
 
1.เสนอชื่อ นาย วันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 โดยพรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้ 
 
2.บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมผลักดันวาระที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน 
 
3.ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุน นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลง MOU ที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 
 
4.พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่าข้อตกลงเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศ ตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 3 กรกฎาคม 2566
 
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

“ข้าวหมกไก่” และ “ไก่ย่าง” ติดอันดับ 1 ใน 50 อาหารเมนูไก่ที่ดีที่สุดในโลก

 
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับผลการจัดอันดับอาหารเมนูไก่ จากเว็บไซต์ TasteAtlas เว็บไซต์อาหารชื่อดัง ที่จัดอันดับความอร่อยของอาหารหลากหลายจากทั่วโลก ในการจัดอันดับ 50 Best Rated CHICKEN DISHES in the World หรือ เมนูอาหารประเภทไก่ที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งผลการจัดอันดับเมนูไก่จากประเทศไทย ติด 1 ใน 50 อาหารเมนูไก่ที่ดีที่สุดในโลกถึง 2 รายการ ได้แก่ ข้าวหมกไก่ (อันดับที่ 38) และไก่ย่าง (อันดับที่ 46) (https://www.tasteatlas.com/50-best-rated-chicken-dishes-in-the-world)
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมนูข้าวหมกไก่ ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 38 ด้วยคะแนน 4.3 คะแนน โดยเว็บไซต์ TasteAtlas ระบุว่า เมนูนี้ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยมุสลิม เป็นเมนูฮาลาล ที่พ่อค้าเปอร์เซียได้แนะนำสู่คนไทยเมื่อศตวรรษที่ผ่านมา โดยเมนูนี้เป็นข้าวหมกไก่เวอร์ชั่นไทย และถูกกล่าวถึงครั้งแรกในบทประพันธ์ของไทย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 
 
สำหรับ เมนูไก่ย่าง ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 46 ด้วยคะแนน 4.2 คะแนน ทางเว็บไซต์ระบุว่า ไก่ย่างได้รับความนิยมรับประทานจากคนไทยทั่วประเทศ แม้ว่าจะมีต้นกำเนิดมาจากชาวลาวในภาคอีสานของไทยก็ตาม ปกติจะทานคู่กับข้าวเหนียว น้ำจิ้ม รวมถึงส้มตำ ที่หาทานได้ง่าย โดยไก่ย่างจะมีความแตกต่างจากไก่อื่น คือ กรรมวิธีการหมักไก่นั่นเอง ทั้งนี้ ในประเทศไทยจะหาเมนูไก่ย่างได้ตามร้านอาหารข้างทางทั่วประเทศไทย 
 
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมและเชื่อมั่นในอาหารไทยซึ่งได้รับการจัดอันดับอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงเอกลักษณ์ ความโดดเด่นทางวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย และมีรสชาติที่กลมกล่อม พิถีถันในการเลือกวัตถุดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ทรงคุณค่ามีโภชนาการ เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยว สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : TasteAtlas

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

มิจฉาชีพแอบอ้างส่วนราชการชำระค่าปรับใบสั่งจราจรปลอม

 

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้บริการของภาครัฐสะดวก รวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎหมายผลักดันรัฐบาลดิจิทัล พร้อมจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนมอบหมายให้หน่วยงานรัฐพัฒนาแอปฯ และบริการออนไลน์จำนวนมากเพื่อพัฒนาภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งนี้ หน่วยงานราชการหลาย ๆ หน่วยงานได้สานต่อนโยบาย พัฒนารูปแบบการให้บริการแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ทำให้มีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นส่วนราชการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ โดยเฉพาะการแอบอ้างเรื่องการชำระค่าปรับต่าง ๆ  

นางสาวรัชดา กล่าวว่า เพื่อให้รู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะวิธีสังเกตใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดส่งทางไปรษณีย์ไปยังเจ้าของรถถึงบ้าน ว่าฉบับไหนเป็นของจริง-ของปลอม ซึ่งการออกใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรก จะมีรูปถ่ายรถ หมายเลขทะเบียนรถ และข้อหากระทำความผิดครบ หากไม่จ่ายค่าปรับใน 7 วัน จะมีใบเตือน ส่วนการออกครั้งที่สองนั้น เป็นใบเตือนให้ชำระค่าปรับใบสั่ง ซึ่งในเอกสารครั้งที่สองนี้ จะไม่มีรูปถ่ายรถประกอบ แต่จะมีแค่ QR code บอกวิธีการชำระเงิน และมีลายเซ็นนายตำรวจระดับสารวัตรขึ้นไปเซ็นประกอบ ยืนยันว่าเป็นเอกสารทางราชการจริง 

“การออกใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีการลงระบบ PTM ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน ผู้ได้รับใบสั่งจราจรสามารถตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นใบสั่งจริง โดยนำเลขที่ใบสั่ง ไปตรวจสอบได้ที่ https://ptm.police.go.th/eTicket ส่วนจุดสังเกตที่สำคัญ คือ บัญชีธนาคารปลายทางที่จะรับเงิน ต้องเป็นบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ – ค่าปรับจราจร” เท่านั้น ( ถ้าเป็นชื่อบัญชีส่วนบุคคลให้สงสัยว่าเป็นใบสั่งปลอม ) ขอให้ประชาชนผู้ที่ได้รับสั่ง ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อเสียค่าปรับ จะได้ไม่หลงกลของมิจฉาชีพ” นางสาวรัชดา ย้ำ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

กรมศุลกากรชี้แจง จับทุเรียนลักลอบนำเข้า 8,420 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

 

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีการนำทุเรียนลักลอบนำเข้าจากแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจค้นจับกุม โดยสายลับจะเป็นผู้นำชี้ให้ทำการตรวจค้นด้วยตนเอง จนกระทั่งเวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่ารถบรรทุกที่ขนทุเรียนลักลอบได้ออกจากพื้นที่แนวชายแดนแล้ว มุ่งหน้าไปทางถนนหมายเลข 317 เจ้าหน้าที่จึงลงพื้นที่บริเวณที่สายลับแจ้ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 09.45 น. ได้พบรถบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีขาว หมายเลขทะเบียน 68-2537 กทม. มีผ้าใบคลุมทับ ตามที่ได้รับแจ้งที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์ ต.วังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว เจ้าหน้าที่จึงให้สัญญาณหยุดรถเพื่อขอทำการตรวจค้น และได้พบคนขับรถ เจ้าหน้าที่ได้แสดงตนพร้อมแจ้งเหตุแห่งความสงสัยให้ทราบ

 

ผลการตรวจค้นพบทุเรียนสดบรรจุอยู่ภายในกระบะบรรทุก เจ้าหน้าที่ได้สอบถามคนขับรถถึงที่มาซึ่งของที่ตรวจพบ และได้รับคำชี้แจงว่าตนเป็นคนขับรถรับจ้าง โดยได้รับการว่าจ้างให้นำรถบรรทุกมารับทุเรียน น้ำหนัก 8,420 กิโลกรัม ที่บริเวณหลังวัดเขาน้อย ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อไปถึงสถานที่ดังกล่าวมีชาวกัมพูชาเป็นผู้ขนถ่ายทุเรียนขึ้นรถให้ ซึ่งผู้ว่าจ้างได้สั่งให้นำทุเรียนไปส่งที่ล้งใน จ.จันทบุรี โดยได้รับจ้าง 6,000 บาท โดยไม่มีเอกสารการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตนจะติดต่อผู้ว่าจ้างให้มาพบเจ้าหน้าที่ต่อไป เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้คนขับรถทราบ และนำของกลางพร้อมคนขับรถ และรถบรรทุกคันดังกล่าวส่งด่านฯ อรัญประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

 

ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. ในวันเดียวกันเจ้าของสินค้าได้มาพบเจ้าหน้าที่ โดยแสดงตนเป็นเจ้าของทุเรียนที่ตรวจพบ และได้ให้การรับสารภาพว่าตนได้รับซื้อทุเรียนมาจากชาวกัมพูชาโดยทราบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยเจ้าของสินค้าให้การรับสารภาพตลอด ข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเจ้าของสินค้าส่งงานคดี ด่านศุลกากรอรัญประเทศเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

ส่วนประเด็นเรื่องทุเรียนรับซื้อมาจากจังหวัดศรีสะเกษ กรมศุลกากรได้ตรวจสอบเส้นทางของรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว พบว่าในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 รถยนต์คันดังกล่าวมิได้มีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษแต่ได้มีการใช้รถอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและสระแก้วเท่านั้น

 

สำหรับในกรณีทำการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้เข้าจับกุมโดยสุภาพ มิได้มีการขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด และเจ้าของสินค้าก็มาแสดงตนยอมรับด้วยตนเอง และได้มีการบันทึกคำให้การโดยสมัครใจตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ ซึ่งภายหลังจากที่เป็นข่าว ผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าของทุเรียนได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภอ.คลองลึก โดยมิได้โต้แย้งการจับกุม หรือการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางเท่านั้น

 

กรมศุลกากรยังคงดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตภายในประเทศ และเป็นการป้องกันการสวมสิทธิผลไม้ไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการที่สุจริต ต่อไป

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมศุลกากร

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

สธ. ห่วงไข้เลือดออกเพิ่มสูง เตือนเด็กและผู้ใหญ่ เป็นรีบไปพบแพทย์

 

 กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสถานการณ์ไข้เลือดออกปีนี้พบผู้ป่วยสูงขึ้น เตือนประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หากมีไข้ ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก และตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด 19 ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้เลือดออก และรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเสียชีวิต โดยข้อมูลล่าสุด 1 มกราคม – 14 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 21,457 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 3.3 เท่า กลุ่มอายุ 5-14 ปี มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 96.63 และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย


          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 21,457 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่มีผู้ป่วย 6,488 ราย พบว่ามากกว่าถึง 3.3 เท่า และมีผู้เสียชีวิต 19 ราย ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี มากสุด จำนวน 7,331 ราย และเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 96.63 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน จึงต้องช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีเศษขยะ เช่น กล่องโฟม พลาสติกเหลือใช้ ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคไข้เลือดออก


          นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า โรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดกระบอกตา บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขน ขา ลําตัว มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน หรือประจำเดือนมากผิดปกติ ดังนั้นในช่วงนี้ หากป่วยมีไข้สูง แต่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไอ หรือน้ำมูก และตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน และผู้สูงอายุ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้เลือดออก ห้ามรับประทานยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิต ส่วนเด็กๆ ที่ยังไม่สามารถบอกอาการของตนเองได้ ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการใกล้ชิด หากรับประทานยาลดไข้ 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค  1422

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

‘พรรคก้าวไกล’ โพสต์แสดงจุดยืน เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา

 

เฟซบุ๊ค ‘พรรคก้าวไกล’ โพสต์แสดงจุดยืน “การเดินหน้าสู่ทางออก เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กรณีของหยก ทางบุคลากรของพรรคนำโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ณัฐวุฒิ บัวประทุม, ปารมี ไวจงเจริญ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้พยายามพูดคุย และประสานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจข้อเท็จจริง และหาทางออก

ทางพรรคก้าวไกลมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นแค่เรื่องของหยกหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของ “หลักการ” ที่เราต้องกำหนดร่วมกันสำหรับเยาวชนทุกคนในทุกสถานการณ์ในอนาคต

พรรคก้าวไกลต้องการหาทางออกโดยยึด 2 เป้าหมาย

เป้าหมายที่ 1 คือ เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา ไม่ว่าสถานะของผู้ปกครองเป็นอย่างไร

หนึ่งใน ‘ภารกิจหลัก’ ของระบบการศึกษา คือการตรึงไม่ให้เด็กหรือเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ว่าจากปัญหาความไม่พร้อมทางด้านสัญชาติ ฐานะทางบ้าน ความพร้อมของครอบครัว ฯลฯ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและโรงเรียนควรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการแก้ไขปัญหา ขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด หรือหากแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ อย่างน้อย ก็ควรผ่อนปรนแนวทางปฏิบัติบางประการที่เสี่ยงจะทำให้นักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาโดยไม่จำเป็น และยิ่งหากเจ้าตัวมีความประสงค์ที่อยากเรียน ก็ไม่ควรมีเหตุผลใดๆ มาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งคือหลักการทั่วไปที่ควรจะเป็น

สำหรับกรณีของหยก ที่ผ่านมา เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้หยกไม่ได้รับการับรองเป็นนักเรียน คือข้อกังวลเรื่องกระบวนการมอบตัวที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีผู้ปกครอง (มารดา) หรือบุคคลที่ผู้ปกครองมอบหมายอย่างเป็นทางการ มามอบตัวนักเรียนโดยตรงที่โรงเรียน ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับหลักการเรื่องสิทธิในการศึกษาที่ยึดถือเป็นหลักใหญ่

แม้ในเชิงกฎหมาย นิยามของ “ผู้ปกครอง” ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อาจถูกตีความได้กว้างกว่าที่เป็นที่เข้าใจของโรงเรียนหรือสังคม ณ ปัจจุบัน เนื่องจากมาตรา 3 เขียนนิยาม “ผู้ปกครอง” ที่รวมถึง “บุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดูหรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย

แต่ในความเป็นจริง เป็นที่ทราบว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกปล่อยปละละเลยโดยผู้ปกครอง และไม่สามารถติดต่อได้ บางกรณีพบว่าผู้ปกครองไม่มีความพร้อมที่จะสามารถทำหน้าที่ผู้ปกครองได้อย่างเต็มที่ตามที่โรงเรียนต้องการ (เช่น การจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงการศึกษา พานักเรียนเข้ามอบตัว การร่วมทำการบ้าน การร่วมกิจกรรมโรงเรียน การร่วมเข้ารับฟังปฐมนิเทศน์) ดังนั้นโดยหลักการ การติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ ไม่ควรเป็นเหตุในการปิดกั้นให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม โดยปัจจุบันมีหลายโรงเรียนที่พยายามวางแนวทางในการรับเด็กและเยาวชนให้เข้าศึกษา แม้อาจไม่มีผู้ปกครองที่สะดวกมามอบตัวด้วยตนเอง

ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน เราควรทำความเข้าใจเพื่อคลายข้อกังวลของทุกโรงเรียน รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบที่ขัดกับหลักการนี้ (หากยังมีอยู่) เพื่อคุ้มครองสิทธิของนักเรียนทุกคนในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าสถานะของผู้ปกครองจะเป็นเช่นใด ซึ่งจะทำให้ในกรณีของหยก สถานภาพการเป็นนักเรียนของหยก ไม่ถูกปฏิเสธเพียงเพราะการขาดผู้ปกครองโดยตรง (เช่น มารดา) มารายงานตัว

เป้าหมายที่ 2 คือ เด็กและเยาวชนทุกคนปฏิบัติตามกติกาโรงเรียนที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพูดคุยและออกแบบร่วมกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับบทบาทเชิงรุกในการดูแลว่ากฎระเบียบเหล่านั้นต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

แม้เราเชื่อว่าสังคมมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีกฎระเบียบไหนที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน แต่สังคมปัจจุบันยังมีความเห็นที่แตกต่างต่อกฎระเบียบปัจจุบันที่เป็นอยู่ (เช่น ทรงผม ชุดนักเรียน) – คนที่ไม่มองว่ากฎระเบียบเหล่านี้เป็นปัญหาหรือขัดหลักสิทธิมนุษยชนจึงคาดหวังให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบ ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งตั้งคำถาม (ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน) ถึงความเหมาะสมของการมีอยู่ของกฎระเบียบดังกล่าวที่ถูกมองว่าขัดหลักสิทธินักเรียนและสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น เพื่อทำให้การทำตามกฎระเบียบและการคุ้มครองสิทธินักเรียนไม่ขัดแย้งกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการควรเร่งเปิดบทสนทนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อออกข้อกำหนดว่ามีกฎระเบียบด้านไหนบ้างที่ขัดกับหลักสิทธินักเรียนและสิทธิมนุษยชน

กฎระเบียบใดๆ ก็ตามที่มีความเห็นร่วมกันว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชน กระทรวงต้องออกข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อห้ามไม่ให้มีกฎระเบียบดังกล่าวในโรงเรียนใดก็ตาม โดยไม่ปล่อยให้เกิดการถกเถียงระหว่างนักเรียนกับโรงเรียนกันเองเพียงลำพัง

ในขณะที่กฎระเบียบอื่นๆ ก็ควรถูกออกแบบโดยโรงเรียนผ่านกระบวนการที่เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย พร้อมการดำเนินการทางวินัยสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎที่เหมาะสม ได้สัดส่วน ไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนเอง (เช่น การลงโทษต่อร่างกาย การทุบตี การสั่งยืนกลางแดด) และทั้งหมดนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะมีความเห็นต่อจุดยืนและการกระทำของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร การร่วมกันแสวงหาทางออกเพื่อเดินหน้าไปสู่ 2 เป้าหมายนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของหยกโดยคำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมของทุกฝ่าย แต่จะยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญสำหรับการรับประกันสิทธิในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพในอนาคต

เป้าหมายสูงสุดของเรา คือการไม่ทำให้ใครหลุดออกจากระบบการศึกษา และให้โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและโอบรับทุกคน”

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : พรรคก้าวไกล

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ตำรวจท่องเที่ยวปัดเอี่ยวรับส่วยทัวร์ผี-ไกด์เถื่อน ลั่นฟันไม่เลี้ยง หากตรวจพบ

 

กลุ่มมัคคุเทศก์ภาษาจีน ร่วมถกตำรวจท่องเที่ยวหาแนวทางแก้ปัญหาบริษัททัวร์ผี-ไกด์เถื่อน ก่อนยิงตรงถาม “ตำรวจท่องเที่ยว มีเรียกรับส่วยหรือไม่” ด้าน ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ลั่น หากรู้ว่าใครรับส่วย จ่อลงโทษหนัก “ไล่ออกจากตำรวจ”
พล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผู้บัญชาการบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เป็นประธานในที่ประชุมการแก้ปัญหาทัวร์ผี ,ไกด์เถื่อน และบริษัทบริษัททัวร์นอมินี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ,สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ,สมาคมผู้ประกอบการสัมพันธ์ไทยจีน ,สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ,ชมรมไกด์ภาษาอินเดีย ,ชมรมไกด์ภาษาเวียดนาม ,ชมรมไกด์ภาษาเกาหลี และชมรมไกด์ภาษาจีน โดยมีนายสายชล ชื่นชู เป็นตัวแทน ที่กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (16 มิ.ย.66)
โดยที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญคือ 1.การประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต ,2.การประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 3.การประกอบธุรกิจนำเที่ยวในลักษณะเป็นตัวแทนอำพราง ซึ่งหัวข้อเหล่านี้ทางกลุ่มมัคคุเทศก์ และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี และปัญหาเพิ่งจะเบาบางลงในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา
 
ซึ่งหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง จึงทำให้กลุ่มทุนจีนเทา และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ทำผิดกฎหมาย อาศัยจังหวะที่ตลาดการท่องเที่ยวของไทยเปิด เข้ามาก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงทำให้กลุ่มมัคคุเทศก์ และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวชาวไทย สงสัยว่าเหตุใดกลุ่มคนที่ทำผิดกฎหมายยังคงลอยนวลเต็มบ้านเต็มเมือง โดยไม่มีการปราบปรามตามยุทธวิธีที่วางไว้ก่อนที่ผู้แทนภาคเอกชนจะยิงคำถามถึง ผู้บัญชาการบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ว่า “ตำรวจท่องเที่ยวมีการเรียกรับส่วยจากผู้กระทำผิดกฎหมายเหล่านี้หรือไม่” จนทำให้ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ถึงกับตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ในยุคสมัยนี้ คงไม่มีใครทำอะไรแบบนี้ ถ้าใครไปทำแบบนี้ ก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง เพราะมีกฎระเบียบวางไว้ชัดเจนอยู่แล้ว”
 
ทั้งนี้ ผู้แทนภาคเอกชน มองว่า คำตอบที่ได้รับยังคงคลุมเครือ จึงฝากถึงผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ให้กำชับตำรวจในสังกัดเข้มงวดกวดขันในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องปรามไม่ให้กลุ่มคนที่กระทำการผิดกฎหมายเข้ามาก่อเหตุ ซึ่งเป็นการแย่งอาชีพคนไทย และความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยโดยรวม
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ข่าววงการท่องเที่ยว

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ไอทีวี ชี้แจงแล้วคำพูดที่ประชุมผู้ถือหุ้น ระบุว่า “เอกสารที่ใช้ภายใน นำไปใช้อ้างอิงไม่ได้”

 
เมื่อวันที่ 15 มิถุยน 2566 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หลังจากที่ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว 3 มิติ เปิดเผยคลิปข่าวยาวประมาณ 3 นาที ที่ถูกนำมาใช้อ้างในการร้องเรียนนายพิธิ ลิ้มเจริญรัตน์ และเป็นส่วนสำคัญที่ข่าว 3 มิติ ได้รับการติดต่อจากผู้ถือหุ้นคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยตัว 

ทำให้ทางนักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ อย่าง สฤณี อาชวานันทกุล  ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ผ่านทางเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/SarineeA ว่าการสัมภาษณ์สื่อสองเจ้า คือ คุณฐปนีย์ The Reporters และ PPTV เกี่ยวกับ “พิรุธ” หรือจุดผิดปกติในเอกสารทางการเงินของไอทีวี สรุปสั้นๆ ตามนี้นะคะ

Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล
1. งบการเงิน (รวมหมายเหตุประกอบงบ) ของทั้ง อินทัช ไอทีวี ประจำปี 2565 รวมถึงการตอบคำถามในที่ประชุมผู้ถิอหุ้นไอทีวี 26 เม.ย. 2565 ทั้งหมดให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ไอทีวีปัจจุบัน “ไม่ได้ทำสื่อ(หรือแม้แต่ธุรกิจอื่น)ใดๆ” ไม่มีสำนักงาน ไม่มีผู้บริหาร ไม่น่ามีแม้แต่พนักงานประจำด้วยซ้ำ รายได้ทั้งหมดมาจากผลตอบแทนจากการลงทุน รายจ่ายเกือบทั้งหมดคือการจ้างบริษัทแม่คืออินทัชบริหารจัดการงานต่างๆ ให้ รวมถึงใช้พื้นที่ (ระบุเป็นตำแหน่งที่ตั้งกิจการ) ด้วย
 
2. ดังนั้นการระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ในแบบ ส.บช. 3 หรือ “ใบปะหน้า” ที่นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 จึงน่าสงสัย เพราะข้อมูลในเอกสารการเงิน 2565 ทั้งหมดไม่มีตรงไหนบ่งชี้เลยว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” (แถมประธานกรรมการไอทีวีในการตอบคำถามผู้ถือหุ้น วันที่ 26 เม.ย. ก็พูดชัดว่า “ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ” ตอนนี้สถานะคือ รอคดีความสิ้นสุดแล้วค่อยคิดต่อ)
 
3. เอกสารชุดเดียวที่ดูเหมือนอธิบายว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” ก็คือ ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 (ม.ค. – มี.ค. 66) ของไอทีวี (เผยแพร่บนเว็บไซต์อินทัช กูเกิลด้วยคำว่า “งบการเงิน ไตรมาส 1 2566 ไอทีวี) ซึ่งทุกหน้าเขียนว่า DRAFT FOR INTERNAL USE — แปลว่า ยังไม่ใช่งบการเงินทางการ ในหน้าสุดท้ายของร่างเอกสารชิ้นนี้ เขียนว่า
“10. เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน
“เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
 
“จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566”
4. น่าสงสัยว่า บริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรแล้ว ไม่มีสำนักงาน พนักงาน อุปกรณ์ ฯลฯ ของตัวเอง จู่ๆ ทำไมจะลุกขั้นมา “นำเสนอการลงสื่อ” ให้กับบริษัทในเครือเดียวกัน จะเอาคนจากไหนมาให้บริการนี้? แล้วทำไมบริษัทในกลุ่มเดียวกัน (อินทัช) ซึ่งก็ลงสื่อซื้อสื่อต่างๆ เองได้มากมายอยู่แล้ว ถึงจะอยากมา “ใช้บริการ”(?) นี้ของไอทีวี ?
 
5. ธุรกรรมนี้กับบริษัทในกลุ่ม (สมมุติว่าทำจริง) แต่ไม่ได้เสนอขายให้กับคนทั่วไป ไม่มีลูกค้าจากข้างนอก จะถือว่าเป็นการทำ “ธุรกิจสื่อโฆษณา” ได้หรือไม่ ?
ฝากช่วยกันตั้งคำถามต่อนะคะ
ร่างงบการเงิน (DRAFT FOR INTERNAL USE) ไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี — https://www.intouchcompany.com/…/1Q66%20Draft%20ITV.pdf
 

และต่อมายังได้มีการโพสต์ข้อความว่าแถมอีกประเด็นนะคะ เรื่องความผิดปกติของเอกสาร ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี

1. ไอทีวีเป็นบริษัทมหาชนที่ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นนานแล้ว ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำและนำส่งงบการเงินรายไตรมาส
2. ปกติงบไตรมาสถ้านำส่งทางการ จะผ่านการสอบทานโดยผู้สอบบัญชี (ละเอียดน้อยกว่าการตรวจสอบหรือ audit งบประจำปี)
3. การจัดทำร่างงบไตรมาสที่ยังไม่ผ่านการสอบทานไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การจัดทำร่างระดับ draft for internal use (ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น) ก็ไม่ผิดปกติ เพราะร่างงบไตรมาสมีประโยชน์ในการจัดการ — สิ่งที่ผิดปกติจริงๆ ในกรณีของไอทีวี คือ มีการนำร่างงบไตรมาส draft for internal use ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น ขึ้นเผยแพร่บนเว็บบริษัทอินทัชที่คนทั่วไปสามารถกูเกิลและเข้าถึงได้ และเอกสารภายในนี้ถูกนำไปประกอบการร้องเรียนต่อ กกต.
4. หัวข้อ 10. ท้ายร่างงบไตรมาส 1 ปี 66 ชื่อหัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่า “เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน” แปลว่า ไม่ต้องไปคาดหวังความสอดคล้องระหว่างรายการนี้กับข้อมูลด้านการเงินใดๆ ในงบตัวนี้ (หรือแม้แต่งบไตรมาสเดียวกันของบริษัทแม่คืออินทัช) — แต่สังเกตความเร่งรีบจากกั้นหลังที่ไม่ตรงกับข้ออื่นๆ
5. คนที่ทำบัญชีให้ไอทีวีตลอดมาหลายปีคืออินทัช ดังนั้นอินทัชคือผู้ที่ควรชี้แจงว่ารายการ “นำเสนอการลงสื่อใหักับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน” ในข้อ 10. คือรายการอะไร ไอทีวีมีพนักงานทำหรือ? แล้วทำไมข้อความในแบบนำส่งงบปี 2565 (ส.บช3) ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ทั้งที่รายการที่เกี่ยวข้องนี้เพิ่งมาโผล่ใน “ร่าง” งบไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยในวันประชุม 26 เม.ย. ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ?
ประธานคิมห์งานเข้าอีกหลายเรื่องเลยค่ะ เอาใจช่วย
 
 
วันที่ 15 มิถุนายน 2566 ทาง ITV ออกหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น เผยบันทึกการประชุม ไม่ต้องการสื่อสารว่า “ยังประกอบกิจการสื่อ” ชี้แจ้งว่า
 

บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (“รายงานการประชุม”) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)  (“บริษัท”) ปี 2565 และงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัท บริษัทขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (“การประชุมฯ”) บริษัทได้จัดประชุม เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่าน โดยในการประชุมดังกล่าวมีทั้งหมด 9 วาระ วาระที่ 1 ถึงวาระที่ 8 เป็นวาระรายงาน/อนุมัติและพิจารณาการดำเนินการทางธุรกิจตามการค้าปกติของบริษัท ส่วนวาระที่ 9 เป็นวาระอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้มีผู้ถือหุ้นเสนอวาระเพื่อพิจารณาและอนุมัติเพิ่มเติม บริษัทจึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามในเรื่องอื่น ๆ 

ในการประชุมดังกล่าว มีคำถามที่ซ้ำซ้อนจากผู้ถือหุ้นหรือเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัท ดังนั้น การจัดทำบันทึกคำถามและคำตอบในรายงานการประชุม เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทเท่านั้น เพื่อให้มีความกระชับ และชัดเจน โดยมิได้จดบันทึกการประชุมเป็นคำต่อคำ

ทั้งนี้ การบันทึกรายงานการประชุมที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการสรุปคำตอบจากคำถามหลายข้อที่ผู้ถือหุ้นส่งเข้ามา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเรื่องสิทธิตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้น บริษัทได้บันทึกรายงานการประชุมไว้แล้วในวาระ 9 หน้า 14 ว่า

“ผลคดีเป็นจุดสำคัญที่สุด หากผลคดียังไม่ออก เป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้…”

สำหรับในส่วนที่มีการบันทึกรายงานการประชุมว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” นั้น

บริษัทไม่ได้ต้องการจะสื่อสารว่า บริษัทยังประกอบกิจการสื่ออยู่ แต่หมายถึงบริษัทยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมิได้มีการเลิกกิจการแต่อย่างใด

2.ในส่วนของแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัทประจำปี 2565 ที่บริษัทยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.นี้บริษัทขอเรียนว่า รายได้จากการประกอบธุรกิจของบริษัท ได้แสดงอยู่ในงบการเงินของบริษัท ประจำปี 2565 ซึ่งได้มีการตรวจสอบ และลงนามรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและได้ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในงบการเงินดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า รายได้ของบริษัทมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับเท่านั้น ซึ่งงบการเงินฉบับดังกล่าว บริษัทได้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.นี้ 

3.ในส่วนของงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัทที่มีการโพสต์ในเว็บไซต์ www.itv.co.th ตามที่มีข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น

 

 

บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า งบฯ ดังกล่าวเป็นเพียงร่างงบการเงินที่ใช้ภายในบริษัท และยังไม่ได้มีการสอบทานหรือตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชี จึงยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ

บริษัทขอเรียนย้ำว่า การดำเนินการประชุม การจัดทำรายงานการประชุม การนำส่งแบบนำส่งงบการเงิน งบการเงิน และการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัท เป็นการดำเนินการทางธุรกิจตามปกติและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

หลังจากได้มีหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น ทางสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ได้แสดงความเห็นว่าจดหมายชี้แจงจากไอทีวีวันนี้ค่ะ (15 มิ.ย.)

สรุปสั้นๆ คือ เขาตอบว่า
1. รายงานการประชุมไม่ได้ตั้งใจจะบันทึกคำต่อคำ ใจความสำคัญของคลิปกับในรายงานไม่ต่างกัน บริษัท “ไม่ได้ต้องการสื่อสารว่าปัจจุบันบริษัทยังทำสื่ออยู่” แต่อย่างใด 
 
2. ยืนยันว่า รายได้ของบริษัทในปี 2565 มีเพียง “ผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ” เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า แล้วทำไมแบบ ส.บช.3 (แบบนำส่งงบการเงินประจำปี) ที่แนบงบปี 2565 ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ในช่อง “สินค้าและบริการ” ในเมื่อทั้งปี 2565 ไม่มีการทำธุรกิจนี้และไม่มีรายได้จากธุรกิจนี้เลย 
 
นั่นแสดงว่า แบบ ส.บช.3 ที่บริษัทนำส่งไม่ถูกต้องอย่างแรงในสาระสำคัญ บริษัทควรขอแก้ไขกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็วค่ะ
 
3. ยืนยันว่า ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 นั้นเป็นเอกสารภายในเท่านั้น “จึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานนอกบริษัทได้” — แปลว่า เอกสารที่เรืองไกรนำไปยื่น กกต. นั้นน่าจะใช้ไม่ได้นะคะ ถ้าเป็นเอกสารชุดเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า ในเมื่อเป็นร่างเอกสารภายใน แล้วทำไมถึงเอาขึ้นเว็บบริษัทให้คนทั่วไปและนักร้องเข้าถึงได้ 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ลุ้นสำนักงบประมาณสนับสนุนขึ้นเงินเดือนพิทักษ์ป่า

 
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า จำนวน 13,419 อัตรา จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท ต่อเดือน 
 
 
หลังจากมีการปรับอัตราค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 นั้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 กรมบัญชีกลางมีหนังสือตอบกลับมาว่าอนุมัติให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 13,419 อัตรา ให้ไม่เกิน 11,000 บาท ต่อเดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ กรมอุทยานฯ เตรียมประสานสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการต่อไป
 
 
ทั้งนี้การขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่านั้น เนื่องจากสภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้อัตราค่าครองชีพสูงขึ้น และค่าตอบแทนที่กรมบัญชีกลางอนุมัติให้กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ในอัตราไม่เกิน 9,000 บาท ตั้งแต่ปี 2555 นั้น ระยะเวลาได้ล่วงเลยมา 11 ปี แล้วจึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 
 
 
เพราะภารกิจของกรมอุทยานฯ นั้น ต้องออกไปลาดตระเวนและพักแรมในพื้นที่ป่าทุรกันดารตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน มีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดแก่สุขภาพจากสัตว์มีพิษ เชื้อโรค และภัยอันตรายต่างๆ ที่มีอยู่ในป่า รวมถึงอันตรายจากผู้กระทำผิดในป่าที่มุ่งร้ายต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย
 
 
การจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เป็นราษฎรในท้องถิ่นผู้มีความรู้ความสามารถมีความชำนาญในสภาพภูมิประเทศ มีทักษะในการเดินป่าเพื่อร่วมปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรของชาติในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ รวมกว่า 73 ล้านไร่.
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News