Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

แล้วใครทำ! หลังชาว ‘ปกาเกอะญอ’ อ.เวียงป่าเป้า ถูกทำลายไร่หมุนเวียน

 

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 นายจรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ,นายศรุต ศรีจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.),นายนิราภร จะพอ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดใน และ นายถนัด จะสุ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดนอก ซึ่งเป็นตัวแทนจากชุมชนห้วยหินลาดใน ห้วยหินลาดนอก และบ้านผาเยือง ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ประมาณ 20 คน เดินทางมารวมตัวที่บริเวณสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 จ.เชียงราย เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีมีชายแต่งชุดดำพร้อมอาวุธปืนเข้าไปบุกรุกและทำลายทรัพย์สินในพื้นที่ชุมชนและไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อ 4 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา โดยมี นายธนชัย จิตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า มาพบตัวแทนและรับหนังสือ

 

นายธนชัย ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ชี้แจงว่า กรณีได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจตราในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นคำสั่งจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้ตรวจสอบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าตามโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าปี 2566 ทางสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ สังกัดกรมป่าไม้ จึงได้ทำความร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงจากดาวเทียม หากเดิมเป็นพื้นที่ป่า ดาวเทียมจะจับจุดสัญญาณได้เป็นสีเขียว หากมีการแผ้วถาง จุดสัญญาณจะเป็นสีขาว ซึ่งข้อมูลดาวเทียมจังหวัดเชียงราย พบจุดพิกัดสีขาวถึง 1,800 จุด จึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบในระดับพื้นที่ ซึ่งในการเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นไปตามการอนุญาตภายใต้มาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรณีชุมชนห้วยหินลาดใน ทางหน่วยงานมีความเช้าใจในวิถีเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชุมชนเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข้อขัดแย้งในการทำงานแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดเข้าไปกระทำพฤติกรรมดังกล่าวในชุมชน ทางส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าได้รับรายงานข้อมูลมาจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดเช่นเดียวกัน แต่จากการซักถามเบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ จึงเห็นว่าทางชุมชนอาจต้องไปแจ้งความเพื่อให้เกิดการสอบสวนจนได้ข้อยุติว่าใครคือผู้กระทำผิดจริง

 

โดยทาง ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดในและใกล้เคียง ต้องการเรียกร้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่โดยไม่แจ้งทางผู้ใหญ่บ้านและชุมชน ทำลายข้าวของในพื้นที่ทำกินของชุมชน และต้องการให้มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน ซึ่งต้องเป็นการตรวจสอบที่มีสัดส่วนชองชุมชน ท้องที่ท้องถิ่น และหน่วยงานอย่างเท่า ๆ กัน ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบกันเองภายในหน่วยงาน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในพื้นที่ทำกินเช่นนี้ และยังไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงอาจทำให้ชาวบ้านสงสัยและกังวลใจว่า หลังจากนี้หากชาวบ้านจะเข้าไปในไร่หรือพื้นที่ทำกินได้เช่นเดิมหรือไม่ ถ้ายังทำกินอยู่จะเกิดการบุกรุกและคุกคามเช่นนี้หรือไม่ จึงอยากให้ทางหน่วยงานชี้แจงและยืนยันว่าจะยังคงสามารถทำกินในพื้นที่ได้ดังเดิมที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนต่างยินดีให้ความร่วมมือกับทางหน่วยงาน เมื่อทางหน่วยงานต้องการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ทางชุมชนก็อำนวยความสะดวกโดยตลอด แต่กลับพบการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับชุมชนอื่น ๆ อีก เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบและให้เกิดมาตรการป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนภายใน 7 วัน โดยให้มีสัดส่วนของชุมชนห้วยหินลาดในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในสัดส่วนที่เท่ากัน และต้องหามาตรการเยียวยาผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ถูกทำลายทรัพย์สิน รวมถึงเยียวยาผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน และยืนยันว่าชาวบ้านจะยังสามารถทำกินอยู่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนทุกแปลงได้โดยเร่งด่วน

 

 

ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อเกตว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโดยปกติจะมีการแจ้งทางผู้ใหญ่บ้านให้ทราบวัตถุประสงค์ในการเข้ามาในพื้นที่ เจ้าของแปลงทำกินก็จะสามารถพาไปลงพื้นที่แปลงทำกินของตนเพื่อยืนยันลักษณะการทำกินได้ แต่ครั้งนี้กลับไม่มีการแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด ทางชุมชนจึงไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีการกระทำเช่นนี้ในพื้นที่

 

 

ทางทีมข่าวนครเชียงนิวส์ ได้ทำการสัมภาษณ์และค้นหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทางแหล่งข่าวได้แจ้งกับทีมข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่จำนวน 3 คน ที่แจ้งเตือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ป่า จึงเข้าไปตรวจสอบว่าพื้นที่ตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากที่ดินทํากินเดิม หรือเป็นที่บุกเบิกใหม่ เพื่อจะมาปิดในระบบ และเพื่อเช็คว่ามีการบุกรุกจริงหรือไม่

 

ช่วงประมาณ 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ได้ไปถึงในพื้นที่ และมีการตรวจสอบถ่ายภาพตามจุดพิกัด โดยได้มีไปเจอชาวบ้าน และได้เข้าไปสอบถามชาวบ้านว่าทํากินในพื้นที่นี้นานหรือยัง พอใช้เวลาตรวจสอบสักพัก หลังจากนั้นก็มีการถอนกําลัง ระหว่างนั้นได้เกิดฝนตกเจ้าหน้าที่จึงได้มีการไปแวะพักที่ศาลาที่มีแทงค์น้ำตั้งอยู่ และ ระหว่างรอฝนหยุดตก ขากลับยางล้อรถของเจ้าหน้าที่รั่วจึงค่อยๆ ขับรถกลับกันมาจนถึงชุมชนในหมู่บ้าน และในเวลาประมาณเกือบ 17.00 น. ชาวบ้านจึงขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยใบหน้าเนื่องจากตอนที่เจ้าหน้าที่ไปลงพื้นที่ได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไป จึงมีการปิดบังใบหน้าบางส่วนด้วยหน้ากากไว้เพื่อกันแดดและฝนตามปกติ หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาปะยางรถประมาณ 30 นาที ช่วงระยะเวลานั้นชาวบ้านก็เข้ามาสอบถามว่ามาทําอะไร ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการชี้แจงว่ามาตรวจสอบพื้นที่และปรึกษาเรื่องการขออนุญาตไฟฟ้า จากนั้นหลังเวลา 17.40 น. ได้ขี่รถออกมาจากหมู่บ้าน

 

และในวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ปรากฏว่ามีกระแสข่าวในโลกโซเชียลออกมาต่อว่ามีชายชุดดำบุกทำลายไร่หมุนเวียน ซึ่งก็มีแต่เจ้าหน้าที่ ที่เข้าไปก็เลยอาจจะเข้าใจได้ว่า เป็นคนเข้าไปทําลายสิ่งของ และเข้าไปหารื้อถอนทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการสอบถามเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แล้วทุกคน ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีการเข้าไปทำลายทรัพย์สินอะไรทั้งสิ้น อย่างเช่น รอยฟันถังน้ำที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าตอนนที่ขึ้นไปมีแค่ปืนกระบอกเดียวที่เป็นอาวุธประจํากายที่ใช้ไปออกลาดตระเวน และเข้าไปทํางานตามปกติไม่ได้มีการไปข่มขู่หรือทําลายข้าวของ ส่วนจุดพิกัดที่ถูกถ่ายภาพมาว่ามีการไปทำลายทรัพย์สิน ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ทราบว่าอยู่จุดนี้คือจุดไหน แต่รู้จุดเดียวคือที่มีการขับผ่านศาลาที่มีกรวยห้อยตามศาลา แต่ไม่ได้มีการเข้าไปในพื้นที่ของชุมชนแต่อย่างใด

 

และจากการสอบถามทางผู้นําชุมชน เพื่อขอหลักฐานภาพถ่าย หรือพยานบุคคลเพื่อยืนยันว่ามีใครเห็นเจ้าหน้าที่ไปทำลายข้าวของหรือไม่ ซึ่งเพราะถ้ามีการกระทำดังนั้นจริง จะต้องมีเรื่องวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทางผู้นําชุมชนก็บอกว่าเห็นเจ้าหน้าป่าไม้เข้ามา และพอเจ้าหน้าที่ออกไปก็เห็นข้าวของเสียหาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งมาว่า ถ้ามีใครไปแอบอ้างทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ไม่ทํา จะพิสูจน์ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีใครเห็นเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำ ตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว ตลอดเส้นทางที่เข้าไปก็มีการสอบถามทางกับทางชุมชน โดยได้เจอพระรูปหนึ่งจึงได้เข้าไปคุยว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบพื้นที่นะ ตอนเจอคนในชุมชนก็มีการแจ้งชื่อ ตอนเข้าไปในชุมชนก็มีชาวบ้านประมาณ 10 กว่าคนมาถามชื่อ ชาวบ้านบางคนก็ยังมาช่วยปะยางรถด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเป็นการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ทำกินเดิม และหน่วยงานก็มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะมีการดำเนินการอะไรทึ่ไม่สมควรอย่างที่กล่าวอ้าง

 

แต่ยอมรับว่าไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือเข้าไป เพราะเป็นการเข้าไปในพื้นที่เดิม ตรวจสอบและไปปิดในระบบ ซึ่งเป็นการเข้าไปลาดตระเวน เผื่อเจอคนบุกรุก แต่ด้วยความที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงคิดว่า พื้นที่เป็นพื้นที่เดิมและไม่น่าจะมีปัญหาในการเข้าไปตรวจสอบ และได้ยืนยันแล้วว่าไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว แต่หากชาวบ้านท่านใดมีข้อมูล พยาน หรือหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปทําลายทรัพย์สินสามารถส่งหลักฐานมาให้ทางหน่วยงานตรวจสอบได้เลย

 

สำหรับเหตุการณ์ชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค.67 ที่ผ่านมา มีชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่จำนวน 3 นาย มีผ้าปิดคลุมใบหน้า พร้อมอาวุธปืนยาว 1 กระบอก ได้ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเข้ามาในบริเวณชุมชน ซึ่งทางชุมชนเข้าใจว่าเป็นการเข้ามาลาดตระเวนที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวเข้าออกเป็นปกติ จนกระทั่งชาวบ้านได้เข้าไปยังบริเวณไร่หมุนเวียนแปลงดังกล่าวแล้วพบว่า ทรัพย์สินในกระท่อมในไร่หมุนเวียนถูกรื้อทำลาย รวมทั้งถังเก็บน้ำสำรองที่ใช้ดับไฟป่าก็ถูกกรีดและถูกปล่อยน้ำออกจนหมด รวมไปถึงอุปกรณ์พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในไร่หมุนเวียนตามความเชื่อของชุมชนกะเหรี่ยง “จื่อ ลอ มวา ข่อ” ที่ใช้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่จะขอให้ฟ้าฝนช่วยให้การเพาะปลูกราบรื่นนั้นถูกรื้อทำลายกระจัดกระจาย

 

 

ทั้งนี้หมู่บ้านห้วยหินลาดในถือเป็นหมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์ป่าไม้และวิถีชีวิตวัฒนธรรมปกาเกอะญออย่างเข้มแข็ง และหน่วยงานราชการหลายหน่วยได้มีการเข้ามาดูผลงานในหมู่บ้านดังกล่าว และชุมชน ผู้นำชุมชนหลายคนก็เคยได้รับรางวัลหลากหลายรางวัลที่การันตีถึงความยั่งยืนในพื้นที่ อาทิ

 

1.รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 1 ปี 2542 ประเภทชุมชน

2.“รางวัล 5 ปีแห่งความยั่งยืน” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน”) ในปี 2548

3.กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 7 ในปี 2548

4.พะตีปรีชา ศิริ (อายุ 59 ปี) ได้รับรางวัล “วีรบุรุษ รักษาป่า” Forest Hero จากการประชุมของ องค์การสหประชาชาติ เรื่องป่าไม้ ที่กรุงอิสตันบูล ในปี 2556

5.ได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบ และศึกษาแลกเปลี่ยนชุมชนต้นแบบที่ประเทศมาเลเซีย ในปี 2566

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

เคาะ 5 มาตรการต้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เน้นย้ำให้คงนโยบาย ‘ห้ามขาย – นำเข้า

 

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ประชุม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจาก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่

 

  1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้
  2. สร้างการรับรู้ภยันตราย และการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน
  3. เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
  4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
  5. ยืนยันนโยบาย และมาตรการป้องกัน และปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบาย ‘ห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า’ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชา ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญโดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นจนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณีซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช.ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ นำไปขับเคลื่อนซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช.เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ

 

“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่า มีความสำคัญ คือ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่า การสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริงจำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะ กล่าว

 

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

จังหวัดเชียงใหม่ มีคน ‘รายได้น้อย’ ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

 
ข้อมูลวิจัยของ Worldbank ระบุ แม้ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา กรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลง สามารถลดความยากจนได้ประมาณ 10% ต่อปี แต่ด้วยประเทศไทย เป็นเมืองเกษตรกรรม คนแต่ละภูมิภาคยังพึ่งพาการเกษตร เป็นแหล่งรายได้ที่พร้อมจะเผชิญปัจจัยแปรปรวน น้ำท่วม น้ำแล้ง ตลอดเวลา ราคาซื้อ-ขายพืชผล จึงขึ้นลงตามสภาพอากาศ ทำให้ “ประเทศไทย” ยังคงติดกับดักอยู่ในตำแหน่งประเทศรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานานแล้ว 
 

“คนจน” ไม่ได้ยืนอยู่บนมิติในแง่รายได้ต่ำ กำหนดด้วยปริมาณเงินในกระเป๋าต่อเดือน/ต่อปีเท่านั้น แต่จากข้อมูลวิเคราะห์ของ ระบบ TPMAP หรือ Thai People Map and Analytics Platform ซึ่งถือเป็นระบบ Big Data ของภาครัฐที่สามารถระบุได้ว่า คนจนนั้นอยู่ที่ไหน มีปัญหาในมิติอะไรบ้าง? 

พบว่าอัปเดตปี 2566 ภาพรวมคนจนของประเทศไทย (เป้าหมายที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ) มีจำนวนอยู่ที่ 655,365 คน ทั้งนี้ มาจากประชากรสำรวจ 36,130,610 คน โดยวัดจาก 5 มิติด้วยกัน และพบว่าคนจน 1 คน มีปัญหาได้มากกว่า 1 ด้าน

  1. ด้านสุขภาพ 
  2. ด้านความเป็นอยู่ 
  3. ด้านการศึกษา 
  4. ด้านรายได้ 
  5. ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ 

ยกตัวอย่าง ในเกณฑ์ด้านความเป็นอยู่ รัฐจะพิจารณาจากเงื่อนไขหลักๆ เช่น 

  • ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และบ้านมีสภาพคงทนถาวรหรือไม่
  • ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวันหรือไม่ 
  • ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 45 ลิตรต่อวันหรือไม่
  • ครัวเรือนมีการจัดการบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และถูกสุขลักษณะหรือไม่ 

ขณะในมาตรวัดด้านรายได้ ประเมินจากช่วงอายุ อาชีพ และรายได้ที่เหมาะสมทั้งรายบุคคลและระดับครัวเรือน นอกจากนี้ จำนวนคนจนยังถูกนับเข้ามาจากข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลังอีกด้วย 

เจาะความหมายของรัฐเกี่ยวกับมิติความยากจน คือ 1. จนเงิน ไม่มีเงิน ขาดเงินทุน เข้าไม่ถึงแหล่งทุน 2. จนทางสังคม ขาดสถานะทางสังคม 3. จนทางวัฒนธรรม ขาดการมีส่วนร่วม 4. จนทางการศึกษา ด้อยโอกาส และขาดความรู้ความสามารถ 5. จนทางการเมือง 6. จนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีโอกาสได้สิทธิในการใช้ประโยชน์ และ 7. จนทางจิตวิญญาณ ขาดการมีโอกาสใช้ความคิดริเริ่มใหม่ๆ 

 

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดข้อมูล “บิ๊กดาต้า” สำรวจปริมาณคนจนแบบครบวงจร ครั้งแรกของประเทศไทย นายศรัณย์ สัมฤทธ์เดชขจร ผอ.เนคเทค เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ปัจจุบันประเทศ ไทยใช้เส้นความยากจนที่เป็นทางการคือ ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 2,667 บาทต่อคน/เดือน หากมองย้อนไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาความยากจนในภาพรวมของไทยลดลงอย่างมาก จำนวนคนจนลดลงประมาณ 28 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว จากจำนวนคนจน 34.1 ล้านคน ในปี 2531 เหลือเพียง 5.8 ล้านคน ในปี 2559 สัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 65.2 เป็นเพียงร้อยละ 8.6 ในปี 2559 ทั้งนี้ การประเมินสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย สะท้อนถึงสถานการณ์ที่แท้จริงได้ จำเป็นต้องใช้ตัวชี้วัดจากหลายด้านมาประกอบกัน นอกจากคิดจากรูปแบบตัวเงินแล้วยังพิจารณาในมิติอื่นๆด้วย

 

ผอ.เนคเทคกล่าวต่อว่า จึงเป็นที่มาให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีมติเห็นชอบการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อศึกษาการพัฒนาระบบ “บิ๊กดาต้า” ของภาครัฐและมอบให้ ศสช.ร่วมกับเนคเทค พัฒนาระบบ TPMAP ซึ่งเป็นระบบบิ๊กดาต้าของภาครัฐ ในประเด็นการแก้ปัญหาความยากจนที่สามารถระบุความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ทำให้เกิดการแก้ปัญหาความยากจนได้ตรงจุดมากขึ้น เนคเทคพร้อมทีมนักวิจัยลงพื้นที่จริงสำรวจข้อมูลสัมภาษณ์ ใช้ข้อมูลการสำรวจความจำเป็นพื้นฐาน กรมพัฒนาชุมชน ที่พบว่ามีคนจนทั่วประเทศ 36,647,817 คน และจากการลงทะเบียนคนจน กระทรวงการคลัง 11 ล้านคน นำทั้งหมดมาหาค่าผู้ที่ยากจน จากการวัดผลใน 5 มิติ คือ รายได้ การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่และการเข้าถึงบริการทางภาครัฐ พบว่า มีคนจนใน 5 มิติ ทั่วประเทศ 1,032,987 คน ลดลงจากปี 2560 ที่พบ 1.3 ล้านคน ข้อมูลดังกล่าวนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการ การแก้ปัญหาตามความเหมาะสมแล้ว

 

นายสุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ นักวิจัยการวิเคราะห์ข้อมูลและการคำนวณเนคเทค กล่าวว่า ในการสำรวจข้อมูลพบว่าจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดคือ เชียงใหม่ มี 54,887 คน โดย อ.อมก๋อย มีจำนวนคนจนมากที่สุดคือ 4,441 คน ขณะที่จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดคือแม่ฮ่องสอน 22,783 คน โดย อ.ปางมะผ้า มีคนจน 3,040 คน และพื้นที่ที่มีคนจนมากที่สุดคือ ต.นาปู่ป้อม มี 933 คน จังหวัดที่มีคนจนน้อยที่สุด คือ สมุทรสงคราม มี 903 คน โดย ต.บางนางลี่ อ.อัมพวา มีคนจน 16 คน สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนของคนจนน้อยที่สุด คือหนองบัวลำภู มีคนจน 1,277 คน ทั้งนี้ สัดส่วนจะเทียบจากจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ แต่ถ้าเป็นจำนวนคนจนคือเฉลี่ยจากประชากรในจังหวัดนั้น

 

“หากแยกละเอียดลงไปตามมิติต่างๆ พบว่า มิติทางด้านสุขภาพ มีคนจน 217,080 คน มิติความเป็นอยู่มีคนจน 244,739 คน มิติการศึกษามีคนจน 378,080 คน มิติรายได้คือรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2,067 บาท 376,091 คน ในมิติเข้าถึงบริการของรัฐมีคนจน 6,490 คน ทั้งนี้ สัดส่วนของคนจนมาจากเอาจำนวนคนจนทั้งหมดหารปริมาณประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เรื่องความยากจนกับเรื่องความสุขของประชาชนในบางพื้นที่ อาจจะไม่สอดคล้องกัน เช่น ที่แม่ฮ่องสอน พบว่าบางมิติไม่ค่อยดีนัก เช่น เรื่องการเข้าถึงการศึกษา และรายได้ต่ำมาก แต่กลับพบว่าคนเหล่านี้มีความสุข ทั้งนี้ในอนาคตจะเพิ่มข้อมูลเรื่องดัชนีความสุข เข้าเป็นตัวชี้วัดเพิ่มเข้าไปด้วย” นายสุทธิพงศ์กล่าว

 

นายสุทธิพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับการพิจารณาความยากจนในมิติต่างๆนั้นนักวิจัยจะพิจารณาจากข้อมูลทั้งของกระทรวงการคลังและกรมพัฒนาชุมชน รวมกับการเข้าไปสัมภาษณ์รายบุคคลของเนคเทค เช่น มิติด้านสุขภาพ พิจารณาจากจำนวนเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ 2.5 กิโลกรัม ด้านการศึกษาพิจารณาจากเด็กอายุ 3-5 ปี ได้รับการเตรียมพร้อมพร้อมวัยเรียนหรือไม่ 6-14 ปี ไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับกี่คน เป็นต้น ด้านรายได้ พิจารณาจากคนที่มีอายุ 15-59 ปี กี่คน ที่ไม่มีอาชีพ หรือไม่มีรายได้ เรื่องความเป็นอยู่ พิจารณาจาก ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอหรือไม่ ที่อยู่อาศัยมั่นคงหรือไม่ และเรื่องการเข้าถึงบริการภาครัฐ พิจารณาจากจำนวนผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแล

 

จากที่ระบุตัวเลขดังกล่าว มาจากตัวอย่างการสำรวจราว 36 ล้านคนเท่านั้น ทำให้ฐานข้อมูลค่อนข้างแตกต่างจากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประมวลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และมีข้อมูลสรุปว่า ปัจจุบันไทยมีคนยากจน (ตามดัชนี MPI) ราว 4.4 ล้านคน และอีกก้อนคือกลุ่มที่มาลงทะเบียนกับรัฐ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) รวม 11.4 ล้านคน 

เจาะเชิงลึก อ้างอิงข้อมูลชุดของระบบ TPMAP 

5 อันดับ คนจน “มากสุด”

  • เชียงใหม่ 
  • นครศรีธรรมราช
  • อุดรธานี
  • กระบี่
  • บุรีรัมย์ 

5 อันดับ คนจน “น้อยสุด”

  • สมุทรสาคร
  • ตราด
  • สมุทรสงคราม
  • แพร่
  • พังงา 

รายได้เท่าไร ถึงเรียกว่า “จน” 

วิเคราะห์แง่รายได้ ที่ใช้ตัดเส้นความยากจนตามรายภูมิภาค ดังนี้ 

  • กทม. : ต่ำกว่า 3,556 บาท/เดือน
  • ภาคกลาง : ต่ำกว่า 3,175 บาท/เดือน
  • ภาคเหนือ : ต่ำกว่า 2,678 บาท/เดือน
  • ภาคอีสาน : ต่ำกว่า 2,684 บาท/เดือน
  • ภาคใต้ : ต่ำกว่า 3,036 บาท/เดือน 

“เบอร์กิท ฮานสล์” ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ช่วงปี 2561 เคยกล่าวไว้ว่า “แนวโน้มความยากจนในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง แต่กระนั้นครัวเรือนก็ยังมีความเปราะบางต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ”

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้นั้น ครัวเรือนของประเทศไทยต้องได้รับการปกป้องจากการที่รายได้ของครัวเรือนปรับลดลงรุนแรง เช่น จากความเจ็บป่วย การตกงาน และภัยธรรมชาติที่ดีกว่านี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประเทศไทยต้องสนับสนุนให้มีการสร้างงานที่มีผลิตภาพ และงานที่มีค่าจ้างที่สูงกว่านี้ 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

กสทช. ระงับสัญญาณโทรศัพท์ เคลื่อนที่ 141 สถานี ตามตะเข็บชายแดนแล้ว

 

เมื่อวันจันทร์ ที่  27 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ประชุมเพื่อติดตามการประกอบกิจการโทรคมนาคมบริเวณแนวชายแดน โดยมีข้อสรุปมาตรการแก้ไขปัญหาระงับยับยั้งการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการนำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้ในการกระทำผิด หรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย 3 ข้อ คือ

 

  1. ให้ดำเนินการรื้อถอนสายอากาศกรณีเสาที่มีการติดตั้งสายอากาศหันไปทางประเทศเพื่อนบ้านโดยตรงโดย ส่วนเสาที่มีการติดตั้งห่างจากแนวชายแดนออกมาระยะ 200 เมตรเพื่อให้บริการในไทย แต่หันทิศทางไปประเทศเพื่อนบ้านให้ส่งข้อมูลการจำลองการแพร่สัญญาณ (Simulation) ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาด้วย
  1. ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ตรวจสอบว่ามีเครื่องทวนสัญญาณ (Repeater) รับสัญญาณจากประเทศไทยไปเพื่อกระจายต่อหรือไม่ ถ้ามี ให้ระงับสัญญาณที่เข้าสู่ Repeater ดังกล่าว
  1. กรณีการให้บริการอินเทอร์เน็ตทางสาย ให้พิจารณาทราฟฟิกที่มีปริมาณมากผิดปกติ และรายงานให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการร่วมกับตำรวจว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมหรือไม่ รวมทั้งให้ผู้บริการทั้งทางสาย และไร้สาย ตรวจสอบ IP ที่ไปปรากฏว่ามีการใช้งานในประเทศเพื่อนบ้านว่ามีการใช้งานผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

โดยในวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคมนี้ จะมีการหารือทางเทคนิคเพื่อกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงานส่งให้สำนักงาน กสทช. หรือตำรวจต่อไป

 

 

นายไตรรัตน์ เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งสำนักงาน กสทช. ภาค 1 และเขต 14 ปราจีนบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการปรับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่หันหน้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้รถตรวจสอบสัญญาณคลื่นความถี่ลงในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พบว่า ขณะนี้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามแนวชายแดน จ.สระแก้ว ได้หันหน้าเข้าประเทศไทยแล้วเกือบทั้งหมด ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผน และเพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบ สำนักงาน กสทช. จะให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดำเนินการติดตั้งเสาสัญญาณขนาดเล็กให้ประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์ และใช้อินเทอร์เน็ตได้โดยไม่เกิดปัญหา

 

 

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายดำเนินการหันเสาเข้าประเทศอย่างถาวร เพื่อควบคุมความแรงของสัญญาณไม่ให้ล้ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังเจอปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ และมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผ่านการใช้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต โดยสำนักงาน กสทช. จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการดำเนินการหันเสาสัญญาณโทรศัพท์เข้าประเทศ รวมทั้งตรวจจับสัญญาณในทุกพื้นที่อย่างเข้มข้น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

 

 

“ผมขอความร่วมมือผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เสาต้นไหนที่อยู่แนวบริเวณตะเข็บชายแดน ไม่ได้มีบ้านเรือนประชาชนอยู่ ควรรื้อถอนก็ต้องรื้อถอน ส่วนการหันเสาสัญญาณเข้าประเทศขอให้ดำเนินการเป็นการถาวร เรื่องนี้ผมจะไม่ให้ประชาชนที่ใช้ชีวิตปกติได้รับความเดือดร้อน ถ้าต้องติดตั้งเสาสัญญาณขนาดเล็กให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตประจำวัน ใช้โทรศัพท์ ใช้อินเทอร์เน็ตได้ตามปกติ ก็ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดูแลประชาชนกลุ่มนี้ด้วย” นายไตรรัตน์ กล่าว

 

 

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ออกมาตรการระงับสัญญาณโทรคมนาคมบริเวณชายแดนโดยเริ่มใน 7 พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน ได้แก่ (1) อ.แม่สอด จ.ตาก (2) อ.แม่สาย จ.เชียงราย (3) อ.เชียงของ จ.เชียงราย (4) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย (5) อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (6) อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และ (7) อ.เมือง จ.ระนอง โดยปัจจุบันทุกพื้นที่ ๆ มีการหันเสาออกนอกประเทศไทยได้มีการระงับสัญญาณรวมแล้ว 141 สถานี และปรับทิศทางสายอากาศเข้าประเทศแล้ว 67 สถานี

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กสทช.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

สธ. ตั้งเป้าผลิตหมอปีละ 5,000 คน ร่วมมือ ม.พะเยา และมหาวิทยาลัยอีก 15 แห่ง

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่าง สธ. กับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง ประกอบด้วย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จุฬาฯ ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.พะเยา ม.มหาสารคาม ม.มหิดล ม.วลัยลักษณ์ ม.สงขลานครินทร์ ม.อุบลราชธานี และสถาบันพระบรมราชชนก

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ. โดยสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ เข้าสู่ระบบและกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง และมีรพ.ของสธ.ที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 จำนวน 39 แห่ง ผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบแล้ว 13,780 คน ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบ 77%

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการขยายกรอบความร่วมมือทั้งด้านการศึกษา การผลิตบุคลากรสาธารณสุข การวิจัยเพิ่มมากขึ้น รองรับโยบายรัฐบาลในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และอีกส่วนสำคัญคือรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งต้องมีบุคลากรทางการแพทย์รองรับเพิ่มมากขึ้น

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์ภาพรวมเรามีแพทย์อยู่ประมาณ 50,000 คน อยู่ในสังกัดสธ. 25,000 คน ที่เหลือ 20-30% อยู่ที่ภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ และหน่วยความมั่นคง ส่วนอีก 20% อยู่ในภาคเอกชน หากเทียบหลายปีก่อนถือว่าไม่ขาดแคลน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งการผลิตแพทย์ 1 คน สามารถสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้หลายสิบหลายร้อยล้าน ทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมทั้งประเทศโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 3,500 คน โดยแต่ละปี สธ.ร่วมผลิตในชั้นคลินิกประมาณ 2,000 คน ขณะนี้สธ.กำลังจัดทำร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์ในการพัฒนากำลังคน

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เดิมเรามองแต่บริบทการผลิตบุคลากรสาธารณสุขตอบสนองเฉพาะประชาชนในประเทศ แต่บริบทใหม่จะต้องตอบสนองบริการทางการแพทย์ที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลายระดับมากขึ้นโดยความร่วมมือกับทุกหน่วย โดยเฉพาะแพทย์ที่ตั้งเป้าช่วง 6-10 ปีจากนี้จะต้องผลิตให้ได้ปีละ 5,000 คน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ รวมถึงรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS TOP STORIES

พบทั่วโลกติดสินบน 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5% ของจีดีพีโลก

 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมสวิสโซเทล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่วมกับหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “การต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนและบทบาทของภาคเอกชนไทย” 

นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการ ป.ป ช. กล่าวตอนหนึ่งว่า การคอร์รัปชัน ติดสินบนพนักงานของรัฐเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับการทำธุรกิจ ธนาคารโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายสำหรับติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน world economic forum ประมาณการตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5% ของจีดีพีโลก

 

สำหรับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ป.ป.ช. ได้ประสานการทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติ และทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกัน เมื่อเข้ามาแล้วต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอนุสัญญาต่อต้านการทุจริต กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องออกมาตรการส่งเสริมและป้องกันการทุจริต ส่งเสริมคุณธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรไม่ยอมรับการทุจริต ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงความรับผิดทางอาญากรณีการทุจริตทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการทุจริต และให้สัญญาเป็นโมฆะ ทั้งนี้ ป.ป.ช. พยายามแก้ไขกฎหมายให้สามารถเอาผิดซ้ำใน 2 ประเทศอีกด้วย ขณะนี้ไทยมุ่งหวังจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการติดสินบน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 44 ประเทศ

 

ด้าน นางวีเบกเกอ เลอเซนด์ เลอแวก (Mrs.Vibeke Lyssand Leivag ) ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าต่างประเทศฯ ทำงานในประเทศไทยมา 48 ปีแล้ว มีสมาชิก 36 บริษัท มีเครือข่าย 8,000 – 9,000 บริษัท เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการที่เติบโตและยังมีโอกาสในการลงทุนมากมาย ประเทศไทยยังอยู่ในพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่ตลาดอาเซียนได้ มีมาตรการจูงใจการลงทุนจำนวนมาก แต่โอกาสมาพร้อมกับความท้าทาย ทั้งการแข่งขันในภาคธุรกิจ และระบบราชการไทยที่ซับซ้อน เรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการประท้วง มีการรัฐประหาร ที่จริงรัฐบาลปัจจุบันให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือการปรับปรุงระบบการศึกษา เพิ่มทักษะการทำงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โลจิสติกส์และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ

 

เหตุผลที่กล่าวมาเหล่านี้ มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงไม่น้อย จะเห็นว่าดัชนีการทุจริตไม่ได้มีการพัฒนาขึ้น จากปี 2018 ตกลงจากอันดับที่ 99 มาอยู่ที่ลำดับ 108 จะเห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันทำให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจ เกิดความไม่ยุติธรรมหากไม่มีการจ่ายค่าน้ำชา เราอยากมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดความยุติธรรม เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการจะต้องทำงานร่วมกัน

 

นางกุลภัทรา สิโรดม ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า ถ้าบริษัทมีกรรมการที่ดี เราสามารถลดการติดสินบนและการทุจริตลงได้ทั้งในบริษัทและนอกบริษัท รวมถึงทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วย ซึ่งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2010 เพื่อป้องกันการคอร์รัปชันโดยสมัครใจ มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อต่อต้านการทุจริต อิงตามมาตรฐานนานาชาติ ทำการอบรมการวิเคราะห์และควบคุมลดปัญหาการทุจริตภายในองค์กรของตัวเอง และยังมีโปรแกรมผู้นำจริยธรรมที่พยายามจะช่วยผู้บริหารให้ตัดสินใจเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ได้

 

ขณะที่นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เห็นว่า การสร้างคุณธรรมและค่านิยมต่อเยาวชนไทยในการต่อต้านการทุจริตถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดโอกาสการทุจริตในประเทศไทยลงได้ รวมถึงร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมการเปิดเผยการทุจริตทุกประเภท โดยเฉพาะการจัดจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ การสนับสนุนการผลักดันการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ จะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น.

  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAMกองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News

MOST POPULAR
FOLLOW ME


Facebook


Times


Instagram


Youtube


Line

NEWS UPDATE
BREAKING NEWS


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566

xemeaino


Categories
TOP STORIES

เคาะก่อนชง ครม.ยาบ้า 1 เม็ด ก็มีความผิด ใครแจ้งเบาะแสรับรางวัลนำจับ 5%

 
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 67 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

 

โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม ป.ป.ส. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลให้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

 

รวมถึงการตีความและการใช้บังคับกฎหมาย เช่น ผลสำรวจนิด้าโพล มีประชาชนมากกว่าร้อยละ 67 ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ทำให้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

พร้อมมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ โดยปรับลดยาบ้าให้เหลือ 1 เม็ด เพื่อเป็นหลักให้ผู้ปฏิบัติงานและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เพื่อประเมินผลกระทบ

 

ซึ่งพบว่า เกิดผลกระทบสังคม การบังคับใช้กฎหมาย และการแพทย์ เช่น ผู้ค้าใช้ช่องว่างของกฎหมายในการแบ่งบรรจุจำหน่าย เพื่อหลบหลีกการถูกดำเนินคดีในฐานความผิดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า จึงเห็นชอบแก้ไขกฎกระทรวง พร้อมวางกรอบระยะเวลา ไม่เกิน 3 เดือน โดยขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยให้ยกเลิกความใน (ก) และ (จ) ของข้อ 2(1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (ก) แอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือ มีน้ำหนักสุทธิ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม (จ)

 

เมทแอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือ มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือ ในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม

 

โดยมติที่ประชุมวันนี้ จะนำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งเริ่มวันนี้ เป็นวันแรกทันที

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ได้กำหนดเส้นแบ่งการทำคดียาเสพติด เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ โดยมีมติปรับลดปริมาณยาบ้าที่สันนิษฐานเป็นผู้เสพ เหลือ 1 เม็ด และสารบริสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม

 

แต่ขอเน้นย้ำว่า ยาบ้า 1 เม็ด ก็มีความผิด เพราะต้องพิสูจน์ต่อด้วยว่า เป็นผู้เสพ หรือ ผู้ขาย หากเป็นผู้เสพก็ต้องเข้ารับการบำบัด พร้อมต้องขยายผลตามแนวนโยบาย “1 ผู้เสพ ขยายผล 1 ผู้ขาย และขยายต่อเป็น 1 ผู้ผลิต”

 

ดังนั้น มียาบ้า 1 เม็ด ก็ต้องถูกขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้ เรามีผู้แทนแต่ละกระทรวง ที่อยู่ตามชุมชน ก็จะช่วยเป็นหูเป็นตา และหากใครแจ้งเบาะแสก่อนก็รับรางวัลนำจับ 5%

 

เมื่อถามว่า เหตุผลในการปรับเหลือ 1 เม็ด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชน สะท้อนสิ่งที่เสียหายมาเป็นจำนวนมาก พร้อมพิจารณาสถิติการจับกุมที่สูงขึ้น จึงมีการปรับลดเหลือ 1 เม็ด แต่ก็ยังมีความผิด ต้องถูกสอบสวนเพื่อขยายผลให้ได้ผู้ขาย และผู้ผลิตต่อไป

 

ซึ่งจากนี้ ก็จะรับฟังความคิดเห็น 15 วัน หากเห็นตรงกัน ก็จะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

กลุ่มทุนรุกป่าดอยสะโง้นับ 1,000 ไร่ สร้างรีสอร์ท-ทดแหล่งน้ำไปใช้เอง

 

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่หมู่บ้านดอยสะโง้ หมู่ 7 ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นายเศกสันต์ กองศรี กำนัน ต.ศรีดอนมูล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ และชาวบ้านดอยสะโง้ ร่วมตรวจแนวเขตแดนและพิกัดของพื้นที่ปาไม้และที่ดินที่มีผู้เข้าไปครอบครอง หลังจากชาวบ้านดอยสะโง้เคยร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานว่ามีการบุกรุกป่า และนายเศกสันต์ได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยัง อ.เชียงแสน เมื่อเดือน มี.ค.2567

 

โดยชาวบ้าน ระบุว่า เดิมดอยสะโง้ เคยมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้และแหล่งน้ำ รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 709 เมตร เป็นจุดชมวิว 3 แผ่นดิน คือ สามเหลี่ยมทองคำ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา และเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ที่เป็นแหล่งปลูกพืชต่างๆ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า แต่ปรากฎว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาได้มีกลุ่มทุนบุกรุกตัดต้นไม้และปรับถางที่ดิน มีการปลูกส้มหลายร้อยไร่และสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น รีสอร์ท ที่พัก ฯลฯ เพื่อหาผลประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำบนดอยสะโง้แห้ง หรือถูกกลุ่มทุนผันน้ำนำไปใช้ส่วนตัว ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนและยังมีปัญหาขยะเพิ่มขึ้นมาอีก
ดังนั้นในปี 2562 ชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่สามารถหยุดการบุกรุกป่าทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติและสวนป่าแม่มะ-สบรวก ที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานป่าไม้ทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว และมีแนวโน้มจะบุกรุกเพิ่มขึ้น
 
 
นายเศกสันต์ กล่าวว่า ในอดีตดอยสะโง้เป็นแหล่งน้ำโดยเฉพาะลำห้วยม่วงที่ชาว ต.ศรีดอนมูล ได้ใช้ประโยชน์ แต่ถูกกลุ่มนายทุนที่มีเงินและอิทธิพลเข้าไปบุกรุก กระทั่งปี 2567 ความแห้งแล้งรุนแรงมากเพราะป่าไม้ถูกทำลายไปนับ 1,000 ไร่ ส่วนลำห้วยก็ถูกนายทุนกั้นน้ำเอาไว้ใช้ส่วนตัว ตนจึงได้เป็นตัวแทนชาวบ้านทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดังนั้นในครั้งนี้ตนหวังว่าหน่วยงานต่างๆ จะแก้ไขปัญหาให้สำเร็จเพราะ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการตรวจสอบหลายครั้งแต่ก็ไม่มีการแก้ไขปัญหา
 
 
สำหรับครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เริ่มสำรวจว่าจุดใดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าอุทยาน หรือพื้นที่การเกษตรแล้ว จากนั้นจะบูรณาการจำแนกพื้นที่หากพบมีการบุกรุกในเขตรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็จะมีการดำเนินคดีจนครบทั้ง 1,000 ไร่ต่อไป.
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

เส้นตาย เจ้าหนี้-ลูกหนี้ เงินกู้นอกระบบแสดงตัวภายใน 31 พ.ค. กวาดล้างทั่วประเทศ

 
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทยแถลง ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการแก้ไขหนี้นอกระบบ พร้อมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย พล.ต.ท.ทัตชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผบ.ตร.นายณรงค์ ศรีระสัน ผู้แทนอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สศช.)แถลงเปิดแผนปฏิบัติการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ นายชาดา กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการและให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยมอบให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก และรมว.มหาดไทย ดำเนินการและมีคณะทำงานได้ทำไประยะหนึ่ง มีการลงทะเบียนหนี้กว่าแสนราย แต่ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเพราะคนไทยจำนวนมากของประเทศ ที่เป็นคนจนทำมาหากินได้วันละ 500 บาท

 

และลูกหนี้จะไม่สามารถไปกู้เงินในระบบอื่นได้ นำไปสู่การกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยจำนวนมากทำให้ไม่สามารถเดินต่อไปได้เรื่องนี้จึงมีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจของชาติในปัจจุบันนี้ หากหลงเข้าไปกู้จะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เพราะต้องใช้หนี้อย่างเดียว

 

“กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการเรื่องนี้ทั่วประเทศแต่ยังไม่จบ จึงขอประกาศไปถึงเจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบ ให้ออกมาแสดงตัว หากลูกหนี้ไม่มา เจ้าหนี้จะต้องมา ถ้าไม่มาไม่ให้ความร่วมมือกันจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายไม่ได้” นายชาดา กล่าว

 

รมช.มหาดไทย กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไปทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จะดำเนินการขั้นต่อไป ถ้าลูกหนี้และเจ้าหนี้ยังไม่เข้าสู่ระบบคนที่เป็นหนี้ก็ไม่สามารถไปกู้ที่ไหนได้ จึงต้องการให้เจ้าหนี้มาเข้าสู่กรอบของกฎหมาย

 

ถ้าไม่มาจะมีระยะเวลาในการดำเนินการ ที่จะต้องถูกตรวจสอบ เราจะตามเคลียร์คนที่มีอาชีพเงินกู้นอกระบบในทุกจังหวัด แต่หากเข้ามาในระบบ รัฐจะดูแลและให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายให้ลูกหนี้สามารถใช้หนี้ในอัตราที่ไม่ทารุณโหดร้ายส่วนเจ้าหนี้จะได้รับเงิน ยอมรับว่าเจ้าหนี้ก็มีมีทั้ง สายขาวและสายดำแต่ก็อยากให้มาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ และประชาชนก็จะสามารถกู้ได้ด้วย

 

“ขอให้คนที่อยู่ในวงจรหนี้นอกระบบกลับเข้ามาสู่ระบบ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ จะให้เดดไลน์ ตั้งแต่วันที่ 16 -31 พฤษภาคมนี้ ในการมาแสดงตัวลงทะเบียน ไปแจ้งเข้าสู่ระบบด้วยตัวเองจะดีกว่าในทางออนไลน์ เรื่องนี้หากยังมีหนี้นอกระบบก็เหมือนรัฐบาลโปรยฝนลงมาแล้วหายหมด หญ้าไม่ขึ้น ความงอกเงยทางเศรษฐกิจหายหมด เพราะมีการลักดูดน้ำไป เราจะไม่ยอมให้คนไทยกู้หนี้มาใช้หนี้อีกแล้ว รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้และจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด เดทไลน์ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คนทำผิดกฏหมายอยู่จะมีทางรอด“ นายชาดา กล่าว

 

นายชาดา กล่าวว่า ขอย้ำว่าให้มั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องจะปลอดภัยไม่ถูกดำเนินคดีและช่วยคนไทยในทางอ้อม และใครที่โดนจับก็ต้องถูกตรวจสอบทางภาษี แต่คนที่อยู่เบื้องหลัง นั่งเป็นเจ้าพ่อเงินกู้อยู่ในประเทศประเทศไทยทุกวันนี้ต้องเดินเข้าสู่ระบบ ถ้าไม่อย่างนั้นจะเจอการตรวจสอบที่เข้มข้น และจะมาว่ากลับไม่ได้ว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรม

 

รัฐบาลไม่ยอมให้โครงการต่างๆที่ทำแล้วหายไปใต้ดินทั้งหมด เพราะคนไทยทำมาหากินได้แล้วต้องไปจ่ายหนี้และจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย หลังจากนั้นก็ไปกู้อีกรายหนึ่งเพื่อมาใช้อีกรายหนึ่ง กลายเป็นว่าชีวิตหยุดกู้ไม่ได้ และปัญหาชีวิตก็ไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้เป็นการแก้ไข ตนเข้ามาร่วมทำงานจนรู้ปัญหาดี ในฐานะนักการเมืองก็อยากจะแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างยั่งยืนคือต้องจบ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมาตรการภาษี เข้ามาดำเนินการอย่างเด็ดขาดหรือไม่ นายชาดากล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ เป็นโอกาสของเจ้าหนี้ที่จะทำมาหากินแบบถูกกฎหมาย ส่วนระบบผิดกฎหมายต้องหมดไปตามวัฏจักรของบ้านเมือง เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน

 

ช่วงเวลาที่เหลือขอแนะนำให้เจ้าหนี้ รีบมาขึ้นทะเบียนที่จังหวัดที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์ดำรงธรรมสถานีตำรวจ สถานที่ปกครองเพื่อเข้าระบบ ลูกหนี้อาจจะกลัวเจ้าหนี้จะต้องมาลงทะเบียน และอย่าคิดว่าความผิดจะมาไม่ถึงเพราะสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบรายได้ของเจ้าหนี้และครอบครัวของท่าน และขอให้เตรียมคำตอบไว้ให้ดี

 

ส่วนข้าราชการที่เป็นหนี้นอกระบบจะต้องกล้าหาญที่จะออกมา ให้ไปบอกหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ว่าฯโดยรายงานว่าใครเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ แต่ถ้าใครไม่แจ้งแล้วเจ้าหนี้ให้รายชื่อมาบอก จะถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ วันนี้ต้องกล้าเพื่อให้ประชาชนเดินตาม

 

เมื่อถามว่ากรณีที่ เจ้าหนี้เป็นข้าราชการจะมีผลต่อหน้าที่การงานหรือไม่ นายชาดา กล่าวว่า เราจะไม่พูดเรื่องภายหลัง แต่เจ้าหนี้ที่เป็นข้าราชการ ต้องมาเร่งลงทะเบียน หากไม่มาลงทะเบียนอาจจะโดนสองเด้งทั้งทางอาญาและทางวินัย ทั้งนี้เราจะแก้ปัญหาให้ ไม่ใช่ใช้เฉพาะนิติศาสตร์แต่จะแก้ในทางรัฐศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งเงินกู้โดยไม่ผิดกฎหมาย ขอย้ำว่าหากไม่ทำจะถูกดำเนินมาตรการทางภาษี ทางกฎหมายและจะไม่มีใครช่วยท่านได้

 

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า  นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ ทั้งสองมีความเกี่ยวพันกัน เช่น การแก้ไขหนี้ในระบบพบว่าข้าราชการจำนวนไม่น้อยมีหนี้นอกระบบด้วย ก็อยากจะเรียกร้องให้ข้าราชการเหล่านั้นเข้ามาลงทะเบียนในระบบด้วย

 

ในส่วนการทำงานของคณะกรรมการ แม้มีการดำเนินการลงทะเบียนไปแล้วแต่ยังไม่เป็นไปตามเป้า และมั่นใจว่ายังมีประชาชนที่อยู่ในภาวะที่เป็นหนี้นอกระบบเหลืออยู่ ซึ่งการแถลงข่าววันนี้ไม่ใช่เป็นการขยายเวลา เพราะการลงทะเบียนยังเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาเดิม คือให้เจ้าหนี้และลูกหนี้มาลงทะเบียนให้เรียบร้อยในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้  หากไม่มาเราจะมีการดำเนินการในแผนการปฏิบัติงานอย่างจริงจังเข้มข้น

 

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เจ้าหนี้ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการคืออำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้ที่ไม่สามารถเข้าระบบได้ แต่สิ่งที่ไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้คือดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดังนั้นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ อยากให้มาลงทะเบียนเข้าระบบการไกล่เกลี่ย เจ้าหนี้ก็จะได้เงินคืนลูกหนี้ก็จะได้มีช่องทางในการชำระคืนตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ส่วนข้ออ้างของเจ้าหนี้ที่อ้างว่าไม่สามารถมาอยู่ในระบบได้จึงไม่มีจริง เพราะสามารถเข้ามาสู่ระบบได้ และอยากให้ตระหนักว่ากำลังทำผิดกฎหมายอยู่ในลักษณะเอาเปรียบลูกหนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลยอมไม่ได้

 

สำหรับลูกหนี้ส่วนหนึ่งไม่กล้ามาลงทะเบียนเพราะกลัวว่าจะถูกคุกคาม ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็มีการคุ้มครองเจ้าหนี้ด้วย คือต้องได้รับเงินต้นให้ครบจำนวน  แต่หากไม่มาลงทะเบียนก็จะถือว่าเจ้าหนี้ไม่ต้องการที่จะได้รับเงินคืนรัฐก็จะไม่สามารถคุ้มครองได้  และในการดำเนินการทุกฝ่ายพร้อมที่จะให้ความคุ้มครอง ทั้งเรื่องความปลอดภัยและสิทธิทางกฎหมาย

 

ขณะที่พล.ต.ท.ทัตชัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการคุ้มครองลูกหนี้นอกระบบขอยืนยันว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องที่สำคัญโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดไว้เป็นความสำคัญในลำดับต้น โดยมีศูนย์การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบขึ้นมาดูโดยเฉพาะ ที่ผ่านมาระดมกวาดล้างมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 จับกุมในคดีผู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนดและยึดทรัพย์

 

จึงขอให้ประชาชนเข้าใจกลับเข้ามาสู่ในระบบที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายทั้งอาญาและยึดทรัพย์ สำหรับการคุ้มครองความปลอดภัย ขอให้ไว้ใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วจะได้รับการดูแลความปลอดภัยเป็นอย่างดี ขณะที่การทำงานระหว่างตำรวจและอัยการในเรื่องของการยึดทรัพย์เป็นไปด้วยดี มีการส่งฟ้องและดำเนินการเกือบ 100%

 

นายณรงค์ กล่าวว่า ทางอัยการได้ชี้แจงรายละเอียดให้กับทางเจ้าหนี้และลูกหนี้หากมีการ ถูกดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา  แต่หากเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย จะได้รับการคุ้มครองทั้งทางกฎหมายและความปลอดภัยทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ แต่กรณีที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการ เมื่อลูกหนี้จ่ายต้นครบแล้ว ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อัยการก็จะให้หยุดจ่าย  และหากเจ้าหนี้มีการข่มขู่ก็จะมีความผิดเป็นคดีอาญา   เช่น เจ้าหนี้ ที่มีการรวมกลุ่มเกิดห้าคนขึ้นไปและมีการข่มขู่คุกคามลูกหนี้ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจรได้  ขณะเดียวกันก็จะมีมาตรการทางภาษีด้วย

 

และหากลูกหนี้เจ้าหนี้ ท่านใดที่เป็นข้าราชการ ผู้ใช้แรงงาน ที่ไม่สามารถหยุดงานได้  ทางอัยการสูงสุดได้เปิดบริการในวันเสาร์ตั้งแต่ 08:00 – 16:00 น. เพื่อบริการลูกจ้างหรือข้าราชการที่ไม่สามารถหยุดงานได้ ให้สามารถใช้บริการที่อัยการสูงสุดได้ทุกที่ทั่วประเทศ

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงมหาดไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ชาวตำบลนางแลกว่า 70 ครัวเรือน ยื่นขอพิสูจน์ครอบครองที่ดินเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย นายสุชาติ สมประสงค์ กำนันตำบลนางแล พร้อมด้วย นางเตียนทอง เรือนคำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านนางแลใน หมู่ที่ 7 และนายไพโรจน์ ทวีสุข ผู้ใหญ่บ้านบ้านใหม่นางแล หมู่ที่ 17 พร้อมด้วยประชาชนทั้ง 2 หมู่บ้าน รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเพื่อยื่นขอพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองที่ดินของบุคคล กว่า 70 ครัวเรือน ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินในที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินมายาวนาน ทั้งนี้ชาวบ้านขอยืนยันว่าพวกตนได้อาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายชั่วอายุคน มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพมาก่อน ขณะที่บางรายก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ ต่างได้รับความเดือดร้อนต้องประกอบอาชีพโดยไม่ได้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ให้ชาวบ้านได้เอกสารสิทธิ์แต่อย่างใดเพื่อยืนยันการถือครองที่ดินในปัจจุบัน เสนอต่อนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย โดยมี นายลิขิต มีเสรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย เป็นผู้รับเรื่องเพื่อพิจารณานำเสนอรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ตามลำดับขั้นตอน

 

จากกรณีดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่ต้องการดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินที่ประชาชนครอบครองอยู่ตามเอกสารที่กฎหมายกำหนด ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการมีประชาชนมีส่วนร่วมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินของประชาชน โดยมีรายชื่อประชาชนบ้านนางแลใน หมู่ที่ 7 และบ้านใหม่นางแล หมู่ที่ 17 ที่ขอพิสูจน์สิทธิ์ครอบครองที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ (สปก.) ตามที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมีคำสั่งที่ 1/2564 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2564 แต่งตั้งณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) ให้มีอำนาจและหน้าที่ในการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท ซึ่งประสบปัญหาความเดือดร้อนไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินมายาวนาน และถูกประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.) ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลนางแล ตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลริมกก และตำบลบ้านดู่ นับตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2537 เป็นต้นมา 
 
 
แม้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินจะถูกประกาศให้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแต่ประชาชนทั้งหมดไม่ประสงค์ขอรับการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย หรือกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในรูปแบบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เนื่องจากเชื่อมั่นว่า ได้มาทำประโยชน์ในที่ดินก่อนการเป็นที่ดินของรัฐครั้งแรกผ่านมามากกว่า 10 ปี จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้มาดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน แต่ปรากฎว่าไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเมื่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมีคำสั่งที่ 1/2564 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2564 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) ให้มีอำนาจและหน้าที่ในการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท และได้กำหนดมาตรการเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐไว้อย่างชัดเจน 
 
 
จึงได้ศึกษารายละเอียดและได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ครอบครองทำประโยชน์อย่างต่อเนื่องมาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐครั้งแรกหมู่บ้านนางแลใน หมู่ที่ 7 ก่อตั้งหมู่บ้านมาก่อน พ.ศ. 2460 โดยปรากฎวัตถุพยานเป็นที่ประจักษ์คือการก่อตั้งวัดนางแลใน มีรายชื่อเจ้าอาวาสและผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านนับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ที่สามารถพิสูจน์ได้จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของราชการได้การครอบครองที่ดินปรากฎชัดเจนในภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2513 ให้รักษาป่าดอยนางแล ป่าดอยยาว และป่าดอยพระบาท ไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวร และได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2521 
 
 
 
และประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลนางแล ตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลริมกก และตำบลบ้านดู่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2537มีข้อโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินประกอบด้วย พยานบุคคล พยานวัตถุ และภาพาถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ที่ถ่ายภาพพื้นที่นั้นไว้เป็นครั้งแรกจากเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่ได้รับการรับรองจากกรมแผนที่ทหาร โดยเป็นภาพถ่ายซึ่งถ่ายขึ้น ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2497 วันที่ 30 มกราคม 2513 และวันที่ 15 มกราคม 2519 ตลอนจนพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่พร้อมสำหรับการพิสูจนฒสิทธิ์ฯ ดังนั้นจึงเรียนมายังประธานอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) จังหวัดเชียงราย เพื่อขอใช้สิทธิ์ตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ขอพิสูจน์การครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินว่าได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวก่อนการเป็นที่ดินของรัฐครั้งแรก
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News