Categories
ECONOMY

รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา คาดเดือนนี้ ต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้นตามรอย MV ลิซ่า

 
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 67 ว่า ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแตะระดับ 17,501,283 คน สร้างรายได้ประมาณ 825,541 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน (3,439,482 คน) มาเลเซีย (2,435,960 คน) อินเดีย (1,040,069 คน) เกาหลีใต้ (934,983 คน) และรัสเซีย (920,989 คน)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวในเกือบทุกกลุ่ม โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short haul) มีจำนวน 499,554 คน หรือเพิ่มขึ้น 2.01% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออก อาทิ ไต้หวัน เกาหลี และจีน จากหลายปัจจัย เช่น การจัดงาน Pride month 2024 ตลอดจนมาตรการวีซ่าฟรี ที่ยังคงมีผลช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถตัดสินใจเดินทางได้ในเวลาอันสั้น

อีกทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) มีจำนวน 170,276 คน หรือเพิ่มขึ้น 6.11% จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม อาทิ นักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป ที่ขยายตัวเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว Summer holiday ส่งผลให้ในภาพรวมสัปดาห์นี้ (24-30 มิ.ย.) ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 659,830 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 19,083 คน หรือ 2.98% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 94,262 คน

โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน (133,304 คน) มาเลเซีย (92,060 คน) อินเดีย (41,621 คน) เกาหลีใต้ (30,824 คน) และไต้หวัน (27,188 คน) โดยนักท่องเที่ยวไต้หวัน เพิ่มขึ้น 15.41% เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 5.36% จีน เพิ่มขึ้น 5.26% และมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 1.73% ในขณะที่นักท่องเที่ยวอินเดีย ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 9.48%

สำหรับในสัปดาห์ถัดไป (1-8 ก.ค.) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น จากปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ได้แก่ Celebrity – induced tourism หรือการท่องเที่ยวตามรอย MV เพลง Rockstar ของลิซ่า และการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว Summer holiday ของตลาดภูมิภาคยุโรป การมีมาตรการ Ease of traveling ของรัฐบาล ช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ไทย อาทิ การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน ที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นให้สายการบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน รวมทั้งการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่าฟรี) ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน และการยกเว้นบัตร ตม.6 ในด่านทางบก 8 ด่าน แก่นักท่องเที่ยวมาเลเซีย และลาว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS UPDATE

ออมสิน เดินหน้าแก้หนี้สินครู เริ่ม ก.ค. นี้ ลดดอกเบี้ย 1% ต่อปี

 

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2567 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่ารัฐบาลได้สั่งการให้ธนาคารออมสินเพิ่มมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้กลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินต่าง ๆ ตามที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันแล้วนั้น

 

ล่าสุดธนาคารออมสิน ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมตามข้อสั่งการของรัฐบาล ประกาศลดดอกเบี้ยสินเชื่อกลุ่มครูเป็น 1% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ผ่อนชำระดีของสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. – ช.พ.ส. และโครงการเกื้อกูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค. – ธ.ค. 2567)

 

โดยเป็นการลดดอกเบี้ยอัตโนมัติไม่ต้องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ และดอกเบี้ยส่วนที่ได้ลดเพิ่มเติมจะถูกนำไปตัดเงินต้นทำให้หมดหนี้เร็วขึ้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกหนี้กลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นลูกหนี้ประวัติการผ่อนชำระดี มีสถานะลูกหนี้ปกติ

 

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยของแต่ละโครงการลง 0.5%, 0.75% และ 1% ต่อปีตามเงื่อนไข โดยคาดว่าจะมีลูกหนี้ได้รับประโยชน์จากการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ จำนวนกว่า 230,000 ราย และลดดอกเบี้ยรวมปีละ 1,600 ล้านบาท

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารออมสิน

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

เด็กออกกลางคันพุ่งทะลุ 1 ล้านคน เศรษฐกิจซบเซา พ่อแม่ดึงลูกออกจากระบบ

 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เด็กออกกลางคันหรือเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ในปีนี้เป็นไปอย่างหนักหน่วง โดยจากข้อมูลกสศ. พบว่าในปี2566 มีเด็กออกกลางคันประมาณ 1,025,514 คน  ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะมีเด็กออกกลางคันปีละกว่า 5 แสนคน ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัว และส่วนใหญ่เด็กจะออกกลางคันในช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมต้นไปสู่มัธยมปลาย แต่ปัจจุบันพบว่ามีจำนวนเด็กที่ออกกลางคันในช่วงรอยต่ออื่น เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น จากระดับประถมศึกษาไปสู่ระดับมัธยมศึกษา หรือจากมัธยมศึกษาตอนต้นไปสู่สายอาชีพ

 

“สำหรับสาเหตุเด็กออกกลางคัน ไม่ได้มาจากเรื่องความยากจนเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต  เพราะการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา มีความสัมพันธ์กัน ตอนนี้การเมืองหม่นหมองจนสร้างความไม่มั่นใจให้กับการทำงาน การลงทุน เศรษฐกิจถดถอยซบเซาจนสังคมมีสภาพผุกร่อน ไปถึงเรื่องระบบการศึกษาที่มีปัญหา ทำให้เด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้น ในอดีตเราอาจจะมองเพียงแค่เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลักเพราะเป็นเรื่องของความยากจน แต่ในตอนนี้มันเป็นเรื่องของ 3-4 ระบบที่กล่าวมาจนส่งผลให้ครอบครัวของเด็กตัดสินใจในการเอาลูกตัวเองออกจากระบบการศึกษา”นายสมพงษ์ กล่าว

 

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวคิดว่าการศึกษา ขณะนี้มีลักษณะของการตื่นตัว พยายามเข้ามาช่วยเหลือเรื่องวิกฤตเด็กออกกลางคัน อย่างนโยบาย Thailand 0 Dropout ที่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมามีการลงนามความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ 11 หน่วยงานในการผลักดันนโยบายนี้ หรือ นโยบาย พาน้องกลับมาเรียน ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นความพยายาม ในการช่วยเหลือเด็กออกนอกระบบ  เพียงแต่สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ไปเร็วกว่าการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาดังกล่าว ไป 1 หรือ 2 ก้าว  ทำให้ยังไม่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมีอยู่กว่า 15% ของประเทศ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการ จึงไม่ใช่เพียงแค่การลงนามความร่วมมือหรือ ขับเคลื่อนระดับนโยบายเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องเร่งค้นหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งการเยี่ยมบ้าน การจัดสวัสดิการ การหาทุนการศึกษา รวมถึงการสร้างงานให้ผู้ปกครอง ต้องมองเด็กรุ่นนี้ว่าเป็นทรัพยากรพลเมืองสำคัญ เพราะเขาจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกนี้เป็นปัจจัยที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ

 

นายสมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ช่วง2-3ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดเก่าไม่ได้ทุ่มเทเอาใจใส่กับวิกฤตเด็กออกกลางคันให้ดีเท่าที่ควร  ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19  ทำให้มีคนตกงาน  ครอบครัวมีหนี้สิน และเด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านผ่านมือถือ จนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย เด็กมีพฤติกรรมเชิงลบเข้าสังคมไม่เป็น เรื่องพวกนี้เป็นพื้นฐาน ให้เด็กปรับตัวได้ยาก เมื่อเปิดเรียนออนไซต์เต็มรูปแบบ  และสิ่งที่จะเห็นได้อีกอย่างคือ ปัญหาสุขภาพจิต ซึมเศร้า ยังไม่รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กเข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย

 

“เด็กที่มีพฤติกรรมเชิงลบกับระบบการศึกษาก็จะถูกผลักออก ขณะที่อีกจำนวนมาก ไม่พร้อมกับการศึกษาที่ไม่อ่อนโยน ไม่ผ่อนปรน และไม่ยืดหยุ่น ปัญหาหลัก คือโครงสร้าง ระบบ และหลักสูตรการวัดผล ซึ่งผมคิดว่ายังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ทำให้เด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดีมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน ส่วนเรื่องที่ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องการจะปฎิวัติการศึกษานั้น  ต้องเริ่มจากการเร่งจัดทำร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดยเน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มาใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล  เพราะเรื่องการศึกษา มีหลายมิติ ดังนั้นการแก้ปัญหาก็ต้องมองในภาพรวมหลายมิติด้วยเช่นกัน  สิ่งที่ศธ.จะต้องทำให้ดีที่สุด คือ เปิดกระทรวงรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์และแก้กฏระเบียบที่สกัดกั้นไม่ให้เอกชนกับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษา  การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของศธ. เพียงลำพัง โดยปัจจุบันสัดส่วนการจัดการศึกษากว่า 76% เป็นเรื่องของ ศธ. ส่วนท้องถิ่น 18% และเอกชนเพียง 5-6% เพียงเท่านั้น ฉะนั้นศธ.ต้องลดการจัดการลงมาให้เหลือ 50% เพื่อให้ท้องถิ่นกับเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หน่วยงานละ 25% ทำให้เกิดการจัดการศึกษาที่หลากหลาย และมีความช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง”นายสมพงษ์ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

อพท.เชียงราย เส้นทางท่องเที่ยว อุทยานธรณี Chiang Rai Geopark

 
เมื่อวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2567 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. มอบหมายให้ อพท. เชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดเชียงราย “3 พี่น้องท้องถิ่นรวมใจ สู่เชียงรายเที่ยวได้ ทั้งปีมีดีทุกเดือน” โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เส้นทางที่ 2 เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีเชียงราย Chiang Rai Geopark โดยนายประเสริฐ ชุ่มเมืองเย็น รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรม โดยมีผู้นำท้องถิ่น มัคคุเทศก์ ผู้แทนจากบริษัททัวร์ในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ และผู้แทนหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย จำนวนกว่า 20 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เสริมสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และกระจายรายได้สู่ชุมชน
 
 
เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีเชียงราย Chiang Rai Geopark เริ่มจากวัดป่าหมากหน่อ ซี่งตามตำนานพื้นถิ่นเล่าสืบต่อกันมาว่า พื้นที่บริเวณรอบวัดเดิมคือเมืองโยนกนาคพันธุ์ แต่ชาวเมืองไปจับปลาไหลเผือกตัวใหญ่มารับประทาน เนื่องจากปลาไหลเผือกตัวดังกล่าวเป็นลูกของพญานาคราช ส่งผลให้เกิดพายุใหญ่และแผ่นดินล่มสลายเมืองทั้งเมืองจมอยู่ใต้น้ำ เหลือเพียงบ้านของหญิงหม้ายที่ไม่ได้รับประทานปลาไหลเผือกเช่นคนอื่นๆ กลายมาเป็นเกาะแม่หม้ายหรือพื้นที่บริเวณวัดป่าหมากหน่อซึ่งตั้งอยู่บริเวณเวียงหนองหล่มในปัจจุบัน ดังปรากฏอยู่ในตำนานสิงหนวัติ โดยนายธีรภัทร ทองใบ ผู้อำนวยการอุทยานเมืองโยนกนาคพันธุ์ จังหวัดเชียงราย ให้เกียรติเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองโยนกนาคพันธุ์ 
 
 
จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทางไปยังจุดชมวิวเวียงหนองหล่ม ซึ่งมีหอชมวิวสามารถมองเห็นแนวรอยเลื่อนแม่จัน และเวียงหนองหล่มโดยรอบ รวมถึงจุดที่พบน้ำพุร้อน ภาคบ่ายคณะผู้ร่วมกิจกรรมลงพื้นที่สำรวจถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน เรียนรู้เหตุการณ์การช่วยเหลือ 13 ชีวิตหมูป่า ที่เคยติดถ้ำเมื่อปี พ.ศ. 2561 และเรียนรู้ภูมิศาสตร์ของถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน
สำหรับกิจกรรมในวันที่สอง เป็นการเรียนรู้กระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรบ้านสันธาตุ อ.เชียงแสน จากนั้นเดินทางไปยังเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย หรือทะเลสาบเชียงแสน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar site) ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ แต่ละปีจะมีนักดูนกจากทั่วโลกเดินทางเพื่อมาดูนกอพยพที่บริเวณนี้ โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะมีนก อพยพจากรัสเซียและไซบีเรีย มาอาศัยอยู่ในบริเวณทะเลสาบเชียงแสนเป็นจำนวนมาก
 
 
ในโอกาศนี้ ผู้ปฏิบัติงาน อพท.เชียงราย และผู้ร่วมกิจกรรม ร่วมกันถอดบทเรียนและให้ข้อเสนอแนะแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นข้อมูลนำไปพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวแก่ชุมชนต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อพท.เชียงราย DASTA Chiang Rai

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

เริ่มแล้ว The ICONiC Run Fest เดิน วิ่ง กิน เที่ยว เพื่อสุขภาพ

 

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า อ.เมือง จ.เชียงราย ว่าที่ ร.ต. ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลล์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ร่วมกันปล่อยตัวนักวิ่งในงาน The ICONiC Run Fest Thailand Series Chiang Rai 2024 เดิน วิ่ง กิน เที่ยว เพื่อสุขภาพ รวมพลังสร้างสุขภาพดี เศรษฐกิจดี สร้างเมืองสู่ความยั่งยืน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชน แขกรับเชิญจากนักแสดงช่อง 7 ธัน ธันวา สุริยจักร และนักวิ่งกว่า 2,000 คนเข้าร่วมอย่างคึกคัก

 

ภายในงานเริ่มปล่อยตัวนักวิ่งระยะ 10 กิโลเมตร และนักวิ่งระยะ 5 กิโลเมตร โดยนักวิ่งจะวิ่งผ่านเส้นทางตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย สถานที่สักการะ ที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตอกย้ำความเป็นเมืองสุขภาวะ (Wellness City) จากนั้นจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดต้นทาง ได้ส่งธงมอบให้กับผู้แทนจากจังหวัดสุโขทัย ที่จะจัดกิจกรรมฯ ขึ้นในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2567 นี้
 
 
เทศกาลงานวิ่ง The ICONiC Run Fest Thailand Series Chiang Rai 2024 “เดิน วิ่ง กิน เที่ยวเชิงสุขภาพ” โดย สสส. ร่วมกับจังหวัดเชียงราย กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงเศรษฐกิจ ส่งต่อองค์ความรู้การบริโภคอาหารปลอดภัย ปลูกฝังค่านิยมลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กับชุมชน ซึ่งกิจกรรมฯ จัดขึ้นทั้งหมด 5 จังหวัด จากทั่วประเทศ ( เชียงราย สุโขทัย นครราชสีมา มุกดาหาร และจังหวัดนครศรีธรรมราช)
 
 
ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวฯ เปิดรับสมัครประเภทการวิ่งเป็น 2 ระยะทาง ได้แก่ 10 กิโลเมตร และ 5 กิโลเมตร ซึ่งจำกัดผู้เข้าสมัครเพียง 2,000 คน ต่อจังหวัดเท่านั้น หากท่านใดสนใจวิ่ง โดยสนามต่อไปที่จังหวัดสุโขทัย วันที่ 24-25 ส.ค. 2567 นครราชสีมา วันที่ 7-8 ก.ย. 2567 มุกดาหาร วันที่ 5-6 ต.ค. และจังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 26-27 ต.ค. 2567 สามารถสมัครร่วมกิจกรรมได้ที่ http://thaift หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ theiconicrunfest
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : The ICONiC Run Fest

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย เปิดพื้นที่เยาวชน 3 อำเภอ First Love Festival 2024

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมเยาวชนสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์สามอำเภอ Firt Love Festival 2024” ณ หอประชุมโรงเรียนพานพิทยาคม อ.พาน จ.เชียงราย พร้อมด้วยนายทัศพงษ์ สุวรรณมงคล เลขานุการ นายก อบจ.เชียงราย โดยมี นายอนิรุทธ์ ต่อบวรรัตน์ ปลัดอาวุโสอำเภอพาน และนางษรวัศศ์ วงค์อารยกร รองผู้อำนวยการโรงเรียนพานพิทยาคม กล่าวต้อนรับ และมีนายณิชกุล อยู่เย็น รองประธานเยาวชนอาสาพัฒนาเชียงราย อำเภอพาน ในนามประธานคณะทำงานโครงการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด

 

โดยกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชน อ.พาน อ.ป่าแดด และอ.แม่ลาว ได้แสดงศักยภาพของตนเองผ่านการแข่งขันดนตรี การแข่งขัน e-sport ให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการแข่งขัน รู้จักความสามัคคี รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ได้รับกำลังใจประสบการณ์จากการแข่งขันจากสนามและเวทีที่ได้จัดขึ้น มีพื้นที่สร้างสรรค์ในการหารายได้ผ่านการค้าขายในกาดละอ่อนที่จัดขึ้น มีพื้นที่สร้างสรรค์ในการออกแบบและจินตนาการ บูธ Workshop ภายในงานให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีโอกาสร่วมกิจกรรมที่สนุกสนาน ฮีลใจมีความสุข และเพลิดเพลินตลอดการแข่งขันกีฬา และรับชมการแข่งขันดนตรี อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาส ให้เยาวชน ได้เรียนรู้และรู้จักศูนย์เยาวชน อบจ.เชียงราย ให้มากยิ่งขึ้น และสร้างเครือข่ายในอนาคต ให้เยาวชนได้พัฒนาขีดความสามารถของตนเองอีกขั้นหนึ่งต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

พิธีฟังธรรมขุนห้วยกุศโลบายรักษาป่า พร้อมประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลู

 

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ชุมชนบ้านห้วยสัก หมู่ 9 หมู่ 15 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงรายได้จัดพิธีกรรมฟังธรรมขุนห้วย และเลี้ยงผีขุนห้วย ในกิจกรรมมีการแห่ช้างเผือกจำลองจากวัดไปยังป่าต้น้ำเพื่อทำการถวายทาน การเลี้ยงผีขุนห้วย และพิธีกรรมสำคัญการฟังธรรมขุนห้วยหรือฟังธรรมพญาปลาช่อน โดยชุมชนได้จัดพิธีกรรม ณ ป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน พิธีกรรมฟังธรรมขุนห้วยเป็นการนำกุศโลบายความเชื่อล้านนาทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการทำพิธีกรรม มีพระสงฆ์ จำนวน 5 รูป ได้ทำการเทศนาธรรม ชื่อธรรมมัจฉาพระยาปลาช่อน มีเนื้อหาให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล

 

นายสรศักดิ์ ถาริยะ ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก หมู่ 9 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า
“วันนี้เราได้มาทำกิจกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำที่เราทำสืบต่อกันมาหลายร้อยปี เป็นพิธีกรรมที่ใช้สำหรับการขอฝนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ขอให้เทวดาปกปักรักษาพ่อแม่พี่น้องที่บ้านห้วยสักซึ่งกิจกรรมวันนี้มีพิธีกรรม 3 อย่างคือการฟังธรรมปลาช่อน การเลี้ยงผีขุนห้วยและก็การถวานทานช้างเผือก กิจกรรมที่เราทำกันทุกปี ที่บ้านห้วยสักมี 2 หมู่บ้าน คือบ้านห้วยสัก หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 15 ร่วมกันจัดพิธีกรรมที่เราควรสืบทอดที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ”
 
 
ในงานมีพีกรรมสำคัญ 2 พิธีกรรม คือการฟังธรรมขอฝนเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และการเลี้ยงผีขุนห้วยเป็นการนำความเชื่อเรื่องผีของชุมชนที่ทำมาตั้งแต่มีการก่อตั้งหมู่บ้าน เป็นภูมิปัญญาล้านนาด้านการจัดการน้ำ ระบบเหมืองฝาย ที่มีความเชื่อผีขุนห้วยเป็นผีที่ใหญ่สุดเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ทำพิธีในป่าที่ลึกต้นน้ำห่างจากหมู่บ้านซึ่งถือเป็นจุดที่เป็นป่าต้นน้ำ เพื่อได้ทำการฟังธรรมขอฝนและการบอกกล่าวไหว้วอนเลี้ยงผีขุนห้วยเพื่อขอฝนให้เพียงพอในการทำการเกษตร ให้ฝนฟ้า เป็นปกติ พืชไร่ นาข้าวอุดมสมบูรณ์ เป็นประเพณีที่ชุมชนสืบทอดกันมาทุกปี ส่วนในประเทศไทยพิธีการฟังธรรมขอถือว่าเป็นประเพณีที่ขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปี 2557 ที่ผ่าน
 
 
ทางด้านพระครูกิตติ วรพินิจ เจ้าอาวาสวัดห้วยสัก ตำบลยางฮอม ได้กล่าวถึงความสำคัญของพิธีกรรมฟังธรรมขุนห้วยว่า
“บ้านห้วยสักเป็นชุมชนเกษตรที่มีการพึ่งพาทรัพยากรแหล่งน้ำในการทำการเกษตรให้สำเร็จ ทุกปีก็จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกนึกถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ได้พึ่งพา ตั้งแต่ปู่ย่าตายายได้ทำมา สืบทอดต่อลูกหลาน การเทศน์ธรรมพระยาปลาช่อน เป็นธรรมบทเมื่อครั้งพุทธกาล มีการถวายทานพญาช้างเผือกช้างแก้ว เป็นสัตว์ในพระพุทธกาล ซึ่งพระเวสสันดรได้มีช้างคู่เมืองทำให้บ้านเมืองมีฝนตกต้องตามฤดูกาล ธรรมชาติข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์จึงการพิธีกรรมการถวายทานช้างเผือก และธรรมพญาปลาช่อนที่จะได้มาฟังธรรมในวันนี้ เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่จะให้คนในชุมชนสมัครสมานสามัคคี ตระหนักในเรื่องของธรรมชาติที่ได้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่ คร่าวของธรรมพญาปลาช่อน ได้พูดถึงเมื่อครั้งพระพุทธองค์ ได้กำเนิดพระชาติหนึ่งเป็นพญาปลาช่อนอยู่ในหนองน้ำ เป็นหนองน้ำที่แห้งแล้ง พญาปลาช่อนจึงช่วยให้สัตว์ทั้งหลายให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล 
 
 
และวันนี้ทางชุมชนได้ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงได้จัดพิธีกรรมขึ้น ตระหนักถึงธรรมชาติจึงได้จัดพิธีกรรมนี้ขี้น”
ชุมชนบ้านห้วยสักตั้งอยู่ทางที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยสักไหลผ่านหมู่บ้านก่อนไหลลงแม่น้ำอิงทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน มีป่าต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันออกเขตเทือกเขาดอยยาว ป่าต้นน้ำห้วยสักอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยป่าแดง ป่าห้วยป่าตาลและป่าห้วยไคร้ ทางชุมชนได้ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนกับกรมป่าไม้ พื้นที่ 1,289 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา และในปีพ.ศ. 2565-2567 ได้ร่วมกับทางสมาคมแม่น้เพื่อชีวิต ได้ทำการศึกษาเต่าปูลู หรือเต่าปากนกแก้ว (Big-headed Turtle) เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ อาศัยอยู่ลำห้วยสาขาของป่าต้นน้ำ ในลักษณะระบบนิเวศแบบลำธาร มีโขดหิน น้ำตก แอ่งน้ำ เป็นสัตว์ประจำถิ่นที่พบได้ทั่วไปในแหล่งป่าต้นน้ำในภาคเหนือของประเทศไทย และที่ลำห้วยสักยังมีการพบเต่าปูลูจากคนในชุมชนและการตรวจหาสารพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม (eDNA) จากทีมนักวิชาการคณะะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การพบเจอเต่าปูลูที่ลำห้วยสักนั้นเป็นตัวชี้วัดว่าระบบนิเวศของป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเต่าปูลูจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำสะอาด และมีสัตว์น้ำที่เป็นอาหารจำนวนมากเพียงพอ
 
 
จากการเก็บข้อมูลงานวิจัยพบว่าปัญหาหลักของภัยคุกคามของเต่าปูลูคือ เรื่องของการล่าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศของคนภายนอกชุมชนที่แอบลักลอบเข้ามาล่าเต่าปูลู ที่มีราคาสูงถึงกิโลละ 3,000 – 5,000 บาท ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองและบทลงโทษที่ชัดเจน แต่การล่าเต่าปูลูยังมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณเต่าปูลูลดลงจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทางชุมชนบ้านห้วยสักจึงได้ร่วมกับทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตจึงได้ทำการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย วิเคราะห์หาภัยคุกคาม แนวทางการแก้ไขร่วมกับคนในชุมชน ทำมติชุมชน ตั้งคณะทำงานในการดูแลสอดส่อง จึงได้ทำการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูในลำห้วยสักในพิธีกรรมเลี้ยงผีขุนห้วยของชุมชน
ด้านนายสรศักดิ์ ถาริยะ ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก ได้กล่าวถึงการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูในครั้งนี้ว่า
“เป็นป่าต้นน้ำที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ เป็นป่าต้นน้ำห้วยสัก ที่ชุมชนบ้านห้วยสักของเราได้มีการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และจดทะเบียนป่าชุมชน พื้นที่ประมาณ 1,200 กว่าไร่ และในลำห้วยสักได้มีการพบเต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าหายาก แต่มีการพบที่นี่ วันนี้เราเลยประกาศเป็นเขตห้ามล่าเต่าปูลู”
 
 
การประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูของชุมชนห้วยสัก เป็นแห่งที่ 4 ในลุ่มน้ำอิงตอนปลายที่มีการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูโดยชุมชน โดยทางชุมชนได้ตั้งกฎระเบียบโดยให้การประชาคมหมู่บ้านร่วมกับกฎระเบียบป่าชุมชนที่ได้รับการรับรองจากกรมป่าไม้ โดยมีคณะทำงานในการดูแลสอดส่องปูลูโดยชุมชนจากชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และมีกิจกรรมการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู เช่นการทำฝายชะลอน้ำ การป้องกันไฟป่า การเลี้ยงผีขุนห้วย การลาดตระเวน สำรวจแนวเขตป่า เพื่อป้องกันการล่าเต่าจากคนนอกพื้นที่ต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” แหล่งหากินของปลากระเบนแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต พร้อมเจ้าหน้าที่สมาคม ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำโขง ใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ถึงภัยคุกคามที่ส่งผลต่อการลดลงของปลากระเบนในแม่น้ำโขง และติดตามการเปลี่ยนแปลง ปริมาณของปลากระเบนที่ลดลง โดยที่บ้านดอนที่เป็นพื้นที่เดียวในแม่น้ำโขง จ.เชียงราย ที่ชาวประมงจับได้บ่อยครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ว่าเหตุใดจึงพบได้เพียงเฉพาะที่บ้านดอนที่เท่านั้น รวมไปถึงการศึกษาปลาสายพันธุ์อื่นๆในพื้นที่ด้วย

 

อาจารย์สุทธิ มะลิทอง สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง พบว่า จุดที่ชาวบ้านพบปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นจุดที่มีลักษณะที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” โดยมีพื้นผิวใต้น้ำเป็นตะกอนดินโคลน ทราย ปนกัน ซึ่งเป็นแหล่งหากินของปลากระเบน มีหนอนแดง ใส้เดือนน้ำ อยู่จำนวนมาก และบริเวณหลงแก่ง ที่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนแมลงชีปะขาว และตัวอ่อนแมลงชีปะขาว ที่เป็นอาหารของปลากระเบน ทำให้ในพื้นที่นี้มีการจับปลากระเบนแม่น้ำโขงได้บ่อยครั้ง สำหรับความเสี่ยงของปลากระเบนก็คือพื้นที่อยู่อาศัย ถ้าหากพื้นที่อาศัยและแหล่งอาหารหายไป ก็จะทำให้ปลากระเบนลดลง นอกจากนี้พบว่าพืชริมน้ำก็จะเป็นแหล่งดักตะกอนที่ให้เกิดพื้นที่ดินโคลน และทราย จึงเป็นแหล่งที่อยู่ของอาหารของปลากระเบน
 
 
“อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปลากระเบนก็คือ เรื่องระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง น้ำขึ้น น้ำลง ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้แหล่งที่อยู่และอาหารของปลากระเบนลดลง กระทบกับปลากระเบนโดยตรงหากไม่มีอาหารก็จะทำให้ย้ายถิ่นฐาน หรือสูญหายไป” อาจารย์สุทธิ กล่าว
 
 
นายถวิล ศิริเทพ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลริมโขง กล่าวว่าเมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีชาวประมงพื้นบ้าน สามารถจับปลากระเบนแม่น้ำโขง ขนาดกว่า 1.2 กิโลกรัมได้ในแม่น้ำโขง ในพื้นที่บ้านดอนที่ ซึ่งปลากระเบนนั้นถือว่าเป็นปลาที่หากพบได้ยาก และใกล้สูญพันธุ์ในแม่น้ำโขงปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากระบบนิเวศ ในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป การเพิ่มและลดบริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ผิดปกติ ทำให้ชาวประมงในพื้นที่สามารถจับปลาบางชนิดได้น้อยลง ในฐานะผู้นำหมู่บ้านดอนที่ ก็ขอขอบคุณทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ที่เข้ามาช่วยทำวิจัย เพื่อเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง โดยใช้พื้นที่บริเวณหมู่บ้านดอนที่ ให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ เพาะพันธ์ขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนและพันธุ์ปลาน้ำจืดแม่น้ำโขงอื่นๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้คงอยู่คู่กับแม่น้ำโขงต่อไป
 
 
ด้านนายสมศักดิ์ นันทลักษณ์ ชาวประมง ในพื้นที่บ้านดอนที่ เล่าว่า การหาปลาในแม่น้ำโขงในปัจจุบันค่อนข้างที่จะหายาก โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำขึ้น ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปลาส่วนใหญ่ก็จะผันตัวไปทำไร่ทำสวน ในส่วนของที่ทางสมาคม แม่น้ำเพื่อชีวิตได้เข้ามาทำวิจัยเรื่องการเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบน และจะใช้พื้นที่หมู่บ้านดอนที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนแม่น้ำโขง ตนเองในฐานะชาวประมงในพื้นที่ก็เห็นด้วย ถ้าสามารถจับปลากระเบนในพื้นที่ได้อีก ก็จะส่งให้ทางประมงเพื่อไปทำการวิจัยและเพาะพันธ์ขยายพันธุ์ และนำกลับมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณจำนวนปลากระเบนในแม่น้ำโขง และให้บ้านดอนที่ เป็นศูนย์เรียนรู้ และเขตอนุรักษ์ เรื่องปลากระเบนแม่น้ำโขงต่อไป
 
 
สำหรับปลากระเบนในแม่น้ำโขงเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงหลายประการที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยพบภัยคุกคามคือ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ การควบคุมระดับน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงใประเทศจีน ส่งผลต่อกระแสน้ำและรูปแบบการไหลของแม่น้ำโขง สิ่งนี้รบกวนวงจรชีวิตของปลา รวมถึงปลากระเบน ที่พึ่งพาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามธรรมชาติสำหรับการอพยพ การวางไข่ และการหาอาหาร การกัดเซาะตลิ่งที่เกิดจากน้ำขึ้นลง ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของปลากระเบน ตลิ่งที่พังทลายทำลายพื้นที่คก วัง และริมฝั่งซึ่งเป็นแหล่งหากินและวางไข่ที่สำคัญ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การก่อสร้างเขื่อนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ บนแม่น้ำโขง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลากระเบน เช่น โขดหิน แอ่งน้ำ และพื้นทราย การทำประมงที่ทำลายล้าง เช่น การใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งหากินของปลากระเบน มลพิษทางน้ำจากการเกษตร โรงงาน และชุมชน ส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง มลพิษเหล่านี้เป็นอันตรายต่อปลากระเบน 
 
 
โดยเฉพาะลูกปลาและปลาอ่อน การล่าปลากระเบนถูกจับโดยชาวประมงเพื่อการค้าและบริโภค แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามจับปลากระเบน แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงมีประสิทธิภาพต่ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่ออุณหภูมิและรูปแบบการตกตะกอนในแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัย อาหาร และวงจรชีวิตของปลากระเบน
 
 
ผลกระทบจากภัยคุกคามทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลากระเบนในแม่น้ำโขง ทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ปลากระเบนเป็นสัตว์กินซาก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำโขง การลดลงของประชากรปลากระเบน ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร และความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

สร้างทักษะอาชีพวันอาทิตย์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดบ้านจ้อง ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พระครูวรธรรมพิทักษ์ (วีรชน) เจ้าคณะตำบลป่าแดด เจ้าอาวาสวัดท่าน้ำ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ศพอ.จังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมการเสริมสร้างทักษะอาชีพร่วมกับศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวรายงาน และ นายจันทร์ ทาตุการ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งผา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ โดยกิจกรรมโครงการฯ ได้ผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเครื่องจักสานด้วยกระดาษโทรศัพท์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการอบรม

 

 นำโดย พระครูสุวิชานสุตสุนทร (สมชาย สุวิชาโน) เจ้าอาวาสวัดบ้านจ้อง ผู้อำนวยการ ศพอ.วัดบ้านจ้อง ดำเนินการจัดโดย ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดบ้านจ้อง ร่วมกับ  กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย โรงเรียนบ้านจ้อง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งผา และเครือข่ายทางวัฒนธรรม โดยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นพื้นที่สำคัญในการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของชุมชนดำเนินการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกพื้นที่เกิดสังคมคุณธรรมโดยใช้มิติทางศาสนา บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ หรือพลัง บวร

 

สู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของชาติสืบไป ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นแหล่งบ่มเพาะปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และวัฒนธรรมประเพณีไทยให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ส่งเสริมสนับสนุนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นแหล่งเรียนรู้ศีลธรรมตามหลักสูตรธรรมศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน ให้เด็ก เยาวชน และประชาชน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และอยู่ร่วมกันในชุมชนและสังคมอย่างมีความสุข ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมอบรมการเสริมสร้างทักษะอาชีพร่วมกับศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ส่งเสริม พัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และสร้างฐานอาชีพให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

 

พัฒนาส่งเสริมสนับสนุนให้ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ให้มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนให้เป็น “ชุมชนคุณธรรม” อย่างต่อเนื่องโดยใช้มิติทางศาสนาบนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ให้อยู่คู่กับสังคม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย คณะสงฆ์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน เด็ก เยาวชน และประชาชน จำนวน 65 รูป/คน

 

ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และ นางสาวสุทธิดา ตราชื่นต้อง นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ข้าราชการสำนักวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมดำเนินการจัดกิจกรรมโครงการฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลสำเร็จทุกประการ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News