Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ป.ป.ช. ประเมินความโปร่งใส ปี 67 จ.เชียงราย ได้เฉลี่ย 91.62 คะแนน

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส จัดงานประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินได้รับทราบและนำผลการประเมินดังกล่าวไปพัฒนา ปรับปรุง และยกระดับให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยมีความโปร่งใส และมีการปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนสื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไป จะได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพในการเปิดเผยข้อมูล และบริการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบราชการ และเสริมสร้างให้เกิดกระแสการไม่ทนต่อการทุจริตต่อไป

 

โดยมี พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ประกาศผลการประเมินคุณธรรมฯ และเป็นผู้มอบรางวัล ITA AWARDS 2024 พร้อมทั้ง นายนิวัติชัย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์พิเศษ ในหัวข้อ “สถานการณ์การทุจริตของประเทศไทยในปัจจุบัน : ปัญหาและทางออก” และนายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินในหัวข้อ “การควบคุมคุณภาพการประเมิน ITA และการส่งเสริมธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ” ด้วย

 

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ มีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน ทั้งสิ้น 8,325 หน่วยงาน โดยเริ่มเข้าสู่กระบวนการประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และสิ้นสุดการประเมินในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ภายใต้การกำกับดูแลมาตรฐานการประเมินและความถูกต้องน่าเชื่อถือทางวิชาการ โดยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินทุกหน่วยงานและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนการประเมิน ITA เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (แบบวัด IIT) ของบุคลากรภาครัฐ และการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (แบบวัด EIT) ของประชาชนที่มาติดต่อหรือรับบริการหน่วยงานภาครัฐ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,369,235 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 362,989 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 461,440 คน และประชาชนผู้มาติดต่อหรือรับบริการหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 907,795 คน ซึ่งถือว่ามีผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินเป็นจำนวนมาก ในสัดส่วนที่สามารถสะท้อนผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐด้านคุณธรรมและความโปร่งใสได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการเช่นเดียวกันกับการดำเนินการในปีที่ผ่านมา อันจะเป็นข้อมูลสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐจะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงานของตนเองได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

โดยผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในภาพรวมระดับประเทศ พบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 93.05 คะแนน ซึ่งมีทิศทางแนวโน้นที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 2.86 คะแนน และเมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินที่มีคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนนหรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,696 หน่วยงาน คิดเป็นสัดส่วน 92.44 % ของหน่วยงานทั้งหมด 8,325 หน่วยงาน โดยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 11.50 % และค่าเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ได้กำหนดให้คะแนนเฉลี่ยการประเมินคุณธรรมฯ ทุกหน่วยงานในประเทศต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 89 คะแนน ซึ่งปรากฎว่าผลการประเมินเฉลี่ยอยู่ที่ 93.05 นั้น ผ่านตามค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ที่กำหนดไว้

 

สำหรับผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีคะแนนผลการประเมินสูงสุดในแต่ละกลุ่มหน่วยงาน มีดังต่อไปนี้

  • กลุ่มหน่วยงานของศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานในรัฐสภา ได้แก่ สำนักงานศาลปกครอง ได้คะแนน 97.62 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดี”
  • กลุ่มส่วนราชการระดับกรม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้คะแนน 99.31 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ได้คะแนน 98.96 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มองค์การมหาชน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้คะแนน 97.02 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดี”
  • กลุ่มหน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
    และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้คะแนน 97.27 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มกองทุน ได้แก่ กองทุนยุติธรรมได้คะแนน 94.54 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่าน”
  • กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้คะแนน 98.70 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดี”
  • กลุ่มราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด) ได้แก่ จังหวัดแพร่ ได้คะแนน 100 คะแนน อยู่ในระดับ
    “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มองค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้คะแนน 99.73 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มเทศบาลนคร ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้คะแนน 99.47 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มเทศบาลเมือง ได้แก่ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ได้คะแนน 99.67 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มเทศบาลตำบล ได้แก่ เทศบาลตำบลโคกสูงสัมพันธ์ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
    เทศบาลตำบลสามขา อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด และเทศบาลตำบลเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้คะแนนเท่ากันที่ 100 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • องค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และองค์การบริหารส่วนตำบลเอราวัณ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้คะแนนเท่ากันที่ 100 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

 

รางวัลที่สอง ประเภทรางวัลจังหวัดที่ขับเคลื่อน ITA บรรลุเป้าหมาย ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ สูงสุด 10 จังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2567

  • จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ได้คะแนน 98.79 คะแนน
  • จังหวัดที่ 2 ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี ได้คะแนน 97.93 คะแนน
  • จังหวัดที่ 3 ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี ได้คะแนน 97.67 คะแนน
  • จังหวัดที่ 4 ได้แก่ จังหวัดแพร่ ได้คะแนน 97.63 คะแนน
  • จังหวัดที่ 5 ได้แก่ จังหวัดสกลนคร ได้คะแนน 97.32 คะแนน
  • จังหวัดที่ 6 ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี ได้คะแนน 97.12 คะแนน
  • จังหวัดที่ 7 ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ได้คะแนน 97.11 คะแนน
  • จังหวัดที่ 8 ได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ ได้คะแนน 96.90 คะแนน
  • จังหวัดที่ 9 ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ได้คะแนน 96.87 คะแนน
  • จังหวัดที่ 10 ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้คะแนน 96.87 คะแนน

 

รางวัลที่สามจะเป็นประเภทรางวัลหน่วยงานที่มีพัฒนาการสูงสุด ในแต่ละประเภท มีทั้งสิ้น
12 รางวัล
 

  • ลำดับที่ 1 กลุ่มรัฐวิสาหกิจ ได้แก่

    บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด 92.37 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 9.28 คะแนน

  • ลำดับที่ 2 กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่

    มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 90.75 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 34.25 คะแนน

  • ลำดับที่ 3 กลุ่มส่วนราชการระดับกรม ได้แก่

    สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 99.31 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 34.2 คะแนน

  • ลำดับที่ 4 กลุ่มหน่วยงานของศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานรัฐสภา ได้แก่

    สถาบันพระปกเกล้า 95.19 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 4.28 คะแนน

  • ลำดับที่ 5 กลุ่มหน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่

    สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 95.92 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3.31 คะแนน

  • ลำดับที่ 6 กลุ่มองค์การมหาชน ได้แก่

    สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 87.99 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 35.63 คะแนน

  • ลำดับที่ 7 กลุ่มราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด) ได้แก่

    จังหวัดชลบุรี 96.43 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 10.04 คะแนน

  • ลำดับที่ 8 กลุ่มเทศบาลตำบล ได้แก่

    เทศบาลตำบลบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ 96.34 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 50.52 คะแนน

  • ลำดับที่ 9 กลุ่มเทศบาลนคร ได้แก่

    เทศบาลนครรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 98.25 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 15.58 คะแนน

  • ลำดับที่ 10 กลุ่มเทศบาลเมือง ได้แก่

    เทศบาลเมืองเพชรบุรี อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี 98.29 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 36.21 คะแนน

  • ลำดับที่ 11 กลุ่มองค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี 99.65 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 7.58 คะแนน
  • ลำดับที่ 12 กลุ่มองค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่

    องค์การบริหารส่วนตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี 95.16 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 49.61 คะแนน

 

รางวัลสุดท้าย ประเภทรางวัลหน่วยงานส่วนกลางที่มีผลการประเมิน “ผ่านดีเยี่ยม” จำนวนทั้งสิ้น 9 หน่วยงาน

  • ลำดับที่ 1 ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้คะแนน 99.31 คะแนน
  • ลำดับที่ 2 ได้แก่ กองทัพเรือ ได้คะแนน 99.21 คะแนน
  • ลำดับที่ 3 ได้แก่ ธนาคารออมสิน ได้คะแนน 98.96 คะแนน
  • ลำดับที่ 4 ได้แก่ การประปานครหลวง ได้คะแนน 98.84 คะแนน
  • ลำดับที่ 5 ได้แก่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้คะแนน 98.46 คะแนน
  • ลำดับที่ 6 ได้แก่ กรมการศาสนา ได้คะแนน 98.30
  • ลำดับที่ 7 ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้คะแนน 97.94 คะแนน
  • ลำดับที่ 8 ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้คะแนน  97.27 คะแนน
  • ลำดับที่ 9 ได้แก่ การยาสูบแห่งประเทศไทย ได้คะแนน 97.22 คะแนน

 

นอกจากการประกาศผลการประเมินแล้ว ภายในงานได้มีการมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 ให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินคุณธรรมฯ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่หน่วยงานภาครัฐที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และมีผลการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว โดยรางวัล ITA AWARDS 2024 มีรางวัลจำนวน 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 รางวัลหน่วยงานที่มีผลการประเมินสูงสุด ประเภทที่ 2 รางวัลจังหวัดที่ขับเคลื่อน ITA บรรลุเป้าหมาย ประเภทที่ 3 รางวัลหน่วยงานที่มีพัฒนาการสูงสุด และประเภทที่ 4 รางวัลหน่วยงานส่วนกลางที่มีผลการประเมิน “ผ่านดีเยี่ยม”

 

สำหรับประชาชนและผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดเอกสารและเข้าดูรายละเอียดผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และการประกาศผลการประเมินคุณธรรมฯ และการมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 ได้ที่เว็บไซต์ https://itas.nacc.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช. ทาง Line Official Account : @ITAS ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

SONP จับมือพันธมิตร ร่วมพัฒนาสร้างผู้ผลิตข่าวรุ่นเยาว์

 

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. หรือ NSTDA), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิเอสซีจี  จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์ หรือ Young Digital News Providers รุ่นที่ 8 ประจำปี 2567 ขับเคลื่อนพัฒนาวิชาชีพและส่งเสริมจริยธรรมสื่อเพื่อสร้างระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับนิสิต นักศึกษา ในวันที่ 16-18 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี บริหารจัดการหลักสูตรโดย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อถ่ายทอดความรู้ในทุกมิติของการผลิตข่าวบนโลกดิจิทัล อาทิ ทิศทางในการนำเสนอข่าวสารและพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคดิจิทัล, การใช้เครื่องมือบนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ, แนวทางการสร้างตัวตนบนสื่อออนไลน์, เรียนรู้จริยธรรมการนำเสนอข่าวที่ถูกต้องและเหมาะสม, การวางแผนการตลาด ประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ข่าว และสื่อสังคมออนไลน์ ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติจริงภายใต้โจทย์ “Climate Crisis กู้วิกฤติโลกเดือด” ในงาน Sustain Asia Week 2024 พร้อมต่อยอดส่งผลงานเข้าประกวดในเวที ประกวดรางวัลข่าวดิจิทัล ประจำปี 2567 ในหมวดหมู่ “ผู้ผลิตข่าวรุ่นเยาว์” ที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้

 

นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของโครงการฯ ดังกล่าว ในระหว่างการประชุมประจำเดือนกรกฎาคม 2567 ว่า ในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากวิทยากรแถวหน้าระดับประเทศ ประกอบด้วย คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ผลิตรายการสารคดีและผู้ก่อตั้ง เถื่อนChannel , คุณอรรถพล ไข่ทอง หรือ เบลล์ ขอบสนาม ผู้ก่อตั้งเพจขอบสนาม , คุณชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และคุณอัยยา ตันติเสรีรัตน์ Head of Partnership & Co-Managing Director บริษัท เทลสกอร์ จำกัด, Influencer สายข่าว คุณธัญญารัตน์ ถาม่อย ผู้ประกาศข่าว PPTV

 

ในปีนี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจากสถาบันระดับอุดมศึกษา จำนวน 13 สถาบัน รวม 25 ทีม ทางคณะกรรมการได้คัดเลือกผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร         

  1. นายนนทภูมิ จิตต์สถาน
  2. นางสาวพรหมพร ศุภสร
  3. นายพศวัต อินต๊ะเสาร์
  4. นางสาวสุกฤตา วิเศษฤทธิ์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์       

  1. นางสาวธีมาพร มาลาล้ำ
  2. นายนันทิพัฒน์นพ โสภณ
  3. นางสาวอารยา กฤตาคม
  4. นางสาวปุญญิศา อำนวย

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต          

  1. นางสาวจุฬารัตน์ สุขเสน
  2. นางสาวเสาวลักษณ์ หนูเมือง
  3. นายปุญญพัฒน์ สาธุ
  4. นายสมประสงค์ เรือนทอง

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี      

  1. นางสาวฐาปนี เสนารักษ์
  2. นางสาวสุธิดา แจ่มเจริญ
  3. นางสาวสไลลา เจริญวัย
  4. นายธีระ บุญเสริม

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา          

  1. นายศิววุฒิ แซ่ลิ้ม
  2. นายเกียรติชัย ศรีสุข
  3. นายรักษ์สิทธิ์ จินดาเจริญโต
  4. นายธนวรชัย ยิ่งวิทูร

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร     

  1. นางสาวอารียา ถวิลกิต
  2. นางสาวพนิตธิดา วงค์นคร
  3. นายกีรติ เรืองเดช
  4. นางสาวสุวนันท์ นพกาล

มหาวิทยาลัยบูรพา        

  1. นายสิรวิชญ์ สุนันท์วิริยาภรณ์
  2. นางสาวนพวรรณ วรรณสกุล
  3. นางสาวตุลยดา โพธิ์มณี
  4. นางสาวพรชนิตา พงษ์พันธ์

 

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย        

  1. นางสาวธารหงส์ เหมือนประสาท
  2. นางสาวปีย์วรา ศรีมุล
  3. นางสาวโยธกา พันธุ์เธียร
  4. นางสาววิมลรัศมิ์ ฮวบนรินทร์

 

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

  1. นางสาวมณีรัตน์ คุ้มวงศ์
  2. นางสาวจุฑามาศ ติธรรมม
  3. นายจักรพันธ์ ปานหลิม
  4. นายธีรวัฒน์ แก่นจันทร์

 

มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เขตรังสิต       

  1. นางสาวสุภาวดี บุญทนาวงค์
  2. นางสาวธัญยพร ช่างสอน
  3. นางสาวแพรวา หมื่นขันธ์
  4. นางสาวอารดา วงศ์แสนใส

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม     

  1. นายวรากร บัวงาม
  2. นายนนทพัทธ์ สาฤทธิชัย
  3. นายสุทิวัส ขยันการ
  4. นายยุทธการ รัตนะ

มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี  

  1. นางสาวพัทริกา พรมชะนะ
  2. นางสาวโชติกา คชรินทร์
  3. นางสาวจิรพร กรปรีชา
  4. นางสาวอลิสา คชายุทธ

 

มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

  1. นายณัฏฐากร ขวัญสังข์
  2. นายปรเมษฐ์ จอมหนองแปน
  3. นายกิตกนก สวัสดี
  4. นายพูศักดิ์ แดงสี

 

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ จะแจ้งรายละเอียดให้กับผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมอบรม ตามประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้ง

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ 081 700 2601 คุณธัญฉัต

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

ม.แม่ฟ้าหลวง อบรมการท่องเที่ยว โดยชุมชนเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 21 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดย อ.ดร.ธนิกุล จันทรา คณบดีสำนักวิชานวัตกรรมสังคม และ อ.ดร.ประดิษฐ์ ชินอุดมทรัพย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ ได้จัดโครงการอบรม Train the Trainers: Community-Based Tourism under the BCG Economy Model ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและแบ่งปันความรู้ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งข้าราชการและนักธุรกิจจากประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว จำนวน 18 ราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นการสร้างความประทับใจและ Soft Power ให้กับประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ในระหว่างโครงการ คณะผู้เข้ารับการอบรมได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ ไร่รื่นรมย์ บ้านแม่กำปอง และบ้านท่าขันทอง รวมทั้งเข้าพักและเรียนรู้เนื้อหาภาคบรรยายที่โรงแรมไดมอนด์ปาร์คอินน์รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย การจัดกิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้และเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย แต่ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชุมชนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตลอดระยะเวลาของโครงการ ผู้เข้ารับการอบรมมีความประทับใจในโครงการและจังหวัดเชียงราย โดยได้รับความรู้และประสบการณ์ที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาประเทศของตนได้ต่อไปในอนาคต การเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การท่องเที่ยว หรือการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

มิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว เป็นสิ่งที่ต้องรักษาและพัฒนาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน และการสร้างสรรค์โมเดลเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยการนำความรู้ที่ได้รับจากโครงการนี้กลับไปใช้ ผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถพัฒนาประเทศของตนในด้านการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต การเสริมสร้างความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างประเทศเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน และโครงการอบรมนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำแนวคิดดังกล่าวมาปฏิบัติให้เกิดผลในทางที่เป็นรูปธรรม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักวิชานวัตกรรมสังคม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

‘มาเลเซีย’ ประกาศแล้ว มกราคม 68 แพลตฟอร์มโซเชียลต้องขอใบอนุญาต

 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการประกาศกรอบการกำกับดูแลใหม่สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตทั้งหมดที่มีผู้ใช้ลงทะเบียนอย่างน้อย 8 ล้านคนในประเทศให้ปฏิบัติตามในวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม โดยกรอบการกำกับดูแลใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า

คณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (MCMC) ได้ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าการบังคับใช้ใบอนุญาตประเภทใหม่จะส่งผลกระทบต่อแพลตฟอร์มยอดนิยมเช่น Facebook, Instagram, WhatsApp, YouTube, TikTok และ Telegram โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นและประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและครอบครัว

การประกาศกรอบการกำกับดูแลใหม่นี้ได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงในมาเลเซีย องค์กรภาคประชาสังคมบางแห่งได้กล่าวว่ามาตรการนี้เป็นการกระทำที่มากเกินไปและเสี่ยงต่อการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ขณะที่ผู้สังเกตการณ์อินเทอร์เน็ตรายอื่นๆ กลับมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ทันท่วงทีเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยออนไลน์ในช่วงเวลาที่อาชญากรรมทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น

การเคลื่อนไหวของมาเลเซียในการเปิดตัวกรอบกฎระเบียบใหม่นี้ดูเหมือนจะสะท้อนถึงความพยายามของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ที่มุ่งหวังจะปกป้องประชาชนจากการรับรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทางออนไลน์

ในบริบทของประเทศไทย การกำกับดูแลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง เนื่องจากมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเว็บการพนันและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ การแพร่กระจายของข่าวปลอมบนทางออนไลน์ยังเป็นปัญหาที่สำคัญ การกำกับดูแลที่เข้มงวดจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคมออนไลน์ของไทย

กรอบการกำกับดูแลใหม่ที่มาเลเซียประกาศใช้นั้นสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบในประเทศไทยให้ทันสมัยและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การปรับปรุงกฎระเบียบนี้จะไม่เพียงแต่ช่วยลดอาชญากรรมทางไซเบอร์และป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่ยังส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีความรับผิดชอบในหมู่เยาวชนและประชาชนทั่วไปอีกด้วย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

‘เชียงราย’ ติดเมืองรองยอดฮิต นักท่องเที่ยวสูงก่อนโควิดบวก 130%

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มพื้นตัวต่อเนื่อง มีโอกาสแตะ 40 ล้านคน เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หนุนให้รายได้ภาคท่องเที่ยวไทยแตะ 3 ล้านล้านบาท ในปี 2568 เปิด 6 เทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวศักยภาพ มีการใช้จ่ายสูง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 1.35 แสนล้านบาท แนะผู้ประกอบการปรับรูปแบบบริการ สร้างโอกาสการเติบโตจากเทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่าในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 36.5 ล้านคน และในปี 2568 มีโอกาสเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน แม้นักท่องเที่ยวจีนจะพื้นตัวได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 65%-90% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของ นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างมาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และตะวันออกกลาง ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2567-2568 มีมูลค่าราว 2.65-3 ล้านล้านบาท

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 5 เดือนแรกฟื้นตัว 88% เทียบกับก่อนโควิด อยู่ในระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยภูมิภาค แต่ยังต่ำกว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม ส่วน Top5 นักท่องเที่ยวต่างชาติครึ่งปีแรก ได้แก่ จีน 3.44 ล้านคน ฟื้นตัว 61% เทียบกับปี 62, มาเลเซีย 2.44 ล้านคน ฟื้นตัว 126%, อินเดีย 1.04 ล้านคน ฟื้นตัว 106%, เกาหลี 930,000 คน ฟื้นตัว 103% และรัสเซีย 920,000 คน ฟื้นตัว 112%…..นายพชรพจน์กล่าว

ภาพรวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรก 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 45,568 บาท/คน/ทริป ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2562) อยู่เล็กน้อยราว 4.9% แต่สูงกว่าปี 2566 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 43,743 บาท/คน/ทริป ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 8.7%

Top 10 จังหวัดที่ต่างชาตินิยมเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุด คือ กรุงเทพ ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ กระบี่ พังงา อยุธยา และหนองคาย

โดยนักท่องเที่ยวใช้จ่ายไปกับค่าที่พักเพิ่มขึ้น 15% และค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 5.3% สวนทางกับค่าช้อปปิ้งที่ลดลง สะท้อนให้เห็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยไทยสูงกว่าช่วงก่อนโควิด แต่การใช้จ่ายยังไม่ฟื้นตัว เฉลี่ยอยู่ที่ 3,503-4,708 บาท/คน/ทริป สะท้อนกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ อย่างไรก็ตามการกระจายรายได้สู่จังหวัดเมืองรองเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีสัดส่วนราว 13.4% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด ที่มีสัดส่วนเพียง 9.2%

โดยเมืองรองยอดฮิต 5 อันดับแรก คือ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เชียงราย จันทบุรี และอุดรธานี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ที่ระดับ 130%-343% สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมีความสนใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น

นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิด ที่เน้นท่องเที่ยวแบบ Mass Tourism ไปสู่การท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผนวกรวมกับนโยบายด้าน Soft Power ที่ภาครัฐพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านอาหารไทย และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เกิดเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการท่องเที่ยวไทยได้กว่า 1.35 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) โดยเฉพาะ Street Food ที่ได้รับความนิยมจาก นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

2.การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) เช่น เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่า 7.8 แสนคน สร้างรายได้มากถึง 2,880 ล้านบาท

3.การท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือมิวสิกวิดีโอ (Film Tourism) ล่าสุดหลังจากที่มีการปล่อย MV เพลง “ROCKSTAR” ของ Lisa มีนักท่องเที่ยวตามไปถ่ายรูปเช็กอินที่ถนนเยาวราชจำนวนมาก รวมถึงละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำต่าง ๆ เช่น วัดไชยวัฒนาราม เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว

4.การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งจากผลสำรวจโดย Booking.com พบว่า 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวแบบอย่างยั่งยืนในอีก 12 เดือนข้างหน้า

5.กลุ่ม Digial Nomad Tourism เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่เติบโตขึ้นตามกระแส “Workcation” รูปแบบการทำงานในโลกยุคใหม่ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปเกือบเท่าตัว ซึ่งกรุงเทพติดอันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digial Nomad Tourism อันดับที่ 3 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย

6.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุ และพฤติกรรมของคนทั่วโลกที่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีโจทย์ท้าทายคือนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จากภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงต้องจับตาประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในไทย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ชาวจีนยังมีความกังวลค่อนข้างมาก โดยความเชื่อมั่นต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

ผลสำรวจความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวต่างประเทศชองชาวจีน พบว่า 24% บอกว่าเที่ยวไทยปลอดภัย 39% บอกว่าไม่แน่ใจ และ 38% บอกว่าไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยท้าทายจากต้นทุนภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง…..นายธนากล่าว

ด้านนางสาววีระยา ทองเสือ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เสริมว่า ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจากเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ดังนี้

1.ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความ ต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรมปรับปรุงที่พักให้สอดรับมาตรฐาน Green Hotel หรือเข้าร่วมโครงการ Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายรักษ์ธรรมชาติ

2.นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร อาจนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหาร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาแนวนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นไปที่

 

  • เจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูง โดยอาจเพิ่มทางเลือกในส่วนของประกันสุขภาพให้กับกลุ่ม Digital Nomad ที่มาขอ Destination Thailand Visa Revealed (DTV)
  • ผลักดันให้เกิดกระแสการเดินทางเที่ยวตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเมืองรอง โดยเชื่อมโยงกับกลุ่ม Welness Tourism ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่สามารถท่องเที่ยวในวันธรรมดาได้
  • เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างระบบด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวไทยมากขึ้น

ภาคธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ได้แก่

1.ธุรกิจโรงแรม เป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต โดยโรงแรมระดับ 4-5 ดาวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าโรงแรมทั่วไป และมีอัตราการเข้าพักแรมเฉลี่ยกลับสู่ระดับเดียวกับช่วง Pre-Covid แล้ว

2.ธุรกิจสายการบิน โดย AOT ประเมินว่าในปี 2572 จะมีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 170 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2577 จำนวนผู้โดยสารอาจแตะระดับ 210 ล้านคน ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินยังมี้แนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมาก

3.ธุรกิจร้านอาหาร อาหารกลุ่ม Street Food, Local Food, Fine Dining Thai Cuisine รวมถึงร้านอาหารประเภท Cafe ยังคงได้รับความนิยมุจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องตามคาดการณ์ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่ประเมินว่าตลาดบริการอาหารของไทยในปี 2566-2571 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.72%

4.ธุรกิจค้าปลีก ได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนกว่า 18.4% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยสินค้ายอดนิยม 3 อันดับแรกที่นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝากของที่ระลึก ได้แก่ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อาหารไทย และของที่ระลึกตามลำดับ มีการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 2,621-5,331 บาท/คน/ทริป

5.ธุรกิจ Healthcare เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และแนวโน้มการเติบโตของ Wellness Tourism สะท้อนจากสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ และรายได้ในธุรกิจ Wellness ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดการณ์ GDP ปีนี้จะเติบโตที่ 2.3% โดยยังไม่รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีปัจจัยหลักการการบริโภคในประเทศ การลงทุน และการท่องเที่ยว ส่วนภาคการส่งออกยังท้าทาย จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการกีดกันทางการค้าและกำแพงภาษี โดบคาดว่าส่งออกปีนี้จะเติบโตที่ 0.5-1%

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Krungthai COMPASS

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

บพข. ผนึกกำลังภาคเอกชน ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567, แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย และการบรรยายพิเศษ” และ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. บรรยายในหัวข้อ “แนวทางการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ณ ห้อง 211 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

 

ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า “มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรม Wellness Economy ของโลกลดลงในช่วง COVID-19 แต่หากมองภาพในระยะยาวปี 2020-2025 จะพบว่าอุตสาหกรรมนี้โดยรวมมีแนวโน้มกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเฉลี่ยต่อปีจะเติบโตสูงถึงประมาณ 10% และเมื่อเจาะลึกลงไปเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) พบว่าเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 21% และจากการสำรวจของ Medical Tourism Index 2020-2021 ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 17 จาก 46 ประเทศ ซึ่งประเทศมีศักยภาพในการเป็นผู้นำทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ หากผสมผสานความเป็นไทย (Thainess) ที่มีจุดแข็งทางด้านวัฒนธรรมและประชาชนที่เป็นมิตร สามารถสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่มาเยือนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาซื้อได้

“การออกแบบงานวิจัยให้ตอบสนองความต้องการของเทรนด์การนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบ่งเป็น
2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ที่มองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองเป็นหลัก ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอบริการไม่ว่าจะเป็น การอาบป่า (Forest Bathing) หรือการเข้าป่าเพื่อบำบัดและใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติ ไปจนถึง การท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ (Sleep Tourism) และ 2) กลุ่มผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่มองหาช่วงเวลาพักผ่อนระหว่างนั้น เช่น บริการให้คำปรึกษาโดยบำบัดออนไลน์สำหรับแขกผู้เข้าพัก เป็นต้น”ดร.วีระศักดิ์ กล่าวเสริม

 

ผศ.สุภาวดี กล่าวว่า “แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เห็นความสำคัญของการวิจัยด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยการพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยเพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมกันทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์ สมาคมสปาไทย และสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย ร่วมกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งผลความสำเร็จในวันนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHA Well Hotel 1 แห่ง และผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย GBAC Star 9 แห่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลที่สร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย นอกจากนี้ได้วางแผนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ผ่านการสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมทางด้าน Supply และส่งเสริมการตลาดในกลุ่ม Wellness, Rehab & Retreat, Longstay และ Tourism for All เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงธุรกิจบริการอื่นๆได้”

“แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วยเครือข่าย มีเป้าหมายสำคัญร่วมกันคือ
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการ นำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ การออกแบบแผนงานทางด้านตลาด ในกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อคนมั้งมวล หรือ Tourism For All ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในปี 2570 ผลตอบแทนจากการลงทุน Return on Investment หรือ ROI ต้องขยับได้ 3.5 เท่า หรือประมาณ 3-4 พันล้านบาท และในอนาคต ปี 2567-2570 กลุ่มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเป็น Key หลักในการขับเคลื่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Net Zero Pathway และเชื่อมกับมาตรฐานสากลต่อไป สำหรับด้านของการตลาดเป็นภารกิจของหน่วยงานหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. โดยมีนักวิชาการ คณะนักวิจัยกลุ่มท่องเที่ยว บพข.หนุนเสริม ทั้งด้านของ Market Foresight และการสำรวจเทรนด์ในปัจจุบัน ตลอดจนสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมด้าน Supply ในการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่าน Soft Power ต่อไป” ผศ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย

 

สำหรับเวทีเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล เป็นเวทีที่รวมพลังนักวิชาการด้านสุขภาพแถวหน้าของเมืองไทย ผนึกกำลังผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ประกอบด้วย ศ.ดร.เกียรติคุณ วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ส่วนวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผอ.ชุดแผนงานการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง บพข. รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหัวหน้าโครงการการพัฒนาการตลาดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่อันดามันและพื้นที่เชื่อมโยงรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ ดร.เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์ หัวหน้าโครงการการยกระดับและส่งเสริมผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูสุขภาพสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงภูมิภาคเอเชียตะวันออก คุณนิธิ สืบพงษ์สังข์ ผู้ประกอบการนำเที่ยวบริษัท Nutty’s Adventures พร้อมด้วย คุณชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย โดยมี ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ.ดร.เกียรติคุณ วิภาดา เผยว่า “การผลักดัน Wellness Tourism ประเทศไทยให้สำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาต่อยอด ทั้งด้านของการพัฒนาด้านคุณภาพ มีการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นความเป็นไทย และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาควิชาการกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ”

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า ในเวทีแห่งนี้เราทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกัน คือ การท่องเที่ยวคุณค่าสูง ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงต่อไป นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ ผลงานที่ทำ ณ ขณะนี้การต่อยอดจากฐานงานเดิมในปีที่ผ่านมา โดยโฟกัสที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมและมีการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในด้านต่างๆ ในพื้นที่อันดามัน ได้แก่ 1) การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) ทำคนดีให้ไม่ป่วย 2) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ทำให้คนป่วยหายดี และ 3) การท่องเที่ยวเชิงบําบัดสุขภาพ และ (Rehabilitation Tourism) เพิ่มพลังให้แข็งแรง

“ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างมากทั้งคุณภาพด้านการดูแลรักษา พร้อมกับศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว พบว่ามูลค่าการตลาดการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ มีมูลค่า 34.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 จาก 218 ทั่วโลก และได้อันดับ 9 จาก 45 ประเทศในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยนั้นมีปัจจัยด้านบวกอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้ง ค่ารักษาที่ไม่สูง ภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย นวดไทยตามวิถีถิ่น แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งเรามี SOFT POWER ของไทยที่เป็นทุนที่แข็งแรงของเรา เป็นต้น” รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวเสริม

ด้าน ดร.เกษวดี กล่าวว่า  สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงภูมิภาคเอเชียตะวันออก เราได้นำผลงานวิจัยภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ซึ่งเป็น Stock of Knowledge นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ (Research Utilization) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟูให้เข้าถึงตรงใจนักท่องเที่ยวในหลายกลุ่มเป้าหมาย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ อาทิ ITE Hong Kong 2024 และงาน Road Show ในหลายประเทศ โดยได้รับร่วมมือและการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ซึ่งทุกครั้งได้รับการตอบรับอย่างดีเป็นที่พึงพอใจ นอกจากนี้ ยังได้มีการแนะนำผลิตภัณฑ์ฯ เข้าสู่ตลาดผ่าน BNI ซึ่งเป็น B2B Platform และไม่นานเกินรอ เราจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ฯ นี้ ที่งาน Travel Show ในเกาหลีใต้ และ ITB ASIA  ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยวระดับโลก

ด้านของ ชวนัสถ์ ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย เผยว่า ตลาดสุขภาพที่เฟื่องฟู คือ การที่ผู้บริโภคมุ่งที่จะใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อปรับปรุงสุขภาพ สมรรถภาพทางกาย โภชนาการ รูปร่างหน้าตา การนอนหลับ และการ เจริญสติ เช่น กำหนดลมหายใจ การนั่งสมาธิ และการเดินสมาธิ เป็นต้น

ขณะที่นายนิธิ จาก บริษัท Nutty’s Adventures เผยว่า Tourism For All – All For Tourism การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล คือ การสร้างทุกโอกาสเพื่อคนทุกคนได้เดินทางท่องเที่ยว ต้องสร้างความตื่นรู้และความเข้าใจ รวมถึงการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับ รพ.ศิริราช เพื่อดูว่าโปรแกรมที่โรงพยาบาลมี สามารถที่จะต่อยอดเป็นแพ็คเก็จการท่องเที่ยวอย่างไร และมองว่าทำอย่างไรให้คนมาใช้บริการได้รับการต้อนรับที่ดีกลับไป นี่คือสิ่งสำคัญ ในอนาคตอันใกล้เราจะมีการจัด FAM Trip เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมในการที่จะรองรับนักท่องเที่ยวทั้งเพื่อคนทั้งมวลอย่างดีที่สุดต่อไป

ในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากลนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำองค์ความรู้จากภาควิชาการมาหนุนเสริมการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562-2567 แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.มีนักวิจัยกว่า 85 คนจากกว่า 20 มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ให้ดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ไปขายจริงในงาน Trade Show และ Road Show ต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงตลาดในระดับสากล ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้คณะนักวิจัยจาก บพข.นำโดยผศ.สุภาวดี โพธิยะราช จะมีภารกิจนำผลงานวิจัยทางด้านสปาและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไปนำเสนอในงาน South by Southwest (SXSW) 2024 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นหนึ่งงานสำคัญที่เปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายและผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยสู่ระดับสากลต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมไทย – จีน (หนานหนิง)

 

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารเจียงแสน ศูนย์ประชุมนครเชียงราย ได้มีการจัดพิธีปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมไทย – จีน (หนานหนิง) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “การศึกษาพัฒนาคน คนพัฒนาเมือง เมืองพัฒนาคน” โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนานักเรียนและเยาวชนให้มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นคนเก่งและคนดี ผ่านการศึกษาในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย จำนวน 8 แห่ง

ในพิธีปิดครั้งนี้ นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ได้มอบหมายให้นายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย และนางอำไพ จันทร์เงิน ผู้อำนวยการสำนักศึกษาเทศบาลนครเชียงราย พร้อมด้วยผู้อำนวยการและคณะครูจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย ร่วมเป็นประธานในพิธีปิดค่ายวัฒนธรรมจีนแสนสนุก ตามโครงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครเชียงรายและสถาบันการศึกษาอื่น

ในโอกาสนี้ คุณฉิน จื้อเจียน รองผู้อำนวยการโรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลกวางสี ได้กล่าวโอวาทและมอบรางวัลนักเรียนดีเด่นจำนวน 60 คน การเข้าค่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงรายได้รับการอบรมและเข้าใจภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง ผ่านการทำกิจกรรมวัฒนธรรมจีนที่สนุกสนาน

ตัวแทนนักเรียน นางสาวรัชนก อายิ และนางสาววนิดา ปุ่มแก้ว ได้ขึ้นกล่าวแสดงความรู้สึกในงาน นอกจากนี้ยังมีการแสดงจากนักเรียนในค่ายวัฒนธรรมจีนแสนสนุก อาทิ การเชิดสิงโตโดยนักแสดงจากโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า ระบำชนชาติจ้วง “เพลงพื้นบ้านรัก” การแสดงจากตัวแทนระดับประถมศึกษาของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเชียงราย การแสดง “เสน่ห์เครื่องลายครามและแก่นแท้ของจีน” และศิลปะการต่อสู้ “กังฟูไท้จี่ พู่กัน”

ความร่วมมือในครั้งนี้ทำให้จังหวัดเชียงรายได้รับประโยชน์มากมาย ไม่เพียงแต่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-จีนที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง แต่ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างสรรค์ การแสดงศิลปะ และการสื่อสารวัฒนธรรมต่าง ๆ ของบรรพบุรุษ

การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีนช่วยส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะทางภาษาและเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาและสร้างความร่วมมือในอนาคต ความสัมพันธ์ที่ดีและยาวนานระหว่างเชียงรายและหนานหนิงจะเป็นฐานที่แข็งแกร่งในการสร้างความร่วมมือทางการศึกษาและวัฒนธรรมในอนาคต

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ ทำความดีด้วยหัวใจ ดอยอินทรีย์

 

เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม 2567 ที่วิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยาน ดอยอินทรีย์ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย พื้นที่ดำเนิน “โครงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างยั่งยืน” โดย สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)  สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส่วนราชการทหารตำรวจพ่อค้าประชาชน นักเรียนจิตอาสา

ร่วมกันปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ (ทำความดีด้วยหัวใจ) น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้โดยร่วมกันทำความดีด้วยหัวใจน้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ ภาคเช้า นักเรียนจิตอาสาดำนา ขณะที่วิสาหกิจชุมชน ร่วมทำบุญแจกข้าวสาร ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 

ทั้งนี้ วัดพระธาตุชัยมงคล (พระอาจารย์อนุสรณ์) และศรัทธาวัดพุทธอุทยาน (ดอยอินทรีย์) เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานทุกคน

ในภาคบ่าย ทุกภาคส่วนร่วมกันปลูกต้นไม้ ปล่อยนกคืนธรรมชาติ เพื่อแสดงความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ”

กิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ (ทำความดีด้วยหัวใจ) มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย พระอาจารย์วิบูลย์ ธมเตโช เจ้าอาวาส วัดพุทธอุทยาน (ดอยอินทรีย์) พร้อมด้วยส่วนราชการในจ.เชียงราย นำโดย นายประเสริฐ  จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, ทหาร มทบ 37 เชียงราย โดย พ.อ.สิงหนาถ โลสุยะ, พ.ต.ต.เกรียงไกร  พุทธวงค์ สวป.สภ.แม่ยาว, กอ.รมน.เชียงราย โดย พ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หน. กลุ่มนโยบายแผนและการข่าวฯ, ทหารกองพันทหารราบ 17 โดย ผบ.กองพัน, เรือนจำกลางเชียงราย, พัฒนาชุมชนอำเภอเมืองเชียงราย โดย น.ส.ชาลิสา กาปัญญา, ฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลดอยฮางทุกหมู่บ้าน ส่วนท้องถิ่น โดยนายกเทศบาลดอยฮาง 

 

ส่วนวิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยาน ดอยอินทรีย์ โดย นายเอนก มานะการ ประธานวิสาหกิจชุมชน, นักเรียนจิตอาสาโดย อ.สุรสิทธิ์ คุณหมอภัค ชาวบ้านใกล้เคียงห้วยกีด หมู่ 1 ต.ดอยฮาง นำโดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 คณะศรัทธาวัดพระธาตุชัยมงคล อ.แม่สรวย นำโดยพระอาจารย์อนุสรณ์ คณะศรัทธาวัดพุทธอุทยาน(ดอยอินทรีย์) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยอินทรีย์ นำโดย นายอายุวัฒน์  แพอ่อน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อุทยาน 

 

พร้อมกันนี้ ยังมีเจ้าของที่ดินผู้ใจบุญนำ ที่เข้าร่วม “โครงการที่ดินปันสุข” กับธนาคารที่ดิน ประกอบด้วย  ม.ร.ว.วิภาสิริ   วุฒินันท์, คุณนันทสิริ อัสสกุล, คุณหมอ ดร.ปิยะวัฒน์ , คุณต้นรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย ปลุกพลังเยาวชน ผลักดัน “มหกรรมเยาวชนอำเภอแม่สาย”

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ได้กล่าวพบปะเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงราย หมวดที่ 6 Creative Space For Youth Development ครั้งที่ 3 “มหกรรมเยาวชนอำเภอแม่สาย” พร้อมด้วยคณะกรรมการศูนย์เยาวชน อบจ.เชียงราย ณ หอประชุมโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

อำเภอแม่สายเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างมาก มีทั้งอาหาร เครื่องแต่งกาย และประเพณีต่างๆ ซึ่งความหลากหลายนี้มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่สาย ประกอบไปด้วยชาติพันธุ์ไทใหญ่, ไทลื้อ, ไทเขิน, ไตหย่า, ไท-ขวน, จีนขุนนาน, อาข่า, ลาหู่, คาราง, ลัวะ และกะฉิ่น

อบจ.เชียงราย และศูนย์เยาวชน อบจ.เชียงราย มีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงามเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป โดยการจัดกิจกรรมมหกรรมในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนในอำเภอแม่สายได้ตระหนักรู้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวแม่สาย และเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพในด้านการคิดสร้างสรรค์ ด้านการเต้น และความกล้าแสดงออก ตลอดจนการสื่อสารวัฒนธรรมต่างๆ ของบรรพบุรุษ ภายใต้อัตลักษณ์อันโดดเด่นของอำเภอแม่สาย

ในงานครั้งนี้ เยาวชนได้มีโอกาสแสดงผลงานที่พวกเขาได้คิดค้นและพัฒนาขึ้น ทั้งด้านศิลปะ การแสดง และนวัตกรรมต่างๆ ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างความเก่าแก่และความร่วมสมัย

นางอทิตาธรกล่าวว่า “เด็กและเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ การส่งเสริมให้พวกเขาได้รับการพัฒนาและมีพื้นที่ในการแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะพวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติในอนาคต เราต้องการเห็นเยาวชนเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม”

กิจกรรมในมหกรรมเยาวชนครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการสืบสานวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่น การพัฒนาทักษะการสื่อสาร และการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

อนาคตของจังหวัดเชียงรายขึ้นอยู่กับเยาวชนในวันนี้ หากพวกเขาได้รับการสนับสนุนและโอกาสที่ดีในการพัฒนาศักยภาพ เชียงรายจะกลายเป็นจังหวัดที่มีความเจริญก้าวหน้าและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สมบูรณ์

การจัดมหกรรมเยาวชนในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนในทุกด้าน ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในอนาคต

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

รวบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกตำรวจ ตามยึด SIMBOX กล่องกระจายสัญญาน

 

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ที่ จ.เชียงใหม่ ตำรวจภูธรภาค 5 แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหา นายหลิน ชุน หง (Mr.LIN CHUN HUNG) สัญชาติไต้หวัน และ นายโสภณ สงวนนามสกุล อายุ 28 ปี ชาว ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย พร้อมของกลาง เครื่องกระจายสัญญาณโทรศัพท์ หรือ Simbox จำนวน  6เครื่อง เร้าเตอร์ wifi แบบใส่ซิมการ์ด 6 เครื่อง กล้องวงจรปิด 7 ตัว โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง  

พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส.ภ.5  เปิดเผยว่า ตนได้ไปกู้เงินสหกรณ์ตำรวจภูธรภาค 5 จำนวนหนึ่งเพื่อที่จะนำเงินไปซื้อรถยนต์ส่วนตัว แต่หลังจากที่เรื่องอนุมัติและมีเงินโอนเข้าบัญชีของธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบัญชีของตนเอง พอวันรุ่งขึ้น ก็มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่เบอร์ลงท้ายด้วยเลข 4986 โทรเข้ามา ทำทีว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ที่รู้ว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีจำนวนหนึ่ง ได้แจ้งว่า บัญชีมีความผิดปกติมีเงินเข้าจำนวนมาก จึงให้ตนนั้นดำเนินการตามขั้นตอนและกรอกข้อมูลส่วนตัวลงไป  

ตนจึงเกิดคำถามว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เหล่านี้ จะรู้เรื่อง เงินเข้าออกบัญชีส่วนตัวเราได้อย่างไร ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวเชื่อได้ว่า เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรมาหลอกลวง จึงมีการสั่งการให้ นำหมายเลขโทรศัพท์ ที่โทรเข้ามา ไปตรวจสอบด้วยเครื่องพิเศษในการติดตาม และเช็กสัญญานชัดเจนว่า มีการออนระบบในพื้นที่ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย จึง ได้ทำการสืบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลจังหวัดเชียงรายที่ ค.206/2567  เพื่อขอหมายค้น 

โดยได้ตรวจค้น อาคาร G ห้องG03 โดยได้ตรวจพบ กล้อง ip camera ยี่ห้อ tp-link model: tapo C200 จำนวน 1 เครื่อง  เครื่องกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ต ยี่ห้อ tp-link model:Archer MR600 จำนวน 1 เครื่อง  และสามารถจับกุม นายโสภณ  และ นายหลิน ชุน หง ได้

สอบสวนทราบว่า นายหลิน ชุน หง ได้นำอุปกรณ์ต่าง ๆ มาติดตั้ง เพื่อกระจายสัญญาณโทรศัพท์ โดยเป็นการสุ่มหมายเลขออกไปเพื่อให้ปลายทาง ที่รับสายไม่สามารถระบุได้ว่าปลายทางของสายเป็นใคร และมาจากประเทศอะไร โดยได้จ้างวานนายโสภณ ให้เป็นล่ามในการช่วยประสานงานการทำงานวันละ 1,000 บาท  ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่หลบเลี่ยงการตรวจจับสัญญานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะได้ขยายผลหากลุ่มผู้ร่วมขบวนการต่อไป 

สำหรับการตรวจยึด Sim Box หรือเครื่องกระจายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโดยทั่วไปไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปติดตั้ง ใช้ส่งสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ซึ่งขณะตรวจค้นพบว่า มีการติดตั้งและเปิดทำงานอยู่ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการขอหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองตาม จ.289/67 และ จ.290/67 ของศาลจังหวัดเชียงราย และได้ดำเนินการจับกุมตัวผู้ต้องหา ส่งพนักงานสอบสวน สภ.บ้านดู่ ดำเนินการตามกฎหมายในข้อหา ร่วมกัน ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498, ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498, ร่วมกันใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 67(3) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ตำรวจภูธรภาค 5

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News