Categories
TOP STORIES

สธ. ตั้งเป้าผลิตหมอปีละ 5,000 คน ร่วมมือ ม.พะเยา และมหาวิทยาลัยอีก 15 แห่ง

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่าง สธ. กับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง ประกอบด้วย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จุฬาฯ ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.พะเยา ม.มหาสารคาม ม.มหิดล ม.วลัยลักษณ์ ม.สงขลานครินทร์ ม.อุบลราชธานี และสถาบันพระบรมราชชนก

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ. โดยสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ เข้าสู่ระบบและกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง และมีรพ.ของสธ.ที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 จำนวน 39 แห่ง ผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบแล้ว 13,780 คน ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบ 77%

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการขยายกรอบความร่วมมือทั้งด้านการศึกษา การผลิตบุคลากรสาธารณสุข การวิจัยเพิ่มมากขึ้น รองรับโยบายรัฐบาลในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และอีกส่วนสำคัญคือรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งต้องมีบุคลากรทางการแพทย์รองรับเพิ่มมากขึ้น

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์ภาพรวมเรามีแพทย์อยู่ประมาณ 50,000 คน อยู่ในสังกัดสธ. 25,000 คน ที่เหลือ 20-30% อยู่ที่ภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ และหน่วยความมั่นคง ส่วนอีก 20% อยู่ในภาคเอกชน หากเทียบหลายปีก่อนถือว่าไม่ขาดแคลน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งการผลิตแพทย์ 1 คน สามารถสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้หลายสิบหลายร้อยล้าน ทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมทั้งประเทศโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 3,500 คน โดยแต่ละปี สธ.ร่วมผลิตในชั้นคลินิกประมาณ 2,000 คน ขณะนี้สธ.กำลังจัดทำร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์ในการพัฒนากำลังคน

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เดิมเรามองแต่บริบทการผลิตบุคลากรสาธารณสุขตอบสนองเฉพาะประชาชนในประเทศ แต่บริบทใหม่จะต้องตอบสนองบริการทางการแพทย์ที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลายระดับมากขึ้นโดยความร่วมมือกับทุกหน่วย โดยเฉพาะแพทย์ที่ตั้งเป้าช่วง 6-10 ปีจากนี้จะต้องผลิตให้ได้ปีละ 5,000 คน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ รวมถึงรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

เชียงรายเชื่อม SME เหนือ สู่ตลาด รัฐ-เอกชน THAI SME-GP Road Show

 
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 67 ที่ห้องประชุม อาคารคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน THAI SME-GP Road Show จ.เชียงราย มุ่งขยายโอกาส SME พื้นที่ภาคเหนือตอนบนเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยมี ดร.อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมงาน

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า จังหวัดเชียงรายรวมถึงกลุ่ม จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา และ แพร่ เป็นพื้นที่ที่มี SME เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยเพาะเชียงรายเป็นหนึ่งใน จังหวัดศูนย์กลางทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของภูมิภาค โดยมี SME จำนวน 65,128 กิจการ เกิดการ จ้างงาน 173,686 คน ที่สำคัญมีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในกิจการที่เป็นนิติบุคคล คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 59,941 ล้านบาท

 

ในส่วนของตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จังหวัดเชียงราย ยังเป็นศูนย์รวมของผู้ซื้อภาครัฐ ที่มีทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ฯลฯ จำนวน 1,062 หน่วย ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรวมมูลค่าถึง 10,757 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 48.5 เป็นการจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว.

 

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ซื้อ ได้พบกับ SME ที่เป็นผู้ขายสินค้าและบริการ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ SME สามารถขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่หน่วยงานได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ เพื่อช่วยให้การทำงานด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ถูกต้อง และเกิดประสิทธิภาพในการร่วมส่งเสริม สนับสนุน SME ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ต่อไป

 

ด้าน ดร.อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับ ที่ 2) พ.ศ.2563 ซึ่งเริ่มดำเนินการนับตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อสร้างโอกาสให้ SME เข้าสู่ตลาดภาครัฐที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.2-1.5 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมาตรการ THAI SME-GP เป็นการให้สิทธิประโยชน์กับ SME ในรูปแบบของแต้มต่อในการแข่งขัน ซึ่ง SME ที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP กับ สสว. โดยจะได้รับแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 10 และหากผู้ประกอบการ THAI SME-GP ขายสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะได้รับแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 15 นอกจากนี้การจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการ SME เป็นลำดับแรกก่อน

 

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ตัวเลข ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 มี SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP จำนวน 2,997 ราย ในปี 2566 SME ที่ขึ้นทะเบียน ได้เป็นคู่ค้าภาครัฐจำนวน 1,548 ราย รวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้าง 7,453 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานของรัฐใน พื้นที่เชียงราย คิดเป็นร้อยละ 41.04 และจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 59.96

 

ดังนั้น เพื่อช่วยขยายโอกาส SME ให้เข้าสู่ตลาดภาครัฐเพิ่มขึ้น ในปี 2567 สสว. ดำเนินการเสริมสร้างความพร้อมให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ SME ด้วยการอบรมความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก และจัดงานส่งเสริม เชื่อมโยงตลาดภาครัฐ หรืองาน THAI SME-GP Roadshow เพื่อเปิดโอกาสให้ SME ซึ่งเป็นผู้ขาย ได้พบกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งภาคเหนือ กำหนดจัดงาน 2 ครั้ง จังหวัดเชียงรายเป็นครั้งแรก และจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ใน วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ SME ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ มีโอกาสนำเสนอสินค้าและบริการให้หน่วยงานภาครัฐ- ภาคเอกชน สำหรับ SME ที่ร่วมออกบูธแสดงสินค้าในครั้งนี้มีจำนวนกว่า 30 กิจการ มีสินค้าและบริการ อาทิ ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เครื่องใช้อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ การบริการติดตั้งระบบไฟฟ้า เป็นต้น

 

ภายในงานยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคาร SME D Bank ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หน่วยงานพันธมิตร อาทิ สำนักงานพาณิชย์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษ และเสวนาให้ความรู้ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยวิทยากรจากสำนักงานคลังจังหวัดเชียงราย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ภูมิภาคที่ 8 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดเชียงราย และ สรรพากรพื้นที่ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจในระดับพื้นที่และระดับประเทศต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

“กสว. ร่วมมือ ผู้ว่าฯเชียงใหม่” จัดงบ 150 ล้านบาท แก้ปัญหา PM 2.5

 
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้นำผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัย ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้านำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของกองทุน ววน. มุ่งแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่อย่างเร่งด่วนตามโจทย์และความต้องการของจังหวัดเชียงใหม่ โดย สกสว.จัดสรรงบประมาณวิจัยภายใต้งบประมาณปี 2566 – 2567 รวม 2 ปี งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท คิดเฉลี่ยปีละ  70 กว่าล้านบาท ใน 4 มิติเร่งด่วนสำหรับการลดฝุ่นจากต้นตอแหล่งกำเนิด ได้แก่ การลดไฟในพื้นที่ป่าไม้ การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การลดไฟในพื้นที่เกษตร และการลดฝุ่นข้ามแดน โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยทุกภาคส่วนตั้งเป้าผลลัพธ์ทั้งการลดปัญหาที่เกิดซ้ำในแต่ละพื้นที่ การติดตามสถานการณ์ การวางแผนป้องกันและรับมือฝุ่นจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
 
 
 

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า แต่ละปีประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทั้งปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ หลังการปฏิรูประบบ ววน. ในปี 2562 ได้มีการจัดตั้งกองทุน ววน. ขึ้น โดยมี กสว. ทำหน้าที่กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่สภานโยบายได้กำหนดไว้

 
 

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเสริมว่า กสว. ได้อนุมัติงบประมาณ แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ในประเด็น “งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” โดยใช้งบประมาณ 2 ปี รวมจำนวน 155,000,000 บาท แบ่งเป็นงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 77,700,000 บาทและปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 77,300,000 บาทรวมทั้งให้ทุนแก่หน่วยงาน/นักวิจัยตามโจทย์สำคัญเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการอนุมัติแผนงานสำคัญเร่งด่วนและงบประมาณให้ทันต่อสถานการณ์มองทั้งระยะสั้น กลางและระยะยาว สำหรับการนำผลงานวิจัยไปใช้ในสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด มีเป้าหมายสำคัญ คือ การเร่งนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน ววน. ไปช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชน เพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้ร่วมทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้ทราบถึงโจทย์สำคัญของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และให้สามารถแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบท มีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาที่เร่งด่วนหน่วยงานภาควิชาการ ได้เร่งระดมหาทางออกให้กับจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากกองทุน ววน. อย่างเข้มข้น เพื่อสนับสนุนการบริหารท้องถิ่นให้คล่องตัวและสามารถบูรณาการการทำงานบนระบบข้อมูลและงานวิจัยอย่างเข้มข้นมากขึ้น

“ความสำคัญของงานวิจัยจะช่วยให้ผู้ดำเนินงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความซับซ้อนของปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นำมาสู่การแก้ไขที่เป็นระบบ รวมทั้งเป็นแนวทางเชิงรุกที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง การควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที การจำกัดจำนวนการเกิดเหตุไฟป่า การช่วยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาเดียวกันซึ่งจะทำให้งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมีความยั่งยืนและมีโอกาสนำไปใช้เป็นวงกว้าง”

 
 
ขณะที่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญกับวิกฤติไฟป่า ฝุ่นควันต่างๆ งานวิจัยนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดข้อถกเถียงของวิธีแก้ไขที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนระหว่างปฏิบัติงาน อย่างเช่นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม งานวิจัยได้ช่วยให้มีบทสรุปขององค์ความรู้ วิธีดำเนินการ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ตรงกับบริบทของพื้นที่ ชีวิตของคนในชุมชน และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแบบที่ทุกภาคส่วนต้องการ ดังนั้น เมื่อพื้นที่มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำได้ คือ การเปิดพื้นที่ เชิญหลากผู้รู้จากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์องค์ความรู้ที่มีร่วมกัน จนนำไปสู่การลงมือปฎิบัติจริง นอกจากนี้งานวิจัยยังช่วยให้หลากผู้รู้ยอมรับว่าการตกผลึกขององค์ความรู้ว่าทางออกที่แท้จริงของพื้นที่คืออะไร
 
 
 

ด้านนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การปฏิบัติการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันกับสกสว. นับเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะทำให้วิกฤติคลี่คลายได้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาทางเชียงใหม่ได้มีการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้แล้วแต่อาจยังไม่ทั่วถึง และบางนวัตกรรมอาจยังไม่ครอบคลุมกับปัญหาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดมีความยินดีและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 16 โครงการวิจัยที่สกสว. และกองทุน ววน. ได้สนับสนุนมานั้นจะไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเฉพาะในระยเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหา และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยการนำงานวิจัยมาใช้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการออกนโยบาย ยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เกิดการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ที่เป็นบริบทสำคัญของจังวัดได้อย่างเข้มข้น”

 

นายทศพล กล่าวทิ้งท้ายว่า การถอดบทเรียนจากสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดหวังว่าเมื่อ จ.เชียงใหม่ ได้ทดลองปรับโครงสร้างให้องค์กรส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมนำเทคโนโลยีและงานวิจัยมาใช้ติดตาม วางแผนการรับมือ และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้การสนับสนุบงบประมาณจากกองทุน ววน. จะช่วยให้ จ.เชียงใหม่ ได้รับประโยชน์จากงานวิจัย และเกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเป็นระบบที่จะเป็นแรงจูงใจไม่ให้เผาและบุกรุกป่า การส่งเสริมความเข้าใจและค่านิยมของประชาชนจากความเข้าใจถึงผลกระทบและช่วยกันลดปัญหาต่าง ๆ ปรับโครงการสร้างการเพาะปลูกเพื่อเข้าสู่วิถีเกษตรไม่เผา และมีทางเลือกสำหรับการทำเกษตรกรรมที่จะมีพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านองค์ความรู้ การร่วมบริหารจัดการและป้องกัน รวมถึงนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ

 
 
 

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการจัดทำ และขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงดำเนินการจัดสรรงบประมาณของกองทุน ววน. ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สกสว. พร้อมนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่วิกฤตเร่งด่วน ในส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา สกสว. โดยกองทุน ววน. ได้มีการสนับสนุนงบประมาณวิจัยในประเด็นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในพื้นที่ปฏิบัติการ จ. เชียงใหม่  ภายใต้งบประมาณปี 2566 -2567 เป็นงบประมาณวิจัยปีละกว่า 70 ล้านบาท รวม2ปี  150 ล้านบาท  โดยพิจารณาอนุมัติงบประมาณเป็นแบบรายปี จัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 43,050,000 บาท และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) จำนวน 34,650,000 บาท โดยมุ่งขับเคลื่อน 4 มิติเร่งด่วน ดังนี้

 

1.โครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ป่า จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนมีแรงจูงใจในการรักษาผืนป่า มากกว่าเดิมด้วยกลไกการตอบแทนคุณนิเวศ หรือ Payment for Ecosystem Service (PES) ด้วยการศึกษาบริการทางนิเวศและมูลค่าของทรัพยากรเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนและประชาชนไปใช้สนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์ป่าและป้องกันไฟป่า เช่น การขายคาร์บอนเครดิต การทำวิจัยชุมชนเพื่อพัฒนากิจกรรมการอนุรักษ์และกองทุนอนุรักษ์ระดับชุมชน เพื่อ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการไฟป่าของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาระบบติดตามและการวิเคราะห์โอกาสความเสี่ยงที่แม่นยำผ่านการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและงานวิจัย

 

2.การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ที่จะช่วยให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่า – ปัญหาฝุ่นควันที่แต่เดิมมีความซับซ้อน ลดการเกิดการเผาไหม้ซ้ำ ๆ และสามารถนำข้อมูลไปจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ ได้เพิ่มเติม ได้แก่ ข้อมูลชุดที่ 1 สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ข้อมูลด้านจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบัน ข้อมูลชุดที่ 2 ด้านอุตุนิยมวิทยา และสภาพของพื้นที่ ข้อมูลชุดที่ 3 ด้านการป้องกันผลกระทบและวิธีการเยียวยา ข้อมูลชุดที่ 4 ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ การลดสาเหตุ การรองรับการเผชิญเหตุ และรองรับการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยทั้ง 4 ชุดข้อมูลนี้ยังมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงไปสู่การกำกับและติดตามค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมทั้งประเทศที่ดำเนินงานโดยกรมควบคุมมลพิษ และพ.ร.บ.อากาศสะอาดและมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดฝุ่น PM 2.5 ของกรรมการร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด

 

3.การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร การทำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเป็นการปลูกพืชแบบไม่เผา และมีนวัตกรรม / วิธีทำเกษตรที่สร้างรายได้สูงกว่าเดิม โดยเฉพาะวิธีการจัดการแปลงก่อนเริ่มทำการเพาะปลูกและหลังกระบวนการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการปรับเปลี่ยนจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด หรือ ไม้ยืนต้นและไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน และโครงการวิจัยในกลุ่มนี้ยังมุ่งให้มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำพลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ทั้งเกษตรกร ผลผลิต และไร่นาแต่ละพื้นที่มีความยั่งยืนขึ้น

 

4.การลดฝุ่นข้ามแดน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านนำแนวทางการลดฝุ่น (Best Practice) ไปขยายผลกับการผลิตการเกษตรภายในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเกิดการถ่ายอดองค์ความรู้ที่สำคัญที่สามารถใช้ได้ร่วมกันระหว่างสามประเทศ คือ ไทย ลาว เมียนมา และถอดบทเรียนการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน

 

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานกรรมการกำกับติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 กรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวว่า ขณะนี้ (ร่าง) พ.ร.บ. อากาศสะอาด อยู่ในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งเป็นกระบวนการนี้ต้องการข้อมูลงานวิจัยมาช่วยสนับสนุนการพิจารณาให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ และครบถ้วนในทุกมิติ  

 

       การจะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้เป็นรูปธรรมได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องบูรณาการข้อมูลและส่งต่อผลงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ใช้ และผู้ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับกระบวนการขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์และความต้องการมากที่สุด ดังนั้น การหารือในครั้งนี้จะทำให้ กสว. และหน่วยงานทุกภาคส่วนได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ รศ.ดร. ปัทมาวดี กล่าวเสริม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สกสว.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

อ.แม่สรวย จัดพิธีจำลองแห่ พระเจ้าทองทิพย์ขึ้นแม่น้ำลาว ปี 67

 
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ดร.ยงยุทธ สาระสมบัติ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ผู้นำชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ตำบลศรีถ้อย รวมถึงตำบลข้างเคียง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ร่วมกันจัดงานจำลองการเสด็จทางชลมารคของพระเจ้าไชยเชษฐา โดยมีการจำลองการเสด็จทางแม่น้ำลาวไปครองเมืองเชียงใหม่ และอัญเชิญพระเจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของเมืองล้านนาขึ้นมาจากแม่น้ำลาว เพื่อให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้มากราบไหว้ขอพร ณ ลานหน้าวัดพระเจ้าทองทิพย์  ริมแม่น้ำลาว เนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2567 บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก
 

 จากประวัติเหตุการณ์พระเจ้าไชยเชษฐา เสด็จทางชลมารคแม่น้ำลาวไปครองเมืองเชียงใหม่ และได้อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ครั้นเสด็จมาถึงตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย บริเวณหน้าวัดพระเจ้าทองทิพย์ในปัจจุบัน เรือพระที่นั่งไม่สามารถเคลื่อนต่อได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูป ดังกล่าว ประทับ ณ ศาลาชั่วคราว ต่อมาได้มีการสร้างเป็นวัดพระเจ้าทองทิพย์ เดิมอยู่เมืองหลวงพระบางประเทศลาว มีอายุประมาณพันปีเศษ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อ พ.ศ. 2063 พระเจ้าโพธิสารขึ้นครองนครเชียงทอง (หลวงพระบาง) 
 
 
ได้ไปขอราชธิดากษัตริย์เชียงใหม่มาเป็นมเหสี และได้ครองราชสมบัติร่วมกันเป็นเวลาหลายปีแด่ก็ไม่มีพระโอรส ดังนั้นในวันวิสาขบูชา พระเจ้าโพธิสารพร้อมด้วยมเหสี จึงได้ไปบนบานศาลกล่าวต่อพระเจ้าทองทิพย์เพื่อขอให้มีพระโอรส ซึ่งต่อมาไม่นานมเหสีก็ตั้งครรภ์ และประสูติเป็นพระโอรสนามว่า “ไชยเชษฐากุมาร” เมื่อพระไชยเชษฐาอายุ 14 พรรษาพระอัยกา (สมเด็จตา) ผู้ครองนครเชียงใหม่สวรรคต และไม่มีพระโอรสเหล่าอำมาตย์ของนครเชียงใหม่พร้อมกันมาทูลขอพระเจ้าไชยเชษฐา ไปครองนครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารทรงอนุญาต 
 
 
โดยก่อนที่จะไปนครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารให้นำพระเจ้าทองทิพย์ไปด้วยเพราะเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ ดังเมื่อตอนไปขอให้มเหสีมีพระโอรสก็ได้ดังประสงค์ พระเจ้าไชยเชษฐา จึงได้นำพระเจ้าทองทิพย์ลงเรือไปด้วย โดยเดินทางจากนครเชียงทอง (หลวงพระบาง) ผ่านแม่น้ำโขง แม่น้ำกก สู่แม่น้ำลาว เพื่อจะไปยังนครเชียงใหม่ ครั้นเรือล่องมาถึงหน้าวัดพระเจ้าทองทิพย์ในปัจจุบัน เรือพระที่นั่งไม่สามารถเคลื่อนต่อได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง พระเจ้าไชยเชษฐา ทรงเห็นว่าพระเจ้าทองทิพย์ คงประสงค์จะประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ จึงให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระเจ้าทองทิพย์ปัจจุบัน
 

 ต่อมาในปี พ.ศ. 2397 เจ้าหลวงผู้ครองเมืองเชียงราย และพระยาไชยวงศ์ ผู้รักษาเมืองหนองขวาง (อำเภอแม่สรวยปัจจุบัน) ได้เป็นประธานบูรณะวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าทองทิพย์ และเมื่อปี พ.ศ.2461 พระนางเจ้าดารารัศมี และเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้เสด็จมาทำการสักการบูชาพระเจ้าทองทิพย์ และพักแรมอยู่ที่สถานที่นี้หลายคืน  พระเจ้าทองทิพย์องค์จริงดั้งเดิมยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าทองทิพย์ จวบจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของเมืองล้านนา ที่ผู้คนมักจะมาบนบานขอให้มีบุตรตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS TOP STORIES

พบทั่วโลกติดสินบน 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5% ของจีดีพีโลก

 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมสวิสโซเทล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่วมกับหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “การต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนและบทบาทของภาคเอกชนไทย” 

นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการ ป.ป ช. กล่าวตอนหนึ่งว่า การคอร์รัปชัน ติดสินบนพนักงานของรัฐเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับการทำธุรกิจ ธนาคารโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายสำหรับติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน world economic forum ประมาณการตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5% ของจีดีพีโลก

 

สำหรับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ป.ป.ช. ได้ประสานการทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติ และทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกัน เมื่อเข้ามาแล้วต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอนุสัญญาต่อต้านการทุจริต กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องออกมาตรการส่งเสริมและป้องกันการทุจริต ส่งเสริมคุณธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรไม่ยอมรับการทุจริต ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงความรับผิดทางอาญากรณีการทุจริตทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการทุจริต และให้สัญญาเป็นโมฆะ ทั้งนี้ ป.ป.ช. พยายามแก้ไขกฎหมายให้สามารถเอาผิดซ้ำใน 2 ประเทศอีกด้วย ขณะนี้ไทยมุ่งหวังจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการติดสินบน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 44 ประเทศ

 

ด้าน นางวีเบกเกอ เลอเซนด์ เลอแวก (Mrs.Vibeke Lyssand Leivag ) ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าต่างประเทศฯ ทำงานในประเทศไทยมา 48 ปีแล้ว มีสมาชิก 36 บริษัท มีเครือข่าย 8,000 – 9,000 บริษัท เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการที่เติบโตและยังมีโอกาสในการลงทุนมากมาย ประเทศไทยยังอยู่ในพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่ตลาดอาเซียนได้ มีมาตรการจูงใจการลงทุนจำนวนมาก แต่โอกาสมาพร้อมกับความท้าทาย ทั้งการแข่งขันในภาคธุรกิจ และระบบราชการไทยที่ซับซ้อน เรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการประท้วง มีการรัฐประหาร ที่จริงรัฐบาลปัจจุบันให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือการปรับปรุงระบบการศึกษา เพิ่มทักษะการทำงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โลจิสติกส์และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ

 

เหตุผลที่กล่าวมาเหล่านี้ มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงไม่น้อย จะเห็นว่าดัชนีการทุจริตไม่ได้มีการพัฒนาขึ้น จากปี 2018 ตกลงจากอันดับที่ 99 มาอยู่ที่ลำดับ 108 จะเห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันทำให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจ เกิดความไม่ยุติธรรมหากไม่มีการจ่ายค่าน้ำชา เราอยากมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดความยุติธรรม เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการจะต้องทำงานร่วมกัน

 

นางกุลภัทรา สิโรดม ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า ถ้าบริษัทมีกรรมการที่ดี เราสามารถลดการติดสินบนและการทุจริตลงได้ทั้งในบริษัทและนอกบริษัท รวมถึงทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วย ซึ่งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2010 เพื่อป้องกันการคอร์รัปชันโดยสมัครใจ มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อต่อต้านการทุจริต อิงตามมาตรฐานนานาชาติ ทำการอบรมการวิเคราะห์และควบคุมลดปัญหาการทุจริตภายในองค์กรของตัวเอง และยังมีโปรแกรมผู้นำจริยธรรมที่พยายามจะช่วยผู้บริหารให้ตัดสินใจเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ได้

 

ขณะที่นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เห็นว่า การสร้างคุณธรรมและค่านิยมต่อเยาวชนไทยในการต่อต้านการทุจริตถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดโอกาสการทุจริตในประเทศไทยลงได้ รวมถึงร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมการเปิดเผยการทุจริตทุกประเภท โดยเฉพาะการจัดจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ การสนับสนุนการผลักดันการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ จะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น.

  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAMกองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News

MOST POPULAR
FOLLOW ME


Facebook


Times


Instagram


Youtube


Line

NEWS UPDATE
BREAKING NEWS


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566

xemeaino


Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘อทิตาธร’ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สรงน้ำพระธาตุจอมจ้อ อำเภอเทิง

 

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ณ วัดพระธาตุจอมจ้อ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ประธานฝ่ายฆราวาส เปิดโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมสืบสานประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมจ้อ อำเภอเทิง ประจำปี 2567 พร้อมด้วย นายสิงห์ทอง หนุนนำสิริสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเทิง นายบุญตัน เสนคำ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอเทิง เขต 1 นายเกษม หาญกล้า สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอเทิง เขต 2 โดยมี พระครูอุดมคณาภิรักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอ เทิง เป็นผู้กล่าวรายงาน

 

พระธาตุจอมจ้อ ประดิษฐาน ณ หมู่ 20 ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เป็นโบราณสถานที่สำคัญ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป และถือเป็นมรดกทางด้านศาสนาที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอเทิง มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นพระธาตุที่สำคัญ “หนึ่งในเก้าจอม” ของจังหวัดเชียงราย ทุกปีจะมีการสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ และองค์พระธาตุ ในวันวิสาขบูชาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นประเพณีความเชื่อดั้งเดิมมาแต่โบราณเปรียบเสมือนการได้สรงน้ำพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย โดยอำเภอเทิงร่วมกับ คณะสงฆ์อำเภอเทิง เทศบาลตำบลเวียงเทิง สภาวัฒนธรรมอำเภอเทิง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในเขตอำเภอเทิง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเพณีท้องถิ่นตลอดมา

 

โครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมสืบสานประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมจ้อ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีงามและตระหนักถึงความสำคัญของพระธาตุจอมจ้อ หนึ่งในพระธาตุเก้าจอมของจังหวัดเชียงราย

 

เพื่อส่งเสริมให้ผู้ร่วมงานตระหนักถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาได้ศึกษาหลักธรรมคำสอนและนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรและชุมชน สร้างจิตอาสาในการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอำเภอเทิง ทั้งนี้ การจัดงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมสีบสานประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมจ้อ ในครั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 100,000 บาท

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงรายเตรียมจัดกิจกรรมเดินวิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ

 
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567  ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานจัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้แทนนายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบการจัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการในการจัดกิจกรรม อีกทั้งเพื่อพิจารณาการเตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรม การกำหนดเส้นทาง รูปแบบ พิธีการเปิดกิจกรรม รูปแบบขบวน รูปแบบธงตราสัญลักษณ์ รวมถึงการมอบหมายภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ

 

           ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้จัดโครงการเดิน วิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาที่คุณ รวมทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรมในห้วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2567 โดยจังหวัดเชียงรายกำหนดจัดกิจกรรมขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน ถึงวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2567 โดยในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 พิธีเปิด ณ ด่านพรมแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเริ่มออกเดิน วิ่ง ปั่น จากด่านพรมแดนอำเภอแม่สาย ไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 (ศาลากลางหลังแรก) อำเภอเมืองเชียงราย และในวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 จัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมเฉลิมฉลองธงตราสัญลักษณ์ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 (ศาลากลางหลังแรก) และในวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2567 เริ่มออกเดิน วิ่ง ปั่น จากศาลากลางหลังแรก ไปยังจุดส่งมอบธงตราสัญลักษณ์หน้า อบต.แม่เย็น อำเภอพาน เพื่อส่งต่อให้จังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดถัดไป

 

ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายขอเชิญชวนส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาที่คุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความสมัครสมานสามัคคีอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘พิสันต์’ เตรียมส่ง ‘วัดห้วยปลากั้ง’ เป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบเชียงราย ปี 67

 

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.67 ที่ห้องประชุมพวงแสด ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมจังหวัดเชียงราย ครั้งที่1/2567 โดยมีคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม

 

โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้นำเสนอผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมา ได้แก่การจัดพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่ห้องนิทรรศการ 5 อาคารศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีผู้ไปรับโล่เชิดชูเกียรติฯ ได้แก่ ชุมชนคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น ได้แก่ ชุมชนคุณธรรมวัดหัวฝาย โดยพระครูปิยวรรณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย องค์กรคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น ได้แก่ โรงพยาบาลแม่จัน โดยนายรัฐกานต์ ปาระมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่จัน อำเภอคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น ได้แก่ อำเภอพาน โดยนายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน สำหรับการดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นคนดีศรีจังหวัด ประจำปี 2566 ประเภทเด็ก/เยาวชน (อายุ 13-25 ปี) ได้แก่ นายอิทธิพล หลวงโปธา และประเภทประชาชน ได้แก่ นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ 

 

นอกจากนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้แจ้งในที่ประชุมทราบถึงโครงการ สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2567 ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้เสนอชุมชนคุณธรรมฯ วัดห้วยปลากั้ง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย เข้ารับการคัดเลือก ขณะนี้ได้ผ่านการคัดเลือกในรอบ 20 ชุมชน (จากชุมชนฯ ทั่วประเทศ จำนวน 76 ชุมชน) โดยจะมีคณะกรรมการลงพื้นที่ในปลายเดือนมิถุนายน เพื่อคัดเลือกวัดห้วยปลากั้งให้เป็น 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ต่อไป

 

โครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2564 – 2567 ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีชุมชนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ“ เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดท่าข้ามศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ ชุมชนบ้านเมืองรวง อำเภอเมืองเชียงราย และชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) อำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับรางวัล 3 ปีซ้อน แห่งเดียวในประเทศไทย และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชุมชนวัดห้วยปลากั้ง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย ได้ผ่านการคัดเลือกในรอบ 20 ชุมชน ซึ่งคณะกรมมการฯ จะมีลงพื้นที่พิจารณาชุมชนเชิงประจักษ์ประมาณเดือนกรกฎาคม 2567

 

ปิดท้ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้เชิญชวนชาวเชียงรายสมัครเข้ารับการคัดเลือกให้เป็น “คนดีศรีจังหวัด” โดยเปิดรับสมัครไปจนถึง วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 สามารถส่งรายละเอียดผลงานได้ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย เชียงราย หรือโทรสอบถามรายละเอียดที่ได้ 053 150 169 และสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร พร้อมรายละเอียดการสมัครที่ได้ที่ https://me-qr.com/1maHKiUC

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

คืบหน้า 85% ถนนโครงการหลวงห้วยโป่ง คาดเดือน ก.ค. 67 นี้ เชียงรายได้ใช้

 

 

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567กรมทางหลวงชนบท สร้างถนนสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง จ.เชียงราย กว่า 19 กิโลเมตร คืบหน้า 85% เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจ สนับสนุนการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่และการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

 

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 1) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย นับเป็นความภาคภูมิใจของ ทช. ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ในการสร้างเส้นทางสนับสนุนพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ สามารถขนส่งผลิตผลทางการเกษตรให้ออกสู่ตลาดได้ทันเวลา
 
 
โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 1) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นเส้นทางเชื่อมจาก ทล.118 (ถนนสายเชียงใหม่ – เชียงราย) จากบริเวณ กม.ที่ 76+100 ด้านซ้ายทาง เข้าสู่อุทยานแห่งชาติขุนแจ โดยผ่านอ่างเก็บน้ำดอยงู บ้านทุ่งยาว บ้านห้วยทราย บ้านปางมะกาด บ้านป่าเมี่ยงม่อนวัด บ้านห้วยคุณพระ และบ้านขุนลาว ประชาชนในพื้นที่ยังใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตร ทช. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนใหม่ผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก และผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 2 – 2.5 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก
 
 
3 แห่ง ติดตั้งระบบระบายน้ำ เครื่องหมายจราจร และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ตั้งแต่บริเวณช่วง กม.ที่ 2+750 ถึง กม.ที่ 37+702 เป็นช่วง ๆ รวมระยะทาง 19.800 กิโลเมตร ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 85 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบระบายน้ำ งานชั้นโครงสร้างทาง โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยส่งเสริมการขนส่งระบบโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์ตามยุทธศาสตร์ด้านคมนาคม ให้กับประชาชนในพื้นที่ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัยในทุกฤดู และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนแจได้อีกทางหนึ่ง

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

“สพฐ.” จับมือ “มูลนิธิยุวพัฒน์” ลดเหลื่อมล้ำช่วยเด็กไทยรอบด้าน

 

เมื่อเร็วๆ นี้ มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการร้อยพลังการศึกษา เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนรอบด้าน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงนามโดยนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กับ มูลนิธิยุวพัฒน์  ลงนามโดยนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ มูลนิธิยุวพัฒน์ อาคารพรีเมียร์ คอร์เปอเรท ปาร์ค กรุงเทพฯ

เกี่ยวกับที่มาของบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ มูลนิธิยุวพัฒน์ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชนมานานกว่า 30 ปี ได้ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ว่า เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงได้สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนทั่วไป มาอย่างต่อเนื่อง ในการระดมทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษา กระทั่งพร้อมจะขยายผลสู่กลไกภาครัฐ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว  จากการร่วมกันสนับสนุน ติดตามผล ตลอดจนการกำกับดูแลร่วมกันให้ตรงตามเป้าหมาย และยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนผู้บริจาคทรัพยากรด้านต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นถึงผลลัพธ์ที่คาดหวังได้จากความร่วมมือของสองภาคส่วนที่เป็นคู่สัญญาลงนามครั้งนี้

ทั้งนี้ สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระบุถึงเป้าหมายและขอบเขตความร่วมมือว่า เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในประเทศได้รับการสนับสนุนรอบด้าน โดยแต่ละด้านจะมีเครื่องมือภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษาเข้าไปดำเนินงานในโรงเรียนเป้าหมายสังกัดสพฐ.  ประกอบด้วย 1.ด้านโอกาสเข้าถึงการศึกษา ได้แก่ โครงการทุนการศึกษาและการประคับประครอง (มูลนิธิยุวพัฒน์)   2.ด้านคุณภาพการศึกษา ได้แก่ โครงการสื่อดิจิทัลวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (เลิร์น เอ็ดดูเคชัน) ,โครงการสื่อดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษ (วินเนอร์ อิงลิช) โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง (ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์) และโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย (ICAP) 3.ด้านทักษะชีวิตและคุณธรรม ได้แก่ โครงการแนะแนวรุ่นใหม่ (a-chieve)  โครงการดูแลนักเรียนผ่านการบูรณาการด้านจิตวิทยาสังคม (สพบ.และเครือข่าย) และโครงการโรงเรียนคุณธรรม (สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์)  4.ด้านภาวะโภชนาการ ได้แก่ โครงการฟู้ดฟอร์กู๊ด (มูลนิธิยุวพัฒน์)

สำหรับเครื่องมือทั้งหมดนี้ได้ผ่านการทดลองใช้และดำเนินการจริงในโรงเรียนเครือข่ายของมูลนิธิยุวพัฒน์มาก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมากกว่า 1,000 โรงเรียน และมูลนิธิฯ ดำเนินงานด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชนมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี พิสูจน์ได้ถึงประสิทธิผล โดยข้อมูล ณ ปี 2566 พบว่า มีจำนวนนักเรียนกว่า 300,000 คน ที่ได้รับประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษาที่ริเริ่มและร่วมดำเนินการโดยหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐ  จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการขยายผลสู่โรงเรียนต่างๆ ในสังกัดสพฐ..ให้สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนจำนวนมากขึ้นไปอีก ขนานกันไปประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเครื่องมือต่างๆเหล่านี้ได้มากขึ้นเช่นกัน

ที่ผ่านมา เครื่องมือทั้งหมดนี้ได้รับทุนสนับสนุนดำเนินงานจากหลากหลายที่มา โดยเฉพาะจากภาคประชาชน ดังนั้น มูลนิธิยุวพัฒน์ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนจึงมีมาตรฐานความโปร่งใสในการดำเนินงานเช่นเดียวกับบริษัทมหาชน สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิยุวพัฒน์ https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/home/ และโครงการร้อยพลังการศึกษาได้ที่  https://www.tcfe.or.th/

 

ใต้ภาพ

1 พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการร้อยพลังการศึกษา ระหว่าง สพฐ.และมูลนิธิยุวพัฒน์

2.พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการร้อยพลังการศึกษา ระหว่าง สพฐ.และมูลนิธิยุวพัฒน์

3 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ.และนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ร่วมกันลงนาม

4 นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์

5 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ.

6 สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ 1ใน 9 เครื่องมือภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษา

7 โครงการฟู้ด ฟอร์ กู๊ด 1ใน 9 เครื่องมือภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษา

8.เครื่องมือในโครงการร้อยพลังการศึกษาที่ขยายผลกับโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ตาม MOU นี้

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิยุวพัฒน์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News