Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ต้นแบบระดับจังหวัดเชียงราย ธนาคารขยะฮอมบุญบ้านหนองบัว แม่ลาว

 
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย และ ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่โครงการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ณ ธนาคารขยะฮอมบุญบ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นชุมชน หมู่บ้าน ต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะระดับจังหวัด ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดงานประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย มีข้อสั่งการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะอย่างต่อเนื่องและจัดสวัสดิการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายเจตณรงค์ อินกัน ท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย นายรุ่งโรจน์ ตันวุฒิ นายอำเภอแม่ลาว นายสุริยัน ตื้อยศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าก่อดำ ตลอดจนผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นเข้าที่ร่วมพิธี พร้อมรับมอบป้ายธนาคารขยะสำหรับการจัดตั้งธนาคารขยะในเขตพื้นที่ อบต.ป่าก่อดำ จากทั้ง 7 หมู่บ้าน ที่ได้มีการดำเนินการธนาคารขยะมาแล้ว จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 บ้านสันหนองล้อม หมู่ที่ 6 และบ้านแม่ผง หมู่ที่ 5 และมีการขยายผลไปยังหมู่บ้านที่เหลืออีก 4 หมู่บ้าน โดยได้เริ่มดำเนินการธนาคารขยะ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 67 ได้แก่ บ้านโป่งมอญ หมู่ที่ 1 บ้านต้นม่วง หมู่ที่ 3 บ้านท่าขี้เหล็ก หมู่ที่ 4 และบ้านสันหนองบัว หมู่ที่ 11 จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อีกด้วย
 

      นายสุริยัน ตื้อยศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าก่อดำ กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดความยั่งยืน และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานธนาคารขยะให้กับประชาชนได้เห็นคุณค่า และให้ความสำคัญในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารขยะ จังหวัดเชียงรายได้คัดเลือกธนาคารขยะบ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลป่าก่อดำ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เป็นธนาคารขยะต้นแบบในระดับจังหวัด เพื่อถอดบทเรียนการขับเคลื่อนธนาคารขยะและผลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณขยะที่นำฝากผ่านธนาคารขยะทั้ง 3 หมู่บ้าน มีจำนวนเฉลี่ย 335 กิโลกรัมต่อเดือน มีเงินทุนในธนาคารขยะ จำนวนกว่า 4,000 บาท ที่หมุนเวียนกลับไปให้สมาชิกในรูปแบบการสังคมสงเคราะห์ เช่น กรณีเสียชีวิตช่วยรายละ 500 บาท ถุงอุปโภคบริโภคเพื่อการยังชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส และสมทบเพื่อสาธารณประโยชน์ในหมู่บ้าน ต่อไป
 

      สำหรับการขับเคลื่อนธนาคารขยะในพื้นที่ อบต.ป่าก่อดำ ได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชน ครัวเรือน และภาคีเครือข่ายฯ ในพื้นที่ร่วมสนับสนุนเพื่อสร้างกลไก สร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารจัดการขยะ และธนาคารขยะให้เกิดความยั่งยืน เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากการขับเคลื่อนธนาคารขยะแล้ว อบต.ป่าก่อดำ ได้มีการบริหารจัดการขยะภายในครัวเรือนโดยเน้นให้ทุกครัวเรือนได้ช่วยกันลดปริมาณขยะมูลฝอยและคัดแยกขยะในครัวเรือนอย่างเข้มข้น อีกทั้งได้สนับสนุนให้ทุกครัวเรือนใช้ประโยชน์จากถังขยะเปียกลดโลกร้อนเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยได้มีการใช้สมุดบันทึกประจำครัวเรือนรักษ์โลก เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการตรวจติดตามการบริหารจัดการขยะของทุกครัวเรือน นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือมีการจัดทำหลักสูตร EF บูรณาการในการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อที่จะได้เป็นพลังในการสร้างสรรค์ชุมชนให้น่าอยู่สืบไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

จ.เชียงราย จับมือ สปป.ลาวและเมียนมา แลกเปลี่ยนแนวคิดการค้าการลงทุน

 
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเฮอริเทจ เชียงรายโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดเชียงราย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ได้จัดงานประชุม/ สัมมนาร่วมภาครัฐและเอกชน ภาคเหนือของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว-เมียนมา) ตามโครงการ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ Northern Border Economy Acceleration 2024” โดยมี นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์  นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด มีผู้เข้าประชุมสัมมนาจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ทั้งภาครัฐและเอกชน จำวน 70 ราย หัวหน้าสำนักงานพาณิชย์และภาคเอกชน 6 แขวงภาคเหนือของสปป.ลาว 22 ท่านและนักธุรกิจเมียนมา 8 ท่าน

           นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการประชุมสัมมนา ว่ารัฐบาลให้ความสําคัญ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนและสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค  กระทรวงพาณิชย์จึงได้กําหนดนโยบายในการพัฒนาการค้าชายแดนหลายประการอันจะได้ประโยชน์ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน (ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา)  โดยได้มีการกําหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุน การค้าชายแดนและผ่านแดน ปี 2567 – 2570 ประกอบด้วย

  1. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า
    2. ยกระดับศักยภาพและการอํานวยความสะดวกของด่านชายแดน
    3. ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
    4. ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งการสัมมนาร่วมภาครัฐและเอกชนภาคเหนือของประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้า และใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าในภูมิภาค ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจใช้โอกาสจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและการเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค GMS, BIMSTEC และ AEC ขยายฐานเศรษฐกิจของภาคเหนือ รวมถึงเป็นการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาดของสินค้าและบริการ มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนของภาคเหนือ

 

ด้านนางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงรายละเอียของโครงการว่าได้จัดทำขึ้นทั้งหมด 5 โครงการดังนี้

  1. การอบรมสัมมนาผู้ประกอบการ Boost Up Trader to Overseas ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ จ.เชียงราย ผู้ประกอบการเข้าร่วม 84 ราย
  2. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน สปป.ลาว (เส้นทางท่าลี่ จังหวัดเลย-จังหวัดหนองคาย) ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2567 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมดูงาน 40 ราย
  3. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน เมียนมา อ าเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2567 ผู้ประกอบการดูงานจำนวน 40 ราย
  4. การประชุม/ สัมมนาร่วมภาครัฐ และเอกชนกลุ่มภาคเหนือของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น เชียงราย
  5. กิจกรรมเสวนากลุ่มย่อย (Focus Group) ธุรกิจการค้า การบริการ การท่องเที่ยว และ โลจิสติกส์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทย-เมียนมา-สปป.ลาว เพื่อสร้างมูลค่าทางการค้าในวันที่ 3พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น

ทางด้านนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย
 3 อำเภอ ประกอบด้วย

(1) อำเภอแม่สาย : ศูนย์การค้าและการเงิน (Trading City)

(2) อำเภอเชียงแสน : ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและท่าเรือเทียบนานาชาติ (Port City)

และ (3) อำเภอเชียงของ : ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการแปรรูปสินค้าเกษตร (Logistic City) โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประตูการค้าและศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยง สู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดดเด่นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ประชาชน อยู่ดีมีสุข”

ปี 2566 จังหวัดเชียงรายมีมูลค่าการค้าชายแดนกับเมียนมา และสปป.ลาว และการค้าผ่านแดนไปจีน มีมูลค่าการค้ารวม 100,951.88 ล้านบาท เป็นการส่งออก 79,517.60 ล้านบาท และการนำเข้า 21,434.28 ล้านบาท มูลค่าการค้าสูงขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 3.11  จากสถิติการค้าที่ผ่านมาพบว่ามูลค่าการค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าผ่านแดนไปจีนมีมูลค่าสูงสุด

               ซึ่งทางนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวย้ำว่ายินดีที่ได้เห็นรูปแบบการเตรียมความพร้อมในการนำความรู้ทางวิชาการด้านการตลาด การค้าขายแดน มาผสานในการจัดงานที่หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการจัดทำFocus Group ที่ทุกท่านจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กันในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และ Wellness ซึ่งเป็นนโยบายท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย(นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์) ที่จะขับเคลื่อนเชียงราย เป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City)3 ด้าน คือ Wellness Food การพัฒนาสู่ เมืองแห่งอาหารสุขภาพ Wellness Health Careเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางกายภาพ เพื่อความเป็นเลิศในการบริการสุขภาพการพัฒนาบริการทางการแพทย์ และ Wellness Tourism ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์

 

รัฐบาลให้ความสำคัญต่อ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ถือเป็นจังหวัดสำคัญในแผน ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านของรัฐบาล เนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสมในการเป็นจุดเชื่อมโยงการค้า ชายแดน มีข้อได้เปรียบจากศักยภาพต้านพื้นที่ เป็นประตูสู่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ (Logistics) โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงการค้าชายแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว และสาธารณัฐประชาชนจีน (เส้นทาง R3A) และมีเส้นทางเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐ แห่งสหภาพเมียนมา (เส้นทาง R3B) ซึ่งเป็นช่องทางการค้าขายแดน การค้าผ่านแดนที่สำคัญ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

เชียงรายพร้อมจัด กีฬานักเรียน อปท. รอบคัดเลือกระดับภาคเหนือ ครั้งที่ 38

 

เมื่อวันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เทศบาลนครเชียงรายโดย นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย มอบหมายให้ นายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย นางสาววรรณพัชร จินดาขัด เลขานุการนายกเทศมนตรีนครเชียงราย พ.จ.อ.อัษฎางค์ วิเศษวงศ์ษา ปลัดเทศบาลนครเชียงราย เป็นประธานการประชุม เตรียมความพร้อมการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย รอบคัดเลือกระดับภาคเหนือ ครั้งที่ 38 “นครเชียงรายเกมส์” พร้อมผู้อำนวยการสำนัก/กอง และผู้อำนวยการโรงเรียน ในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย เข้าร่วมประชุมครั้งนี้

 

.
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้คัดเลือกให้จังหวัดเชียงราย โดยเทศบาลนครเชียงราย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย รอบคัดเลือกระดับภาคเหนือ ครั้งที่ 38 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ระหว่างวันที่ 4-13 มิถุนายน 2567 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย โดยจัดการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 11 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา เทเบิลเทนนิส วอลเลย์บอลในร่ม วอลเลย์บอลชายหาด ฟุตบอล เซปักตะกร้อ ฟุตซอล เปตอง/ชูดติ้งเปตอง แบดมินตัน หมากรุกไทย และหมากฮอส
 
.
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย รอบคัดเลือกระดับภาคเหนือ ครั้งที่ 38 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวม 11 ฝ่าย พร้อมมอบหมายภารกิจให้แต่ละฝ่ายได้ดำเนินการ โดยประธานได้เน้นย้ำคณะกรรมการทุกฝ่าย ให้เตรียมความพร้อมในการดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การจัดการแข่งขันและการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเชิญชวนชาวเชียงราย ให้การต้อนรับคณะนักกีฬาและผู้ฝึกสอนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

อบจ.เชียงราย หนุนงบส่งเสริมและสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ ต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย

 
เมื่อวันที่อังคารที่ 30 เมษายน 2567 นายก นก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมและสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ โดยมี นายสมเกียรติ พรมชัย นายกเทศมนตรีตำบลดอนศิลา กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน พร้อมด้วย นายเขื่อนเพ็ชร วงค์เป็ง รองนายกเทศมนตรีตำบลดอนศิลา นายมานพ ปฐมวงค์ ประธานสภาเทศบาลตำบลดอนศิลา ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และบุคลากรเทศบาลตำบลดอนศิลา ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ณ ข่วงพญาแถน บ้านสมานมิตร ต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย จ.เชียงราย โดย อบจ.เชียงราย ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงการ จำนวน 120,000 บาท
 
 
ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสาน โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทานพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพญาแถน เนื่องด้วยบรรพบุรุษ หมู่บ้านสมานมิตร ต.ดอนศิลา อพยพมาจาก อีสาน ประกอบกับประเพณีบุญบั้งไฟเป็น หนึ่งในฮีตสิบสองของชาวอีสานที่นิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 อันเป็นช่วงฤดูฝน เข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาพญาแถน ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เทศบาลตำบลดอนศิลา จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามเอาไว้ให้ลูกหลาน เสริมสร้างความร่วมมือและปลูกจิตสำนึกรักประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน และเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ ความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนและสังคม ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน

 
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 67 ที่ภายในวัดเจ็ดยอด (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสิริมงคลในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย
 
 
โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย พระภิกษุสงฆ จำนวน 10 รูป นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่ายฯ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในพิธี ซึ่งได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เนื่องจากเป็นวันที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เริ่มปฏิบัติภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานเต็มรูปแบบทั่วประเทศ โดยประกอบพิธีพร้อมกันทั่วประเทศ
 
 
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายเกี่ยวกับพิธีการศพแก่ข้าราชการ บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์และประชาชนผู้มีสิทธิ์ตามหลักเกณฑ์ของสำนักพระราชวังที่กำหนด โดยให้รัฐบาลดำเนินการโดยกระทรวงวัฒนธรรมสนองงานตามพระบรมราโชบายเกี่ยวกับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ตามหลักเกณฑ์สำนักพระราชวัง
 
 
โดยขยายการดำเนินงานสู่พสกนิกรทั่วประเทศ ให้ผู้วายชนม์และวงศ์ตระกูลได้รับเกียรติยศอันสูงสุดอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า โดยปฏิบัติงานพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานทุกจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามโบราณราชประเพณี สมเกียรติยศตามฐานันดรศักดิ์ชั้นยศของผู้วายชนม์ที่ได้รับ อีกด้วย
 
 
สำหรับพิธีการจัดให้มีพิธีจุดเทียนเครื่องบวงสรวง อ่านโองการบวงสรวง ปักธูปหางเครื่องบวงสรวง โปรยข้างตอกดอกไม้ ประธานในพิธีนำผู้เข้าร่วมพิธีทักษิณานุปทานทำบุญถวายเจ้าพ่อโรงโกศอารักษ์เครื่องสูง และวิญญาณผู้วายชนม์ อันเกี่ยวเนื่องกับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ตลอดจนพิธีการทางศาสนาศาสนพิธีอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์จำนวน 10 รูป สวดพุทธมนต์ พิธีทอดผ้าบังสุกุล และร่วมกันถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนโมทนา ประธานในพิธีกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธีตามลำดับ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News