Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

สมโภชสัญญาบัตร-พัดยศ พระครูพิธานพัฒนาทร วัดแม่อ้อใน

 

เมื่อวันที่อาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น.นายก นก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีสมโภชสัญญาบัตร-พัดยศ และพิธีสืบชาตาหลวง พระครูพิธานพัฒนาทร (ปุนณะพัฒน์) รองเจ้าอาวาสวัดแม่อ้อใน รักษาการเจ้าอาวาสคณะตำบลแม่อ้อ เขต 2 ณ วัดแม่อ้อใน ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย พร้อมด้วยนายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นายธีระพงษ์ เผ่ากา นายก อบต.แม่อ้อ ร่วมพิธีในครั้งนี้โดยมีพระครูพิพิธ พัฒนโกวิท เจ้าคณะอำเภอพาน เจ้าอาวาสวัดทุ่งพร้าว เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

 

สำหรับพิธีสมโภชสัญญาบัตร-พัดยศ พระครูพิธานพัฒนาทร (ปุนณะพัฒน์) รองเจ้าอาวาสวัดแม่อ้อใน รักษาการเจ้าอาวาสคณะตำบลแม่อ้อ เขต 2 ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าตั้งสมณศักดิ์ สัญญาบัตร พัดยศ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อเฉลิมฉลองพระราชศรัทธา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ที่มีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพระพุทธศาสนา ทางคณะกรรมการวัด พร้อมด้วยคณะศรัทธาของวัดแม่อ้อใน จึงได้จัดงานทำบุญสืบชาตา ฉลองสัญญาบัตร-พัดยศ และพิธีประกาศพระบรมราชโองการ อ่านตราตั้งพระครูสัญญาบัตร ณ วัดแม่อ้อใน ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย ทั้งนี้หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ในต.แม่อ้อ และพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมพิธีฯ ในครั้งนี้ด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ร่วมมือแก้วิกฤติเขื่อนแม่น้ำโขง ศึกษา ‘กระเบน’ 1 ในปลาหายาก

 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับชุมชนชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย 10 ชุมชน ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดประชุมวางแผนการศึกษาปลากระเบนแม่น้ำโขง ณ หอประชุมหมู่บ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 35 คน

 

จากการทำงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงเรื่องการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลา ได้พบว่ามีพันธุ์ปลา 96 ชนิด ปลากระเบนเป็น 1 ในปลาหายาก ที่เคยหายไปจากแม่น้ำโขงในหลายชุมชน แต่ยังคงมีการจับได้ของชาวประมงเพียงแห่งเดียวที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

 

การประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดงานวิจัยชาวบ้านที่ได้ทำร่วมกันมากับชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบน ศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่น แหล่งที่อยู่ระบบนิเวศน์ สถานการณ์ของปลากระเบน และหาแนวทางการอนุรักษ์ปลากระเบนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนริมแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย โดยร่วมมือทางนักวิชาการ การศึกษา eNDA จากระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขงระบบนิเวศที่มีการจับได้ปลากระเบนของชุมชนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2547-2567) พบจุดที่ชาวบ้านจับปลากระเบนถึง 23 จุด ตลอดลำน้ำโขงจังหวัดเชียงรายระยะทาง 96 กิโลเมตร

 

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้กล่าวถึงการศึกษาปลากระเบนในครั้งนี้ว่า “จากการศึกษาวิจัยชาวบ้านพบว่าระบบนิเวศแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว จากเขื่อนในแม่น้ำโขง ตอนนี้ทางชุมชนอยากจะศึกษาสถานการณ์ความหลากหลายของปลาในแม่น้ำโขงที่หายไปหลายชนิด โดยเฉพาะครั้งนี้ปลากระเบนถือว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงเลยก็ว่าได้ การศึกษาครั้งนี้จะนำองค์ความรู้ท้องถิ่นและความรู้ทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่าสาเหตุการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณของปลา โดยใช้ปลากระเบนเป็นตัวแทนกรณีศึกษา และต้องการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการดูแล ฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัยโดยองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อให้ปลาสามารถกลับคืนมาได้ ในท่ามกลางที่แม่น้ำโขงมันเปลี่ยนแปลงไป”

 

ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Mekong stingray, Mekong freshwater stingray มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatis laosensis เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป แต่ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน ความกว้างของลำตัวประมาณ 40 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุด 80 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 1.2 เมตร น้ำหนักมากที่สุดมากกว่า 10 กิโลกรัม หากินตามพื้นท้องน้ำ อาหาร

 

ได้แก่ สัตว์หน้าดิน, ปลาขนาดเล็ก และสัตว์มีเปลือกต่าง ๆ จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้งพบเฉพาะแม่น้ำโขงตอนกลาง ในช่วงของประเทศกัมพูชา, ลาว, ไทย และอาจพบได้จนถึงจีนตอนล่างปลากระเบนแม่น้ำโขง ถูกจัดอยู่ในสภาพภาพ ใกล้สูญพันธุ์ IUCN Red List Status (Ref. 126983)Endangered (EN) ชาวบ้านแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายเรียกชื่อว่า “ปลาผาไม”

 

นายสมศักดิ์ นันทะรักษ์ ตัวแทนนักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่กล่าวถึงปลากระเบนว่า “ปลาฝาไมกิโลกรัมละ 400 บาท ที่บ้านดอนที่ จับได้บริเวณดอนมะเต้า มันเป็น คก มีน้ำนิ่ง จับได้ช่วงน้ำลดใหม่ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ส่วนมากจะใส่เบ็ดระแวง คือคล้ายเบ็ดค่าว ใส่ไว้พื้นท้องน้ำสายเบ็ดห่างกันประมาณ 1 คืบ ไม่ใช้เหยื่อ ให้ขอเบ็ดอยู่บนพื้นท้องน้ำ มีบางคนก็ไหลมอง หรือใส่ไซลั่นได้ จุดที่ปลากระเบนอยู่ส่วนใหญ่เป็นพื้นน้ำจะเป็นดินโคลน ปลามันจะมาหากินใส้เดือนตามพื้นน้ำ แต่ก่อนจับได้กันตลอด มา 20 ปีมานี่เริ่มหาปลาได้ยาก เพราะน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ หน้าแล้งไม่แล้ง หน้าน้ำหลากน้ำไม่เยอะ ระบบนิเวศน์มันเปลี่ยนทำให้หาปลายาก อยากศึกษาเรื่องปลากระเบน เพื่อจะหาแนวทางการอนุรักษ์ให้มันไม่สูญพันธุ์”

 

การศึกษาวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบนใช้กระบวนการศึกษาแบบงานวิจัยชาวบ้าน ที่ให้ชาวประมงมาเป็นนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลจากองค์ความรู้ท้องถิ่นของตัวเอง โดยมีทางทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเป็นผู้ช่วยนักวิจัย และในการศึกษาครั้งนี้ใช้กระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริมองค์ความรู้ท้องถิ่น ร่วมกับทาง รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยใช้วิธีการศึกษาeDNA หรือการศึกษาสารพันธุกรรมจากสิ่งแวดล้อมของปลากระเบน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำในระบบนิเวศที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบที่ทางชุมชนเคยพบปลากระเบนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของชุมชน ในพื้นที่ทั้ง 23 จุด ว่ายังคงมีปลากระเบนอาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆอยู่หรือไม่ มีมากน้อยแค่ไหน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจหาสารพันธุกรรมปลากระเบน

 

ทางด้าน รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงกระบวนการศึกษา eDNA ว่า “กระบวนการศึกษา eDNA มีขั้นตอนหลักๆ สามขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่งเก็บตัวอย่างจากน้ำหรือดิน ขั้นที่สองสกัด eDNA ออกมาจากตัวอย่าง ขั้นตอนที่สามวิเคราะห์ eDNA ที่พบ ว่าเป็นของสิ่งมีชีวิตชนิดใด มีมากหรือมีน้อยแค่ไหน การศึกษาeDNA เป็นวิธีการที่มีความละเอียดสูง และไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ทำการศึกษาหรือแหล่งที่อยู่อาศัย ลดข้อจำกัดวิธีการสำรวจแบบที่ต้องจับตัวสัตว์ การศึกษา eDNAจึงเหมาะกับการใช้ในงานอนุรักษ์เป็นอย่างมาก”

 

 

การศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง การเรียกร้องแก้ไขปัญหาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ปลาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป

 

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
HEALTH NEWS

ครม.อนุมัติงบ 208 ล้าน โรงพยาบาล ม.พะเยา เพิ่มบุคลากร 731 อัตรา

 
เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (แผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 731 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 208.08 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ทั้งนี้ แผนอัตรากำลังฯ จะส่งผลต่อการเพิ่มอัตรากำลังและบุคลากร และภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต จึงเห็นควรที่มหาวิทยาลัยพะเยาจะพิจารณาดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามภารกิจหลัก อย่างประหยัด และคุ้มค่า และคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่าย โดยเฉพาะรายได้หรือเงินนอกงบประมาณอื่นใดที่มหาวิทยาลัยมีอยู่หรือสามารถนำมาใช้จ่ายเป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐอย่างยั่งยืน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
 
 
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) ขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ระดับ M1 ขนาด 200 เตียง ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 เพื่อรองรับการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและการขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ S
 
(2) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของเขตสุขภาพที่ 1 ในเขตพื้นที่ล้านนาตะวันออก (จังหวัดเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา) เป็นหน่วยให้บริการที่เป็นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่อระดับสูง รวมทั้งพัฒนาเรื่องต่าง ๆ เช่น ระบบบริการสุขภาพด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน การดูแลผู้สูงอายุในเขตบริการ ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการส่งต่อเพื่อลดความแออัดในเขตสุขภาพที่ 1
 
(3) พัฒนาศูนย์การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อรองรับการเป็นสถานฝึกปฏิบัติการในชั้นคลินิกสำหรับนิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยาให้มีศักยภาพ สามารถใช้เป็นแหล่งฝึกบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนทั้งก่อนปริญญาและหลังปริญญา
 
และ (4) พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เช่น ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง
 

“สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ แล้ว เห็นว่า แผนความต้องการอัตรากำลังฯ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น
 
(1) ควรทบทวนภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้องกับภาระงาน เช่น การขยายสถานที่บริการ ควรฝึกวิชาชีพเฉพาะทางหลักสูตรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
 
(2) ควรวิเคราะห์ปริมาณงานเฉลี่ย
 
(3) การของบประมาณตามแผนความต้องการอัตรากำลังฯ ควรคำนึงถึงภาระผูกพันในการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
 
 
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยาได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเพื่อรองรับการขอเพิ่มอัตรากำลังดังกล่าวไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการขอรับจัดสรรงบประมาณในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพะเยาจึงได้ปรับระยะเวลาของแผนอัตรากำลังฯ จากเดิมปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2569 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571” นายคารม กล่าว
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News