เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาล โดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มอบหมายให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 -30 เมษายน2567 โดยได้มีการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน พบว่า การดำเนินงานเป็นหลักสำคัญในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ทั้งด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และด้านการส่งเสริมเทศกาล หรือเฟสติวัล ซึ่งจากการเก็บข้อมูล ของ สศร. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สรุป ยอดผู้เข้าชมงาน จัดแสดง ใน 3 ส่วนสำคัญ ณ วันที่ 21 เมษายน รวมจำนวน 2,790,964 คน โดยแบ่งเป็นเข้าชมนิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ของศิลปิน 60 คนในเขต อ.เมือง อ.เชียงแสน และอ.แม่ลาว จำนวน 17 จุด จำนวน 714,235 คน ส่วนที่ Pavilion หรือ ศาลา แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์ และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ 13 แห่ง มีผู้เข้าชมจำนวน 42,893 คน และในส่วน Collateral Events กิจกรรมพิเศษ มีผู้เข้าชม จำนวน 2,033,836 คน มีการเข้าถึงสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ทาง Facebook Instagram YouTube TikTok จำนวนมากเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นของมิติศิลปะ รวม 22,403,688 ครั้ง และมีการปฏิสัมพันธ์ทางสื่อโซเชียลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
นายประสพ กล่าวอีกว่า ขณะที่การเก็บข้อมูลตัวเลขเชิงเศรษฐกิจ จาก การประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า มีนักท่องเที่ยว ใน จ.เชียงรายเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 11 เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาท เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ ในช่วงการจัดงาน มีการจ้างงาน 8,000 กว่าอัตรา โดยเป็นการจ้างในระบบประกันสังคม 844 อัตรา ชุมชนได้รับประโยชน์จากการจัดงาน 560 ชุมชน มีศิลปินทั้งในและต่างประเทศตั้งใจมาชมงานนี้โดยตรง 1,000 กว่าคน มี สถาบันการศึกษาทุกระดับมาดูงาน เกิน 500 กว่าแห่ง จึงเห็นภาพของจำนวนคนและการเข้าถึงงานเป็นอย่างมาก ซึ่ง นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะผู้นำการจัดงาน แสดงข้อคิดเห็นว่า ต่อไป ไม่ต้องมีคำอธิบายแล้วว่า ไทยแลนด์เบียนนาเล่คืออะไร เพราะคนไทยมีความเข้าใจ และเข้าถึงงานศิลปะแล้ว และที่สำคัญ ได้เกิดการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐ ศิลปินไทย และต่างชาติ ช่างฝีมือ ลูกมือทำงาน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ระหว่างกันทำให้ศิลปิน และชาวชุมชนทุกที่มีความผูกพัน และมีความภูมิใจที่ได้ทำงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
“ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเกินความคาดหวัง เกิดผลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม สศร. จะมีการถอดบทเรียนจากการจัดงานครั้งนี้ ไปทำการศึกษาวิจัย เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาการจัดงานในครั้งต่อไป ที่ จ.ภูเก็ต ในปี 2568 และจะมีการสรุปข้อมูลภาพรวมอย่างเป็นทางการโดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หลังการจัดงาน ในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป” ผอ.สศร.
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.