เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 นายจรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ,นายศรุต ศรีจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.),นายนิราภร จะพอ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดใน และ นายถนัด จะสุ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดนอก ซึ่งเป็นตัวแทนจากชุมชนห้วยหินลาดใน ห้วยหินลาดนอก และบ้านผาเยือง ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ประมาณ 20 คน เดินทางมารวมตัวที่บริเวณสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 จ.เชียงราย เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีมีชายแต่งชุดดำพร้อมอาวุธปืนเข้าไปบุกรุกและทำลายทรัพย์สินในพื้นที่ชุมชนและไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อ 4 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา โดยมี นายธนชัย จิตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า มาพบตัวแทนและรับหนังสือ
นายธนชัย ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ชี้แจงว่า กรณีได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจตราในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นคำสั่งจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้ตรวจสอบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าตามโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าปี 2566 ทางสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ สังกัดกรมป่าไม้ จึงได้ทำความร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงจากดาวเทียม หากเดิมเป็นพื้นที่ป่า ดาวเทียมจะจับจุดสัญญาณได้เป็นสีเขียว หากมีการแผ้วถาง จุดสัญญาณจะเป็นสีขาว ซึ่งข้อมูลดาวเทียมจังหวัดเชียงราย พบจุดพิกัดสีขาวถึง 1,800 จุด จึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบในระดับพื้นที่ ซึ่งในการเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นไปตามการอนุญาตภายใต้มาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรณีชุมชนห้วยหินลาดใน ทางหน่วยงานมีความเช้าใจในวิถีเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชุมชนเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข้อขัดแย้งในการทำงานแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดเข้าไปกระทำพฤติกรรมดังกล่าวในชุมชน ทางส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าได้รับรายงานข้อมูลมาจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดเช่นเดียวกัน แต่จากการซักถามเบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ จึงเห็นว่าทางชุมชนอาจต้องไปแจ้งความเพื่อให้เกิดการสอบสวนจนได้ข้อยุติว่าใครคือผู้กระทำผิดจริง
โดยทาง ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดในและใกล้เคียง ต้องการเรียกร้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่โดยไม่แจ้งทางผู้ใหญ่บ้านและชุมชน ทำลายข้าวของในพื้นที่ทำกินของชุมชน และต้องการให้มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน ซึ่งต้องเป็นการตรวจสอบที่มีสัดส่วนชองชุมชน ท้องที่ท้องถิ่น และหน่วยงานอย่างเท่า ๆ กัน ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบกันเองภายในหน่วยงาน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในพื้นที่ทำกินเช่นนี้ และยังไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงอาจทำให้ชาวบ้านสงสัยและกังวลใจว่า หลังจากนี้หากชาวบ้านจะเข้าไปในไร่หรือพื้นที่ทำกินได้เช่นเดิมหรือไม่ ถ้ายังทำกินอยู่จะเกิดการบุกรุกและคุกคามเช่นนี้หรือไม่ จึงอยากให้ทางหน่วยงานชี้แจงและยืนยันว่าจะยังคงสามารถทำกินในพื้นที่ได้ดังเดิมที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนต่างยินดีให้ความร่วมมือกับทางหน่วยงาน เมื่อทางหน่วยงานต้องการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ทางชุมชนก็อำนวยความสะดวกโดยตลอด แต่กลับพบการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับชุมชนอื่น ๆ อีก เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบและให้เกิดมาตรการป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนภายใน 7 วัน โดยให้มีสัดส่วนของชุมชนห้วยหินลาดในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในสัดส่วนที่เท่ากัน และต้องหามาตรการเยียวยาผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ถูกทำลายทรัพย์สิน รวมถึงเยียวยาผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน และยืนยันว่าชาวบ้านจะยังสามารถทำกินอยู่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนทุกแปลงได้โดยเร่งด่วน
ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อเกตว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโดยปกติจะมีการแจ้งทางผู้ใหญ่บ้านให้ทราบวัตถุประสงค์ในการเข้ามาในพื้นที่ เจ้าของแปลงทำกินก็จะสามารถพาไปลงพื้นที่แปลงทำกินของตนเพื่อยืนยันลักษณะการทำกินได้ แต่ครั้งนี้กลับไม่มีการแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด ทางชุมชนจึงไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีการกระทำเช่นนี้ในพื้นที่
ทางทีมข่าวนครเชียงนิวส์ ได้ทำการสัมภาษณ์และค้นหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทางแหล่งข่าวได้แจ้งกับทีมข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่จำนวน 3 คน ที่แจ้งเตือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ป่า จึงเข้าไปตรวจสอบว่าพื้นที่ตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากที่ดินทํากินเดิม หรือเป็นที่บุกเบิกใหม่ เพื่อจะมาปิดในระบบ และเพื่อเช็คว่ามีการบุกรุกจริงหรือไม่
ช่วงประมาณ 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ได้ไปถึงในพื้นที่ และมีการตรวจสอบถ่ายภาพตามจุดพิกัด โดยได้มีไปเจอชาวบ้าน และได้เข้าไปสอบถามชาวบ้านว่าทํากินในพื้นที่นี้นานหรือยัง พอใช้เวลาตรวจสอบสักพัก หลังจากนั้นก็มีการถอนกําลัง ระหว่างนั้นได้เกิดฝนตกเจ้าหน้าที่จึงได้มีการไปแวะพักที่ศาลาที่มีแทงค์น้ำตั้งอยู่ และ ระหว่างรอฝนหยุดตก ขากลับยางล้อรถของเจ้าหน้าที่รั่วจึงค่อยๆ ขับรถกลับกันมาจนถึงชุมชนในหมู่บ้าน และในเวลาประมาณเกือบ 17.00 น. ชาวบ้านจึงขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยใบหน้าเนื่องจากตอนที่เจ้าหน้าที่ไปลงพื้นที่ได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไป จึงมีการปิดบังใบหน้าบางส่วนด้วยหน้ากากไว้เพื่อกันแดดและฝนตามปกติ หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาปะยางรถประมาณ 30 นาที ช่วงระยะเวลานั้นชาวบ้านก็เข้ามาสอบถามว่ามาทําอะไร ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการชี้แจงว่ามาตรวจสอบพื้นที่และปรึกษาเรื่องการขออนุญาตไฟฟ้า จากนั้นหลังเวลา 17.40 น. ได้ขี่รถออกมาจากหมู่บ้าน
และในวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ปรากฏว่ามีกระแสข่าวในโลกโซเชียลออกมาต่อว่ามีชายชุดดำบุกทำลายไร่หมุนเวียน ซึ่งก็มีแต่เจ้าหน้าที่ ที่เข้าไปก็เลยอาจจะเข้าใจได้ว่า เป็นคนเข้าไปทําลายสิ่งของ และเข้าไปหารื้อถอนทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการสอบถามเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แล้วทุกคน ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีการเข้าไปทำลายทรัพย์สินอะไรทั้งสิ้น อย่างเช่น รอยฟันถังน้ำที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าตอนนที่ขึ้นไปมีแค่ปืนกระบอกเดียวที่เป็นอาวุธประจํากายที่ใช้ไปออกลาดตระเวน และเข้าไปทํางานตามปกติไม่ได้มีการไปข่มขู่หรือทําลายข้าวของ ส่วนจุดพิกัดที่ถูกถ่ายภาพมาว่ามีการไปทำลายทรัพย์สิน ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ทราบว่าอยู่จุดนี้คือจุดไหน แต่รู้จุดเดียวคือที่มีการขับผ่านศาลาที่มีกรวยห้อยตามศาลา แต่ไม่ได้มีการเข้าไปในพื้นที่ของชุมชนแต่อย่างใด
และจากการสอบถามทางผู้นําชุมชน เพื่อขอหลักฐานภาพถ่าย หรือพยานบุคคลเพื่อยืนยันว่ามีใครเห็นเจ้าหน้าที่ไปทำลายข้าวของหรือไม่ ซึ่งเพราะถ้ามีการกระทำดังนั้นจริง จะต้องมีเรื่องวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทางผู้นําชุมชนก็บอกว่าเห็นเจ้าหน้าป่าไม้เข้ามา และพอเจ้าหน้าที่ออกไปก็เห็นข้าวของเสียหาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งมาว่า ถ้ามีใครไปแอบอ้างทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ไม่ทํา จะพิสูจน์ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีใครเห็นเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำ ตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว ตลอดเส้นทางที่เข้าไปก็มีการสอบถามทางกับทางชุมชน โดยได้เจอพระรูปหนึ่งจึงได้เข้าไปคุยว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบพื้นที่นะ ตอนเจอคนในชุมชนก็มีการแจ้งชื่อ ตอนเข้าไปในชุมชนก็มีชาวบ้านประมาณ 10 กว่าคนมาถามชื่อ ชาวบ้านบางคนก็ยังมาช่วยปะยางรถด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเป็นการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ทำกินเดิม และหน่วยงานก็มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะมีการดำเนินการอะไรทึ่ไม่สมควรอย่างที่กล่าวอ้าง
แต่ยอมรับว่าไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือเข้าไป เพราะเป็นการเข้าไปในพื้นที่เดิม ตรวจสอบและไปปิดในระบบ ซึ่งเป็นการเข้าไปลาดตระเวน เผื่อเจอคนบุกรุก แต่ด้วยความที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงคิดว่า พื้นที่เป็นพื้นที่เดิมและไม่น่าจะมีปัญหาในการเข้าไปตรวจสอบ และได้ยืนยันแล้วว่าไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว แต่หากชาวบ้านท่านใดมีข้อมูล พยาน หรือหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปทําลายทรัพย์สินสามารถส่งหลักฐานมาให้ทางหน่วยงานตรวจสอบได้เลย
สำหรับเหตุการณ์ชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค.67 ที่ผ่านมา มีชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่จำนวน 3 นาย มีผ้าปิดคลุมใบหน้า พร้อมอาวุธปืนยาว 1 กระบอก ได้ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเข้ามาในบริเวณชุมชน ซึ่งทางชุมชนเข้าใจว่าเป็นการเข้ามาลาดตระเวนที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวเข้าออกเป็นปกติ จนกระทั่งชาวบ้านได้เข้าไปยังบริเวณไร่หมุนเวียนแปลงดังกล่าวแล้วพบว่า ทรัพย์สินในกระท่อมในไร่หมุนเวียนถูกรื้อทำลาย รวมทั้งถังเก็บน้ำสำรองที่ใช้ดับไฟป่าก็ถูกกรีดและถูกปล่อยน้ำออกจนหมด รวมไปถึงอุปกรณ์พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในไร่หมุนเวียนตามความเชื่อของชุมชนกะเหรี่ยง “จื่อ ลอ มวา ข่อ” ที่ใช้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่จะขอให้ฟ้าฝนช่วยให้การเพาะปลูกราบรื่นนั้นถูกรื้อทำลายกระจัดกระจาย
ทั้งนี้หมู่บ้านห้วยหินลาดในถือเป็นหมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์ป่าไม้และวิถีชีวิตวัฒนธรรมปกาเกอะญออย่างเข้มแข็ง และหน่วยงานราชการหลายหน่วยได้มีการเข้ามาดูผลงานในหมู่บ้านดังกล่าว และชุมชน ผู้นำชุมชนหลายคนก็เคยได้รับรางวัลหลากหลายรางวัลที่การันตีถึงความยั่งยืนในพื้นที่ อาทิ
1.รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 1 ปี 2542 ประเภทชุมชน
2.“รางวัล 5 ปีแห่งความยั่งยืน” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน”) ในปี 2548
3.กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 7 ในปี 2548
4.พะตีปรีชา ศิริ (อายุ 59 ปี) ได้รับรางวัล “วีรบุรุษ รักษาป่า” Forest Hero จากการประชุมของ องค์การสหประชาชาติ เรื่องป่าไม้ ที่กรุงอิสตันบูล ในปี 2556
5.ได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบ และศึกษาแลกเปลี่ยนชุมชนต้นแบบที่ประเทศมาเลเซีย ในปี 2566
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.