เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานพิธีเปิดการจัดงานครบรอบ “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว บทเรียนสำคัญสู่ความร่วมมือการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างยั่งยืน” ที่ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างความตระหนักและถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวสู่องค์ความรู้ในการป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือในอนาคต ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของทุกภาคส่วน ไปสู่การขับเคลื่อน การจัดการธรณี พิบัติภัยอย่างเป็นรูปประธรรม โดยมี ดร.สมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม นำหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ชุมชน เครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยธรณีพิบัติภัย และประชาชนในจังหวัดเชียงราย กว่า 300 คน เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมรูปแบบการประชุม และการเสวนาถอดบทเรียน ในหัวข้อ “ถอดบทเรียน 10 ปี แผ่นดินไหวเชียงราย สู่ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการป้องกันและลดผลกระทบจากพิบัติภัยทางธรรมชาติ” โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านแผ่นดินไหว มาร่วมบรรยายพิเศษ “บทบาทของสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่าย เยาวชน ในการร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการภัย พิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และ การอภิปลายบทเรียนสำคัญสู่ความร่วมมือการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างยั่งยืน โดยภายในงานจัดให้มีนิทาศการองค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย อีกด้วย
 

         นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ประชาชน โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการแจ้งเตือนภัย เร่งติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว จัดทำแผนที่แสดงจุดปลอดภัยและซักซ้อนแผนอพยพร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ได้นำองค์ความรู้ทางวิชาการด้านธรณีพิบัติภัยมาใช้ เพื่อลดความสูญเสียและลดผลกระทบต่อชุมชนบนหลักการ “อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเสี่ยงธรณีพิบัติภัย อยู่อย่างไรให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยมีการถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้อาศัยอยู่อย่างมั่นใจและปลอดภัย เสริมสร้างศักยภาพของภาคีเครือข่ายและชุมชนให้พร้อมรับมือธรณีพิบัติภัย และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อประสบภัย รวมถึงประชาชนทั้งที่อยู่ในเขตเมืองที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวและประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สูงที่เสี่ยงต่อการดินถล่ม จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวทางประสบการณ์การดำเนินชีวิตได้รับรู้วิธีการอยู่อาศัยในที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย สามารถนำไปปรับใช้ได้กับชีวิตประจำวัน และมีศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญภัยได้อย่างมีสติ 
 

        ดร.สมศักดิ์  วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า ถ้าหากย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 นาฬิกา เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประเทศไทย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ด้วยเหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน บ้านเรือนประชาชนกว่า 10,000 หลังคาเรือน ศาสนสถานต่างๆ โรงเรียน ถนนเกิดรอยแยกเป็นทางยาวหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย และอาคารสูงในกรุงเทพฯสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ด้วย จะเห็นได้ว่าการเกิดธรณีพิบัติภัยในแต่ละครั้งส่วนมากจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้า สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ และที่สำคัญมักจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ดังนั้นกรมทรัพยากรธรณี จึงได้จัดประชุมสัมมนา เรื่อง “๑ ทศวรรษแผ่นดินไหวแม่ลาว : บทเรียนสำคัญสู่ความร่วมมือการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างยั่งยืน” ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นการถอดบทเรียนจากการเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่สำคัญ นำมาสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับธรณีพิบัติภัยและเพื่อจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างบูรณาการ เพื่อบรรเทาลดผลกระทบและความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME