เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2567 นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงนโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ให้มีการเปิดกาสิโนที่จะมีการออกกฎหมายมารองรับ และมีใบอนุญาตประกอบการที่อาจจะมีราคาเป็นหลักหมื่นล้านบาทว่า นโยบายกาสิโนอาจจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจให้มีรายได้ มีคนเข้ามาเล่น แต่ผมว่า เป็นนโยบายที่ฉาบฉวย คือไม่ได้เป็นนโยบายที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชนในภาพใหญ่ และผลข้างเคียงก็มีเยอะ ก็มีคนที่ศึกษากันเยอะ ทำไมหลายประเทศถึงไม่ยอมให้มีกาสิโนในประเทศ คิดว่ามันมีผลข้างเคียงทางสังคมเยอะมาก คือเราจะต้องคิดนโยบายที่ตอบโจทย์ เรื่องการเพิ่มผลิตภาพของประเทศในระยะยาว แต่ถ้าเรามัวแต่วุ่นกันหา Quick win แล้วก็ทำอย่างเช่น กาสิโน กัญชา นึกไม่ออกว่าจะทำให้คนไทยเก่งขึ้นในระยะยาวได้อย่างไร
ถามว่าสถาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ถือว่า วิกฤตหรือไม่และ ณ ตอนนี้ เศรษฐกิจของไทยยืนอยู่ ณ จุดไหนของสถานการณ์เศษฐกิจโลก นายวิรไทกล่าวว่า ถ้าเทียบกับคำว่า วิกฤต อย่างที่เราเคยเผชิญในอดีต หรือที่ประเทศอื่นๆเผชิญ เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤตรูปแบบนั้น คือเราไม่ได้มีวิกฤตในส่วนของสถาบันการเงิน ระบบสถาบันการเงินของเรายังมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง เรายังมีกันชนที่รองรับความผันผวน การเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนในด้านของต่างประเทศที่เป็นต้นเหตุอันหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อค.ศ. 1997 คือทุนสำรองระหว่างประเทศเราไม่เพียงพอ มีการกู้เงินตราต่างประเทศมาก และเมื่อเจอแรงกระแทกทำให้เราอ่อนไหว เราเซ ตอนนั้นระบบอัตราแลกเปลี่ยน เป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ มันทำให้ไม่มีกลไกที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่วันนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศเราค่อนข้างสูง เราไม่ได้ขาดดุลบัญชีเงินสะพัดมาก เหมือนกับอดีต เพราะฉะนั้นในแง่ของเสถียรภาพด้านต่างประเทศของเรา ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ไทย เป็นกังวลกันมาก ก็คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน
นายวิรไท กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นประเด็นปัญหาคือเรื่องของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทย ที่อาจไม่มีการปรับโครงสร้างได้อย่างเท่าทัน ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เราเห็นประเทศที่เมื่อก่อนเคยล้าหลังเรา แต่วันนี้วิ่งตามมาใกล้กับเรา หรืออาจแซงเราไปแล้ว ดังนั้นการปรับเรื่องโครงสร้างจึงสำคัญ เวลาพูดถึงเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ผมจะนึกถึงคำสี่คำ ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณา เวลาที่ทำเรื่องนโยบายสาธารณะและมองโครงสร้างสภาวะเศรษฐกิจ
คำแรกคือ ผลิตภาพ productivity คนไทยต้องเก่งขึ้น ต้องทำงานแล้วได้มูลค่าของที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลิตภาพของไทย อยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่องมานาน โดยเฉพาะในภาคการเกษตร เพราะเราไม่ได้ทำเรื่องที่สำคัญเช่นการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ เป็นเรื่องน่าห่วง เรื่องที่สอง คือ Inclusivity การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง-เท่าเทียมกัน เรามีความเหลื่อมล้ำสูง เวลาที่เศรษฐกิจต้องผ่านบางสภาวะเช่น โควิด ทุกครั้งที่ผ่านสภาวะแบบนี้ คนที่อยู่ด้านล่างของปิรามิดจะถูกกระแทกแรง เราถึงเห็นปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง กิจแบบเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถแข่งขันได้ แต่คนที่อยู่บนยอดปิรามิดเขาไปต่อได้ แต่ทำให้ช่องว่างมันจะยิ่งถ่างกันมากขึ้น
เรื่องที่สาม คือ ภูมิคุ้มกัน (immunity)เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ คำถามคือเรามีกันชนรองรับแรงกระแทกมากน้อยแค่ไหน เสถียรภาพด้านต่างประเทศเราค่อนข้างดี เจอปรากฏการณ์ต่างประเทศ เราไม่เซมากเหมือนเมื่อก่อน แต่ถ้ามองไปในอนาคต ด้านฐานะการคลัง จะเจอกับแรงกดดันมาก เพราะสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุจะสูงขึ้นมาก
เรื่องที่สี่ adaptability หรือความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะวันนี้เราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องที่เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่มาก ที่นอกเหนือจากสังคมผู้สูงอายุแล้ว ก็คือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เรื่องของ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนหลายอาชีพ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ จะเกิดผลกระทบแรงมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ด้านล่างของฐานปิรามิด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับทุกคน แต่เราพูดถึงน้อยมากในประเทศไทยคือ adaptation to Climate change เรากำลังเกิดวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ ที่ไม่ใช่แค่อุณหภูมิสูงขึ้น แต่จะมีผลกระทบในภาคเกษตร เพราะประชากรของประเทศไทยอาจจะสักประมาณครึ่งหนึ่งพึ่งรายได้จากภาคเกษตร ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่เรายังอาจไม่ได้ตั้งรับไว้ดีพอ
อดีตผู้ว่าฯธปท.ย้ำว่า เรื่องทั้งหมด ไม่ใช่ว่ามีมาตราการเดียวแล้วจะแก้ได้หมดทุกอย่าง อย่างเรื่องโครงสร้าง ต้องมีมาตราการจัดการที่เราเรียกว่า Supply-side คือมาตราการด้านเศรษฐกิจจะมีสองมาตราการใหญ่ๆคือ ด้าน demand กับด้าน supply ด้าน demand เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว ก็อัดเงินลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายการเงิน-การคลัง ลดดอกเบี้ยโดยหวังว่าเศรษกิจจะมีสภาพคล่องมากขึ้น แต่มาตรการทาง demand อาจจะช่วยแก้ปัญหาตามวัฏจักรของเศรษกิจ เช่น เศรษฐกิจขาลง ก็อัดทางด้าน demand แต่ปัญหาข้างต้นที่คุยกันสี่เรื่อง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องอาศัยมาตรการทางด้าน supply ต้องเข้าไปแก้ไขในแต่ละเรื่อง
สำหรับมาตราด้าน supply ตัวอย่างที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับทุกคน และสามารถทำได้ก็เช่น ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง PromptPay หรือ คิวอาร์โค้ด ที่ช่วยยกระดับผลิตภาพของประเทศ และมีอิมแพกที่ค่อนข้างแรง เรื่องเกี่ยวกับดิจิทัล ยังทำได้อีกมาก ที่จะสร้างรากฐานใหม่ๆที่จะเป็นระบบของเศรษฐกิจ ระบบการเงินใหม่ๆ ที่การทำ ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน มาตราการด้าน supply ควรเกิดขึ้นเยอะๆ และทุ่มเททรัพยากรเพราะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต
เมื่อถามถึงว่า ที่ผ่านมา ธปท.ก็ถูกรุกเร้าให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย หากเป็นผู้ว่าฯธปท.จะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย ดร.วิรไท อดีตผู้ว่าฯธปท.กล่าวว่า ไม่ได้ตามข้อมูลเศรษฐกิจใกล้ชิด แต่คนที่เป็นผู้กำกับนโยบาย ย่อมมีข้อมูลมากกว่าผม ที่เป็นคนสังเกตุการณ์อยู่ข้างนอก แต่ว่าสิ่งที่คนเราเข้าใจผิดคือ เวลาที่เราลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผลที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายการเงิน ผลที่เราคิดว่าอาจจะเกิดขึ้น อาจจะเป็นหนึ่งปี หรือหนึ่งปีครึ่ง เพราะว่าต้องทำงานผ่านกลไก และเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ถ้าจะทำให้เกิดผลแรงๆกับระบบเศรษฐกิจ ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเยอะๆ ไม่ใช่ลด 0.25 หรือ 0.50 อย่างช่วงวิกฤตโควิด สมัยนั้น มีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงแบบแรง ถึงจะส่งผ่านไปถึงธนาคารพาณิชย์ที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงด้วย แต่การที่เราทำเรื่องอัตราดอกเบี้ย เราต้องคำนึงถึงการส่งผ่านของนโยบายไปสู่ระบบการเงิน -ธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจโดยรวม ต้องมองบริบทของโลก เพราะเงินมันไหลเข้าไหลออก ถ้าอัตราดอกเบี้ยของเราต่างกับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศมาก เงินจะไหลออก แล้วค่าเงินจะอ่อนค่าลง ก็จะกลับมาเป็นต้นทุนเรื่องน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ที่เราต้องนำเข้ามา ดังนั้นเราต้องหาสมดุล
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : วิรไท สันติประภพ
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.