เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย (สสจ.เชียงราย) ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการรับมือและการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย โดยกล่าวว่าทีมเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้คำแนะนำแก่ประชาชนในเรื่องของการป้องกันตนเองหลังน้ำลด โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM10 ที่มักเกิดขึ้นหลังจากน้ำลด โดยแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่โล่งแจ้งควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่น และสามารถใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาได้

อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังคือขยะเน่าเหม็น ซึ่งอาจเป็นแหล่งเชื้อโรค โดยขอให้ประชาชนที่ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีขยะใส่รองเท้าบูทหรือรองเท้ายางเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ การจัดการขยะจะต้องประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อเร่งจัดเก็บ โดยมีการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงประเภทของขยะในแต่ละพื้นที่ เพราะขยะเน่าเหม็นนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินอาหาร หากมีการหยิบจับหรือสัมผัสสิ่งของที่เริ่มเน่าเสียแล้วไม่สวมถุงมือหรือไม่ล้างมือให้สะอาด

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับบาดแผลที่อาจสัมผัสน้ำเน่าเสีย นพ.วัชรพงษ์ได้กล่าวว่า บาดแผลที่สัมผัสกับน้ำเน่าเสียมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคฉี่หนู ซึ่งควรทำความสะอาดและทายาทันทีหลังจากสัมผัสน้ำ หรือไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยปฐมพยาบาลที่ลงพื้นที่ เพื่อให้แพทย์ประเมินสภาพบาดแผลและให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง โดยสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายได้พบว่า ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีอาการเท้าเปื่อย ระบบทางเดินหายใจ และตาแดง ส่วนโรคฉี่หนูยังไม่มีการแพร่ระบาด แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของภาวะทางจิตใจ นพ.วัชรพงษ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการส่งทีมสุขภาพจิตเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภาวะเครียดจากเหตุการณ์น้ำท่วม โดยร่วมกับทีมจากโรงพยาบาลสวนปรุงของกรมสุขภาพจิต ซึ่งได้คัดกรองประชาชนไปแล้วประมาณ 3,000 คน พบว่ามีผู้ที่มีความเครียดในระดับปานกลางที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ บางรายมีการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ แต่ยังไม่พบผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย

ความเครียดที่พบส่วนใหญ่เกิดจากความกังวลเรื่องบ้านเรือนที่ถูกดินโคลนถล่มและไม่สามารถเข้าไปฟื้นฟูได้ ประชาชนบางส่วนยังคงวิตกเกี่ยวกับการเกิดพายุหรืออุทกภัยซ้ำในอนาคต กรมสุขภาพจิตได้จัดทำข้อมูลเพื่อช่วยแจ้งเตือนประชาชนอยู่ตลอด และมีการเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต นอกจากนี้ยังได้ทำคู่มือแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ โดยแนะนำให้ประชาชนมองสถานการณ์ในแง่บวก เชื่อมั่นในความสามารถของตนเองในการผ่านพ้นวิกฤตนี้ และอย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อมีความจำเป็น

สุดท้าย นพ.วัชรพงษ์กล่าวย้ำว่า เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนกำลังทำงานกันอย่างเต็มที่ และประชาชนควรป้องกันตนเองให้ดีในช่วงหลังน้ำลด เพราะอาจมีโรคภัยต่างๆ ตามมาได้ เช่น โรคทางเดินอาหาร เท้าเปื่อย โรคฉี่หนู และโรคตาแดง ซึ่งหากมีอาการควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวชายขอบ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME