นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางพัชรนันท์ แก้วจินดา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมมอบถวายผักและวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารเจเพื่อแจกจ่ายให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนช่วงเทศกาลกินเจ ในวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00 น. ณ โรงทานวัดห้วยปลากั้ง “พบโชค พบบุญ” พระไพศาลประชาทร วิ. (พบโชค ติสฺสวํโส) บริเวณสามแยกดอยทอง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

 

     จัดโดย วัดห้วยปลากั้ง ร่วมกับ มณฑลทหารบกที่ 37 เพื่อแจกจ่าย บริการอาหารเจให้แก่พุทธศาสนิกชนและประชาชนช่วงของเทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ในปีพุทธศักราช 2566 เทศกาลกินเจจะตรงกับวันที่ 15 – 23 ตุลาคม 2566 ซึ่งการบริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี รวม 9 วัน โดยในปีนี้จะตรงกับเดือนตุลาคมของไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ

 

  1. กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ
  2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงามย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้นซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับคนเรา
  3. กินเพื่อเว้นกรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่าการกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่นก็เหมือนกับการจ้างฆ่าเพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย (ถ้าไม่ฆ่าไม่ขายก็ไม่มีคนกิน) กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้าทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลงเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้จึงหยุดกินหยุดฆ่าหันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น
  4.  

     สำหรับ “เจ” ในภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธนิกายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ สำหรับการปฏิบัติตนในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจจะต้องปฏิบัติดังนี้

 

  1. รับประทาน “อาหารเจ”
  2. งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก งดผักที่มีกลิ่นฉุนทั้งหลาย แยกภาชนะสำหรับอาหารเจเท่านั้น
  3. รักษาศีลห้า
  4. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ ไม่พูดคำหยาบคาย รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์ ทำบุญทำทาน ไหว้พระ สวดมนต์
  5. นุ่งขาวห่มขาวตลอดเทศกาลกินเจ และควรแต่งกายชุดขาวเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ในแต่ละศาลเจ้า
  6.  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

พัชรนันท์ แก้วจินดา, สุพจน์ ทนทาน : รายงาน

พร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ : ภาพ

อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME