เมื่อ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 02.20 น. ได้เกิดเหตุขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ 833 ดีเซลเลขที่ 5240 มีต้นทางจากไอซีดี ลาดกระบัง ปลายทางแหลมฉบัง ชนกับรถยนต์กระบะขนคนงานลากปลา ยี่ห้อ อีซูซุ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน 1 ฒฆ 5942 กรุงเทพมหานคร บริเวณทางลักผ่านที่ไม่ได้รับอนุญาต หลักกิโลเมตรที่ 43/9 ใกล้กับที่หยุดรถคลองอุดมชลจร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่ง รฟท. ได้ติดตั้งป้าย และสัญญาณไฟเตือนครบถ้วนเพื่อพยายามช่วยในเรื่องความปลอดภัยให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าพนักงานขับรถไฟได้ปฏิบัติตามข้อบังคับโดยการเปิดหวูดเตือนก่อนจะถึงทางลักผ่าน จำนวนถึง 3 ครั้ง แต่ด้วยระยะที่กระชั้นชิดทำให้ไม่สามารถหยุดขบวนรถได้ทัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เป็นชาย 5 ราย และหญิง 3 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นชาย 4 ราย โดยมีอาการสาหัส 1 ราย มูลนิธิกู้ภัยฉะเชิงเทราได้เร่งนำตัวส่งโรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนผู้เสียชีวิต ได้นำส่งโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรอการชันสูตรและให้ญาติติดต่อขอรับเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
จากการสอบสวน นายวิชัย อยู่เล็ก อายุ 54 ปี ผู้ขับขี่รถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ เล่าว่าขณะขับผ่านทางรถไฟ เห็นรถไฟกำลังวิ่งมา และได้ยินหวีดรถไฟแจ้งเตือนแล้ว จึงได้ชะลอรถ แต่คนในรถที่นั่งมาด้วยกันบอกให้ขับผ่านไปได้เลย ตนจึงขับผ่านทางตัดไปแต่ด้วยความกระชั้นชิด จึงทำให้รถไฟชนเข้าที่ท้ายของรถกระบะ
นอกจากนี้ นายสุรพัศ ประสพ อายุ 20 ปี ผู้รอดชีวิตที่นั่งมาในรถยนต์กระบะ เล่าถึงเหตุการณ์ว่า ขณะรถกระบะกำลังจะขับข้ามทางรถไฟ ตนเองเห็นว่ามีขบวนรถไฟพุ่งใกล้เข้ามาในระยะอีกเพียงไม่กี่เมตร และได้ยินเสียงคนงานที่นั่งมาด้วยกันร้องบอกคนขับรถว่าให้รีบข้ามไป แต่ตนเองมองว่าไม่น่าจะทันจึงตัดสินใจกระโดดลงจากรถ โดยยืนยันว่าระหว่างที่รถยนต์จะข้ามทางรถไฟได้ยินเสียงหวีดรถรถไฟดังลั่นถึง 3 ครั้ง แต่คนขับรถกระบะก็ไม่สนใจ จนเกิดเหตุดังกล่าว
หลังเกิดเหตุ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องของ รฟท. ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือ และดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ โดยในเบื้องต้นได้สั่งการให้กองพนักงานสัมพันธ์และสวัสดิการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ติดต่อให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมตามระเบียบของ รฟท. กับครอบครัวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตต่อไป ซึ่ง รฟท. ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บมา ณ โอกาสนี้
รายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย
1. นายวรพล ม่วงสี อายุ 25 ปี
2. นายจตุพร แก้วโรจน์ อายุ 26 ปี
3. นายสุพรรณ โพธิ์รักษา อายุ 25 ปี
4. นายสุรพัศ ประสพ อายุ 20 ปี
รายชื่อผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย
1. นายสุนทร บัวทอง อายุ 55 ปี
2. นางวารี ภู่ถาวร อายุ 64 ปี
3. น.ส.สุลีรัตน์ ไวว่อง อายุ 22 ปี
4. นายสุรพล อยู่เล็ก อายุ 60 ปี
5. นายณัฐชัย เหยี่ยว อายุ 18 ปี
6. นายธนาวัฒน์ ลิ้มเจริญวิวัฒน์ อายุ 27 ปี
7. นายสายยนต์ โพธิ์รักษ์ อายุ 62 ปี
8. นางสุนทรี โพธิ์รักษ์ อายุ 55 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางดังกล่าวจะเป็นทางลักผ่าน แต่เพื่อพยายามที่จะลดอุบัติเหตุให้มากที่สุด รฟท. จึงได้ดำเนินการติดตั้งสัญญาณเตือน ป้ายจราจร ไฟกะพริบป้ายข้อความเตือนทั้งสองด้านมีเครื่องหมายจราจรครบถ้วน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านจุดดังกล่าว
ซึ่งนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชนใกล้เคียง เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ได้คำนึงถึงความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎจราจรก่อนข้ามทางผ่านเสมอระดับ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับป้ายสัญลักษณ์เตือน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ในส่วนมาตรการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปจำนวนทางลักผ่านที่ผิดกฎหมายเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาปิดจุดทางลักผ่านต่างๆ หรือประสานหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ ซึ่งที่ผ่านมา หาก รฟท. เข้าไปดำเนินการปิดทางลักผ่านต่างๆ ก็จะได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ขอให้เปิดเส้นทางลักผ่านเพื่อใช้ในการสัญจร หรือลักลอบเปิดใช้ทางลักผ่านโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก รฟท. แต่อย่างใด
ปัจจุบันโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ มีทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟและรถยนต์ จำนวน 2,697 แห่ง แบ่งเป็น ทางต่างระดับที่ได้รับอนุญาต 546 แห่ง (Overpass, Underpass, Box underpass, U-Turn, U-Turn,Box Underpass) ทางเสมอระดับที่ได้รับอนุญาต 1,458 แห่ง (เครื่องกั้นถนนอัตโนมัติ, มีพนักงานควบคุม, ป้ายจราจร/สัญญาณต่างๆ) และทางลักผ่าน 693 แห่ง (ติดตั้งเครื่องกั้นถนนฯ , ติดตั้งป้ายจราจรสัญญาณต่าง ๆ , ทางลอด, ทางที่ไม่ได้รับการติดตั้งป้ายจราจร/สัญญาณใดๆ) รฟท. ขอให้ประชาชนผู้ใช้ทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 63 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระหว่างรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้นผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การรถไฟแห่งประเทศไทย
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.