ข้อคิดคำนึงเรื่องแจกเงิน 10,000 บาท ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567” กำลังเริ่มจ่ายโอนเงิน 10,000 บาท เพื่อเข้าบัญชีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรผู้พิการ ตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย. จำนวน 14.4 ล้านคน คิดเป็นเงิน 1.44 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลไม่มีข้อจำกัดด้านการใช้จ่าย

ในด้านอุปสงค์ของระบบเศรษฐกิจ ผู้รับเงิน คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เคยมีข่าวกรณีที่ สตง. ลองสุ่มตรวจผู้เสียชีวิตจำนวน 100 กว่าคน แล้วพบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังใช้สิทธิ์บัตรประชารัฐประมาณ 22 คน เมื่อช่วงปี 2564 (‘ก้าวไกล’ พบพิรุธ ‘กองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ’ หากินกับคนตาย บนความทุกข์คนเป็น  ‘วรรณวิภา’  เผย ผลสุ่มตรวจ สตง. เจอชื่อคนตายยังได้รับเงินเกือบ 1 ใน 5 https://voicetv.co.th/read/X756rNYip)

ในด้านอุปทานของระบบเศรษฐกิจ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า ปีล่าสุด 2566 บริษัทค้าปลีก CPALL มีรายได้ 9.2 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท, เซ็นทรัลรีเทล (CRC) มีรายได้ 2.5 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 8 พันล้านบาท, และ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) มีรายได้ 1.7 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 4.7 พันล้านบาท คิดเป็นรายได้ธุรกิจค้าปลีกของ 3 ตระกูล คือ 1.3 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลประมาณการ GDP ปี 2566 (สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์) โดยสภาพัฒน์ อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท

ปัจจุบัน ร้าน 7-Eleven มีสาขาทั่วประเทศ 14,545 แห่ง มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน ประมาณ 8 หมื่นบาท มีจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ยเกือบ 1 พันคน ซึ่ง CPALL มีกำไรธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 35% ในปี 2566 ซึ่งเป็นกำไรสูงสุดตั้งแต่หลังโควิด อีกทั้งคิดเป็นกำไรมากกว่า  80% ของ CPALL มาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2566 ที่ผ่านมา รายได้ธุรกิจร้าน 7-Eleven มีมูลค่า 3.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

คำถามพื้นฐาน คือ เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะได้ผลจริงจังมีเงินจะหมุนเวียนตามทฤษฎี `ตัวทวีคูณทางการคลัง’ (fiscal multiplier) มากน้อยเพียงใด? แต่อย่างน้อยก็จะพอช่วยต่อชีวิตคนจนจริงที่ได้รับสิทธิ์ไปได้บ้าง และ อาจจะพอทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีกำลังซื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นตามกำลัง

ทั้งนี้ ในฐานะคนไทยผู้รักชาติ ผู้เขียนก็ยังคงหวังที่จะเห็นรัฐบาลสร้างความหวังให้มีอนาคตสำหรับประชาชนได้เหมือนนโยบายสมัยก่อนที่มีกองทุนหมู่บ้าน การจัดตั้งธนาคารประชาชน เป็นยุคที่ OTOP SMEs รุ่งเรือง และ ประชาชนจับจ่ายใช้สอยทำให้ธุรกิจคึกคัก เพียงแต่ในสมัยยุคปัญญาประดิษฐ์ผสมผสานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ จะทำอย่างไรให้คนไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ทันก่อนแก่ หากสามารถนำแนวทางที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 26 ก.พ. 2544 คือ จะต้องมี “การลงทุนเพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับประชาชนและให้กับรัฐในที่สุด” เพื่อมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ก็น่าจะเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง และ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

อ่านเพิ่มเติม เศรษฐศาสตร์เรื่องการแจกเงินดิจิทัล… https://www.isranews.org/article/isranews-article/126307-digital-5.html

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME