เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โพสต์บทความที่น่าสนใจอย่างรถหายในห้าง !! #ใครต้องรับผิด !!
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556 “ ห้างต้องรับผิด”
คำพิพากษาศาลฎีกา 10570/2557 “ ห้างไม่ต้องรับผิด”
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 743 /2561 ล่าสุด “ ห้างต้องรับผิด”
ลูกค้าจอดรถในห้าง ฯ แต่กลับหายจ้อยโดยไม่รู้สาเหตุ เจ้าของสถานที่ต้องรับผิดชอบ ! หรือไม่ ? มาดูคำตอบที่สิ้นสุดในชั้นศาลฏีกาเข้าไป SHOPPING เพลินเลย ออกมาลานจอด อ้าว ! รถหาย ก็ตอนขับเข้ามายังอยู่ที่ชั้นนี้ ใครเคยมีประสบการณ์แบบนี้ ไม่ต้องตกใจโวยวาย ในฐานะผู้บริโภคและเป็นผู้ใช้บริการ ต้องหาหลักฐานด่วนๆ นั่นคือ “ใบเสร็จ “ ซื้อสินค้า เพื่อยืนยันการมาใช้บริการ จากนั้น เอาใบเสร็จ นี่แหละไปแจ้งความกับตำรวจ ถ่ายสำเนาให้ไปนะ ส่วนตัวจริงเก็บเอาไว้ทีนี้ละ เป็นขั้นตอนสำคัญ การเจรจากับห้างฯ ที่รถของเราหายไปถ้าห้างฯ ไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหาย จะได้ใช้ใบเสร็จกับภาพถ่ายรถในโทรศัพท์มือถือเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องร้องในชั้นศาล
แต่…. เดี๋ยวก่อน ! การที่ผู้เสียหายจะชนะคดี ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานอีกอย่างที่ชัดเจน นั่นคือ ภาพถ่ายรถที่เห็นป้ายทะเบียน รวมถึง สภาพสถานที่จอด อยู่ชั้นไหน ล็อกช่องจอดหมายเลข หรือ อักษรอะไร ซึ่งผู้ที่ชนะคดีรายนี้ รอบคอบอย่างมาก เพราะถ่ายรูปเก็บไว้ตั้งแต่ตอนเข้ามาจอดรถในห้างฯ เมื่อสู้คดีสิ้นสุดในชั้นศาลจึงได้รับการชดใช้ โดยมี คำพิพากษา ศาลฎีกา ที่ 7471/2556 เผยแพร่ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557
“จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ หรือไม่ แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยยังต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวงจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯ ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย”
หลังจาก ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้ ห้างฯ ต้องรับผิดในกรณีที่รถลูกค้าสูญหาย นับตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา ห้างฯ ก็ได้มีวิวัฒนาการเพื่อที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบ ! แต่ ศาลฏีกา ก็มีคำพิพากษา ไปตามวิวัฒนาการ เพื่อปกป้องผู้บริโภค มาดูตัวอย่าง จาก 3 กรณี
1)กรณี ห้างฯ มอบบัตรผ่าน เข้า-ออก หรือ บัตรจอดรถให้ลูกค้า **ศาลฎีกา มีคำวินิจฉัยว่า “กรณีนี้เข้าลักษณะการฝากทรัพย์ เมื่อปล่อยให้รถหายก็เป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะผิดฐานละเมิดในการงดเว้นหน้าที่ ที่ห้างฯจะต้องดูแลรถให้ดี
2) พอศาลมีคำพิพากษาไปแบบนั้น ห้างฯก็เขียนว่า”ท่านที่เอารถมาจอด ถือว่าห้างอำนวยความสะดวกให้ ไม่ถือเป็นการรับฝากรถ “ ปิดประกาศทางเข้า-ออกของห้าง ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า แม้จะมีข้อตกลงหรือประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบอย่างใดๆ ถือว่าเป็นประกาศฝ่ายเดียวลูกค้าที่เอารถมาจอดไม่ได้ตกลงด้วยไม่มีผลบังคับ ห้างต้องรับผิด
3)ต่อมาห้างก็มีวิวัฒนาการต่อไปคือ ยกเลิก รปภ.ไม่มอบบัตรเข้าออก แต่ใช้วิธีติดตั้งกล้องแทนแล้วก็ปิดประกาศเหมือนเดิมว่าจะไม่รับผิดใดๆ จากเหตุนี้ ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าแม้จะไม่มีการออกบัตรประหนึ่งว่าเป็นสัญญาฝากทรัพย์ แต่การที่ห้างจัดให้มีสถานที่จอดรถเป็นการอำนวยความสะดวกและเพื่อประโยชน์ของห้างโดยแท้ เมื่อรถหายห้างก็ต้องรับผิดอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกรณีที่ห้างจะต้องรับผิดอยู่ตลอด เช่น กรณีนี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกา 10570/2557 “ ห้างไม่ต้องรับผิด” เพราะอะไร ? มาดูจากเหตุกัน
เจ้าของรถไปซื้อของที่ห้างใกล้บ้านและได้รับอนุญาตให้เข้าจอดรถในพื้นที่ของห้าง แต่ต้องหาที่จอดเอง ต้องดูแลทรัพย์สินเอง เหมือนกับจอดในห้างทั่ว ๆ ไปแหละ ทั้งนี้ ห้างก็ไม่มีบริการเก็บค่าบริการรับฝากรถ ดังนั้นห้างจึงไม่ใช่ผู้รับฝากรถ
เมื่อเจ้าของรถทำธุระเสร็จ ออกมาจากห้างปรากฎว่ารถหาย เจ้าของรถ ก็ฟ้องศาล เรียกร้องให้ห้างรับผิดชอบ
คดีนี้ได้ความว่า รปภ. ไม่ได้ประมาทปราศจากความระมัดระวัง ปล่อยให้คนร้ายลักรถของผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้น การที่รถหายจึงไม่ใช่ผลจากการกระทำโดยตรงจากการะทำของ รปภ. และห้าง ไม่ต้องรับผิดชอบ
โดยคำพิพากษา ระบุว่า ห้างสรรพสินค้าไม่มีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบยิ่งไปกว่าการดำเนินการตามปกติทางธุรกิจการค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอด จึงยังมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยรถและทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถของตนเอง
ทั้งนี้ จำเลย ( ห้างสรรพสินค้า ) ไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการในการนำรถเข้าจอด ดังนั้น ความครอบครองในรถยังคงอยู่กับเจ้าของรถหรือผู้ที่นำรถเข้ามาจอด จำเลย จึงไม่ใช่ผู้รับฝากรถและไม่ได้รับประโยชน์ อันเนื่องจากการที่มีผู้นำรถเข้าไปจอดในห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุ เพียงแต่ได้รับประโยชน์จากผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าและการบริการซึ่งเป็นปกติทางการค้าเท่านั้น ส่วนพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วม ไม่ได้กระทำประมาทปราศจากความระมัดระวังปล่อยให้คนร้ายลักรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ออกไปโดยไม่ตรวจสอบบัตรอนุญาตจอดรถให้ถูกต้อง และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ระมัดระวังดูแลรักษาความปลอดภัยสำหรับรถที่มีผู้นำมาจอดในห้างสรรพสินค้าของจำเลยตามสมควรแล้ว การที่รถสูญหายมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นกระทำของจำเลยและจำเลยร่วม ดังนั้นจำเลยและจำเลยร่วม จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง (อ้างอิงฎีกาที่ 10570/2557)
ฎีกาใหม่ล่าสุด 743/2561
การที่จำเลยซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมต้องการให้มีผู้มาซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของจำเลย การจัดให้มีลานจอดรถเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า ดังนั้น การที่จำเลยยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องดูแลรถที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยและรับฟังได้อีกว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรเข้าออกสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดแต่ขณะเกิดเหตุได้ยกเลิกการแจกบัตรเข้าออกและนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าออกลานจอดรถแทนซึ่งการติดตั้งกล้องวงจรปิดก็เป็นเพียงอุปกรณ์บันทึกภาพรถยนต์เข้าออกเท่านั้น ดังนั้น จึงเท่ากับจำเลยงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าโดยให้ลูกค้าต้องเสี่ยงภัยเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556 “ ห้างต้องรับผิด”
คำพิพากษาศาลฎีกา 10570/2557 “ ห้างไม่ต้องรับผิด”
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 743 /2561 “ ห้างต้องรับผิด”