เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตาม ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทย – ซาอุดีอาระเบียอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันการส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุดีฯ ขยายพื้นที่สีเขียว และสร้างรายได้เพิ่มให้คนไทยจากการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ หลังส่งออกแล้วกว่า 2 แสนต้น 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานพิจารณาแนวทางที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะภาครัฐและภาคเอกชน ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 6 – 10 มิถุนายน 2566 เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคี และส่งเสริมการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของไทยและซาอุดีฯ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งเดินทางร่วมคณะด้วยครั้งนี้พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุดีฯ ตามข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียว (Saudi Green Initiative) และข้อริเริ่มตะวันออกกลางสีเขียว (Middle East Green Initiative) ซึ่งซาอุดีฯ มีแผนจะนำเข้าต้นไม้ไปปลูกทั่วประเทศ จำนวน 1 หมื่นล้านต้น เพื่อฟื้นฟูให้เกิดพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ รวมถึงจะร่วมมือกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ และประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ ในการปลูกต้นไม้ในภูมิภาคเพิ่มอีก 4 หมื่นล้านต้น โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งต้นไม้ไปยังซาอุดีฯ แล้วกว่า 2 แสนต้น และสามารถขยายการส่งออกได้อีกมากในอนาคต

ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 146,860 ต้น มูลค่ารวม 138,048,597.02 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2566) ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผลักดันการรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) รวมทั้งได้มอบวงเงินสินเชื่อให้เกษตรกรจากการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และมอบประกาศเกียรติคุณแก่ธนาคารต้นไม้ของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ 

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันพิจารณาเพิ่มโอกาสการค้า การส่งออกให้กับคนไทย ยินดีที่ความสำเร็จจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์เพิ่มโอกาสค้าขาย ส่งออก เพิ่มอาชีพให้คนไทย และเกษตรกรไทย ประกอบกับ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และความยั่งยืนของระบบนิเวศ ทั้งนี้ ด้วยความสอดคล้องกันของนโยบายของซาอุดีฯ ในการส่งเสริมการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในประเทศ และภูมิภาค จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยควรร่วมสนับสนุน เพื่อร่วมกันดำรงชีวิตในโลกอย่างยั่งยืน สมดุล ส่งต่อโลกที่ดีขึ้นให้กับคนรุ่นต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว

โดยลิสต์ 38 ต้นไม้ไทย โอกาสส่งออกตลาดซาอุฯ ตามเป้าหมาย “Saudi Vision 2030” ของซาอุดีอาระเบีย มีแผนที่จะนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลกเพื่อให้บรรลุตามนโยบายซาอุดีอาระเบียสีเขียว (The Saudi Green Initiative) เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น และร่วมสนับสนุนผลักดันโครงการปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้น ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งต้นไม้ไปยังซาอุฯ แล้วกว่า 200,000 ต้น และถือว่ายังมีโอกาสให้ไทยส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ ได้อีกมาก ซึ่งซาอุฯ จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือกลุ่มประเทศ GCC (Gulf Cooperation Council) และประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ ในการปลูกต้นไม้ในเอเชียตะวันตกเพิ่มอีก 4 หมื่นล้านต้น

1. ชมพูพันธุ์ทิพย์ (Tabebuia rosea)
2. นนทรี (Peltophorum pterocarpum, Yellow poinciana)
3. พุทราจีน (Ziziphus jujuba)
4. ศรีตรัง (Jacaranda mimosifolia)
5. หูกวาง (Terminalia catappa)
6. อรชุน (Terminalia arjuna, Arjuna Tree)
7. ไทรย้อยใบแหลม (Ficus benjamina, Weeping fig)
8. พฤกษ์ (Albizia lebbeck)
9. ยี่เข่ง (Lagerstroemia indica)
10. งิ้ว (Bombax cebia, Red kapok tree)
11. หางนกยูงฝรั่ง (Delonix regia)
12. มัลเบอร์รี (Morus nigra, Blackberry)
13. มะรุม (Moringa oleifera)
14. เลี่ยน (Melia azedarach)
15. มะเดื่อ (Ficus carica, Fig)
16. เลมอน (Citrus limon)
17. ส้มซ่า (Citrus aurantium)
18. คารอบ (Ceratonia siliqua, Carob Tree)
19. ส้มแมนดาริน (Citrus reticulata, Mandarin orange)
20. มะตูมซาอุ (Schinus terebinthifolius)
21. กระถินเทพา (Acacia mangium)
22. หยีน้ำ (Millettia pinnata)
23. นิโครธ (Ficus benghalensis)
24. ชัยพฤกษ์ (Cassia javanica)
25. ก้ามปู (Albizia saman)
26. ปีบ (Millingtonia hortensis, Tree jasmine)
27. เสี้ยวดอกขาว (Bauhinia variegate)
28. ชงโค (Bauhinia purpurea)
29. ราชพฤกษ์ (Cassia fistula)
30. มะขามเทศ (Pithecellobium dulce)
31. มะกอกโอลีฟ (Olea europaea, Olive)
32. โพ (Ficus religiosa, Sacred fig)
33. สะเดา (Azadirachta indica)
34. มะขาม (Tamarindus indica)
35. โพทะเล (Thespesia populnea)
36. กร่าง (Ficus altissima)
37. ปอทะเล (Hibiscus tiliaceus, Seacoast mallow)
38. ทามาริสก์ (Tamarix aphylla, Athel pine)

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME