18 พฤศจิกายน 2566 สภาผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าว “ความล้มเหลวของ กสทช. ในการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม” เพื่อแสดงความผิดหวังและแสดงความเห็นต่อมติของคณะกรรมการ กสทช. พร้อมออกแถลงการณ์ร่วมกันและเตรียมเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจเข้าข่ายบกพร่องและไม่กำกับดูแล ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ทั้งกรณีมีมติรับทราบการควบรวมทรู – ดีแทค และการอนุญาตให้ควบรวม AWN – 3BB
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบัน หากสะท้อนจากมุมมองของคนนอกจะเหมือนเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างสองรายใหญ่เพราะคนที่ได้ประโยชน์ชัดเจนคือ ผู้ประกอบการทั้งสองราย ในทางกลับกัน กลับไม่เห็นความพยายามในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคในกสทช. ที่ชัดเจน แม้แต่กรรมการ กทสช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
“สิ่งที่น่าเสียใจคือ การปฏิรูปกิจการคลื่นความถี่โทรคมนาคมในประเทศไทยดูเหมือนจะมีความคืบหน้า แต่ในความเป็นจริงกลับถอยหลัง และเป็นการถอยหลังที่มองไม่เห็นอนาคตว่าจะไปอย่างไรกันต่อ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมือนจะไม่มีความหวัง ไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับการเป็นปากเสียงให้ผู้บริโภคในองค์กรอิสระที่มีศักดิ์ศรีและได้รับการคุ้มครองความอิสระตามเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ” นางสาวสุภิญญาระบุ
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาวะความขัดแย้งและความเห็นต่างในองค์กรอิสระเป็นเรื่องปกติเนื่องจากกรรมการแต่ละท่านต่างมีจุดยืนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งของกสทช.ชุดนี้กลับมองไม่เห็นว่าเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะอย่างไรและมีผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างไร
“ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าผู้บริโภคในยุค 5G และ 6G และขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ยุค AI และ Internet of Things ปัญหารุมเร้าทั้งในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มิจฉาชีพที่มาจากแก๊งคอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์และสแปมต่าง ๆ รวมไปถึงคุณภาพในการให้บริการ ผู้บริโภคถึงกับมืดมนว่าจะพึ่งใคร ถ้าองค์กรที่ควรจะเป็นที่พึ่งอย่าง กสทช.กลายเป็นทไวไลท์โซนหรือแดนสนธยาที่แสงอาทิตย์ส่องเข้าไปไม่ถึง เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นความหวังให้กับเราได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา”นางสาวสุภิญญากล่าว
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ความล้มเหลวของ กสทช.ในการคุ้มครองผู้บริโภคมี 3 ประการ ประการแรกคือ การลงมติ “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างทรู – ดีแทค โดยให้เหตุผลว่าไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน แต่ในการประชุมลงมติกรณี AWN – 3BB ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 5:2 เห็นว่าเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องมีการตัดสินที่ผิดพลาดในเบื้องต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังได้อนุญาตให้เกิดการควบรวมระหว่างค่าย AWN – 3BB ที่เป็นความผิดพลาดครั้งที่สอง เพราะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในการรับบริการโทรคมนาคมที่ถูกเอาเปรียบการมีอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจเอกชน
“ที่ผ่านมาภาคประชาชน รวมทั้งนักวิชาการและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้มีความพยายามอย่างเต็มที่ ในการคัดค้าน กสทช.ไปจนถึงการฟ้องคดีที่ศาลปกครอง เพื่อให้ กสทช.ใช้อำนาจของตัวเอง แต่สุดท้ายกสทช.ก็ทำหน้าที่เพียงรับทราบ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ กสทช. ไม่สามารถกำกับหรือควบคุมให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคได้ตามมาตรการที่ตัวเองออกแบบไว้”
สารีกล่าว
ความล้มเหลวประการที่สองคือการมีมติอนุญาตให้ AWN – 3BB ควบรวมกิจการได้ โดยไม่คำนึงว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดอินเทอร์เน็ตตามมา ซึ่งทำให้บริษัทที่ควบรวมได้รับประโยชน์โดยตรงที่สำคัญ กล่าวคือทำให้ บริษัท AWN มีส่วนแบ่งในตลาดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่มากถึงร้อยละ 44.44 ในขณะที่ลำดับที่สองและสาม คือ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 37.47 และ 15.44 ตามลำดับ
นอกจากนี้ การควบรวม AWN – 3BB ยังส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายซ้ำซ้อนคิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทในเวลา 5 ปี การที่คณะกรรมการ กสทช. ได้กำหนดมาตรการให้นำเงินที่ประหยัดได้นี้ไปลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่มในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งหากพิจารณาอย่างผิวเผินจะเห็นว่าประชาชนได้รับประโยชน์ แต่ทางกลับกันจะทำให้บริษัท AWN ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมด มีโอกาสใช้เงินทุนที่เหนือกว่าคู่แข่งที่เป็นผลพวงจากการได้รับอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ทำลายพื้นที่การแข่งขันของผู้ให้บริการเจ้าอื่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะ NT
“จากเอกสารที่ กสทช. ใช้ชี้แจงต่อองค์กรผู้บริโภคจะว่าการควบรวมครั้งนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคด้านราคาโดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนผลกระทบด้านราคาเพิ่มขึ้นหลังจากควบรวม และตัวเลขที่ถูกคาดการณ์มีทั้งที่บอกว่า ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 – 13.4 เปอร์เซนต์ หรือบางงานวิจัยบอกว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 – 45 หรืองานวิจัยของ 101 PUB ที่ระบุว่าจะราคาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 – 22.9 ซึ่ง กสทช.กำลังจะบอกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้สามารถจัดการได้ แต่พวกเราไม่มีความมั่นใจเลยและไม่เชื่อว่ากสทช. จะทำได้จริง” สารีกล่าว
ความล้มเหลวประการที่สาม คือ ความล้มเหลวในการกำกับหรือสั่งการสำนักงาน กสทช. หลักฐานเชิงประจักษ์คือ ถึงแม้กรรมการเสียงข้างมากจะมีมติให้ดำเนินการกับรักษาการเลขาธิการ แต่ก็ไม่มีผลในการใช้บังคับ หรือกรณีการควบรวมทรู – ดีแทคที่สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถกำกับดูแลบริษัทให้ทำตามมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ได้ นำมาสู่คำถามและข้อกังขาว่ากรณีการควบรวม AWN – 3BB กสทช. จะสามารถควบคุมไม่ให้บริษัทขึ้นราคาได้หรือไม่ และเห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างภาระให้กับผู้บริโภคในการตรวจสอบ
ความล้มเหลวประการสุดท้ายถูกสะท้อนจากการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากปัญหาภายใน ดังนั้น ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน กสทช. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกรรมการ กสทช. ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น มาตรการหลังการควบรวมทรู – ดีแทคที่กำหนดให้บริษัทต้องลดราคาลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วันหลังการควบรวม หรือการกำหนดให้แสดงแหล่งที่มาของเอสเอ็มเอสจะต้องบอกเพื่อลดปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถกำกับให้บริษัทปฏิบัติตามมาตรการหรือเงื่อนไขดังกล่าวได้
นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในเรื่องการควบรวมโดยมีข้อมูลการสำรวจตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ถึงปัจจุบันมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประมาณ 2,700 คน โดยปัญหาพบปัญหาคุณภาพการใช้บริการลดลง ค่าโปรโมชั่นแพงขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดเผยผลสำรวจที่ลงลึกมากขึ้น
ด้าน นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการควบรวมระหว่างกิจการโทรคมนาคม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการควบรวมระหว่างทรู – ดีแทคซึ่งหลังจากการควบรวมพบว่าตลาดมีความกระจุกตัวสูง ทำให้เหลือผู้แข่งขันหรือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย ทั้งนี้ยังพบว่าดัชนีการกระจุกก็เพิ่มขึ้นอย่างมากอยู่ในระดับที่ผู้กำกับดูแลโดยทั่วไปของโลกรับไม่ได้ โดยมีการประเมินว่าอาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยในการกรณีที่มีการแข่งขันตามปกติในตลาดโทรคมนาคมอย่างในปัจจุบัน ค่าบริการอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 – 10 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีการ “ฮั้วราคา” อาจจะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นได้ถึงในร้อยละ 20
“การฮั้วราคากันซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นการฮั้วแบบที่มีลายลักษณ์อักษรแต่มานั่งคุยกันก็ได้ แต่ว่าเมื่อมองตาแล้วรู้ใจว่า ถ้าเราขึ้นราคาแล้วเขาจะขึ้นราคาตามก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะทำให้ราคาแพงขึ้นซึ่งอาจจะเป็นค่าบริการเฉลี่ยแพงขึ้น แพ็กเกจต่ำอาจถูกตัดออก หรือในอนาคตแม้ต้นทุนถูกลงแต่ราคาลดลงไม่เท่าก็เป็นไปได้ รวมไปถึงการให้บริการคุณภาพก็อาจจะแย่ลง เราคาดการณ์สิ่งเหล่านี้ไว้ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างชัดเจน” นายฉัตรกล่าว
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาผู้บริโภค
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.