นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในปี2567 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอให้ออกมาตรการพร้อมกลไกการบริหารจัดการและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปดำเนินการ รวมทั้งเสนอให้รับทราบแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศเพื่อความยั่งยืน

 
 

ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปีจนถึงต้นปี จะมีมรสุมความกดอากาศทางตอนเหนือ ส่งผลให้อากาศไม่กระจายตัว อีกทั้งในปีนี้เข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดหมอกควันคือ ไฟป่า การเผาพื้นที่ทางการเกษตร หมอกควันข้ามพรมแดน และควันจากการจราจร กระทรวงทรัพยากรฯ ได้เสนอให้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และเสนอกลไกแก้ไขระดับชาติและในพื้นที่ โดยเน้นมาตรการ 5 ข้อ คือ 

1.กำหนดพื้นที่เป้าหมายในภาคเหนือ 17 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เป็นป่าอนุรักษ์ 10 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่งรวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรที่เคยมีประวัติการเผาซ้ำซาก

2. สร้างกลไกการทำงานให้ทางเอกชนเข้ามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ

 3.จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อสั่งการลงสู่ระดับพื้นที่ 

4.การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 

5. ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เข้มข้นจากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่การเจรจาระดับทวิภาคี 

 

โดยกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดให้เป็น KPI ของผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมตั้งเป้าลดการเผา 50% ในเขตป่าอนุรักษ์และ เขตป่าสงวนแห่งชาติ ถัดมาเป็นพื้นที่เป้าหมายรองที่ไม่ได้อยู่ใน 17 จังหวัด ให้ตั้งเป้าว่าต้องลดการเผาลง 20% ส่วนพื้นที่เกษตรอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในภาคเหนือ 17 จังหวัดให้ลดการเผาลง 10%

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการกำหนด KPI ต้องดูว่า PM 2.5 ลดลงเท่าไร โดยมีการกำหนดในแต่ละพื้นที่ดังนี้ ภาคเหนือค่าเฉลี่ยต้องลดลง 40% กรุงเทพมหานครลดลง 20% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 10% และภาคกลางลดลง 20% ส่วนจำนวนวันที่มีหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน ภาคเหนือต้องลดลง 30% กรุงเทพมหานคร 5% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5% ภาคกลาง 10% ทั้งนี้ ภาคราชการจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานศูนย์คอยติดตาม และมีชุดปฏิบัติการอำเภอลงไปในพื้นที่สำรวจเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผา หากจะเผาต้องมีการขอ โดยจะจัดคิวหากมีการขออนุญาตเพื่อทำการเผา

 

ขณะที่การส่งเสริมภาคเอกชนที่จัดนำเอาวัสดุการเกษตรต่างๆ เช่น หญ้า ฟาง ใบไม้ฯ จะนำไปทำเชื้อเพลิง วัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ จะนำไปทำเป็นอาหารสัตว์รัฐจะมีมาตรการส่งเสริม เซนต์ได้สิทธิพิเศษทางภาษี และการอุดหนุนดอกเบี้ย เป็นต้น ที่สำคัญมากต่อไปนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ ผลงานจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการลดปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ซึ่งจะเป็น KPI ที่สำคัญเราสามารถชั่ง ตวง วัดได้เพรามีเครื่องวัดมาตรฐานแน่นอน ผลงานจะผ่านต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME