เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ชี้แจงความก้าวหน้าในการดำเนินการให้วิทยุทดลองออกอากาศซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3,809 สถานี (ชุมชน 156 สาธารณะ 592 และ ธุรกิจ 3,061 สถานี) ที่ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เข้าสู่ระบบใบอนุญาต โดยที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 ได้อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง หลังจากที่ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยเพื่อให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศเข้าสู่ระบบและออกอากาศต่อไปได้
หลังจากที่แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ได้ผ่านมติ กสทช. และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อย โดยได้ปรับปรุงหลังการรับฟังความคิดเห็นให้สามารถรองรับสถานีวิทยุเอฟเอ็มได้จากจำนวน 2,779 สถานี เป็น 3,346 สถานี ทำให้สามารถรองรับสถานีวิทยุประเภทชุมชน ที่ปัจจุบันมี 156 สถานี ได้มากขึ้นเป็น 168 สถานี และสถานีวิทยุประเภทสาธารณะ ที่ปัจจุบันมี 592 สถานี ได้มากขึ้นเป็น 670 สถานี สำหรับสถานีวิทยุประเภทธุรกิจ ที่ปัจจุบันมี 3,061 สถานี ลดลงเป็น 2,508 สถานี ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องจัดสรรให้ชุมชนและสาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 จากนั้น จึงต้องมากำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง ที่ผ่านอนุมัติจาก กสทช. ในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. ยึดหลักการสำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนทุกขั้นตอนไว้ในประกาศนี้ฉบับเดียวมีการกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการยื่นขออนุญาตทุกประเภทที่ต้องดำเนินการในการให้บริการวิทยุกระจายเสียงไว้ในประกาศฉบับเดียวอย่างครบถ้วน โดยไม่ต้องไปดูวิธีการขออนุญาตแต่ละประเภทในประกาศแต่ละฉบับ เช่น วิธีการขออนุญาตใช้คลื่น ในกิจการชุมชน/สาธารณะและธุรกิจ การขออนุญาตประกอบกิจการ และการขอใบอนุญาตเกี่ยวกับเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง การตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการสะดวกและรับทราบข้อมูลล่วงหน้าประกอบการตัดสินใจ และไม่เกิดข้อผิดพลาดในการยื่นขออนุญาตต่อ กสทช.
2. การปรับปรุงประกาศฯ เพื่อลดกระบวนการขั้นตอนการยื่นคำขอรับและการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นและใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตในชั้นของสำนักงาน กสทช. หรือของ กสทช. มีความรวดเร็วมากขึ้น สามารถรองรับการยื่นคำขอของผู้ประกอบการที่จะต้องพิจารณา 3,346 สถานี รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอรับใบอนุญาต เช่น การลดเอกสารประกอบการยื่นขอใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น หรือเอกสารนั้นอยู่ในความครอบครองของสำนักงาน กสทช. หรือผู้ประกอบการรายนั้นได้เคยยื่นต่อสำนักงาน กสทช. ไว้แล้ว เป็นต้น ทั้งนี้การปรับปรุงอำนวยความสะดวกดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. ปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่จะยื่นคำขอ เช่น ค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ การอนุญาตให้ใช้เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงเครื่องเดิมได้ รวมทั้งการขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคมสถานที่เดิมให้สามารถใช้เอกสารและข้อมูลเดิมได้ไม่ต้องจัดทำเอกสารใหม่ เป็นต้น โดยมีการคิดค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าเดิม เช่น อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับวิทยุบริการสาธารณะจากเดิมที่ต้องจ่าย 2,000 บาททุกปี เมื่อเข้าสู่ระบบใบอนุญาตจะจ่ายเพียงครั้งเดียว 1,000 บาท ได้รับใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น
4. เพิ่มเติมบทเฉพาะกาล เพื่อรองรับกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่มายื่นความประสงค์เข้าสู่ระบบ ได้ทันภายใน ธันวาคม 2567 นี้ ยังให้สามารถออกอากาศเป็นการชั่วคราวได้
“ทั้งนี้ จะมีการชี้แจงในรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียงดังกล่าว ในวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม นี้ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพและภาคกลาง อย่างไรก็ตามสามารถเข้าร่วมประชุมออนไลน์ได้ จากนั้นจะชี้แจงในส่วนของภูมิภาคต่อไป เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบและตอบข้อซักถามให้หายข้อสงสัยต่อไป”
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.