ยุคแห่ง “เกษตรอัจฉริยะ” (Smart Farmer) เช่นปัจจุบันที่แข่งขันกันด้วยเทคโนโลยี ทำให้อากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน” (Drone) กลายเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรอัจฉริยะ
ที่ผ่านมา ได้มีการใช้ “โดรน” เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันได้พัฒนาสู่ “โดรน 6 ใบพัด” ที่ช่วยให้สามารถพยุงตัว และรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้น
โดยนับเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้สร้างสรรค์พัฒนา “โดรน 6 ใบพัด“ ต้นแบบให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น ด้วยระบบการบินที่ควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้สามารถกะระยะได้แม่นยำมากขึ้นในระยะไกล ผ่านระบบดาวเทียมของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
อาจารย์ ดร.รัตนะ บุญประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำให้ “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ตอบโจทย์การทำเกษตรอัจฉริยะแนวใหม่ ให้เป็นไปในทิศทางที่ตรงจุด แบบ “เกษตรแม่นยำ“ (Precision Agriculture) ที่ทำให้โลกประหยัดทรัพยากรได้มากขึ้น
จากการประดิษฐ์และทดลองจนเห็นผล โดยใช้ประโยชน์จาก “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ในการพ่นปุ๋ยน้ำแบบแยกกระบอกปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของพืชเกษตรโดยองค์รวม และปุ๋ยเคมีที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตเฉพาะส่วน ทั้งราก-ผล-ดอก-ใบของพืชเกษตรได้ในคราวเดียว โดยไม่เปลืองแรงงานมนุษย์ ต้นทุน และเวลาเช่นในอดีตที่ผ่านมาต้องพ่นถึง 2 รอบ โดยได้ออกแบบให้ใช้ปริมาณเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการสิ้นเปลืองและตกค้างในสิ่งแวดล้อม
จากคุณสมบัติพิเศษของ “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ที่สามารถบินแบบกะระยะได้อย่างแม่นยำ พร้อมควบคุมผ่านดาวเทียมแม้จากข้ามทวีป ทำให้การดูแลพืชเกษตรเป็นไปโดยตรงจุด และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ช่วยในการผสมเกสรพืชเกษตร อาทิ ข้าวโพด และยังสามารถใช้ลมใต้ปีกของ “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ในการปัดเป่าความชื้นที่ก่อให้เกิดเชื้อราบนใบพืช ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ชาวสวนยางพาราต้องเผชิญได้ต่อไป ปรับเปลี่ยนได้ตามมุมมองของโจทย์ปัญหา ตามความมุ่งหมายของผู้วิจัยได้ต่อไปอีกด้วย
โดยนับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ “มหาวิทยาลัยมหิดล” ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ที่จะทำให้โลกได้มีนวัตกรรมใหม่เพื่อเกษตรอัจฉริยะใช้กันต่อไปอย่างแพร่หลาย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่
www.mahidol.ac.th