เมื่อวันที่ 2 กันยายน นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายในเดือนธันวาคม 2567 ธปท.จะมีการแก้ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ในส่วนของสินเชื่อรถยนต์ ในเรื่องของ “การขอกู้ร่วม” ภายหลังจากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) ร่วมกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และเจ้าหนี้เช่าซื้อ

“ตอนนี้เราส่งเฮียริ่งเจ้าหนี้ ประกาศตามกฎหมายยังไม่ออก แต่เช่าซื้อภายใต้แบงก์ชาติมีแค่เช่าซื้ออันเดอร์แบงก์ที่มีตัวเลขรายงาน ธปท.มีประมาณ 65% ของตัวเลขทั้งหมด ระหว่างนี้เราแจ้งแบงก์ว่า หากจะทำก่อนก็ได้ และเราจะแก้ประกาศตาม เพื่ออยากให้เร็ว แต่เรื่องปัญหาเช่าซื้อที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อจะมาจากปัญหากู้ร่วมน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่มาจากปัญหาราคารถมือสองมันเยอะ จึงกระทบกับตลาดรถยนต์โดยรวมทั้งมือหนึ่งและมือสอง ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แบงก์ก็เพิ่ม Underwriting กระทบทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย”

นางสาวสุวรรณีกล่าวเพิ่มว่า ภาพรวมสินเชื่อรถยนต์ที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้ายื่นขอสินเชื่อน้อยลง อาจจะเป็นผลมาจากมีรถยนต์ใช้แล้ว หรือรายได้ไม่เพียงพอในการผ่อนชำระ จึงชะลอการขอสินเชื่อ

ขณะเดียวกัน ธนาคารหรือผู้ประกอบเช่าซื้ออาจจะมีการปรับเพิ่มเครดิตรับความเสี่ยงลูกค้ามากขึ้น (Cut of Score) เนื่องจากโดยธรรมชาติการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ผู้ประกอบการจะเจอกับ Loss on Sale อยู่ที่ประมาณ 20% เพราะเมื่อรถซื้อไปใช้ไปและเวลาขายขาดทุน ซึ่งในภาวะปกติค่าความเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Loss : EL) ของผู้ประกอบการจะอยู่ที่ 6%

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าตลาดรถใช้แล้ว หรือรถมือสองตกลงมาค่อนข้างมาก 50% ทำให้ Loss on Sale จาก 20% เพิ่มเป็น 50% ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับความเสี่ยงได้น้อยลง จึงเป็นที่มาธนาคารคัดกรองคุณสมบัติของลูกค้าเข้มขึ้น โดยที่เกณฑ์ของ ธปท.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ แต่เกิดจากสภาวะของตลาดรถยนต์เอง และปัจจัยต่อมาคือ จากภาวะเศรษฐกิจลูกหนี้มีคุณสมบัติที่ตึงเอง จึงยื่นการขอสินเชื่อน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องของดีมานด์และซัพพลาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อรถมือสองมีปัญหาราคาตก ก็ส่งผลต่อตลาดรถมือหนึ่ง หากดูตลาดเช่าซื้อ เมื่อซื้อรถมาและไม่สามารถผ่อนได้ และเกิดการขายดาวน์ เช่น ผ่อนมา 30 งวด เหลืออีก 30 งวดผ่อนไม่ไหว จึงไปหาคนซื้อดาวน์ เช่น ผ่อนไปแล้ว 5 แสนบาท เหลือผ่อนอีก 3 แสนบาท จากราคาเต็ม 8 แสนบาท แต่ปรากฏว่าราคาในตลาดเหลือแค่ 3 แสนบาท และไปซื้อเต็นท์รถเหลือแค่ 2 แสนบาท จึงไม่มีใครมาซื้อดาวน์ต่อ ทำให้ตลาดรถยนต์ออกมาดูค่อนข้างแย่

“กลุ่มที่เราห่วงคือ กลุ่มเปราะบางรายได้น้อย ซึ่งในตอนต้นการขอกู้ภรรยาเป็นคนขอกู้ แต่รายได้ภรรยาไม่เพียงพอ จึงนำสามีมาค้ำประกัน ซึ่งโดยปกติก่อนหน้านี้นำรายได้มารวมกัน หากเป็นกรณีอยู่ในครอบครัวเดียวกันก็ไม่เป็นไร สิ่งที่ไม่อยากเห็น สมมติ เช่น คนกู้และคนค้ำอาจจะขายของแผงติดกัน ซึ่งอาจจะช่วยโดยไม่รู้ว่าคนกู้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ซึ่งเป็นเหมือนทำร้ายคนค้ำประกัน ดังนั้น กำหนดให้ธนาคารว่าเวลาปล่อยกู้และพิจารณารายได้รวม ให้พิจารณาว่ามีรายได้พอกินพอใช้หรือไม่ เพื่อคุ้มครองผู้ค้ำประกัน จริง ๆ เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ในชีวิตจริงเป็นผู้กู้ร่วม”

“เราจะทบทวน หากเป็นการค้ำประกันในครอบครัวเดียวกัน เช่น แม่ค้ำให้ลูก สามีค้ำให้ภรรยา จะยอมให้นับรายได้ของผู้ค้ำมารวมด้วย จากเดิมเกณฑ์จะกำหนดให้ใช้รายได้ของผู้กู้เป็นหลัก เราจะผ่อนเกณฑ์ให้นับรายได้ของผู้ค้ำประกันที่เป็นคนในครอบครัวด้วย เพื่อช่วยคลายปัญหาธุรกิจเช่าซื้อได้บางส่วน”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME