จากข่าวเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ที่มีคุณแม่หัวใจสลายที่รับทราบว่าลูกสาววัย 9 ขวบ ไปลองดูดบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเพื่อนที่โรงเรียนชวน ซึ่งได้มีจิตแพทย์เด็กได้ให้คำแนะนำในการดูแลลูกและเตือนว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ประมาท เลิกคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องไกลตัวแล้วนั้น รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กอายุเพียง 9 ปี หรือวัยประถมศึกษา นับเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะอายุเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าน้อยลงกว่าอายุเฉลี่ยของการเริ่มสูบบุหรี่มวนที่มักจะเริ่มสูบที่อายุ 18 ปี หรือชั้นมัธยมปลาย ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอื่นๆ
ที่ผ่านมาจึงมักจะเริ่มสำรวจในเด็กระดับชั้นมัธยมต้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 การสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (อายุราว 13 ปี) ทั่วประเทศ จากกลุ่มตัวอย่าง 6,045 ราย พบว่า อัตราการสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าของเด็ก ม.1 อยู่ที่ร้อยละ 7.2 และ 3.7 ตามลำดับ โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเรียงจากสูงสุดจากงานวิจัย ดังนี้ 1) การที่พ่อแม่สูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็น 6.1 เท่า 2) การที่ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย เพิ่มความเสี่ยง 5.3 เท่า และ 3) การที่มีเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยง 3.8 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้จากการติดตามเด็กกลุ่มนี้เป็นเวลา 1 ปี พบเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้มีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การที่พบว่าเด็กอายุน้อยขนาดนี้ ไปลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นประเด็นที่สังคมไทยจะต้องตระหนักอย่างจริงจัง เพราะแสดงว่าหายนะจากบุหรี่ไฟฟ้ากำลังคืบคลานไปสู่เด็กไทยที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์เสพติดสูงสุด เมื่อลองแล้วจะเสพติด ที่อันตรายที่สุดคือนิโคตินจะทำลายสมองที่กำลังพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์จนถึงอายุ 25 ปี
โดยเฉพาะหากเสพตั้งแต่อายุน้อยกว่า 14 ปี โดยการป้องกันลูกจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความระมัดระวังและหมั่นเอาใจใส่ดูแลลูกรวมถึงให้ความรู้ในประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ามากยิ่งๆ ขึ้น ให้มีทักษะชีวิตอย่าให้ลูกไปริลอง และโรงเรียนต้องมีหลักสูตรให้ความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ที่สำคัญรัฐบาลต้องจัดบรรยากาศที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้าทั้งที่โรงเรียนและชุมชน นั่นคือบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดในการห้ามนำเข้า ห้ามขายและห้ามโฆษณาโดยเฉพาะบนสื่อออนไลน์ เพื่อปกป้องหายนะนี้จากเด็กไทย
อ้างอิง: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/36104174. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34319044.
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.