องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเผยกลโกงเลือกตั้ง อบจ. 68 ตั้งงบจ้างงานเพิ่มพิเศษ จับตา 20 จังหวัดงบบุคลากรพุ่งกว่า 100 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดข้อมูลกลโกงเลือกตั้ง อบจ. วิธีใหม่  พร้อมชวนสังคมตั้งคำถาม และจับตา “20 อบจ.” ที่มีการตั้งงบฯจ้างบุคลากรเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ  หลายพื้นที่ตัวเลขสูงกว่า 100 ล้านบาท  ขณะที่การใช้เงินซื้อเสียงแบบดั้งเดิมยังคงระอุ คาดตัวเลขต้นทุนที่ผู้สมัครต้องจ่ายอาจไต่เพดานสูงถึง 300 ล้านบาท เตือน “นักซื้อ” ให้ระวังประชาชนรับเงินแต่อาจไม่เลือก

นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยถึงกลโกงการเลือกตั้ง อบจ.68 ว่าที่ผ่านมามักเกิดขึ้นจากกลไกการเมืองผ่านเครือข่ายหัวคะแนนและเครือข่ายบ้านใหญ่ที่ถูกจัดวางไว้ครอบคลุมทุกระดับและมีการใช้ควบคู่กับกลไกรัฐผ่านฝ่ายปกครองและเครือข่ายสาธารณะสุข  ขณะที่การทุ่มซื้อเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้จำกัดแค่การซื้อด้วยเงินแบบวิธีการเดิมๆ แต่มี “อุบาย” ใหม่ ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง นั่นคือ ในปีที่มีการเลือกตั้ง อบจ. มักมีการเพิ่มงบบุคลากร โดยมีข้อสงสัยว่าเป็นการเพิ่มงบเพื่อจ้างพนักงานจ้าง/ลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนอัตรากำลัง บาง อบจ. เพิ่มงบบุคลากรเกินร้อยละ 40 ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งขัดต่อมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่น

นายมานะ ระบุว่า การโกงในรูปแบบนี้มีผลกระทบต่อการใช้งบประมาณและสร้างระบบที่ขาดความโปร่งใส พร้อมเตือนผู้สมัครให้ระวัง เพราะชาวบ้านอาจรับเงินซื้อเสียง แต่ไม่ลงคะแนนให้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มักรับเงินแต่ไม่ลงคะแนน

จากข้อมูลการร้องเรียนต่อ กกต. ในปี 2563 มีเรื่องร้องเรียนถึง 718 เรื่อง แต่ส่งฟ้องศาลเพียง 47 เรื่อง หรือร้อยละ 6.5 เท่านั้น ปัญหานี้เกิดจากประชาชนไม่มั่นใจว่า กกต. จะสามารถปกป้องตัวผู้ร้องเรียนและดำเนินคดีได้อย่างจริงจัง

ข้อมูลสำคัญ

  1. จังหวัดที่มีงบบุคลากรเพิ่มสูงสุด:
    • ขอนแก่น: 650 ล้านบาท
    • ร้อยเอ็ด: 433 ล้านบาท
    • นราธิวาส: 360 ล้านบาท
  2. รูปแบบการโกงที่พบ:
    • เพิ่มงบบุคลากรเพื่อสร้างเครือข่าย
    • ใช้งบจ้างเหมาบริการกับบุคคลในเครือข่าย
    • ทุ่มซื้อเสียงผ่านหัวคะแนน
  3. ผลกระทบ:
    • สร้างระบบที่ขาดความโปร่งใส
    • ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบ

พบ อบจ.ที่มีสัดส่วนงบบุคลากรปี 2568 เกินร้อยละ 40

ทั้งนี้  พบ อบจ.ที่มีสัดส่วนงบบุคลากรปี 2568 เกินร้อยละ 40 ทั้งหมด 20 จังหวัดประกอบด้วย

  1. ศรีสะเกษ นราธิวาส มหาสารคาม (เพิ่มเท่ากัน ร้อยละ 57)
  2. มุกดาหาร (ร้อยละ 55)
  3. พิจิตร (ร้อยละ 54)
  4. ชัยภูมิ (ร้อยละ 51)
  5. กาฬสินธุ์ (ร้อยละ 50)
  6. สกลนคร (ร้อยละ 49)
  7. หนองบัวลำภู (ร้อยละ 48)
  8. พัทลุง นครราชสีมา (ร้อยละ 47)
  9. ยะลา ร้อยเอ็ด ขอนแก่น (ร้อยละ 46)
  10. อำนาจเจริญ น่าน (ร้อยละ 45)
  11. แพร่ อุตรดิตถ์ (ร้อยละ 43)
  12. สระแก้ว พะเยา (ร้อยละ 42)

ในจำนวนนี้ อบจ.ที่มีงบบุคลากรปี 2568 เพิ่มขึ้นจากปี 2567 สูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

1) ขอนแก่น 650 ลบ.

2)ร้อยเอ็ด 433 ลบ.

3)นราธิวาส 360 ลบ.

4)มหาสารคาม 355 ลบ.

5)ชลบุรี 335 ลบ.

“ถ้าข้อสงสัยนี้เป็นจริงเท่ากับว่า มีการใช้เงินหลวงสร้างเครือข่ายพวกพ้องมหาศาล เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง ส่วนใหญ่เน้นจ้างลูกหลานคนในพื้นที่เป็นลูกจ้างหรือพนักงานชั่วคราว 1 – 2 ปี หลังจากนั้นอาจจ้างต่อหรือเลิกจ้าง พื้นที่ไหนตุกติกทำคะแนนไม่เข้าเป้า คนจากพื้นที่นั้นก็จะถูกเลิกจ้าง” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ

คนที่ได้รับสัญญาจ้างเหมามักเป็นคนในเครือข่าย

นอกจากงบฯจ้างคนแล้ว ยังมีงบจ้างงานถูกใช้จ้างเหมาบริการ เช่น ขุดลอกคูคลอง ดูแลสวนสาธารณะ กวาดถนน มีทั้งที่อบจ. จ้างและจัดสรรงบให้เทศบาลหรืออบต.เป็นงบมูลค่าประมาณหลักแสนบาท หรือน้อยกว่า คนที่ได้รับสัญญาจ้างเหมามักเป็นคนในเครือข่าย เม็ดเงินส่วนนี้เกิดจากความตั้งใจทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่ำกว่ารายได้ที่จะเกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดเงินเหลือใช้กลายเป็นเงินสะสม แล้วขออนุมัติใช้เงินนี้จากสภา อบจ. โดยตั้งเป็นวาระพิเศษหรือวาระจร ทำให้ขาดการศึกษาพิจารณาที่รอบคอบ และชาวบ้านย่อมไม่ได้รับทราบ

“การใช้เงินหลวงสร้างเครือข่ายพวกพ้อง แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้มีผู้รู้เห็นจำนวนมาก แต่ไม่กล้าพูดเพราะกลัวกระทบผู้เสียประโยชน์ หรือขัดใจชาวบ้านบางกลุ่ม แม้นักการเมืองที่เป็นคู่แข่งก็ไม่อยากพูด กลัวเสียโอกาส หากวันข้างหน้าตนเป็นผู้ชนะบ้าง”

เงินเดือนนายก อบจ. 75,550 บาท รวม 4 ปีเป็นเงิน 3,624,000 บาท

สำหรับการทุ่มซื้อเสียงผ่านกลไกการเมือง ผ่านเครือข่ายหัวคะแนนในพื้นที่ และเครือข่ายบ้านใหญ่นั้น ผู้สมัครฯ ที่ยังใช้วิธีเดิมๆ อาจหมดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง บวกเงินซื้อเสียงและเงินวงพนัน ราว 60 – 300 ล้านบาท ตามขนาดจังหวัดและความเข้มข้นในการแข่งขัน หลายจังหวัดใช้ อสม. บางคนคุมเสียงในพื้นที่เล็กๆ เพราะเครดิตดี เป็นผู้หญิง คนเชื่อถือมาก ต่างจากกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ติดภาพว่าเป็นคนมีตำแหน่ง มีอิทธิพล ข่มชาวบ้าน หรือมีประวัติอมเงิน

“เงินเดือนนายก อบจ. 75,550 บาท รวม 4 ปีเป็นเงิน 3,624,000 บาท บวกเบี้ยประชุมแล้วยังมองไม่ออกว่าจะถอนทุนคืนจากไหน รู้แต่คนไทยร้อยละ 95.4 บอกว่า ใน อบจ. มีการโกงมโหฬาร”

วิธีการซื้อเสียงแบบดั้งเดิมจะมีการวางเครือข่ายหัวคะแนนเดินจดโพยรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามพื้นที่ต่างๆ แล้วแจกเงินสดหรือโอนผ่านพร้อมเพย์  ในอัตราตั้งแต่ 200- 3,000 บาท เฉลี่ยทั่วประเทศ 900 บาท  กรณีการไปฟังปราศรัยชาวบ้านจะได้เงินอีกครั้งละ  300 บาท ส่วนรถรับจ้างที่ขนคนได้เงิน 1,500 บาท หลายพื้นที่จะมีการบอกผู้สมัครไว้เลยว่าขอไม่ให้จัดเวทีซ้อนกันเพื่อจะได้ไปหลายงาน บางวันมีรอบเที่ยง บ่าย ค่ำ ก็ได้รับเงิน 3 เวทีตลอดวัน

“ในอดีตชาวบ้านร้อยละ 80 จะรักษาคำพูดเมื่อรับเงินมาแล้ว แต่จากการสำรวจล่าสุดของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าประชาชนร้อยละ 56 เป็นปลาที่กินเหยื่อแต่ไม่กินเบ็ด คือรับเงินแต่ไม่ลงคะแนนให้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อายุ 18 ถึง 40 ปี”

วางกลยุทธ์ราคาเดิมพันต่างกันตามสถานการณ์

อีกวิธี เป็นการเปิดบ่อนพนันเดิมพันว่าใครจะชนะ ผู้บงการจะวางกลยุทธ์ราคาเดิมพันต่างกันตามสถานการณ์และเขตพื้นที่ เช่น ในกรณีผู้สมัครฯ ยังไม่มั่นใจว่าตนจะชนะเลือกตั้ง ช่วงเริ่มต้นจะหยั่งเสียงด้วยการตั้งราคาต่อรอง 10:3 เพื่อดูศักยภาพคู่แข่ง ถ้ามีคนแทงมากแปลว่ามีคะแนนเสียงดี แล้วขยับราคาต่อรองขึ้นเป็น 2:1 หรือ 3:2 จนไม่มีราคาต่อ หากพบว่าคู่แข่งมีคะแนนเสียงดีมากแล้ว  วิธีการนี้จะจูงใจชาวบ้านให้แทงข้างตนมากๆ จะได้ไปชักชวนคนอื่นๆ มาลงคะแนนให้ตนเพื่อได้เงินเดิมพัน  ในกรณีผู้บงการมั่นใจว่าตนชนะเลือกตั้งแน่ จะแอบวางเดิมพันด้วยเพื่อหวังกำไรมาคืนทุน

คดีเกือบทั้งหมดไม่สามารถสาวถึงตัวบงการ

คนไทยร้อยละ 68 รู้ว่ามีการซื้อเสียงเกิดขึ้น แล้วกกต.หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รับทราบหรือไม่ ? ข้อมูลเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2563 มีเรื่องร้องเรียนสู่ กกต. 718 เรื่อง แต่ส่งฟ้องศาลเพียง 47 เรื่อง หรือร้อยละ 6.5 เท่านั้น ในจำนวนนี้มีผู้สมัครฯ ตกเป็นจำเลย ถูกลงโทษอาญาและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพียง 4 คดี นอกนั้นเป็นหัวคะแนนหรือใครก็ไม่รู้

กกต. เคยชี้แจงว่าเหตุที่ดำเนินคดีผู้สมัครที่ซื้อเสียงได้น้อยมาก เพราะไม่มีใครแจ้งหรือให้ข้อมูล ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะประชาชนไม่เชื่อว่า กกต. จะกล้าเอาจริงและปกปิดตัวตนผู้ร้องเรียนได้ การร้องเรียนจังดูเป็นเรื่องไร้ค่า เพราะคดีเกือบทั้งหมดไม่สามารถสาวถึงตัวบงการ แม้จะชัดว่าใครคือผู้ได้ประโยชน์จากการซื้อเสียง คนชนะเลือกตั้งกลับตรวจสอบคุณสมบัติไม่ผ่าน เช่น ติดคดี มีประวัติต้องห้าม ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งก่อน ฯลฯ 

“แน่นอนว่าหาก กกต. ไม่ทำงานเชิงรุก การซื้อเสียงและโกงเลือกตั้งจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
FOLLOW ME
MOST POPULAR