เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เด็กออกกลางคันหรือเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ในปีนี้เป็นไปอย่างหนักหน่วง โดยจากข้อมูลกสศ. พบว่าในปี2566 มีเด็กออกกลางคันประมาณ 1,025,514 คน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะมีเด็กออกกลางคันปีละกว่า 5 แสนคน ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัว และส่วนใหญ่เด็กจะออกกลางคันในช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมต้นไปสู่มัธยมปลาย แต่ปัจจุบันพบว่ามีจำนวนเด็กที่ออกกลางคันในช่วงรอยต่ออื่น เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น จากระดับประถมศึกษาไปสู่ระดับมัธยมศึกษา หรือจากมัธยมศึกษาตอนต้นไปสู่สายอาชีพ
“สำหรับสาเหตุเด็กออกกลางคัน ไม่ได้มาจากเรื่องความยากจนเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต เพราะการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา มีความสัมพันธ์กัน ตอนนี้การเมืองหม่นหมองจนสร้างความไม่มั่นใจให้กับการทำงาน การลงทุน เศรษฐกิจถดถอยซบเซาจนสังคมมีสภาพผุกร่อน ไปถึงเรื่องระบบการศึกษาที่มีปัญหา ทำให้เด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้น ในอดีตเราอาจจะมองเพียงแค่เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลักเพราะเป็นเรื่องของความยากจน แต่ในตอนนี้มันเป็นเรื่องของ 3-4 ระบบที่กล่าวมาจนส่งผลให้ครอบครัวของเด็กตัดสินใจในการเอาลูกตัวเองออกจากระบบการศึกษา”นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวคิดว่าการศึกษา ขณะนี้มีลักษณะของการตื่นตัว พยายามเข้ามาช่วยเหลือเรื่องวิกฤตเด็กออกกลางคัน อย่างนโยบาย Thailand 0 Dropout ที่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมามีการลงนามความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ 11 หน่วยงานในการผลักดันนโยบายนี้ หรือ นโยบาย พาน้องกลับมาเรียน ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นความพยายาม ในการช่วยเหลือเด็กออกนอกระบบ เพียงแต่สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ไปเร็วกว่าการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาดังกล่าว ไป 1 หรือ 2 ก้าว ทำให้ยังไม่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมีอยู่กว่า 15% ของประเทศ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการ จึงไม่ใช่เพียงแค่การลงนามความร่วมมือหรือ ขับเคลื่อนระดับนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเร่งค้นหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งการเยี่ยมบ้าน การจัดสวัสดิการ การหาทุนการศึกษา รวมถึงการสร้างงานให้ผู้ปกครอง ต้องมองเด็กรุ่นนี้ว่าเป็นทรัพยากรพลเมืองสำคัญ เพราะเขาจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกนี้เป็นปัจจัยที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ
นายสมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ช่วง2-3ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดเก่าไม่ได้ทุ่มเทเอาใจใส่กับวิกฤตเด็กออกกลางคันให้ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้มีคนตกงาน ครอบครัวมีหนี้สิน และเด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านผ่านมือถือ จนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย เด็กมีพฤติกรรมเชิงลบเข้าสังคมไม่เป็น เรื่องพวกนี้เป็นพื้นฐาน ให้เด็กปรับตัวได้ยาก เมื่อเปิดเรียนออนไซต์เต็มรูปแบบ และสิ่งที่จะเห็นได้อีกอย่างคือ ปัญหาสุขภาพจิต ซึมเศร้า ยังไม่รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กเข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย
“เด็กที่มีพฤติกรรมเชิงลบกับระบบการศึกษาก็จะถูกผลักออก ขณะที่อีกจำนวนมาก ไม่พร้อมกับการศึกษาที่ไม่อ่อนโยน ไม่ผ่อนปรน และไม่ยืดหยุ่น ปัญหาหลัก คือโครงสร้าง ระบบ และหลักสูตรการวัดผล ซึ่งผมคิดว่ายังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ทำให้เด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดีมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน ส่วนเรื่องที่ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องการจะปฎิวัติการศึกษานั้น ต้องเริ่มจากการเร่งจัดทำร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดยเน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มาใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล เพราะเรื่องการศึกษา มีหลายมิติ ดังนั้นการแก้ปัญหาก็ต้องมองในภาพรวมหลายมิติด้วยเช่นกัน สิ่งที่ศธ.จะต้องทำให้ดีที่สุด คือ เปิดกระทรวงรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์และแก้กฏระเบียบที่สกัดกั้นไม่ให้เอกชนกับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษา การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของศธ. เพียงลำพัง โดยปัจจุบันสัดส่วนการจัดการศึกษากว่า 76% เป็นเรื่องของ ศธ. ส่วนท้องถิ่น 18% และเอกชนเพียง 5-6% เพียงเท่านั้น ฉะนั้นศธ.ต้องลดการจัดการลงมาให้เหลือ 50% เพื่อให้ท้องถิ่นกับเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หน่วยงานละ 25% ทำให้เกิดการจัดการศึกษาที่หลากหลาย และมีความช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง”นายสมพงษ์ กล่าว
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.