วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 08.37 น.ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร โดยมีความแรงตามมาตรการวัดริกเตอร์ได้ถึง 6.4 แม็กนิจูด ทำให้รับรู้แรงสั่นไหวได้ทั่วภาคเหนือนั้น นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เดินทางไปตรวจสอบอาคารเด็กภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งมีอาคารส่วนต่อขยายตรงจุดเชื่อมระหว่างอาคารเก่าและใหม่สูง 5 ชั้น ได้รับความเสียหายแตกเป็นรอยแนวตั้งยาว ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างขัดเจนจากภายนอก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ฝ่ายโยธาธิการให้เร่งเข้าไปตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากภายในอาคารมีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้อาคารอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่นๆ เช่น โรงพยาบาลแม่สาย ฯลฯ ที่ด้านหน้าอาคารได้รับความเสียหายเล็กน้อย ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างสำรวจเพื่อซ่อมแซมต่อไป
ต่อมาเวลา 18.00 น. นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายแพทย์ศุภเลิศ เนตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ทีมผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการในตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมคณะ ในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย หอผู้ป่วยพิเศษสูติกรรม ชั้น 5 อาคาร 68 ปีอนุสรณ์ พร้อมร่วมรับฟังสรุปรายงานเหตุการณ์ของโรงพยาบาลเชียงรายฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐพล เกติยศ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ 1 ได้ชี้แจงในส่วนของโครงสร้างอาคาร 68 ปีอนุสรณ์ เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว จากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งลักษณะด้านวิศวกรรมโครงสร้าง มีการแยกเป็น 2 อาคาร เป็นผลให้การสั่นไหวของอาคารต่างกัน และจากการสำรวจความเสียหายจากทีมวิศวกร ไม่พบความเสียหายกับโครงสร้างหลักของอาคาร พบเพียงแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อ ในส่วนของกำแพงอิฐก่อที่ร่อน ซึ่งไม่ใช่ส่วนโครงสร้างอาคาร และความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มีผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของอาคาร ซึ่งที่ผ่านมา ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ร่วมกับ กลุ่มงานโครงสร้างและวิศวกรรมทางการแพทย์ โรงพยาบาลเชียงรายฯ ได้มีการนำนวัตกรรมวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง ติดตั้ง ณ อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เพื่อเตือนให้ผู้ใช้อาคารสูงมั่นใจว่ามี การวัด Potential Damage Scale เท่าไรในขณะแผ่นดินไหว เช่นครั้งนี้ พบแรงสั่นสะเทือนที่ Sensor วัดได้อยู่ในช่วง 2.5-8 G ประเมินได้ว่า ไม่มีผลกระทบต่ออาคารแต่อย่างใด
พร้อมกันนี้ แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ได้เน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงสภาพจิตใจที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยให้ปฏิบัติตามแนวทาง “แผ่นดินไหว ใจไม่สั่นไหว” คือ ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่และเตรียมความพร้อมในการรับมือ ประเมินปฏิกิริยาที่อาจจะเกิดขึ้น การเตรียมความพร้อมยอมรับอารมณ์ที่หวั่นไหว และหากมีผลกระทบต่ออารมณ์และการทำงาน มากกว่า 1 เดือน ให้ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ สถานพยาบาลใกล้บ้าน และได้สั่งการให้มีการประชุม ถอดบทเรียน ซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อรับสถานการณ์ในอนาคต
ทั้งนี้ นายนฤดล อ่วมสุข ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 พร้อมสถาปนิก จะทำการสำรวจเพิ่มเติมในส่วนของโครงสร้างอาคารอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล และประชาชนผู้เข้ารับบริการต่อไป
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : THE STANDARD
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.