เมื่อเร็วๆนี้ ปัญหาเรื่องการขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำในประเทศไทย เริ่มแพร่ขยายมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในประเทศไทย อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของปลาหมอคางดำ ที่เหนือกว่าปลาสายพันธุ์อื่นๆ อาทิเช่น ความสามารถในอาศัยได้ ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด และ ความสามารถในการหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยอาหารหลักของพวกมัน ได้แก่ สาหร่ายและเศษซากพืช รวมไปถึงหอยสองฝา และแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นห่วงโซ่อาหารแรกๆ ที่สัตว์ประเภทอื่นต้องการในการดำรงชีพ

โดยปกติแล้ว ปลาหมอคางดำมักอยู่รวมกันเป็นฝูง จึงทำให้ยากต่อการที่ปลาสายพันธุ์อื่นๆ จะมาทำอันตราย และที่สำคัญ ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่สามารถผสมพันธุ์ได้ในทุกฤดูกาล ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ก็สามารถที่จะฟักไข่ได้ในปากของมัน ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ปลาหมอคางดำ จัดอยู่ในปลาสายพันธุ์อันตรายต่อระบบนิเวศน์ของไทย

อย่างไรก็ตาม วิธีการกำจัดปัญหา ปลาหมอคางดำ ในปัจจุบัน ก็มีได้อย่างหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น

1. การบริโภคทั่วไป (Traditional Consumption) :

ผู้บริโภค เช่น ชาวบ้านทั่วไป สามารถทำการจับ ปลาหมอคางดำ มาต้ม, ผัด, แกง, ทอด และรับประทานได้โดยตรง วิธีการนี้ ถือได้ว่าไม่ยุ่งยากและซับซ้อน แต่มีข้อควรระวังคือ ควรตรวจสอบแหล่งที่มาของปลา ควรจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำสะอาด ไม่ได้มาจากแหล่งน้ำเน่า ที่อาจมีโอกาสเสี่ยงจากสารพิษและเชื้อโรค ที่สามารถปะปนมากับตัวปลาได้

2. การแปรรูปอาหาร (Food Processing) :

ผู้ประกอบการอาหาร สามารถนำปลาหมอคางดำ มาผ่านกระบวนการแปรรูปอาหารต่างๆ อาทิเช่น การทำปลาป่น (สำหรับอาหารสัตว์), การทำปลากระป๋อง, การทำเนื้อปลาบด, การทำลูกชิ้นปลา, การทำน้ำปลาร้าบรรจุขวด หรือ การทำอาหารเสริม (แคลเซียม) ฯลฯ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพอาหารให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องความสะอาดและอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์

3. การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Cutting-Edge Technology) :

วิธีการนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีการที่แปลกใหม่ และไม่ค่อยถูกพูดถึงกันในวงกว้างมากนัก เนื่องจากต้องอาศัยองค์ความรู้และนวัตกรรมขั้นสูง อาทิเช่น การใช้หลักการของพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) ในการปรับแต่งสายพันธุ์ของปลา โดยลงลึกไปถึงระดับ DNA และ ยีนส์

โดยในต่างประเทศ ได้มีการนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้จริงในเชิงอุตสาหกรรม อาทิเช่น ‘AquAdvantage Salmon’ คือ ปลาแซลมอนแอตแลนติก (Atlantic Salmon) ที่มีการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อช่วยเพิ่มขนาดตัวปลาแซลมอน จากขนาดตัวปกติ ให้มีขนาดตัวที่ใหญ่มากขึ้น เทียบเท่ากับปลาแซลมอนสายพันธุ์แปซิฟิก (Pacific Chinook Salmon)

หรือแม้กระทั่ง นักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ ได้มีการคิดค้นหาสายพันธุ์วัวต่างๆ ผ่านโพรเจกต์ที่ชื่อ ‘1000 Bull Genomes Project‘ โดยจะวิจัยและค้นหาข้อมูลทางพันธุกรรมของวัวแต่ละชนิด มาทำการปรับปรุงสายพันธุ์วัว เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสม เช่น การปรับปรุงสายพันธุ์วัว ให้ได้วัวที่มีรูปร่างสูงใหญ่, ให้ปริมาณเนื้อที่เยอะกว่าวัวสายพันธุ์อื่นๆ และ มีความทนทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ได้อีกด้วย

หากประเทศไทย ได้นำหลักการต่างๆที่ว่านี้ มาประยุกต์ใช้เข้ากับ ปลาหมอคางดำ เช่น การเอายีนส์ที่ใช้ผลิต เนื้อปลาแซลมอน มาฝังใน DNA ของปลาหมอคางดำ เพื่อให้ปลาหมอคางดำ มีเนื้อสัมผัส, รสชาติ และ สารอาหารที่มีคุณประโยชน์ เทียบเท่ากับปลาแซลมอน แต่ยังคงความดุดันของปลาหมอคางดำไว้ ( แพร่พันธุ์ได้ไว, ทนทานได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม) ก็คงจะสามารถ ลดคำครหาให้กับปลาสายพันธุ์นี้ ได้อย่างไม่มากก็น้อย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ดร.จักรพันธุ์ รัตนภูมิภิญโญ

ผู้เขียน : ดร.จักรพันธุ์ รัตนภูมิภิญโญ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME