รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า คณะวิจัยได้คาดการณ์น้ำเขื่อน น้ำท่า น้ำท่วม ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ โดยใช้ฝนคาดการณ์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ร่วมกับงานน้ำเขื่อนโดยมหาวิทยาลัยมหิดล งานน้ำท่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และงานน้ำท่วมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคาดการณ์ว่าวันที่ 8 กันยายน 2567 ปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์จะเพิ่มขึ้นถึง 2,180 ลบ.ม.ต่อวินาที หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเฝ้าระวัง (เนื่องจากจะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำ และค่าเกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ตามเกณฑ์การจัดการน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์จะเป็นการจัดการน้ำระดับชาติ)

 

 

ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 พบว่าพื้นที่น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีขนาด 407,311 ไร่ ครอบคลุมจังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ สุโขทัย น่าน และลำปาง โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึงพื้นที่อยู่อาศัยบางส่วน คาดว่าพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในปีนี้อาจจะแผ่ขยายออกไปอีกในช่วงต้นเดือนกันยายนในบริเวณเส้นทางน้ำหลากไหลผ่าน รวมถึงพื้นที่ตามแนวเส้นทางผันน้ำทางตอนกลางของประเทศสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วน

 

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 47% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 7,104 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 78% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 2,110 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 46% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 503 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 28% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 688 ล้านลบ.ม. เขื่อนกิ่วคอหมา มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 89% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 18 ล้านลบ.ม.

 

 

“ข้อมูลผลกระทบจากน้ำท่วม ประเมินผล ณ วันที่ 4 กันยายน 2567 ทั้งประเทศไทย พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 749,511 ไร่ ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ปลูกข้าว 355,255 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,608 ล้านบาท โดยพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จังหวัดที่มีข้าวเสียหายมากที่สุดคือ อุตรดิตถ์ มูลค่า 323.7 ล้านบาท รองลงมาคือ พิจิตร และนครพนม มูลค่า 266.3 ล้านบาท และ 243.1 ล้านบาทตามลำดับ มีพื้นที่ถนนได้รับผลกระทบรวมระยะทาง 508.9 กม. ขณะที่ผลกระทบด้านสังคมทำให้มีผู้ประสบภัย 123,603 คน” รศ. ดร.สุจริตกล่าวสรุป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME