เชื่อว่าเป็นที่สงสัยของใครหลายๆคน ว่าประชาชนจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ในส่วนไหนในการเลือก สว. เพราะความจริงแล้ว สว. ทั้ง 200 คนนี้ต่างก็เป็นตัวแทนจากประชาชนแต่ละภาคส่วน


แม้ว่าในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ที่กำหนดจำนวน สว. 200 คน ให้มาจากการ ‘เลือกกันเอง’ ของบุคคล ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม


แต่ประชาชนเองก็มีสิทธิที่จะรับรู้ว่าผู้สมัคร สว. ในครั้งนี้เป็นใคร มาจากไหน ซึ่งประเด็นนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) ได้ตระหนักถึง การรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือก สว. จึงได้จัดทำช่องทางอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลข่าวสารการเลือก สว. รวมไปถึงช่องทางให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องการเลือก สว. ให้เป็นไปอย่างสุจริต


รู้จักผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา


เมื่อผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตรงตามที่กฎหมายกำหนดทำการสมัครเข้าสู่กระบวนการเลือก สว. แล้วจะสามารถแนะนำตัวระหว่างผู้สมัครด้วยกันเองเพื่อให้ผู้สมัครรายอื่น ๆ ได้ทราบถึงประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา


เพื่อประโยชน์ในการแนะนำผู้สมัครให้เกิดความเท่าเทียมกัน และไม่มีการเลือกปฏิบัติหรืออำนวยความสะดวกให้เฉพาะผู้สมัครบางราย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเตรียมช่องทางในการติดตามผู้สมัคร สว. ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและร่วมกันตรวจสอบได้ ไว้ดังนี้


  • ปิดประกาศรายชื่อแยกเป็นรายกลุ่มไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด, ศาลากลางจังหวัด, ที่ว่าการอำเภอ และสถานที่เลือก
  • จัดทำข้อมูลเผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น แอปพลิเคชัน ‘Smart Vote’ และ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th


ในการเผยแพร่ข้อมูลผู้สมัครจะมีข้อมูลประกอบด้วย 

  • หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร 
  • ชื่อตัวและชื่อสกุลผู้สมัคร 
  • อายุ 
  • อาชีพ 
  • วุฒิการศึกษาสูงสุด
  • กลุ่มที่สมัครรับเลือก 

นอกจากนี้ในการเผยแพร่ข้อมูลผู้สมัครผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote และ เว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. จะมีแบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (แบบ สว.3) เผยแพร่ไว้เพิ่มเติมด้วย 


เป็นหู-เป็นตาในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา


ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเลือกวุฒิสภา ด้วยการตรวจสอบประวัติพฤติการณ์ ความเป็นกลางทางการเมืองของผู้สมัคร และ แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับ

การกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 


หากเบาะแสที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน ไต่สวนคดี จะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 100,000 -1,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสำคัญของข้อมูล ทั้งนี้ การแจ้งเบาะแสต้องไม่มีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้ง เพื่อทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสื่อมเสีย หรือ เสียหาย รวมทั้งต้องไม่แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ


การที่ทุกคนร่วมใจกันเป็นหูเป็นตาจะช่วยทำให้การเลือก สว. เป็นไปอย่างสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย โดยเมื่อพบเห็นการทุจริต สามารถแจ้ง กกต. ซึ่งติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น แอปพลิเคชัน ‘ตาสับปะรด’ ผู้อำนวยการการเลือก และ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้ตรวจการเลือกตั้ง หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ


ช่องทางติดตามข่าวสารการเลือกสมาชิกวุฒิสภา


ประชาชนผู้ที่สนใจสามารถสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือก สว. ระดับต่างๆ ได้จากช่องทางที่สำนักงาน กกต. จัดเตรียมไว้ ดังนี้


  • www.ect.go.th
  • LINE Official Account : @ect.thailand 
  • แอปพลิเคชัน : Smart Vote 
  • แอปพลิเคชัน : ตาสับปะรด
  • Facebook Fanpage : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  • Youtube : ECT Thailand
  • TikTok : ect.thailand
  • สายด่วน 1444

นอกจากนี้ กกต. ได้จัดให้มีการถ่ายทอดภาพการเลือก สว. ผ่านระบบโทรทัศน์วงจรปิดไว้บริเวณด้านหน้าสถานที่เลือกให้ประชาชนได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอในทุกสถานที่เลือก รวมจำนวน 928 แห่ง ระดับจังหวัดรวมกรุงเทพมหานคร 77 แห่ง และระดับประเทศ 1 แห่ง 


ท้ังนี้หากมีข้อสงสัยในประเด็นการมีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_6/2967 หรือสอบถามได้ที่สายด่วน 1444

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME