เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 นางสาวณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของตลาดกาแฟพรีเมียมทั้งหมดที่มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดกาแฟรวมทั้งหมดที่สูงถึง 100,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดกาแฟพิเศษมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 25% ในช่วงปี 2564-2566 สวนทางกับตลาดกาแฟพรีเมียมที่เติบโตเฉลี่ยเพียง 8.55% ต่อปี

การเติบโตของกาแฟพิเศษในประเทศไทยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริโภคกาแฟคุณภาพสูงและความนิยมในการเปิดร้านกาแฟพิเศษทั้งในเมืองและภูมิภาคต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีจำนวนบาริสต้าและผู้ประกอบการที่เข้ามาในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดกาแฟพิเศษขยายตัวอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลของ Euromonitor International รายงานว่า การบริโภคกาแฟในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 30,000 ตันต่อปี เป็น 90,000 ตันต่อปี ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเฉลี่ยคนไทยบริโภคกาแฟวันละ 1.5 แก้ว สะท้อนถึงความนิยมในการบริโภคกาแฟที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ตลาดกาแฟยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

นางสาวณัฏฐ์รดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมกาแฟพิเศษไทยได้วางกลยุทธ์เพื่อยกระดับคุณภาพกาแฟไทย โดยการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้เน้นการผลิตกาแฟคุณภาพสูงผ่านโครงการประกวดกาแฟพิเศษ รวมถึงการส่งเสริมเทคโนโลยีและความรู้ในการผลิตกาแฟปลอดโรคเพื่อให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP และได้รับการยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับเซ็นทรัลพัฒนาในการจัดงาน “Thailand Coffee Hub” ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 2-8 ตุลาคม 2567 โดยมีการรวบรวมกาแฟจากทั่วประเทศและกาแฟท้องถิ่นจากพื้นที่ต่าง ๆ มาแสดงและจัดจำหน่ายภายในงาน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150,000 คน เพิ่มขึ้น 50% จากปีที่ผ่านมา

นางขวัญแก้ว สิริจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า เซ็นทรัลพัฒนาวางกลยุทธ์สนับสนุนธุรกิจโลคอลและภูมิภาคให้ก้าวสู่ตลาดโลก (Support Local & Cross-Region) โดยตั้งเป้าผลักดันงานเทศกาลกาแฟไทยให้กลายเป็น “World Coffee Event Destination” ที่ดึงดูดนักดื่มกาแฟจากทั่วโลก เพื่อช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงและศักยภาพของอุตสาหกรรมกาแฟไทยในเวทีระดับโลก

สำหรับแนวโน้มของตลาดกาแฟในปี 2567 พบว่า ราคากาแฟในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลงประมาณ 20-30% เนื่องจากผลผลิตจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้ากาแฟลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาเมล็ดกาแฟในประเทศมีแนวโน้มถูกลงตาม

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดกาแฟพิเศษยังคงเข้มข้นและเป็นตลาดแบบ “Red Ocean” ที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการผลิตกาแฟคุณภาพสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

ในแง่การผลิตกาแฟไทย ประเทศไทยยังคงผลิตกาแฟได้เพียง 40,000-50,000 ตันต่อปี แต่ความต้องการบริโภคสูงถึง 100,000 ตัน ทำให้ต้องมีการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น การพัฒนาคุณภาพการผลิตจึงเป็นทางรอดของเกษตรกรและผู้ผลิตกาแฟไทยในการยกระดับสินค้าสู่ตลาดพรีเมียม

 

ทั้งนี้ เมื่อประเมินภาพรวมการดื่มกาแฟของคนไทย พบว่า เฉลี่ยประมาณ 1.5 แก้วต่อวัน โดยเมื่อมาสำรวจฐานนักดื่มกาแฟไทย ในแต่ละภูมิภาค จะชื่นชอบการดื่มกาแฟที่มีรสชาติแตกต่างกันคือ 

  • ภาคเหนือกาแฟ ชื่นชอบกาแฟคั่วอ่อน ตามแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่นชอบ กาแฟที่มีรสเปรี้ยวผสม
  • ภาคใต้ ชื่นชอบกาแฟคั่วเข้ม ตามแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า
  • ภาคกลาง และกทม. ชื่นชอบกาแฟรสชาติ หลากหลาย 
  • ภาคตะวันออก ยังไม่มีชัดเจน 
  • เทรนด์ภาพรวมคนไทยสนใจดื่มกาแฟ “อเมริกาโน่” มากขึ้น จากเดิม 4-5 ปีเน้นกาแฟใส่นม เนื่องจากความสนใจสุขภาพสูงขึ้น

สมาคมกาแฟพิเศษไทยจึงมุ่งมั่นที่จะผลักดันกาแฟไทยสู่เวทีโลก พร้อมทั้งสร้าง Coffee Ecosystem ที่เข้มแข็งตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพื่อให้แบรนด์กาแฟไทยก้าวสู่การเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และกลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านกาแฟระดับโลกต่อไป.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์ / กรุงเทพธุรกิจ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME