เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จากการเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 76 (Cannes Film Festival 2023) โดยผู้ประกอบการไทย จำนวน 10 บริษัท ได้รับการตอบรับอย่างดี สร้างมูลค่าเจรจาทางการค้าได้ถึง 1,986 ล้านบาท เชื่อมั่นว่าเป็นโอกาสส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในเวทีนานาชาติให้ก้าวหน้าต่อเนื่อง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 76 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 – 27 พฤษภาคม 2566 โดยในปีนี้มีผู้ประกอบการไทยจำนวน 10 บริษัท ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมภายในงานแสดงสินค้า Marché du Film ในช่วงเทศกาลภาพยนตร์ฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ตลาดซื้อขายภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 14,000 ราย จาก 120 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทด้านผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และแอนิเมชัน (Film Production & Distribution) จำนวน 8 บริษัท และกลุ่มบริษัทด้านบริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Production & Post Production Services) รวมทั้งหน่วยงานของไทยยังได้นำคณะร่วมออกคูหานิทรรศการประเทศไทย (Thai Pavilion) ภายใต้แนวคิด “Filming in Thailand : All your Film Could Ever Need” ภายใน International Village เพื่อเชิญชวนคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย (Thai Pavilion) ภายใต้แนวคิด “Filming in Thailand : All your Film Could Ever Need” ภายใน International Village เพื่อเชิญชวนคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยผลเจรจาการค้าของไทยว่า มีนักลงทุน ผู้สร้าง และผู้ซื้อภาพยนตร์จากต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทยทั้ง 10 บริษัท รวม 271 นัดหมาย สร้างมูลค่าเจรจาการค้าได้ 1,986 ล้านบาท ซึ่งมีผลการเจรจาการค้าที่สำคัญ เช่น การเจรจาการค้ากับบริษัทจากประเทศโปแลนด์ เวียดนาม และจีน ซึ่งสนใจซื้อภาพยนตร์ไทยจำนวนกว่า 20 เรื่อง เพื่อนำไปลงแพลตฟอร์มและฉายในโรงภาพยนตร์ รวมไปถึงเจรจาการค้ากับบริษัทจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ที่ต้องการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้ ภายใต้มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย (Thailand Film Incentive Measures) ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบแก่กองถ่ายต่างประเทศสอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่เผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากทั่วโลกที่เลือกใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำถึง 3,600 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 700 ล้านยูโร ซึ่งภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยม เช่น Extraction, Fast & Furious 9, The Bodin in the Land of Smile และ The Greatest Beer Run Ever
“นายกรัฐมนตรียินดีกับความสำเร็จของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ สามารถแสดงศักยภาพ ภาพลักษณ์ที่ดี ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับทุกภาคส่วนของธุรกิจ ทั้งการจ้างงานและกระจายรายได้ ไปจนถึงชุมชนท้องถิ่นที่มีการถ่ายทำในพื้นที่ ซึ่งสามารถต่อยอดสร้างรายได้หมุนเวียนสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ในอนาคต โดยรัฐบาลพร้อมผลักดันอย่างต่อเนื่องผ่านการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่วัฒนธรรมไทย และสถานที่ท่องเที่ยวไทยให้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก รวมทั้งจัดมาตรการส่งเสริมที่ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศให้ครอบคลุมในทุกมิติ” นายอนุชาฯ กล่าว
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี