สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วัน ของการรณรงค์ (11 – 16 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,811 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,837 คน ผู้เสียชีวิต รวม 243 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (71 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (68 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (15 ราย)
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางจุดหมายแล้ว แต่ยังมีบางส่วนอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ศปถ.จึงได้กำชับจังหวัดดูแลความปลอดภัยและบริหารจัดการจราจรในเส้นทางสายหลัก เส้นทางเชื่อมต่อถนนสายหลักที่มุ่งสู่กรุงเทพฯ และถนนทางตรงที่มีระยะทางยาว เน้นคุมเข้มการขับรถเร็ว ป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับใน และการใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทาง รวมถึงเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงหกวันที่ผ่านมา พบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 84.90 เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บและความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการใช้ยานพาหนะดังกล่าว ขอให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ขับขี่ด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยและเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ขอให้จังหวัด หน่วยงาน และองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสร้างการรับรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับการตัดหน้ากระชั้นชิด การใช้อุปกรณ์นิรภัย และวิธีการขับขี่ยานพาหนะที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด
ด้าน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า การขับรถเร็วยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยกวดขันพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากนั้น ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ท่าเทียบเรือ และสถานีรถไฟทุกแห่ง เพื่อให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย
ขณะที่ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนมีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดใช้มาตรการทางสังคมในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในเด็กและเยาวชนตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการดูแลและป้องปรามจากครอบครัว รวมถึงเตรียมสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 โดยตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 – 17 เม.ย.67 ผ่านกลไกสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนต่อไป
ซึ่งที่ห้องประชุมอู่หลง ศาลากลางจังหวัดเชียงราย พ.ต.อ. สิทธิชัย ไกรแสง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เป็นประธานประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 จังหวัดเชียงราย โดยได้สรุปผลการดำเนินงานฯ และรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ประจำวันที่ 16 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุในพื้นที่จังหวัดเชียงราย 10 ครั้ง ในพื้นที่ อำเภอพาน 3 ครั้ง อำเภอพญาเม็งราย 2 ครั้ง อำเภอแม่สรวย อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงแก่น และอำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอละ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 3 ราย และมีผู้เสียชีวิตเป็นชาย 1 ราย สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ การขับรถเร็วเกินกำหนด ทัศนวิสัยไม่ดี ดื่มแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิดตามลำดับ
รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำถึงแนวทางมาตรการการดำเนินงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อควบคุมและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดตามเขตติดต่ออำเภอเป็นส่วนมาก ขอให้เข้มงวดการใช้รถใช้ถนนในหมู่บ้าน ตรวจตราผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้ดำเนินการจัดตั้งด่านชุมชนในพื้นที่ จนสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนด ให้ครอบครัวคอยตักเตือนเมื่อมีการดื่มสังสรรค์ในครอบครัว คนขับต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11-16 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา จ.เชียงราย เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 71 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 61 ราย เสียชีวิต 15 ราย อำเภอที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย จำนวน 21 ครั้ง และอำเภอที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ อำเภอแม่สาย จำนวน 3 ราย
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)