Categories
ECONOMY

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ “ส้มโอไทย” ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา

 
 

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผ่านการส่งออกส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี (Washington, D.C.) สหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และยังส่งออกมะม่วงของฤดูกาลปี 2566 มังคุด และผลไม้อื่น ๆ ของไทย เพื่อนำไปร่วมงานเฉลิมฉลองในวันชาติของสหรัฐอเมริกา และ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ในงานจัดแสดงผลไม้เทศกาล “Sawasdee DC Thai Festival” ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2566 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรก ไปยังสหรัฐฯ เพื่อจัดแสดงผลไม้ในงานเทศกาล Sawasdee DC Thai Festival ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในโอกาสวันชาติของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2566 และ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายงานการส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งแรก เป็นส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา พร้อมด้วย มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ มหาชนก แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย รวมทั้งมังคุด รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 กล่อง น้ำหนัก 864 กิโลกรัม

การส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่จะมีตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เป็นประเทศที่เข้มงวดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชอย่างสูง โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้มอบหมายหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service : APHIS) ให้แจ้งถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพการแพร่กระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะอนุญาตให้นำเข้า โดยส้มโอส่งออกจะต้องผ่านการฉายรังสีแกรมมา (Gamma: γ) ที่ระดับ 400 เกรย์ นาน 3 ชั่วโมง จากศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) พร้อมโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตให้คัดบรรจุส้มโอเพื่อการส่งออกได้ โดยผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐฯ ต้องฉายรังสีแกรมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนส่งออก

ขณะนี้ผลไม้ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มี 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร เงาะ และล่าสุดได้แก่ ส้มโอ โดยกรมวิชาการเกษตรยังมีแนวทางที่จะสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการจัดส่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนและจัดส่งได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในเชิงคุณภาพ โดยหากได้ผลดีจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในเชิงการค้าต่อไป 

“นายกรัฐมนตรียินดีต่อผลความสำเร็จในการส่งออกส้มโอทั้ง 4 สายพันธุ์ของไทย เป็นเครื่องสะท้อนถึงคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ นายกฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อไทยผ่านมาตรฐานการส่งออกไปสหรัฐฯ จะเพิ่มโอกาสให้ผลไม้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต พร้อมขอบคุณความร่วมมือ การทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันสินค้าเกษตรของไทยให้มีศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในตลาดต่างประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว

 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS NEWS UPDATE

สหรัฐฯ อนุมัตินำเข้าส้มโอผลสดของไทย ยกระดับคุณภาพผลไม้สด

สหรัฐฯ อนุมัตินำเข้าส้มโอผลสดของไทย ยกระดับคุณภาพผลไม้สด

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถึงการดำเนิน “โครงการศึกษาผลการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการ เก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” รวมถึงความสำเร็จในการส่งออกส้มโอสด หลังกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ อนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอสด ด้วยวิธีการฉายรังสี เข้าสู่สหรัฐฯ ได้เป็นครั้งแรก และไม่จำกัดสายพันธุ์ เชื่อมั่นความสำเร็จสามารถกำหนดคุณภาพสินค้าผลไม้สดไทย ให้ตรงตามมาตรฐานสหรัฐฯ เพิ่มโอกาสในการส่งออกผลไม้สดไทยไปต่างประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันทำ “โครงการศึกษาผลการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการ เก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกผลไม้สดด้วยการฉายรังสีก่อนส่งออกไปสหรัฐอเมริกาตามข้อกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้ไข่แมลงศัตรูพืชที่อาจติดไปฟักเป็นตัวและเกิดการแพร่กระจายของแมลงในประเทศปลายทาง โดยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริการ่วมดำเนินการ 

ทั้งนี้ สทน. พร้อมทำหน้าที่ตัวกลาง ประสานงานการส่งออก การสำรวจตลาด ทิศทางของตลาดส้มโอ ยืนยันว่าการฉายรังสีผลไม้ทุกชนิดเป็นกระบวนการที่ปลอดภัยไม่มีรังสีตกค้าง มั่นใจได้ในคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และทีมนักวิจัยยินดีให้คำปรึกษาให้กับเกษตรกร ชาวสวน ผู้ประกอบการ ถึงการปฏิบัติ การดำเนินการ ในการยกระดับคุณภาพของผลไม้ไทย รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้ให้กับเกษตรกรไทยในอนาคต และคณะผู้วิจัยจะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo East 2023 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน พ.ศ. 2566 

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอสด ด้วยวิธีการฉายรังสี เข้าสู่สหรัฐอเมริกาได้เป็นครั้งแรก และไม่จำกัดสายพันธุ์ นับเป็นผลไม้สดไทยชนิดที่ 8 ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า จากเดิมที่มีมะม่วง มังคุด เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด และแก้วมังกร โดยในเดือนมิถุนายนนี้ ส้มโอผลสดของไทยล็อตแรกที่ผ่านการตรวจสอบและปิดผนึกตู้ขนส่งแล้ว จะขนส่งทางอากาศไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการส่งออกว่า ต้องเป็นผลผลิตจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP โรงคัดบรรจุได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP มีการทำความสะอาดและกำจัดแมลงศัตรูพืช และเชื้อรา ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร อย่างเคร่งครัด รวมทั้งผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนด้วย

“นายกรัฐมนตรียินดีต่อความสำเร็จในการส่งออกส้มโอสดของไทย และขอบคุณการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนที่มีจิตใจที่จะร่วมพัฒนาประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นและให้กำลังใจว่าทุกการวิจัยมักจะนำมาซึ่งสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประเทศ ในส่วนของสินค้าเกษตรไทย เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบของประเทศปลายทาง เพื่อเป็นมาตรฐาน และเป็นชื่อเสียงของสินค้าไทย” นายอนุชาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News