Categories
SOCIETY & POLITICS

โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ครอบคุลมคนไทยทุกสิทธิแล้ว

 

วันนี้ 13  สิงหาคม  2566  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้บรรจุให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับเป็นสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2565 โดยได้ดำเนินการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ที่ สปสช.ร่วมดำเนินการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมาโครงการได้ดำเนินการเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ได้มีความพยายามแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว เพื่อให้โครงการนี้ครอบคลุมผู้ป่วยติดเตียงและผู้มีปัญหาการกลั้นขับถ่ายทุกสิทธิ กระทั่งได้มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 ที่ยืนยันว่า สปสช. สามารถดำเนินบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับคนไทยทุกคน จึงมีผลให้ปัจจุบันโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิแล้ว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านหลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ได้มีออกมารองรับเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ ภายหลังมีความชัดเจนทางกฎหมาย จะทำให้เจ้าหน้าที่ของ อปท. ซึ่งดำเนินการกองทุน กปท. เกิดความมั่นใจว่าการจัดทำโครงการผ้าอ้อมและแผ่นรองซับสามารถให้การดูแลให้ผู้ป่วยทุกสิทธิไม่เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ อปท. ทั่วประเทศที่มีการจัดตั้งกองทุน กปท. ที่ปัจจุบันมีอยู่ 7,753 แห่ง ร่วมจัดทำโครงการนี้เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมมากขึ้น จากปัจจุบันที่มี อปท. จัดทำโครงการแล้ว 1,876 แห่ง รวม 2,295 โครงการ ดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศอยู่ 44,667 คน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  สำหรับคุณสมบัติผู้ที่จะได้สิทธิตามโครงการนั้นจะต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือ ผู้มีปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ไม่จำกัดอายุ โดยจะได้รับไม่เกิน 3 ชิ้นต่อคนต่อวัน  ซึ่งปัจจุบัน สปสช. มีฐานข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงและผู้มีปัญหาการกลั้นการขับถ่ายอยู่ประมาณ 50,000 คน ซึ่งในบางพื้นที่จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปยังครอบครัวและว่าผู้ป่วยได้รับสิทธิผ้าอ้อมผู้ใหญ่

แต่หากครอบครัวใดมีผู้ป่วยอยู่และยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป ขอให้ดำเนินการแจ้งขอรับสิทธิโดยการโทรสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องและส่งให้พื้นที่ดำเนินการตามขั้นตอน หรือติดต่อลงทะเบียนได้ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือศูนย์บริการสารธารณสุขใกล้บ้าน (ไม่จำเป็นต้องเป็นที่อยู่ตามบัตรประชาชน) หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS NEWS UPDATE

ย้ำ ผู้มีสิทธิบัตรทอง (บัตร 30 บาท) สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาล ได้ 4 ครั้งต่อปี

ย้ำ ผู้มีสิทธิบัตรทอง (บัตร 30 บาท) สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาล ได้ 4 ครั้งต่อปี

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชนและการเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ได้เพิ่มคุณภาพและบริการให้ผู้ถือบัตรทอง (บัตร 30 บาท) สามารถเข้ารับการรักษาได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้  เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล สามารถเปลี่ยนสิทธิรักษามีผลทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน ผ่านแอปพลิเคชันของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. โดยเปลี่ยนได้ได้ง่าย ๆ 3 ช่องทางดังนี้
 
1 Application สปสช. เพียงดาวน์โหลดแอป สปสช. ดาวน์โหลดฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ทั้งระบบ Android และ iOS ระบบ Android https://play.google.com/store/apps/developer ระบบ OShttps://apps.apple.com/us/app/สปสช/id1111681040
2 Line Official Account สปสช.” add เป็นเพื่อน… เพียงสแกน QR Code หรือพิมพ์ค้นหาใช้ช่อง ID ว่า @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
3 ติดต่อด้วยตนเอง ดังนี้  กรณีต่างจังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลของรัฐ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 2 อาคารบี (ทิศตะวันตก) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ในวันเวลาราชการ หรือ โทรสายด่วน 1330
 
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ดังนี้ – บัตรประจำตัวประชาชน – เด็กเล็กใช้สูติบัตร (ใบเกิด) คู่กับบัตรประจำตัวประชาชนผู้ปกครอง  เลือกสถานพยาบาล (หน่วยบริการ) หากไม่ตรงตามที่อยู่บัตรประชาชน ให้แสดงหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ 1 หนังสือรับรองของเจ้าบ้าน 2 หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน 3 หนังสือรับรองผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง 4 เอกสารหรือหลักฐานที่มีชื่อของผู้ประสงค์ลงทะเบียน เช่น ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าที่พัก สัญญาเช่าที่พัก ฯลฯ
 
“ผู้มีสิทธิบัตรทอง (บัตร 30 บาท) หากย้ายที่พักอาศัย สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาล (หน่วยบริการ) ประจำตัวได้ 4 ครั้งต่อปี ใช้สิทธิรักษาได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลพร้อมดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งมั่นยกระดับเพิ่มสิทธิการดูแลด้านสาธารณสุขไทยให้ครอบคลุมอย่างมีคุณภาพ” นางสาวรัชดา กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE