เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๗ ที่ พิพิธภัณฑ์ มรดกวัฒนธรรม ผ้าทอไทลื้อ ลื้อลายคำ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีพิธีไหว้ครูลื้อลายคำ ซึ่งทางเพจ Chiang Khong TV รายงานว่าเป็นการนบไหว้สาบูชาครู ลื้อลายคำ ความรู้ ศิลปะ วิชา ทุกแขนงสาขา ล้วนแล้วแต่มีครูบาอาจารย์ผู้ประสาทประสิทธิ์วิชา เมื่อศึกษาจนสำเร็จลุล่วงก็ต่างแยกย้ายไปตามทิศทางที่หมาย จะยากดีมีจน เป็นคนดีคนเลว ก็ล้วนแล้วแต่มีวิชาความรู้ติดตนติดตัว ถือว่าเป็นคนมีครู เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และหากผู้ใด รำลึกได้ถึงคุณของครูบาอาจารย์ ผู้นั้นย่อมจักมีความเจริญในชีวิต
ซึ่งกลุ่ม ลื้อลายคำ ครั้งหนึ่งเคยสร้างชื่อกระฉ่อนไปทั่วประเทศ โดยการรวมตัวกันของ เยาวชน อ.เชียงของที่มีใจรักในศิลปะล้านนา ศิลปะไทลื้อ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ในปัจจุบัน กลุ่มลื้อลายคำ จะไม่ได้รวมตัวกันเช่นแต่ก่อน แต่ทุกคนเมื่อได้ชื่อว่าลื้อลายคำ ก็จะเป็นลื้อลายคำตลอดไป เมื่อใด ที่มีโอกาสได้แสดงวิชา ก็จะมารวมตัวกันไม่ห่างหาย และเมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมาไหว้ครูอาจารย์ ทุกคนก็พร้อมกลับมารวมตัวกันอย่างสมัครสมานเช่นเคย
คุณสุริยา วงค์ชัย ลูกหลานไทลื้อรุ่นปัจจุบัน ที่อยากให้มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อ สืบทอด สานต่อ ไปยังรุ่นต่อไป โดยใช้บ้านไม้ 2 ชั้น ทรงเก่าๆจัดสร้างที่วัฒนธรรมของไทลื้อถูกเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงได้เก็บประวัติเรื่องราว การกล่าวขาน การต่อสู้การ อพยพต่างๆ ของชาวไทลื้อในอดีต เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบน มีหุ่นจัดแสดงเครื่องแต่งกายไทลื้อแบบต่างๆ ผ้าทออันมีคุณค่า ที่ต้องใช้เวลาในการเก็บรวมรวม มาให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เครื่องประดับของมีค่า จำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทลื้อ ดูแล้วมีมนต์ขลังเหมือนพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้นจริงๆ
จากข้อมูลของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เล่าว่ากลุ่มชาติพันธ์ “ลื้อ/ยอง/ขึน (เขิน)”
“ลื้อ” ชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีประวัติการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐฉาน ประเทศพม่า
“ยอง” ชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองยอง อำเภอหนึ่งของเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า
“ขึน/เขิน” ชาวไทลื้อ (+ไทใหญ่?) ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า จีน ไทย และประเทศลาว ตั้งชุมชนหนาแน่นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำขึนเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า
.
ไทลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทยอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และภาคเหนือของลาว ชาวไทลื้อในสิบสองพันนามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยวนล้านนาในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ชาวไทลื้อจากสิบสองพันนาได้ถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ในล้านนาจำนวนมาก ชาวไทลื้อนับถือศาสนาพุทธและปฏิบัติตามจารีตประเพณีทางพุทธศาสนา
การขยายตัวของชาวไทลื้อสมัยเจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วย เมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวง เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ซึ่งบางเมืองในแถบนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทลื้ออยู่แล้ว เช่น อาณาจักรเชียงแขง ซึ่งประกอบด้วย เมืองเชียงแขง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงกก เมืองเชียงลาบ เมืองกลาง เมืองลอง เมืองอาน เมืองพูเลา เมืองเชียงดาว เมืองสิง เป็นต้น
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สุริยา วงค์ชัย พิพิธภัณฑ์ ลื้อลายคำ / Chiang Khong TV / Anirut Ti