Categories
SOCIETY & POLITICS

รับทราบกันการทุจริต ​คณะรัฐมนตรีมีมติ รับข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. เงินอุดหนุน ‘อปท.’

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (20 มิถุนายน 2566) มีมติรับทราบกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนของ อปท. กรณีรัฐอุดหนุนแก่ อปท. ดังนี้ 

1. ข้อเสนอด้านการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน ซึ่ง 1) ควรมีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งวิธีการและระยะเวลาในการส่งเสริมและพัฒนารายได้ให้กับ อปท. 2) ในขณะที่ อปท. ยังไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ควรพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ในรูปแบบเงินอุดหนุนทั่วไป โดยลดการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งมักมีปัญหาการทุจริตจากการวิ่งเต้นและการบริหารงานงบประมาณให้เหลือน้อยที่สุด 3) ควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และตัวชี้วัดอย่างชัดเจนในการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่ อปท. เพื่อลดอำนาจการใช้ดุลยพินิจในการจัดสรรโดยมิชอบ 4) ควรเร่งดำเนินการให้ อปท. เป็นหน่วยงานที่ขอรับเงินงบประมาณโดยตรง 

2. ข้อเสนอด้านการนำเงินอุดหนุนไปจัดทำข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ และการบริหารจัดการงบประมาณเงินอุดหนุน 1) ควรกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของ อปท. อย่างเป็นรูปธรรมและเข้มข้นในทุกกระบวนการ 2) ควรส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น และประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และอำนาจกฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดต่าง ๆ 3) ควรส่งเสริมและพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในของ อปท. ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ 4) ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการดำเนินการของ อปท. 

3. ข้อเสนอด้านการติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน 1) ควรดำเนินการให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางขนาดใหญ่ (Big Data) 2) ควรกำหนดรูปแบบการรายงานผลการดำเนินงานของ อปท. ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง 3) ควรกำชับให้ผู้ใช้อำนาจในการกำกับดูแล อปท. ตรวจสอบติดตามและการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนของ อปท. 4) ควรสนับสนุนให้ อปท. ทุกแห่งใช้ระบบการจ่ายเงินโดยให้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) 5) ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการใช้จ่ายและการบริการเงินอุดหนุนของ อปท. ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการหรือไม่

ทั้งนี้ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนของ อปท. กรณี อปท. อุดหนุนไปยังหน่วยงานอื่น ดังนี้ 

1. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานอื่นโดยไม่เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่กำหนดรวมถึงหน่วยงานที่รับเงินอุดหนุนจาก อปท. ใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบและวัตถุประสงค์ อันอาจนำไปสู่การทุจริต 1) ควรแจ้งและกำกับให้ อปท. กำหนดมาตรการควบคุมภายใน โดยให้จัดทำแผนการตรวจสอบประเด็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน และควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการติดตามว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ 2) ควรกำหนดระเบียบห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้แก่หน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ ในปีงบประมาณถัดไป 3) ห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนโครงการที่มีลักษณะเกี่ยวกับการจัดหาครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง 4) ควรกำหนดให้ อปท. ต้องจัดให้มีวิธีการที่จะให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการ 5) ควรให้ความสำคัญในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องให้ความสำคัญทั้งในส่วนของ อปท. ที่ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุน และการดำเนินการของหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน พร้อมรายงานผลต่อสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย

2. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้หน่วยงานที่ทำการปกครองอำเภอ และสำนักงานจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล อปท. ตามกฎหมายอันเป็นการขัดกันต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแลเพื่อให้เกิดความถูกต้องและปราศจากการทุจริตทุกรูปแบบ 1) แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนฯ โดยห้าม อปท. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้ที่ทำการปกครองอำเภอและสำนักงานจังหวัด 2) กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ผู้กำกับดูแล อปท. ให้ อปท. ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการของ มท.

3. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้า การประปา และองค์การจัดการน้ำเสีย) โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางเช่นเดียวกับหน่วยงาน/องค์กรอื่นที่ขอรับเงินอุดหนุนจาก อปท. 1) ห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนตามโครงการขยายเขตไฟฟ้าและประปา เพื่อจำหน่าย 2) ในกรณีที่ อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้รัฐวิสาหกิจในภารกิจตามหน้าที่ของ อปท. จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการให้เงินอุดหนุนหน่วยงานอื่นคือให้นำเงินอุดหนุนนับรวมในอัตราส่วนไม่เกินร้อยละของรายได้จริงในปีงบประมาณที่ผ่านมา

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS UPDATE

ครม. “ประยุทธ์” ปฏิรูปกฎหมาย ล้างวาทกรรม ‘คุกมีไว้ขังคนจน’

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 

1.ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. …. 

2.ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. และ 

3.ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….

 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า กฎหมายลำดับรอง 3 ฉบับจะสนับสนุนให้การบังคับใช้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะมีผบังคับใช้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นี้เกิดผลได้จริง เพื่อเป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญโดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดเพียงเล็กน้อยต้องชำระค่าปรับอย่างเดียว ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ และไม่มีการลงบันทึกในประวัติอาชญากรรม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งหวังผลักดันให้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลบล้างวาทกรรม ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย 

 

สาระสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ สรุปได้ดังต่อไปนี้
1.ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. …. จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสวงหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้รู้ว่ามีการกระทำความผิดทางพินัยหรือไม่และใครเป็นผู้กระทำความผิด และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐพบเห็นว่ามีบุคคลกำลังกระทำความผิดทางพินัย หรือแทบจะไม่มีความสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดทางพินัย และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหา พร้อมทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแจ้งด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิจะให้การทันทีหรือจะให้ถ้อยคำภายหลังภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งก็ได้ และกำหนดกรอบเวลาให้การพิจารณาและออกคำสั่งปรับเป็นพินัยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยสามารถขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนในกรณีที่จะฟ้องคดีต่อผู้ถูกกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการอย่างช้าไม่น้อยกว่า 45 วันก่อนวันที่คดีจะขาดอายุความ

 

2.ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้การชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ 

(1) ธนาคาร 

(2) หน่วยบริการรับชำระเงินที่เป็นของรัฐหรือเอกชนตามที่หน่วยงานของรัฐกำหนด 

(3) เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) 

(4) บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 

(5) โมไบล์แบงกิง (Mobile Banking) 

(6) อินเทอร์เน็ตแบงกิง (Internet Banking) 

(7) สถานที่หรือวิธีการอื่นใดที่สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยทุกช่องทางหน่วยงานรัฐจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

 

3.ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. เป็นการวางระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับ เป็นพินัย พ.ศ. 2565 ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีช่องทางติดต่อสื่อสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นใด สามารถขยายเวลาการดำเนินการปรับเป็นพินัยได้ สามารถผ่อนชำระได้ และจำนวนค่าปรับเป็นพินัยต้องไม่ต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับแต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยกำหนดไว้

 

“รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีผลงานด้านการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เห็นเด่นชัดเพราะท่านนายกฯ มีความจริงใจที่จะดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำ ยกเลิกวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน” ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. จึงกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยมีฐานะยากจนและกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อยังชีพของตนและครอบครัว ให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยในอัตราต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาทหรือไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ และสามารถขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยโดยพิจารณาฐานะการเงิน รายได้ รายจ่าย และภาระหนี้สินของผู้กระทำความผิดทางพินัย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News