10 ประเด็นที่สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจยังคงเป็นประเด็นทางการเมือง เช่น การโหวตนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญให้พิธายุติการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การจัดตั้งรัฐบาล การเลือกประธานสภาฯ การตอบโต้ สว. การให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ส่วนความสนใจในประเด็นอื่น คือ ละครมาตาลดา และพลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางกลับประเทศไทย และเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจใน TikTok เพิ่มเติมจากอีก 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ คือ Facebook 2) Twitter 3) Instagram 4) YouTube
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ 1) Facebook 2) Twitter 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สำรวจ TikTok แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มาแรง ผู้บริโภคทั่วไปสามารถผลิตคอนเทนต์ด้วยตนเอง (User Generated Content) สร้างการมีปฏิสัมพันธ์ได้มาก หากโพสต์ได้รับความนิยมและอยู่ในกระแสสังคม ส่งผลให้ TikTok สร้างครีเอเตอร์หน้าใหม่มากมาย อีกทั้งรูปแบบเป็นวิดิโอสั้นที่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในขณะที่อีก 4 แพลตฟอร์ม คือ Facebook, Twitter, Instagram, YouTube มีลักษณะเด่น คือ เป็นแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ เห็นได้จากแบรนด์และสื่อต่าง ๆ ใช้งานมาเป็นเวลานาน และมีการแบ่งกลุ่มผู้ใช้งานอย่างชัดเจน กล่าวคือ Facebook ส่วนใหญ่จะเป็นการโพสต์จากสื่อ สำนักข่าว ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (Influencer) โดยการโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือวิดิโอ ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ Twitter เจาะจงกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ด้วยจุดเด่นคือสามารถตามกระแสสังคมได้ง่ายกว่าแพลตฟอร์มอื่นและเน้นข้อความกระชับสั้น เข้าใจง่าย ส่วน Instagram เน้นการโพสต์รูปภาพ หรือวีดิโอสั้นมากกว่าการโพสต์ข้อความ สำหรับ YouTube เป็นแพลตฟอร์มหลักในการโพสต์วีดิโอ
การสำรวจการสื่อสารออนไลน์จาก 5 แพลตฟอร์มดังระบุข้างต้น ทำให้ Media Alert และ Wisesight เชื่อมั่นว่า ผลการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยจากเดือนกรกฎาคมไปจนถึงธันวาคม 2566 จะสะท้อนความสนใจในเนื้อหา ในวิธีการสื่อสารของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งผู้ใช้ทั่วไป สื่อ สำนักข่าว ผู้มีอิทธิพล ผู้มีชื่อเสียง ฯลฯ ที่สำคัญ เมื่อวิเคราะห์ร่วมกับบริบทแวดล้อมแล้ว จะสามารถคาดหมายผลกระทบของการสื่อสารออนไลน์ต่อการสื่อสารของสังคม และต่อการสร้างผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสังคมได้ โดยเฉพาะผลในทางการเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ปลอดภัยและสร้างสรรค์มากขึ้น
สำหรับวิธีการสำรวจ คือ การใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2, พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล, ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ ZocialEye มารวบรวมและเรียงลำดับตาม Engagement พบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในเดือนกรกฎาคม 2566 คือ
10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสาร และมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนกรกฎาคม 2566
อันดับที่ 1 การโหวตนายกฯ และท่าทีของพรรคก้าวไกล
ส่วนใหญ่มาจากช่องทางอย่างเป็นทางการของพรรคก้าวไกลใน TikTok โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจจะเป็นแถลงการณ์ให้ความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ส่วนโพสต์อื่น ๆ จะมีทั้งการทำคลิปให้กำลังใจพรรคก้าวไกลจากประชาชน นักร้อง นักแสดง รวมถึงโพสต์จากสื่อต่าง ๆ ที่มีประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อท่าทีของพรรคก้าวไกล
อันดับที่ 2 ความนิยมของละครมาตาลดา
มาจากการตัดคลิปละครสั้น ๆ โดยเฉพาะฉากที่มีนางเอกเต้ย จรินทร์พร โดยเสียงตอบรับของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงชื่นชอบละครเรื่องนี้ทั้งในเรื่องความสนุก มีสาระ นอกจากนั้นยังมีการแสดงความคิดเห็นว่าละครเรื่องนี้มีส่วนให้สังคมไทยผ่อนคลายความเครียดจากการดูข่าวการเมือง
อันดับที่ 3 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
หลังจากการโหวตนายกทั้ง 2 ครั้งไม่สำเร็จ ทำให้พรรคก้าวไกลต้องถอยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยท่าทีทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยจะไปรวมกับพรรคฝ่ายอดีตรัฐบาล ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์โพสต์เตือนสติพรรคเพื่อไทย ต่อมาพรรคเพื่อไทยประกาศร่วมกับพรรคอดีตรัฐบาล ส่งผลให้ได้รับคำตำหนิเป็นจำนวนมาก
อันดับที่ 4 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.
ในช่วงการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. โดยโพสต์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเป็นโพสต์จากสำนักข่าวที่เสนอภาพช่วงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เดินออกจากห้องประชุมสภาฯ ส่วนความเห็นของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ตำหนิความไม่เป็นธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ
อันดับที่ 5 การโหวตครั้งที่ 2 ให้พิธาเป็นนายกฯ
เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภามีมติให้การเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนั้นขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา รวมทั้งกล่าวถึงการมีองค์กร เช่น สภาทนายความออกแถลงการณ์ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำ สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่สามารถอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่ใช้กับการยื่นญัตติทั่วไปมาบังคับใช้
อันดับที่ 6 พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยเสนอวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ
ก่อนหน้าการเสนอชื่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ มีข่าวลือว่าพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลที่จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ส่งผลให้มีการประชุมของทั้งสองพรรคที่ได้ข้อสรุปว่าจะยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้กับวันมูหะมัดนอร์ มะทา และหลังจากที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตำหนิพรรคเพื่อไทยอย่างมาก ในทางตรงกันช้ามก็ให้กำลังใจพรรคก้าวไกลที่แม้จะได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งแต่กลับไม่ได้ตำแหน่งใดในสภา
อันดับที่ 7 พลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางจากศรีลังกากลับไทยเนื่องจากอาการป่วย
พลายศักดิ์สุรินทร์เป็นช้างที่ทางการไทยส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีสังกา ตั้งแต่ปี 2544 ภายหลังพบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพที่ย่ำแย่เนื่องจากการถูกใช้งานอย่างหนัก ทางภาครัฐนำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงการต่างประเทศได้ติดต่อรัฐบาลศรีลังการเพื่อให้นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ประเทศไทย โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ขอบคุณทางการไทยที่นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ประเทศไทย
อันดับที่ 8 #ธุรกิจสว. และ #เมียน้อยสว. ตอบโต้ สว. ที่ไม่โหวตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล
การที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนหนึ่งมาจาก สว. ไม่ให้การรับรอง ส่งผลทำให้เกิดการตอบโต้จากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่พอใจ สว.ด้วยการติดแฮชแท็ก #ธุรกิจสว. เพื่อแบนธุรกิจของ สว.และครอบครัว รวมไปถึงภาคธุรกิจบางส่วนที่ไม่ให้สว. กกต. หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องมาใช้บริการธุรกิจของตน ส่วนการติดแฮชแท็ก #เมียน้อยสว. เป็นการนำภาพเก่าของสว.คนหนึ่งที่ถ่ายภาพคู่กับผู้หญิงที่ไม่ใช้ภรรยาของตนมาประจานบนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว
อันดับที่ 9 สส. เสรีพิศุทธ์ ให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน
จากเหตุการณ์ที่ สส. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ร่วมแถลงการณ์กับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยโดยมีถ้อยคำที่ต้องการผลักให้พรรคก้าวไกลเสียสละไปเป็นฝ่ายค้านที่สื่อนำไปเผยแพร่เป็นข่าว ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตำหนิ สส. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่โหวตเลือกพรรคก้าวไกลและคาดหวังให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
อันดับที่ 10 การอภิปรายของ สส. ชาดา ในการโหวตครั้งที่ 1 ให้พิธาเป็นนายกฯ
ข่าวการอภิปรายของ สส. ชาดา ไทยเศรษฐ์ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก โดยมุ่งเน้นที่การไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีจุดยืนในการแก้ไข มาตรา 112 รวมทั้งท่าทีและท่วงทำนองการอภิปรายที่ดุดัน ทำให้เกิดเป็นกระแส และสร้างความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ในการสืบหาประวัติของ สส. ชาดา เป็นจำนวนมาก
ด้วยทิศทางการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนกรกฎาคม 2566 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยศึกษา คือ 1) Facebook 2) Twitter 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า ส่วนใหญ่เป็นประเด็นการเมือง Media Alert และ Wisesight จึงเห็นพ้องกันในการเลือกศึกษา 3 ประเด็นทางการเมืองที่ได้รับความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในอันดับต้น ๆ จากจำนวน Engagement ตลอดเดือนกรกฎาคม 2566 คือ 1) การโหวตนายกฯ และท่าทีของพรรคก้าวไกล 2) พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ 3) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เห็นได้ว่า Engagement ส่วนใหญ่มาจากสองช่องทางหลัก คือ TikTok 43% และ Facebook 34% โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 2 อันดับแรกมาจาก TikTok Official Account ของพรรคก้าวไกลโดยได้ Engagement เฉลี่ยโพสต์ละ 1.7 ล้าน Engagement ส่วนอันดับที่ 3 มาจาก Account Themodevan ที่แต่งเพลงให้กำลังใจพรรคก้าวไกล ได้ Engagement ประมาณ 1.2 ล้าน Engagement
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นของพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะโพสต์ประกาศจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจ โพสต์แถลงการณ์จากพรรคก้าวไกลก่อนวันเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 และโพสต์แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลหลังไม่สามารถได้เสียงโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจากประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เมื่อแยกตามประเภทผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า เป็นบุคคลทั่วไปมากถึง 52 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 30.3 ล้าน สื่อหรือสำนักข่าว 10.7 ล้าน พรรคการเมือง 6.4 ล้าน และอื่น ๆ ประมาณ 7,000 Engagement ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้กำลังใจพรรคก้าวไกล การชื่นชมศิลปินที่แต่งเพลงสนับสนุนพรรคก้าวไกลโดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก
Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากสองช่องทางหลัก คือ Facebook 41% และ TikTok 35% โดยประเด็นที่ถูก Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจาก TikTok Zocialnews ที่โพสต์ข่าวพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในประเด็นหากก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จจะหลีกทางให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล, จาก Account Facebook Paul Pattarapon พอล ภัทรพล ที่โพสต์เตือนสติพรรคเพื่อไทยไม่ให้ไปรวมกับพรรคอดีตรัฐบาล และ จาก TikTok Pondonnews ที่กล่าวถึงเพลงเสียดสีพรรคเพื่อไทยของแอ๊ด คาราบาว
ด้านความสนใจเกี่ยวกับประเด็นพบว่า มาจากสื่อจำนวน 25 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ 8.3 ล้าน Engagement มาจากพรรคการเมืองและนักการเมือง 3.3 ล้าน ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 3.2 ล้าน และอื่น ๆ เช่น แบรนด์ และภาครัฐประมาณ 3 ล้าน Engagement ตามลำดับ โดยเสียงส่วนใหญ่เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยเคารพการตัดสินใจของประชาชนและจับมือกับพรรคก้าวไกลไปจนกว่า สว. จะหมดสมาชิกภาพ รวมไปถึงการเหน็บแนมแอ๊ด คาราบาวถึงที่ดินที่เขากระโดงหลังจากที่แอ๊ดแต่งเพลงเสียดสีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล
Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากสองช่องทางหลัก คือ Facebook 38% และ TikTok 27% โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจากช่อง PPTV และจากช่อง ONE31 เป็นข่าวพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เดินออกจากรัฐสภาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่, คลิปจากสำนักข่าว BBC ในประเด็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถูกศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ด้านความสนใจของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นนี้พบว่า มาจากสื่อจำนวน 17.3 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 15 ล้าน, ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต 9.7 ล้าน Engagement , มาจากพรรคการเมืองและนักการเมือง 303,669 Engagement ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ตำหนิการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีบางส่วนกล่าวว่าไม่ศรัทธาในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและตั้งคำถามถึงที่มาขององค์กรอิสระอื่นอย่าง กกต. สว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน
กล่าวโดยสรุป ในเดือนกรกฎาคม 2566 ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงให้ความสนใจในประเด็นทางการเมืองมากถึง 8 จาก 10 ประเด็น โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคก้าวไกลทั้งสองครั้ง, ประเด็นพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งได้สำเร็จ โดยอีก 2 ประเด็นที่เหลือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สิ่งบันเทิง อย่างละครมาตาลดา และประเด็นเกี่ยวกับสัตว์ คือพลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางกลับเมืองไทย
ด้านผู้ส่งสารส่วนใหญ่จะมาจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ แบรนด์และภาครัฐ ตามลำดับ เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในเดือนนี้ ทำให้เห็นความสนใจของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมืองเป็นอย่างมาก ประกอบกับสื่อและผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ที่ยังคงติดตามสถานการณ์การเมือง/การเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังคงได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานในสื่อสังคมออนไลน์กลุ่มต่าง ๆ
ทั้งกล่าวได้ว่า การเข้ามาของ TikTok มีส่วนสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร โดยในปัจจุบันช่องว่างระหว่างการเป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารแคบลงเรื่อย ๆ เนื่องจากตัวผู้รับสารหรือที่เรียกว่า User Generated Content สามารถผลิตและนำเสนอสื่อได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากเหมือนเมื่อก่อน ประกอบกับรูปแบบของแพลตฟอร์มที่ เป็นคลิปวิดิโอสั้น เข้าใจง่ายเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย นอกจากจะพบว่า TikTok เป็นช่องทางที่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้แล้วยังพบว่าก้าวไกลเป็นพรรคที่ใช้งาน TikTok เป็น Official Account ของทางพรรคที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน TikTok ได้จำนวนมาก จากการโพสต์ประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคก้าวไกล
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.