จากเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. ทางเจ้าหน้าที่ของห้างได้รีบอพยพคนออกมาภายนอกห้างอย่างเร่งด่วน จากรายงานเบื้องต้น ณ ขณะนี้แจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย และผู้บาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งในเวลาต่อมา 17.20 น. คนร้ายได้ถูกจับกุม โดยผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนเพศชาย อายุ 14 ปี พร้อมอาวุธปืนขนาด 9 มม. ซึ่งคนร้ายได้ใช้กระสุนไปจนหมด
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทางสำนักข่าวนครเชียงรายนิวส์ จึงได้ทำการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโทษที่เยาวชนผู้ก่อเหตุจะได้รับเมื่อมีความผิดจริง
ในส่วนโทษทางคดี ตำรวจสามารถตั้งข้อหาได้ดังนี้
1.ครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 20,000 บาท
2.พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งร้อยบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น
3.ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
4.พยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ซึ่งจะตรงกับมาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และตามประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 289 (4) ได้บัญญัติโทษไว้เพียงสถานเดียว คือโทษ “ประหารชีวิต”
โดยมาตรา 74 บัญญัติว่า “เด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป
(2) ผู้ปกครองต้องระวังเด็ก ไม่ให้ก่อเหตุร้ายงไม่เกิน 3 ปี และถ้าเด็กก่อเหตุร้ายขึ้น ผู้ปกครองจ่ายศาลไม่เกิน 10,000 บาท
(3) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังสถานศึกษา ฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่เกินอายุครบ 18 ปี
– ในกรณีที่มีผู้ปกครอง ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็ก ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
– ในกรณีที่เด็กนั้นไม่มีผู้ปกครอง ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้
ในคำสั่งของศาล (2) (3) วรรคสอง และวรรคสาม ถ้าภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาล ก็ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้”
ส่วนหลักของผู้ปกครองขอผู้ก่อเหตุในครั้งนี้จะต้องถูกชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นคดีแพ่งที่ต้องฟ้องร้องกัน ซึ่ง”พ่อแม่จะต้องร่วมรับผิดชอบ”โทษทางแพ่ง โดยการชดใช้สินไหมทดแทนเว้นแต่ดูแลด้วยความระมัดระวังแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ม.420,429) ก็ต้องมาพิสูจน์ในชั้นศาล
และเมื่อประชาชนต้องประสบเหตุ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แนะนำวิธีรับมือ คือ “หนี-ซ่อน-สู้” หรือ “Run Hide Fight” ซึ่งเป็นหลักสากลที่ FBI และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในหลายๆประเทศ นำมาใช้แนะนำประชาชนในการเอาชีวิตรอดในเหตุกราดยิง
– “หนี – Run” เมื่อสามารถหาเส้นทางหลบหนีที่พาไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้
– “ซ่อน – Hide” เมื่อไม่สามารถหลบหนีออกจากพื้นที่ได้ ให้หาสถานที่ปลอดภัยเพื่อซ่อนตัว
– “สู้ – Fight” เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อไม่สามารถหนีหรือซ่อนตัวจากคนร้ายได้ และคนร้ายกำลังจะเข้ามาถึงตัวหรือโจมตีมาที่ตน
ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์ จึงได้ติดต่อสอบถามไปยังผู้เชียวชาญเกี่ยวกับอาวุธปืน แผลที่ถูกยิง รวมไปถึงบาดแผลที่ส่งผลให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จากปืนที่ก่อเหตุขนาด 9 มม. โดยทางผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ไม่ว่าวิถีกระสุนจะถูกบริเวณไหนในร่างกายก็ตาม ถ้าหากเกิดการทะลุขึ้นมา เลือดจะไหลออกจำนวนมากและอาจทำให้เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และยิ่งปืนมีความยาวมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้กระสุนยิงได้ไกลมากขึ้น โดยตัวกระสุนจะมีความร้อนมาก ทำให้แผลหรือส่วนที่ถูกยิงมีความกว้าง
ส่วนเรื่องมาตรการการรักษาความปลอดภัยของห้าง รปภ. ที่อยู่ประจำประตูไม่มีสิทธิในการตรวจค้นตัว ถึงมีจะมีเครื่องสแกนโลหะ และได้ยินเสียงก็ไม่มีสิทธิตรวจค้น
โดยล่าสุดทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์ ได้มีการรายงานว่า นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้โทรศัพท์พูดคุยกับท่านทูตจีน เพื่อรายงานสถานการณ์ทั้งหมด ซึ่งท่านทูตจีนได้ขอบคุณในความใส่ใจของรัฐบาลไทย อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงรับผู้บาดเจ็บทั้งหมดไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งท่านทูตจีนก็ซาบซึ้งใจ และขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ take action ทันที
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.