ผลงานชิ้นนี้ถูกรังสรรค์โดยศิลปิน ‘ไมเคิล ลิน’ ผู้ที่เปลี่ยนพื้นที่สร้างสรรค์งานจิตรกรรมจากผืนผ้าใบไปสู่อาคารโบราณที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก ศิลปะกลางแจ้งของไมเคิลได้แรงบันดาลใจจาก ‘ลายผ้า’ ที่เป็นความทรงจำร่วมทางสังคมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น
 
 
สําหรับเชียงราย ไมเคิลได้ทำงานชิ้นใหม่ตรงหน้าอาคารศาลากลางเก่า ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นสมัยใหม่ ใช้ชื่อว่า Weekend เขาผสมลวดลายและสีสันของผ้าจากชาวเขาในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยผืนผ้า เปรียบเสมือนงานฝีมือที่รำลึกถึงสหภาพแรงงานและชุมชน มันคือการผสมผสานเสียงที่หลากหลาย รวมพลังที่ขัดแย้งระหว่าวผู้ปกครองจากส่วนกลาง และฝ่ายที่ถูกปกครองจากชายขอบ ผลงานชิ้นนี้แสดงถึงการเจรจา ต่อรอง และตั้งคําถามต่อบทบาทของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อนของภูมิภาคนี้
 
 
ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 และเปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2443 เพื่อเป็นที่ทำงานของหน่วยงานรัฐบาลและข้าหลวงเมืองเชียงราย ตามนโยบายการปฏิรูปการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางของรัฐบาลสยาม เป็นศาลากลางที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่ยังคงเหลืออยู่ ออกแบบโดยนายแพทย์วิลเลี่ยม เอ. บริกส์ มิชชันนารีชาวแคนาดา ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในจังหวัดเชียงราย ในนามคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนแห่งกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
 
 
อาคารศาลากลางหลังแรกจังหวัดเชียงราย เป็นสถาปัตยกรรมที่มีโครงสร้างก่ออิฐถือปูน เป็นอาคาร 3 ชั้น ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 37 เมตร การก่อสร้างเป็นรูปแบบศิลปะแบบโคโลเนียล หลังคาทรงปั้นหยา ประดับด้วยมุขหน้าต่างหลังคา ด้านหน้าอาคารก่ออิฐเป็นรูปโค้ง (Arch) ช่องเปิดที่ระเบียงอาคารด้านล่างทำเป็นโครงสร้างคานโค้งครึ่งวงกลม 3 ชุดโค้งต่อเนื่อง และมีโถงทางเดินที่เชื่อมถึงกันโดยตลอด ประตูทำจากไม้สักแบบบานเปิดคู่ ทุกห้องมีช่องแสงเหนือประตู
อาคารศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่าได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2520 และได้ยุติบทบาทในการเป็นอาคารศูนย์กลางการปกครองหัวเมืองเชียงรายมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ ปัจจุบันไม่ได้เปิดทำการเนื่องจากกำลังปรับปรุง โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
 
 
งานศิลปะที่เห็นในภาพ ไม่ได้เพ้นท์ลงบนตัวตึกแต่เป็นโครงสร้างประกอบภาพวาด เป็นโครงสร้างเหล็กไม่ได้ยึดตรงกับตัวตัวตึกแต่อย่างใด มีแผ่นเพลทโลหะ รับน้ำหนักที่พื้น และโครงสร้างที่ติดกับตัวอาคารใช้โครงไม้ประกบรองอีกหนึ่งชั้น
ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจุดในการแสดงงานมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก ครั้งที่ 3 งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ภายใต้แนวคิด The Open World “เปิดโลก” การรับรู้ทางศิลปะ ผ่านผลงานของศิลปินจากทั่วโลก ที่จะมาร่วมเปิดมิติทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อยกระดับเชียงรายสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 ณ จังหวัดเชียงราย
Collateral Event : เทศกาลดนตรีชาติพันธุ์ “กวาคีลา : เป่า ร้อง กลอง รำ เปิดโลกวิถีวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์เมืองเชียงราย”
 
 
ศิลปิน : Michae Lin (ไมเคิล ลิน)
เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 09.00 – 17.30 น.
สถานที่ : ศาลากลางจังหวัดเชียงราย (หลังเก่า) ถนนสิงหไคล 
ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : https://www.thailandbiennale.org/venues/the-old-chiang-rai-city-hall/

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME