พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญผ้าไตรพร้อมเครื่องสังฆทานพระราชทานไปถวายแด่เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง(5) เชิญผ้าไตรพร้อมเครื่องสังฆทานพระราชทาน และเครื่องเขียนพระราชทาน ไปถวายแด่ พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ในวันศุกร์ ที่ 29 กันยายน 2566 เวลา 10.30 น. ณ วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

   พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร เป็นประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ และเมตตากล่าวสัมโมทนียกถา

   นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน พร้อมด้วย นางมัทนา เนื่องหล้า ภริยา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ศิษยานุศิษย์ เข้าร่วมพิธีฯ ในครั้งนี้

   ในโอกาสมงคลนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ สุ่มมาตย์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายวิชชากรณ์ กาศโอสถ นายสานุพงศ์ สันทราย นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมพิธี อำนวยความสะดวกแด่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมพิธีฯ ทั้งนี้ การดำเนินงานพิธีฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลสำเร็จทุกประการ

     ประวัติ พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร เกิดเมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2508 เวลา 09.00 น. ที่หมู่บ้านแม่คำหนองบัว ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรคนโตของนายคำหล้าและนางแสงหล้า ทาแกง แม้ครอบครัวจะยากจนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่โยมมารดาก็ปลูกฝังท่านให้ทำบุญ สวดมนต์ ทำสมาธิอยู่เสมอ ทำให้ท่านสนใจออกบวช หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ขณะอายุได้ 11 ปี ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. 2526 ต่อมาได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เวลา 919 น. ณ อุโบสถวัดพระเจ้าเก้าตื้อ (ปัจจุบันรวมกับวัดสวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่) โดยมีพระราชพรหมาจารย์ (ดวงคำ ธมฺมทินฺโน) เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเวฬุวันพิทักษ์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระครูศรีปริยัตินุรักษ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ นับแต่ออกบวช ครูบาบุญชุ่มมุ่งเน้นเรียนกรรมฐานจากครูบาอาจารย์หลายองค์ ได้จาริกไปหลายท้องที่ทั้งภาคเหนือของไทย พม่า เนปาล อินเดีย ภูฏาน ฯลฯ เมื่อพบเห็นวัดใดทรุดโทรมก็เป็นผู้นำในการบูรณะ และได้สร้างพระธาตุเจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป ไว้หลายแห่งในภาคเหนือ รัฐชาน สิบสองปันนา และประเทศลาว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME